จับตา ‘สพฐ.’ เดินเครื่อง แก้ปัญหา ร.ร.เล็ก รวมกลุ่มใช้ทรัพยากร-แก้ขาดแคลน

เป็นที่จับตามองอีกครั้งหลัง ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ออกมาเปิดเผยมติที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ที่ไฟเขียวให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยกร่างระเบียบหลักเกณฑ์การบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก…

ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ ในการแก้ปัญหาการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก!

โดย ว่าที่ ร.ต.ธนุอธิบายว่า มติดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ต้องการให้โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงได้มาใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทั้งอุปกรณ์การเรียนการสอน ครู และบุคลากรทางการศึกษา นักการภารโรง รวมการบริหารจัดการงบประมาณ ในรูปแบบที่เรียกว่า การรวมกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาการจัดการศึกษา โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนครู

“ขั้นตอนจากนี้ สพฐ.จะทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา2567 เบื้องต้นจะดำเนินการกับกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คนลงมา ซึ่งมีอยู่ประมาณ 6,000 แห่ง เริ่มจากกลุ่มที่มีนักเรียนต่ำกว่า 40 คนลงมาก่อน เพราะถือเป็นกลุ่มที่มีความเดือดร้อนเป็นพิเศษ เช่น มีนักเรียน 30 คน มีครู 2 คน เป็นต้น ซึ่งมีอยู่กว่า 4,000 แห่ง และในจำนวนนี้กว่าครึ่ง พบว่าเกือบทั้งหมดไม่มีผู้บริหารสถานศึกษา เนื่องจากคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) มีมติไม่บรรจุและแต่งตั้งผู้อำนวยการสถานศึกษาในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 40 คน”

“ดังนั้น การดำเนินการครั้งนี้ จะโฟกัสไปที่โรงเรียนที่ไม่มีผู้อำนวยการโรงเรียน และกลุ่มโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 40 คน เพราะถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเดือดร้อนพิเศษที่ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือ ส่วนโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนมากกว่า 60 คนขึ้นไป และยังมีผู้บริหารสถานศึกษาอยู่ จะยังไม่เข้าไปดำเนินการอะไร เพราะยังสามารถจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพได้” ว่าที่ ร.ต.ธนุกล่าว

ยืนยันว่า การดำเนินการครั้งนี้เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่การยุบโรงเรียนขนาดเล็ก แต่เป็นการบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกัน…

 

ขณะที่ นายณรินทร์ ชำนาญดู นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เห็นตรงกันว่า การยกร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่ดี และเห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวทางดังกล่าว…

แต่ในการยกร่างการรวมกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก อยากให้มีรูปแบบการดำเนินการที่หลากหลาย เช่น ให้โรงเรียนที่มีศักยภาพในพื้นที่ เข้ามามีส่วนช่วยในการพัฒนาการเรียนการสอน โดยใช้ทรัพยากรด้านวิชาการและสถานที่ร่วมกัน ส่วนงบประมาณก็ให้แยกการบริหารจัดการ ส่วนโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เกาะ แก่ง ภูเขาสูง หรือโรงเรียนสแตนด์อโลน ไม่สามารถรวมกลุ่มกับใครก็จำเป็นต้องมีวิธีการจัดการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่งที่เหมาะสม เช่น จัดการเรียนการสอนทางไกล หรือครูตู้เข้าไปช่วยสอน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเรียนทางไกลนั้น ก็อยากให้มีครูเข้าไปช่วยสอนหมุนเวียน เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสเรียนกับครูโดยตรงบ้าง

“ที่ผ่านมาโรงเรียนขนาดเล็ก โดยเฉพาะโรงเรียนที่ไม่มีผู้บริหารสถานศึกษา จะมีปัญหาเรื่องการจัดการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนครู ครูมีภาระงานมากเกินไป เพราะต้องมีทั้งหน้าที่สอน เป็นภารโรง ทำอาหารกลางวันให้นักเรียนรับประทาน ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ดังนั้น การรวมกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก จึงถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง และผมเองเห็นด้วยอย่างยิ่ง นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนครู ยังทำให้เด็กได้รับการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพดีขึ้น ที่สำคัญไม่ต้องยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหากับชุมชน ที่ไม่สะดวกในการส่งลูกหลานเดินทางไปเรียนในพื้นที่อื่นที่ห่างไกลออกไป” นายณรินทร์กล่าว

นายณรินทร์กล่าวต่อว่า ทราบว่าโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งมีการทดลองรวมกลุ่มใช้ทรัพยากรร่วมกับโรงเรียนที่มีศักยภาพในพื้นที่ ซึ่งพบว่า นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์การเรียนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งอาจเพราะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะด้านวิชาการ ซึ่งเมื่อมีครูเพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้โรงเรียนสามารถดูแลนักเรียนได้ครอบคลุม เกิดการบริหารจัดการที่ดี

ขณะที่โรงเรียนที่ขาดผู้บริหารโรงเรียน ก็ไม่จำเป็นต้องแต่งตั้งเพิ่ม โดยสามารถมอบหมายให้ผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนที่มีศักยภาพ ดูแลโรงเรียนขนาดเล็กที่มารวมกลุ่มควบคู่ไปด้วย เชื่อว่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สพฐ.มีโรงเรียนในสังกัดทั้งหมด 29,152 โรงเรียน

แบ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก 15,327 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 52.58 ของโรงเรียนทั้งหมด

ในจำนวนนี้มีโรงเรียนสแตนด์อโลน หรือโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่สามารถยุบรวมได้ เพราะเด็กต้องเดินทางมาเรียนกว่า 4,349 โรงเรียน

ดังนั้น หากสามารถยกร่างหลักเกณฑ์การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กได้ เชื่อว่าจะช่วยพัฒนาการจัดการศึกษาได้อย่างดี เพราะเด็กในโรงเรียนเหล่านี้จะลดน้อยลงเรื่อยๆ จากอัตราการเกิดที่ลดลง แต่จะไปเพิ่มในโรงเรียนขนาดใหญ่

ถือเป็นอีกก้าวสำหรับการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ต้องจับตาว่า จะช่วยแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาได้อย่างแท้จริงหรือไม่… •

 

| การศึกษา