ในประเทศ : จะเอา “ผม” หรือกลับที่เดิม ?

“ขอให้เลือกเอาแล้วกันว่าจะเอาแบบผม หรือจะให้กลับมาที่เดิม”

คือคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หลังจากถูกวิจารณ์อย่างหนัก ว่ากำลังอยู่ในภาวะขาลง ปกป้องพวกพ้อง ไม่ทำตามสัญญา

โดยเฉพาะการไม่คืนความสุขให้ประชาชน ด้วยการให้ยืดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยออกไป

เพื่อปูทางให้ตนเองและพวกสืบทอดอำนาจ และอยู่ต่อนานๆ

ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ตอบโต้ว่า ได้ทำตามสัญญาทุกอย่างและทำทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็ป

แต่ยังมีปัญหาที่คนบางกลุ่มบางฝ่ายพยายามจะให้ทุกอย่างกลับมาเป็น “แบบเก่า”

แบบเก่า หรือ “กลับมาที่เดิม” ที่คนบางกลุ่มพยายามทำ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกนั้น หมายถึงอะไร

ตรงนี้ คงต้องย้อนกลับไปแกะรอย “4+6 คำถาม” ของนายกรัฐมนตรี ที่ตั้งขึ้นถามชาวบ้านก่อนหน้านี้

เพราะมีร่องรอยว่า “แบบเก่า” ในทัศนะของ พล.อ.ประยุทธ์ คืออะไร และจะได้อะไรหากย้อนกลับไป อย่างน้อย 5 ประการ คือ

1) จะได้รัฐบาลที่ไม่มีธรรมาภิบาล

2) การเลือกตั้งแม้เป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง

3) จะได้กลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม กลับมา

4) จะไม่มีพรรคการเมืองใหม่ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ที่มีคุณภาพให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้ง มีแต่พรรคการเมืองเดิม และนักการเมืองหน้าเดิม แล้วได้เป็นรัฐบาล จะทำให้ประเทศชาติไม่เกิดการปฏิรูป และไม่ทำงานต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ชาติ

5) รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ผ่านมา ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล และมีการพัฒนาประเทศที่มีความต่อเนื่องชัดเจนเพียงพอ

นั่นคือ “แบบเก่า” ที่ พล.อ.ประยุทธ์มักจะยกขึ้นมาอ้างโจมตีฝ่ายการเมือง เพื่อความชอบธรรมของตนเอง

รวมทั้งพยายามตอบโต้ข้อกล่าวหา ไม่คืนความสุข ตามที่สัญญาไว้

“มันจะคืนได้ไหม ปัญหามันร้อยแปดพันเก้า ทุกคนก็ต้องมาช่วยกันแก้”

“ขอให้เข้าใจ ผมไม่ได้แก้ตัวอะไรทั้งสิ้น บ้านเมืองมันสงบเรียบร้อยขึ้นไหมตอนนี้ เริ่มมีความสุขไหม”

“เศรษฐกิจขนาดใหญ่ขนาดกลางดีขึ้นหรือไม่ ขนาดเล็กกำลังแก้ไขหรือเปล่า”

“ปัญหาที่สะสมได้รับการแก้ไขหรือไม่ ทั้งเรื่องแรงงานและการเพิ่มค่าจ้าง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความสุขหรือ”

“แม้มันจะไม่มากนัก แต่มันก็เป็นความสุขแล้วไง นี่คือสัญญาของผม ผมก็คืนให้ แต่ให้ในสิ่งที่ให้ได้ก่อน สิ่งไหนที่ยังไม่ได้ รัฐบาลต่อไปก็ต้องไปทำต่อ ไม่ใช่มาโจมตีกันในวันนี้”

“ถ้าจะพูดถึงเพลง ท่านก็เอาเฉพาะขอเวลาอีกไม่นาน ถ้าผมจะเอาตอนจบของผมบ้าง แผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา ผมก็เอาคนละตอนบ้างสิ ความหมายมันสมบูรณ์อยู่ในนั้นอยู่แล้ว”

