ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คำ ผกา |
ผู้เขียน | คำ ผกา |
เผยแพร่ |
คำ ผกา
สลิ่มคือวัฒนธรรม
ไม่ใช่สันดาน
ช่วงนี้การเมืองไทยสนุก สำหรับฉันทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง เข้าสู่สภาวะที่เป็นปกติพอสมควร
นั่นคือการเมืองแบ่งออกเป็นฝ่ายรัฐบาลสู้กับฝ่ายค้าน
ซึ่งสภาวะเช่นนี้ย่อมดีกว่าการแบ่งเป็นฝ่ายที่สนับสนุนประชาธิปไตยกับฝ่ายที่สนับสนุนอำนาจเผด็จการทหาร
และหากดูการทำงานของสื่อก็เป็นเรื่องปกติมากๆ ที่ “สื่อ” ในการเมืองประชาธิปไตยต้องไม่ชอบรัฐบาล และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทุกวันทุกชั่วโมง อันนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา
เพราะสื่อมีบทบาทในการตรวจสอบการทำงานและมีหน้า “สงสัย” ในทุกเรื่องที่รัฐบาลทำ
และรัฐบาลก็มีหน้าที่ตอบข้อสงสัยเหล่านั้นโดยไม่มีข้อแม้
ส่วนฉันที่เป็น “สื่อ” และเป็น “นางแบก” พรรคเพื่อไทยก็กลับมานั่งถามตัวเองเช่นกันว่า เมื่อไม่มีรัฐบาลทหารแล้ว ควรจะกลับไปนั่ง “ด่า” รัฐบาลวันยังค่ำ ให้สมกับที่เรามีประชาธิปไตยแล้ว ก็อยากทำแบบนั้นด้วยเหมือนกัน เพราะไม่ใช่ว่ารัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยจะไม่มีอะไรรั่วๆ เลย
แต่เมื่อรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เข้าสู่อำนาจก็เจอกับ “ข้ามขั้วตระบัดสัตย์” ถ้าการโจมตีเรื่องข้ามขั้วตระบัดสัตย์มาจาก “สื่อ” หรือมาจากกลุ่ม “อำนาจเก่า” ที่รังเกียจประชาธิปไตย รังเกียจนักเลือกตั้ง ฉันก็คงไม่ซีเรียสกับมันสักเท่าไหร่
แต่ปรากฏว่า วาทกรรมข้ามขั้วตระบัดสัตย์ถูกสร้างและถูกใช้โดยนักวิชาการ ปัญญาชนหัวก้าวหน้า นักคิด นักเขียน ศิลปินที่มียี่ห้อว่าเป็น “นักประชาธิปไตย”
ดังนั้น วาทกรรมนี้จึงมีน้ำหนักในการชี้นำสังคมอย่างมาก ไม่ต่างจากสมัยที่นักวิชาการทั้งประเทศออกมาด่าทักษิณ ชินวัตร ว่าขายชาติ หรือเป็นเผด็จการรัฐสภา ซึ่งสื่อทุกสื่อก็พร้อมขานรับอยู่แล้ว
เพราะการ “ขานรับ” ข้อเสนอของนักวิชาการย่อมทำให้สื่อดูฉลาดและบังเอิญว่ามันก็สอดคล้องกับสิ่งที่สื่อคิด
นอกจากฉันจะไม่ได้วิจารณ์รัฐบาลใดๆ กลายเป็นการที่ต้องแบกเข้มข้นกว่าเดิม เพื่ออธิบายว่าการออกจาก MOU จับมือกับพรรคก้าวไกล และข้ามขั้วไปตั้งรัฐบาลกับพรรคที่เคยเป็นไม้เบื่อไม้เบา หรือในอดีตเป็นพรรคสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหาร หันมามองจุดยืนทางการเมือง อุดมการณ์ก็ไม่มีอะไรตรงกันแม้แต่น้อย ดูเผินๆ พรรคเพื่อไทยมันเลวจริงๆ
แต่เราต้องไม่ลืมว่า การจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้แปลว่าทุกพรรคที่มาร่วมกันเป็นรัฐบาลต้อง “รักกัน” หรือแชร์อุดมการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจชุดเดียวกัน
การจัดตั้งรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยรัฐสภามีแค่ “ตกลงกันได้” ตามเงื่อนไขที่ทุกฝ่ายรับได้ และการร่วมกันนี้ก็เป็นสภาวะชั่วคราว
เมื่อเวลาผ่านไป เริ่มไม่ลงตัว มีความงอแง ไม่ทำงาน ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ให้เกียรติกันและกันก็แยกกันได้
แต่ดูเหมือนพรรคก้าวไกลและผู้ติดตามชาวด้อมกลับมองการเมืองเป็น “มวยปล้ำ” คือฝ่ายธรรมะ กับฝ่ายอธรรม
สองฝั่งชัดเจนจนชั่วฟ้าดินสลาย ห้ามข้ามฟากมาอยู่ด้วยกัน และเพราะคิดแบบนี้ หลายๆ คนจึงตั้งคำถามว่า ในอนาคตพรรคก้าวไกลจะสามารถไปร่วมรัฐบาลกับใครได้?
