รักเพื่อนให้เตือน เมื่อเพื่อนหลงเชื่อ AI

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

Instagram : @sueching

Facebook.com/JitsupaChin

 

รักเพื่อนให้เตือน เมื่อเพื่อนหลงเชื่อ AI

 

เมื่อการใช้ AI ช่วยสร้างภาพและเสียงสามารถทำได้ง่ายขึ้นและแนบเนียนมากขึ้น เราจึงได้เห็นภาพของสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงถูกแชร์บนโซเชียลมีเดียอยู่เรื่อยๆ

ตัวอย่างที่พอจะนึกออกก็อย่างเช่นก่อนหน้านี้เคยมีภาพของรถยนต์คันหนึ่งที่คำอธิบายใต้ภาพเขียนว่าเป็นรถยนต์ที่เปิดตัวในงานจัดแสดงรถครั้งหนึ่ง คอมเมนต์ของคนบนอินเตอร์เน็ตก็ถาโถมกันเข้ามาชื่นชมดีไซน์ของรถที่สวยและแปลกใหม่โดยไม่ได้มีใครเอะใจเลยว่ารถคันนี้เป็นรถที่ AI สร้างขึ้นและไม่มีอยู่จริง

หรือภาพของเด็กน้อยวัยตั้งไข่ที่สกีอยู่ข้างๆ หมาหน้าย่นตัวหนึ่ง แม้ว่า AI จะไม่ได้สร้างภาพนี้ขึ้นมาได้เนียนมาก และหากพินิจพิจารณาดูดีๆ ก็จะเห็นรายละเอียดแปลกๆ เต็มไปหมด แต่คนก็พร้อมใจกันคอมเมนต์ชื่นชมความน่ารักของภาพโดยไม่มีใครเฉลียวใจเลยว่านี่เป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้น

อีกตัวอย่างคือภาพของเด็กแอฟริกันที่นั่งอยู่ข้างสิ่งประดิษฐ์ที่ทำขึ้นมาจากขวดน้ำพลาสติกก็เป็นอีกภาพที่ดึงดูดให้คนเข้ามาคอมเมนต์ชื่นชมพรสวรรค์ของเด็กที่ขาดแคลนโอกาสกันเป็นจำนวนมาก

ส่วนใหญ่เรามักจะคิดกันว่าเหยื่อที่หลงเชื่อภาพปลอมมักจะเป็นคนในเจเนอเรชั่นเบบี้บูมเมอร์ที่ไม่น่าจะมีภูมิคุ้มกันต่อเทคโนโลยีใหม่นี้สักเท่าไหร่

แต่ความเป็นจริงก็คือไม่ว่าคนในเจเนอเรชั่นไหนก็มีโอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อของการหลงเชื่อภาพปลอมได้ทั้งหมด

การที่เราจะเรียนรู้ที่จะแยกแยะภาพจริงออกจากภาพปลอมที่ AI สร้างก็ต้องเริ่มต้นมาจากการที่มีใครสักคนบอกหรือทำให้ดูว่าภาพที่ AI ทำขึ้นมานั้นมีลักษณะอย่างไรบ้าง มีจุดสังเกตตรงไหน มีแนวโน้มที่จะผิดพลาดที่ไหน หลังจากนั้นเราก็จะเริ่มมองหาความผิดสังเกตต่างๆ เหล่านั้นได้

แต่คนที่ไม่เคยได้รับข้อมูลที่ว่าเลยก็อาจจะไม่ทันได้รู้ด้วยซ้ำว่าสมัยนี้เทคโนโลยีการสร้างภาพไปไกลถึงไหนแล้ว และมีโอกาสสูงที่จะเชื่อภาพที่เห็นบนโซเชียลมีเดียทันที โดยเฉพาะภาพที่จงใจสร้างขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้เกิดอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เห็นแล้วรู้สึกดี อิ่มเอมใจ ซาบซึ้ง โกรธ ขุ่นเคือง หรือภาพที่เห็นแล้วช็อก เพื่อทำให้เกิดยอดไลก์ ยอดแชร์ ของภาพนั้นให้ได้มากที่สุด

ลองนึกย้อนกลับไปถึงยุคก่อนโซเชียลมีเดียที่เรามีแนวโน้มจะ ‘ฟอร์เวิร์ดเมล’ หรือส่งต่อเมลที่เราอ่านแล้วรู้สึกน่าสนใจให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวโดยที่เนื้อหาในเมลอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงเลยก็ได้ ต่อด้วยยุคแอพพลิเคชั่นส่งข้อความอย่าง LINE ที่พ่อ แม่ ญาติผู้ใหญ่ ใช้ส่งต่อข่าวสารจริงบ้างไม่จริงบ้างกันอยู่ทุกวัน มาจนถึงปัจจุบันที่ AI สร้างคอนเทนต์ปลอมให้เหมือนจริงได้อย่างน่าทึ่ง

คนที่มีแนวโน้มตกเป็นเหยื่อในที่สุดถ้าไม่ใช่ตัวเราเองก็คือคนใกล้ตัว อย่างเช่น เพื่อนและคนในครอบครัวของเราเอง นอกจากจะหลงเชื่อคนเดียวเงียบๆ แล้วยังอาจจะแชร์หรือส่งต่อคอนเทนต์ปลอมไปให้คนอื่นๆ ในกรุ๊ปแชตอีก