“ขอเวลาให้ผมวางรากฐานประเทศอีกซักระยะนึงก่อนเท่านั้น มันจะมากจะน้อยก็เป็นไปตามกฎหมายนั่นแหละ” นายกฯ ระบุ

ทั้งนี้ นวัตกรรมล่าสุดเกี่ยวกับการ “วางรากฐานประเทศ” ที่ พล.อ.ประยุทธ์หยิบขึ้นมาอ้างและจะใช้เป็นแนวทางหลักในปีสุดท้ายของโรดแม็ปนั้น

ก็คือลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 21/2561

ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน

โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นแกนดำเนินการ ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ลงไปดำเนินการในพื้นที่ระดับตำบล หมู่บ้าน

ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการในระดับต่างๆ ถึง 4 ระดับ คือ

1. คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศโครงการไทยนิยมยั่งยืน 61 คน

มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ยุติธรรม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ

มีกรรมการ ประกอบด้วย นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รมว.คลัง รมว.ต่างประเทศ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.คมนาคม รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รมว.พลังงาน รมว.พาณิชย์ รมว.แรงงาน รมว.วัฒนธรรม รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รมว.ศึกษาธิการ รมว.สาธารณสุข รมว.อุตสาหกรรม

ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงทุกกระทรวง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน รมว.มหาดไทย เป็นกรรมการและเลขานุการ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และรองปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ช่วยเลขานุการกลาโหม

2. คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน ระดับจังหวัด

มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นรองประธาน

กรรมการประกอบด้วย รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ปลัดจังหวัด พัฒนาจังหวัด

3. คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน ระดับอำเภอ

ให้นายอำเภอทุกอำเภอแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน ระดับอำเภอ องค์ประกอบมีนายอำเภอเป็นประธานกรรมการ หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่เป็นกรรมการ และหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครองที่ทำการอำเภอ รวมถึงพัฒนาอำเภอ เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม

4. ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน ระดับตำบล

ให้นายอำเภอทุกอำเภอแต่งตั้งทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน จำนวน 7-12 คน โดยมีองค์ประกอบคือ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ หน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ ปราชญ์ชาวบ้าน จิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” ในพื้นที่

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการทั้ง 4 ระดับ จะมุ่งแก้ปัญหาในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงในพื้นที่ทุกระดับไปจนถึงหมู่บ้าน

สร้างความตระหนักรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

ซึ่งจะเห็นว่าเป็นการเคลื่อน “ทัพช้าง” ปูพรมลงไปลุยในพื้นที่ตั้งแต่ประเทศยันหมู่บ้านเลยทีเดียว

ซึ่งคงจะเข้มข้นภายในปีนี้ ก่อนจะมีการเลือกตั้ง

จึงดูเหมือนเป็นการเสนอทางเลือกแก่ชาวบ้านว่า “จะเอาแบบผม” หรือเปล่า

ทั้งนี้น่าสังเกตว่า ท่ามกลางกระแสวิกฤตศรัทธา

พล.อ.ประยุทธ์พยายามปลุกปลอบใจตนเองและเครือข่ายว่า สถานการณ์ในเชิงลบของรัฐบาลและ คสช. นั้น

เป็นเรื่อง “ธรรมชาติ”

เป็นรัฐบาลมาระยะเวลา 3 ปีเศษเข้าปีที่ 4 ก็มีปัญหาแบบนี้มาทุกรัฐบาล

“มันก็เป็นธรรมดา ทุกรัฐบาลก็เป็นแบบนี้เมื่อเข้าสู่ปีที่ 4 แต่เรายืนยันจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด”

“หลายคนอาจจะมองว่ารัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ใช้อำนาจสิทธิขาดในการบริหารประเทศ จริงๆ แล้วไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด รัฐบาลฟังทุกอัน”

“ผมไม่ได้ปิดกั้นประชาชนเลย”