หรือต้องรอชนะแลนด์สไลด์สามร้อยห้าสิบเสียงตั้งรัฐบาลพรรคเดียวไปเลย
เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้มีอะไรซับซ้อนไปกว่า หนึ่ง พรรคที่มี ส.ส.มากที่สุดได้ตำแหน่งนายกฯ และคุมกระทรวงที่สำคัญๆ
เพราะต้องบริหารประเทศให้บรรลุเป้าหมายใกล้เคียงกับที่สัญญาไว้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด และพรรคอื่นๆ รับได้ มันก็จบ พรรคไหนพูดไม่รู้เรื่องก็ไม่ได้มาอยู่ด้วยกัน
ดังนั้น การที่พรรคที่มี ส.ส.มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งกลายเป็นฝ่ายค้าน และพรรคอันดับสองไปรวมกับหลายๆ พรรค ได้เป็นรัฐบาลจึงเป็นภาวะสุดแสนธรรมดาสามัญ
แน่นอนว่า พรรคเพื่อไทยเคยพูดว่าจะไม่รวมกับ “พรรคลุง” แล้ว เสียคำพูดต้องรวม สิ่งที่มันเป็นคือ “ครับ เสียคำพูด เพราะสถานการณ์เปลี่ยน ชั่งน้ำหนักแล้ว เสียคำพูดแต่ได้เป็นรัฐบาล จะได้อำนาจรัฐไปทำงานตามที่หาเสียงเอาไว้ ก็คุ้มที่จะเสีย” ก็แค่นั้น
โหวตเตอร์ที่รับได้ก็รับ ที่รับไม่ได้ก็ไปเลือกพรรคอื่นในครั้งหน้า ก็เป็นแฟร์เกมตามหลักการประชาธิปไตยทุกอย่าง ไม่ได้ตอแหล โกหก ซ่อนเร้น ปิดบังอะไรเลย
ก็ผิดคำพูดในที่แจ้ง บนสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในที่แจ้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่มี ส.ว.โหวตให้ก้าวไกลตามสัญญา หรือ ม่มีพรรคไหนรับได้กับนโยบาย 112 ของก้าวไกล
แต่ความน่าสนใจของ “ผู้แพ้” ที่ต้องไปเป็นฝ่ายค้านคือ “ความแค้น” และลึกๆ พวกเขาก็รู้ว่า เมื่อเดินเกมมาในรูปการณ์นี้เขามีหนทางเดียวคือต้องพยายามชนะแลนด์สไลด์ให้ได้
การทำงานของก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้านจึงไม่ได้ทำแค่การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแทบไม่ได้ตรวจสอบเรื่องการทุจริต คอร์รัปชั่นของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงเท่ากับการทำลาย “ความชอบธรรม” ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย
และพยายามให้ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้อมของพวกเขาเข้าใจว่า พรรคเพื่อไทยขาดความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจเพราะ “ตระบัดสัตย์ต่อประชาชน”
มิไยที่ประชาชนคนอื่นจะบอกว่า ประเทศไทยไม่ได้มีแค่ 14 ล้านคนอย่างที่พรรคก้าวไกลพยายามจะเคลมว่ามีแต่พวกตนเท่านั้นที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง
เมื่อพวกเขาชี้เป้าว่า “ขาดความชอบธรรม” ก็ส่งผลให้นักวิชาการหัวก้าวหน้า สื่อ หันมาโฟกัสที่วาทกรรมดังที่พรรณิการ์ วานิช ไปพูดในรายการสรยุทธ สุทัศนะจินดา กับจักรภพ เพ็ญแข ว่า
“เพื่อไทยทำทุกอย่างเพื่อเข้าสู่อำนาจในขณะที่ก้าวไกลไม่ได้สนใจเรื่องอำนาจเท่ากับความสามารถในการเปลี่ยนแปลงประเทศ”
ฟังเร็วๆ เหมือนจะดี แต่ถ้าฟังอีกครั้งหนึ่งจะต้องฉงนว่า หากไม่มีอำนาจรัฐ ผ่านไปสี่ปี ผ่านไปแปดปี ผ่านไปสิบหกปี ทำแค่ปลุกความโกรธแค้นชิงชังอยู่นอกสภา ปลุกความสิ้นหวังในหมู่ประชาชนทั้งๆ ที่พูดทุกวันว่า “เราคือการเมืองแห่งความหวัง” ในนามของการทำงานทางความคิด
คำถามของฉันคือ แล้วพรรคส้มจะเปลี่ยนแปลงประเทศ เปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร?
