ล้านนา-คำเมือง : สะหลีจั๋นตา

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า สะหลีจั๋นตา

สะหลีจั๋นตา เป็นชื่อภาษาล้านนาของต้นดอกไม้ “ราชาวดี”

คำว่า “สะหลี” มาจากคำว่า สิริ หรือ ศรี แปลว่า ความรุ่งเรือง ความสว่างสุกใส ความงาม ความเจริญ มิ่งมงคล และคำว่า จันทา หมายถึง พระจันทร์

ที่คนล้านนาเรียกชื่อนี้อาจจะเพราะว่า กลิ่นราชาวดีหอมกลางคืนเป็นพิเศษ อันเป็นช่วงเวลาของพระจันทร์

ต้นสะหลีจั๋นตา หรือ “ศรีจันทรา” หรือ “ราชาวดี” เป็นไม้ดอกหอมชนิดหนึ่ง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Butterfly bush เนื่องจากเวลาดอกบานมักจะมีผีเสื้อมาช่วยผสมเกสรจำนวนมาก

มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Buddleja paniculataWall.เป็นสมาชิกในวงศ์ SCROPHULARIACEAE เป็นไม้พุ่ม สูง 2-5 เมตร กิ่งก้านลู่ ใบเรียวปลายแหลมออกตรงข้ามกัน ขอบใบเรียบถึงจักฟันเลื่อยถี่ๆ แผ่นใบสีเขียว มีขนคลุม

ด้านหลังใบสาก ด้านท้องใบสีเขียวแกมเทา ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งและซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว 6-10 ซ.ม.

ดอกจะทยอยบานจากโคนช่อขึ้นถึงปลายช่อ ดอกย่อยมีสีขาวขนาดเล็ก กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น 4 แฉก แบบดอกเข็ม คอหลอดดอกมักมีสีเหลืองส้ม

ผลแห้งรูปรีแตกเป็น 2 ซีก เมล็ดจำนวนมากขนาดเล็กมากมักพบตามชายป่าบนเขาที่ระดับความสูง 500 เมตร เหนือน้ำทะเลขึ้นไป

กลิ่นหอมแรงตลอดวัน โดยเฉพาะช่วงดึกออกดอกตลอดปี ชอบแดดจัด หากปลูกเอาดอกต้องปลูกไว้ในบริเวณที่มีแดดส่องตลอดทั้งวัน

จากลักษณะของดอกที่เป็นช่อดอกไม้สีขาวและมีกลิ่นหอม คนล้านนาจึงนิยมนำไปบูชาพระ และถือเอาเป็นดอกไม้มงคล นิยมนำไปใส่ขันแก้วทั้งสามเพื่อบูชาพระรัตนตรัย

ขันแก้วทั้งสามจะมีลักษณะคล้ายขันโตกทรงสูงนิยมทำเป็นรูปสามเหลี่ยม แต่ละมุมเป็นตัวแทนของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เพื่อความสะดวกในการวางข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนไว้ตามมุมทั้งสามเวลาบูชา โดยจะวางไว้ด้านหน้าประตูก่อนเข้าไปภายในวิหาร เมื่อถึงเวลาพระสวดจึงยกเข้าทำพิธีด้านในวิหาร บางวัดอาจมีลักษณะเป็นขันโตกรูปกลมสามโตกมีขนาดลดหลั่นกันก็มี

สำหรับประโยชน์ทางยา หมอแผนไทยโบราณ ใช้ใบ โขลกผสมกับเหล้าโรงทาผิวหนัง แก้ผิวแพ้ และผื่นคัน