“ที่มีการมองว่ารัฐบาลอยู่ในช่วงขาลง ผมเข้าใจประเด็นอย่างที่บอก ระยะเวลาการทำงานของเรา อาจจะมีความขัดแย้งสูง อาจจะมีคนได้ประโยชน์เสียประโยชน์อะไรก็แล้วแต่ ทุกคนอยากจะมีการเปลี่ยนแปลงเพราะผ่านมา 3 ปีแล้ว ก็ต้องไปดูกลุ่มไหนที่เดือดร้อน”

“เรามุ่งมั่นที่จะทำงานดูแลพี่น้องประชาชนทั้งหมด นโยบายต่างๆ ในช่วงปีนี้ อย่ามองว่ารัฐบาลนี้ทำเพื่อสืบทอดอำนาจ มันเป็นการทำงานต่อเนื่อง จากปีที่หนึ่งสองสามตามโรดแม็ปของผม เพราะฉะนั้น ในขั้นตอนนี้ปีนี้ก็เป็นปีสุดท้ายตามโรดแม็ป คือทำงานที่มีโครงการไทยนิยมยั่งยืนลงไป คำว่าไทยนิยมคือ นิยมความดี ความงาม นั่นคือความหมายไทยนิยมของผมในทุกๆ เรื่อง เพราะความดีความงามเป็นเรื่องของคนไทยทุกคนที่จะมุ่งมั่นในการทำความดีเพื่อประเทศชาติ ให้บุตรหลานตัวเองในอนาคต รัฐบาลนี้มุ่งหวังเพียงวางพื้นฐาน รากฐานของประเทศไว้ให้ สุดแล้วแต่รัฐบาลต่อไปจะดำเนินการอย่างไรต่อ แต่ผมยังไม่เห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากการเลื่อนไม่เลื่อนเลือกตั้งตรงนี้เลย และผมก็ยืนยันโรดแม็ปเดิมที่กำหนดไว้ หากไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นในเรื่องของกระบวนการทางกฎหมายมันก็เป็นไปตามนั้น ผมไม่ก้าวล่วงใครทั้งสิ้น” นายกฯ กล่าวอ้าง

ถือเป็นการพยายามมองโลกในแง่ดี และแง่บวก

แต่กระนั้น ในภาวะแห่งความเป็นจริง เป็นเช่นที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอ้างหรือไม่

หลายคนเริ่ม “ตาสว่าง” และเริ่มมีคำถาม

โดยเฉพาะกับคำถาม “จะเอาแบบผม หรือกลับไปแบบเดิม” นั้น

เอาเข้าจริง “แบบผม” ที่ว่า ก็ถูกมอง และวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักขึ้นทุกวัน จากทั้งกองหนุน และกองไม่หนุน ว่าไม่ได้ไปไกลกว่าแบบเดิมเลย ทั้งในเรื่องการปกป้องพวกพ้อง การหาประโยชน์

และที่สำคัญ กำลังทำให้ประเทศจมลึกไปสู่ความไม่เป็นประชาธิปไตย

และยังมีความพยายามสืบทอดอำนาจเหล่านั้นอย่างโจ่งแจ้ง

ทำให้ชาติถูกพันธนาการด้วยกลไกกฎหมายที่ถอยหลังไปหลายสิบปี

แม้โครงการสวยๆ อย่าง “ไทยนิยมยั่งยืน” ที่กำลังปลุกสร้างกันขึ้นมาในตอนนี้ ดูสวยหรู

แต่คนทำก็คงรู้แก่ใจว่าอะไรเป็นอะไร

จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์หลุดคำพูดกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิทหารผ่านศึกให้จับอาการบางอย่างได้

“ผมทหารผ่านศึกเหมือนกัน แต่ศึกยังไม่จบนะ ศึกหนักเหลือเกิน”

“หนักเหลือเกิน” ที่จะดึงให้ “คนเอาแบบผม” โดยไม่หันกลับไป “ที่เดิม” อีก!