นำมาสู่ปัญหาน่าปวดหัวแห่งยุคว่าถ้าคนในครอบครัวเราหลงเชื่อภาพปลอมของ AI จนไปคอมเมนต์ใต้ภาพหรือหยิบไปแชร์ต่อ เราควรจะเตือนหรือไม่

การเตือนผิดวิธีจะกระทบกระทั่งต่อความสัมพันธ์หรือเปล่า

Huffingtonpost สอบถามผู้เชี่ยวชาญหลายคนเพื่อดูว่าเราควรจะรับมือกับปัญหานี้อย่างไรและให้แนวทางปฏิบัติที่ฉันคิดว่าครอบคลุมได้ถึงเนื้อหาเท็จบนอินเตอร์เน็ตทุกรูปแบบ

อันดับแรกคือถามตัวเองก่อนว่าภาพปลอมที่เพื่อนหรือคนในครอบครัวเราแชร์ไปนั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของคนที่แชร์หรือไม่

สมมุติว่าเพื่อนของเราหยิบภาพหรือวิดีโอปลอมไปแชร์ต่อโดยมีชื่อเสียงของตัวเองผูกติดไปกับโพสต์นั้นด้วย เช่น เพื่อนอาจจะเป็นคนที่อยู่ในตำแหน่งที่น่าเชื่อถือ หรือเพื่อนเขียนคอมเมนต์อะไรบางอย่างที่แสดงความคิดเห็นที่มีต่อภาพปลอมนั้นอย่างเผ็ดร้อนจนอาจจะทำให้กระทบชื่อเสียงหรือภาพลักษณ์ได้ กรณีนี้เราควรต้องรีบชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดโดยเร็วที่สุด

อารมณ์คล้ายๆ กับการรักเพื่อนช่วยเพื่อนเลือกรองพื้นให้ถูกเบอร์ อย่าให้เพื่อนเดินออกจากบ้านแบบสีหน้ากับสีคอไม่แมตช์กันประมาณนั้น

หากญาติผู้ใหญ่ห่างๆ สักคนไปคอมเมนต์ใต้ภาพ AI ว่า ‘น่ารักจังเลย’ ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องด่วนร้ายแรงที่จะต้องรีบสอย ถ้าไม่ได้สนิทกันสักเท่าไหร่ก็อาจจะพอปล่อยผ่านได้

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วฉันก็คิดว่าหากคนที่หลงเชื่อภาพ AI เป็นคนที่เราแคร์ การสะกิดเตือนกันสักหน่อยน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะมันคือการเสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันไม่ให้พวกเขาหลงเชื่ออะไรอย่างอื่นเพิ่มเติมอีกในอนาคตข้างหน้า

ถ้าเราไม่เตือน ปล่อยให้เขากดแชร์ภาพปลอมอยู่เรื่อยๆ อาจจะทำให้คนอื่นๆ ในวงสังคมของเขามองเขาเป็นตัวตลกไปเลยก็ได้

แล้วเตือนอย่างไรจึงจะดีที่สุด

 

คําตอบก็คือ เตือนกันแบบส่วนตัวค่ะ

เมื่อเห็นว่าคนที่เราแคร์แชร์ภาพปลอมไป วิธีที่ดีที่สุดก็คือส่งข้อความไปหาเป็นการส่วนตัว อาจจะโทรศัพท์ไปหาหรือเดินไปบอกด้วยตัวเองก็ได้ หลีกเลี่ยงการเตือนด้วยการเข้าไปคอมเมนต์ใต้โพสต์ในแบบที่คนอื่นมองเห็นด้วยเพื่อไม่ให้เป็นการหักหน้ากัน

หลายๆ คนเลือกวิธีเข้าไปคอมเมนต์แบบโต้งๆ นอกจากจะทำให้รู้สึกไม่ดีแล้ว เจ้าตัวก็อาจจะยิ่งปิดใจ ไม่ยอมรับฟังไปเลย

สำหรับคนที่รับรู้ประเด็นเรื่องภาพปลอม AI ดีแล้ว ก็อย่าลืมเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าทุกวันนี้ AI ยังมีข้อบกพร่องในการสร้างภาพบางจุดก็จริง แต่ในอนาคตมันจะเก่งและแนบเนียนขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งที่เคยเป็นจุดอ่อนของ AI อย่างการใส่ตัวอักษรในภาพมั่วซั่ว สร้างมือ สร้างฟันของคนออกมาเป็นสัตว์ประหลาด หรือมีรอยต่อระหว่างวัตถุที่ยังผิดเพี้ยน ทั้งหมดนี้จะค่อยๆ ถูกพัฒนาให้หายไปจนกลายเป็นภาพปลอมที่แนบเนียนไม่ต่างจากภาพจริง

เมื่อนั้นต่อให้เราคิดว่าเราเจ๋งแค่ไหน เราก็อาจจะตกเป็นเหยื่อที่หลงเชื่อได้เหมือนกันโดยไม่เกี่ยวข้องกับอายุ เพศ หรือพื้นหลังการศึกษาแต่อย่างใด

หากเราเผลอหลงเชื่อและแชร์ไป เราก็จะอยากให้มีคนที่รักและหวังดีต่อเรามาสะกิดเตือนเราอย่างสุภาพและจริงใจใช่ไหมคะ