การพูดเช่นนี้จึงเป็นการสร้างเงื่อนไขให้กับพรรคส้มเองว่า หากต้องเป็นรัฐบาลด้วยการไปรวมกับพรรคเพื่อไทย, พรรคภูมิใจไทย, พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคประชาธิปปัตย์ เท่ากับการยอมเกี้ยเซี้ยกับกลุ่มอำนาจเดิม ถึงได้เป็นรัฐบาลก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้
แสดงว่าพรรคส้มมั่นใจว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า ด้วยการทำงานทางความคิดนี้ (ผ่านการทำให้สังคมเชื่อว่า พรรคการเมืองอื่นๆ ล้วนเลว เช่น ตระบัดสัตย์, โกง, สืบสันดาน) พรรคส้มจะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวเพราะชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย จากนั้นจะลงมือ “เปลี่ยนแปลงประเทศ”
ซึ่งฉันก็เอาใจช่วยให้ทำได้จริงๆ แต่ถ้าพรรคส้มจำเป็นต้องรวมกับพรรคอื่นๆ ด้วย วันนั้นคำว่า “ข้ามขั้วตระบัดสัตย์” ก็น่าจะกลับมาทิ่มแทงพรรคส้มเอง
และน่าจะต้องเตรียมวาทกรรมไว้ล่วงหน้าเพื่ออธิบายการกลืนน้ำลายของตนเองว่า “นี่คือความชั่วร้ายที่จำเป็น”
หนึ่งปีของรัฐบาลเศรษฐาจึงแทบจะไม่มีใครได้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างจริงจัง เพราะเอนจอยกับการนั่งพล่ามคำซ้ำๆ อย่างตระบัดสัตย์ เศรษฐถุย ไอ้โย่ง บินเยอะเป็นแมลงวัน ดิจิทัลวอลเล็ตกู้มาแจก เป็นหนี้ชั่วลูกชั่วหลาน วนอยู่อย่างนั้น
ในสภาก็วนอยู่กับเรื่องหนี้สาธารณะ การกู้ คิดไปทำไป เราไม่เห็นการตรวจสอบการทำงานของกระทรวงศึกษาฯ กระทรวง อว. กระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงมหาดไทยใดๆ
เพราะจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวพรรคส้มก็เสพติดการทำคอนเทนต์ด่ารัฐบาลเพื่อไทยตอบโจทย์การสร้างเอนเกจเมนต์ให้สื่อไปวันๆ และกว่าจะรู้ตัวอีกทีพรรคส้ม, ก้าวไกล หรือประชาชน ก็พบว่า คุณภาพของการอภิปราย การสื่อสารของพรรคในปัจจุบันนี้ห่างชั้นจากสมัยที่มีปิยบุตร แสงกนกกุล ทำงานอยู่พรรค อย่างเทียบกันไม่ได้
ความเป็นวิชาการหายไป การพูดถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างตุลาการภิวัฒน์ การลบล้างผลพวงรัฐประหาร การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การกระจายอำนาจ การสร้างรัฐสวัสดิการ หายไปหมด
เหลือแต่การสร้าง “ท่อนฮุก” สำเร็จรูปไว้ให้แฟนด้อมก๊อบไปขยายผลต่อในโซเชียลมีเดีย
และในระหว่างที่ฝ่ายการเมืองที่หลังพิงประชาชนอย่างพรรคเพื่อไทยถูกดิสเครดิตด้วยวาทกรรมจากส้ม พรรคส้มก็ถูกโจมตีจากสลิ่มเฟสหนึ่งอนุรักษนิยมขวาจัดดิสเครดิตว่าเป็นพรรค “ล้มเจ้า”
