ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว |
ผู้เขียน | มุกดา สุวรรณชาติ |
เผยแพร่ |
กฎหมายเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ฉบับแรกของไทยคือ พ.ร.บ.ว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2476 ใช้กดดันให้อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศเมื่อ 12 เมษายน พ.ศ.2476 กว่าจะมีการยกเลิกกฎหมายคอมมิวนิสต์ 29 ตุลาคม พ.ศ.2489
ต่อมา ปี 2495 ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ได้มีการออกกฎหมายคอมมิวนิสต์ฉบับใหม่ มีบทลงโทษที่รุนแรงกว่าเดิม ต่อเนื่องมาถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร-จอมพลประภาส จารุเสถียร มีการกวาดจับฝ่ายก้าวหน้าติดต่อกันหลายปี
รัฐบาลส่งทหารไทยออกไปร่วมรบทั้งในสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม ไทยเป็นพันธมิตรร่วมกับอเมริกาในการปิดล้อมจีนและรัสเซีย
นับตั้งแต่จีนได้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ คนไทยได้รู้จักจีนในยุคนั้นในชื่อว่า…จีนแดง
ปี 2516 เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม โค่นอำนาจเผด็จการลงไป ประชาธิปไตยเบ่งบานขึ้น นักศึกษาได้ออกมาเป็นหัวหอกในการเรียกร้องเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องสิทธิเสรีภาพ รัฐธรรมนูญ และปัญหาเศรษฐกิจ
แต่กฎหมายคอมมิวนิสต์ยังมีอยู่และก็เกิดการปราบปรามขึ้นในกรณี 6 ตุลาคม 2519 จนมีผู้เสียชีวิต 41 คน บาดเจ็บหลายร้อย คนที่ถูกจับในคดี 6 ตุลาคม มีมากถึง 3,154 คน
ตำนานคนเข้าป่า
ปลายปี 2519 นักศึกษา-ประชาชน ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจให้เป็นระบบคอมมิวนิสต์ มีการกระทำอันเป็นกบฏ ใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างและยึดอำนาจการปกครองของรัฐ
คณะรัฐประหารยังใส่ร้ายนักศึกษาที่อยู่ในธรรมศาสตร์ด้วยการนำเอาธงชาติประเทศจีนและนำอาวุธปืนอาก้ามาเป็นหลักฐานประกอบเผยแพร่ต่อสื่อไปทั่วประเทศ
มีการสั่งพ้อง 18 คนที่อยู่ในคุก เช่น
1.นายสุธรรม แสงประทุม 2.นายสุรชาติ บำรุงสุข 3.นายธงชัย วินิจจะกุล ฯลฯ
ผู้นำนักศึกษาที่ไม่ได้ถูกจับ ก็ถูกสั่งฟ้อง จำนวน 32 คน เช่น 1.นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล 2.นายเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ 3.นายสงวน นิตยารัมพงศ์ 4.นายธีรยุทธ บุญมี 5.นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ 6.นายพินิจ จารุสมบัติ 7.นายเหวง โตจิราการ ฯลฯ
ข้อหาเป็นกบฏ ล้มล้างการปกครอง และข้อหาคอมมิวนิสต์ มีโทษถึงประหารชีวิต และจำคุกตลอดชีวิต
นักการเมืองบางคนไม่มีชื่ออยู่ในผู้ที่ถูกฟ้องตอนนั้น และเป็นแกนนำคือ 1.นายจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งเป็นนายกสโมสร ม.เชียงใหม่ 2.นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช แกนนำจากมหิดล 3. นายภูมิธรรม เวชยชัย จากจุฬาฯ ประธานแนวร่วมกลุ่มต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
หลัง 6 ตุลาคม นักศึกษาหลายพันคนเข้าป่า ไปหลบภัยอยู่ตามฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย การต่อสู้ด้วยอาวุธจึงขยายตัวออกไปทั่วประเทศ
ทางออก คือนิรโทษกรรม
คดี 6 ตุลาคม 2519 กว่าจะนำขึ้นศาลก็ปี 2521 แต่เมื่อสืบพยานฝ่ายเจ้าหน้าที่แล้ว กลับกลายเป็นความจริงถูกเปิดเผยมากขึ้น เพราะตำรวจเปิดเผยว่าใครมาจากหน่วยไหน? ใครเป็นผู้สั่ง
14 กันยายน 2521 เมื่อสืบพยานถึงผู้เกี่ยวข้องชั้นนายพล ความจริงกำลังจะถูกเปิดเผยออกมา ฝ่ายที่วางแผนอยู่เบื้องหลังจึงรีบตัดตอน เพราะถ้าได้สืบพยานต่อ จะไปกระทบผู้มีอำนาจหลายคน
15 กันยายน 2521 จึงปิดเกมโดยผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม 3 วาระรวดในวันเดียว และไม่มีการสืบสวนเรื่อง 6 ตุลาคม อีกเลย
16 กันยายน 2521 คนที่ติดคุกถูกปล่อย แต่สงครามจรยุทธ์ยังเดินหน้าต่อ ขยายไปทั่วประเทศ มีผู้เสียชีวิตในสงครามครั้งนี้หลายพันคน
ปี 2523 สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ตัดสินใจสงบศึก โดยออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่องนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ โดยใช้หลัก “การเมืองนำการทหาร” เพื่อต่อสู้กับ พคท. ปฏิบัติต่อกองกำลัง พคท.ที่วางอาวุธอย่างเพื่อนร่วมชาติ ไม่มีการลงโทษ ยังสัญญาที่จะช่วยเรื่องทำมาหากิน ให้สิทธิทางการเมืองเหมือนประชาชนทั่วไป
เมื่อเดินการเมืองถูกทาง สงครามจรยุทธ์ก็จบลง
การยกเลิก
พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
ที่ยาวนาน 48 ปี
ช่วงประมาณปี 2522-2525 นักศึกษา-ประชาชน กลับบ้าน มาเรียนต่อ ใช้ชีวิตตามปกติ หลายคนก็ไปประกอบอาชีพทำธุรกิจ แต่มีบางคนได้เข้าสู่วงการเมือง ได้เป็น ส.ส. รัฐมนตรี หรือตำแหน่งอื่นๆ บางคนก็ไปรับราชการ เป็นหมอ บางคนได้ดีเป็นถึงอธิบดี หลายคนเป็นศิลปินนักร้อง
แต่กฎหมายคอมมิวนิสต์ยังมีอยู่ตลอดมา
24 สิงหาคม 2532 รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคง และกฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2532
หลังพฤษภาทมิฬ 2535 ประชาธิปไตยเบ่งบาน มีรัฐธรรมนูญใหม่ ฉบับ 2540 พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 ถูกยกเลิกในปี 2543
ส่งผลให้ข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์จบสิ้นลง
เป็นฝ่ายขวา
รัฐประหาร ล้มระบอบการปกครอง
สามารถคบกับคอมมิวนิสต์ได้
กลุ่มขวาจัดและทหารที่ชอบทำรัฐประหาร ส่วนใหญ่วันนี้จะต่างกับทหารยุคโบราณเมื่อ 40 ปีที่แล้ว จะเห็นว่าพวกเขาได้สั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากประเทศจีนคอมมิวนิสต์ หรือประเทศคอมมิวนิสต์เก่าแบบรัสเซีย
ไม่กลัวปัญหาความมั่นคง ไม่กลัวปัญหาการส่งอุปกรณ์สำหรับซ่อมแซม ลองดูตัวอย่างการสั่งซื้อ เช่น
ปี 2558-2560 โครงการจัดซื้อรถถังหลัก VT-4 จากจีน
มีโครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ Mi7VS จากรัสเซีย
ปี 2558-59 โครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง และเรือตรวจการณ์ชายฝั่งจากจีน
ปี 2560 โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน ชั้น Yuan Class รุ่น S26T จำนวน 3 ลำ วงเงินรวม 4.36 หมื่นล้านบาท จ่ายไปแล้ว 7,700 ล้านบาท แต่จีนไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์เรือดำน้ำ MTU 396 ของเยอรมัน ส่งมอบให้กับไทยได้ ล่าสุดจีนขอต่อสัญญาอีก 1,200 วัน และให้ใช้เครื่องยนต์จีน
เดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมามีการซ้อมรบทางอากาศร่วมไทย-จีน Falcon Strike ครั้งที่ 7
ทหารเก่าบอกว่า…สมัยก่อนต่อต้านคอมมิวนิสต์ จนมีคนร่ำรวย
สมัยนี้คบกับคอมมิวนิสต์ ยิ่งร่ำรวยกว่า
ทุกวันนี้ก็คบกับจีนคอมมิวนิสต์ จนทำให้อเมริกาอิจฉา
ทำไมเกิดจะมากลัวนักศึกษาที่เคยเข้าป่า มาเป็น รมว.กลาโหม ทั้งที่ไม่มีอำนาจตั้งทหารด้วยตัวเอง ไม่มีรุ่น ไม่มีพวก
ฝ่ายขวาทำรัฐประหาร ล้มล้างการปกครองหลายครั้ง แล้วออกกฎหมายนิรโทษกรรมพวกตัวเอง กลับมามีตำแหน่ง เป็นทั้งนายกฯ และให้พรรคพวกคุมได้ทุกกระทรวง
ทำไม ‘สหายใหญ่’ นายภูมิธรรม เวชยชัย นักการเมืองที่ได้รับนิรโทษกรรม ตั้งแต่สมัยเด็ก และประชาชนเลือกมาจะมีตำแหน่งในกระทรวงกลาโหมหรือทุกกระทรวงไม่ได้
คนที่พยายามขวางคงกลัวจะทำมาหากินไม่สะดวก!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022