พรรคก้าวไกลก็ถูกร้องด้วยประเด็นใช้เรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ในการหาเสียง เศรษฐาก็โดนร้องด้วยเรื่องการตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี แล้วก็ปลิวกันทั้งคู่ พรรคก้าวไกลถูกยุบ กก.บห.โดนตัดสิทธิ์ทางการเมือง และนายกฯ เศรษฐาก็ถูกวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง
แทนที่สังคมจะตระหนักว่าภัยคุกคามอำนาจของประชาชนคือตุลาภิวัฒน์ และตระหนักว่า มีเครื่องมือเดียวเท่านั้นที่จะ “คาน” อำนาจของตุลาการภิวัฒน์ได้คือ พรรคการเมือง นักการเมือง เพราะเป็นตัวเล่นในสมการที่ต้องหลังพิงประชาชนมากที่สุด ยึดโยงกับประชาชนสูงสุด ไม่เกี่ยวกับว่าพรรคการเมืองนั้น “สะอาด” หรือไม่ นักการเมืองนั้น “สะอาดบริสุทธิ์” หรือไม่
แต่ประเด็นมันอยู่ที่พวกเขาคือตัวเล่นในสนามที่เชื่อมโยงกับประชาชนมากที่สุดในองคาพยพที่ประกอบกันขึ้นเป็น “รัฐ” ไม่ว่าจะเป็นตุลาการ, ระบบราชการ และองค์กรอิสระ
สําหรับฉัน สุขภาพของประชาธิปไตยคือการรื้อถอนแนวคิดเรื่อง “คนดี”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโหยหานักการเมือง “น้ำดี”
ซึ่งการเขียนเช่นนี้ ไม่ได้แปลว่าฉันสนับสนุนนักการเมืองเลว สนับสนุนให้นักการเมืองโกง นิยมการให้สัมปทานเจ้าสัวผูกขาดการทำธุรกิจ
แต่เราต้องลำดับความสำคัญให้ได้ว่า ณ วันนี้สิ่งที่บ่อนทำลายความแข็งแรงของประชาธิปไตยคือฝ่ายการเมือง นักการเมือง พรรคการเมือง หรือฝ่ายที่มี “อำนาจ” แต่ไม่ยึดโยงกับประชาชนกันแน่
แต่สิ่งที่ฉันรู้สึกประหลาดใจเสมอมาคือ ทำไมพรรคการเมืองที่บอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตยมากๆ กลับเป็นฝ่ายที่ “เล่น” วาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเป็น “คนดี” หมดเลย เช่น เมื่อแพ้การเลือกตั้ง อบจ.ที่ราชบุรีก็บอกว่าตัวเองแพ้เพราะชาวราชบุรีเห็นแก่เงินสองร้อย
และผลิตซ้ำวาทกรรมของการสร้างคู่ตรงข้าม เช่น นักการเมืองรุ่นใหม่ กับนักการเมืองรุ่นเก่า, คนที่มีความรู้ความสามารถกับระบบลูกท่านหลานเธอ, นักการเมืองผู้ไม่สยบต่อนายทุนกับนักการเมืองเอื้อทุนผูกขาด, นักการเมืองที่มุ่งมั่นในการตรวจสอบการโกงกับนักการเมืองที่จ้องจะโกง
แทนที่จะมองว่า ทุกพรรคการเมืองก็มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเอง
ในหนึ่งพรรคการเมืองก็มีทั้งคนห่วยและคนเก่ง ในหนึ่งพรรคการเมืองก็มีคนที่ตั้งใจทำงานกับคนขี้โม้ ในหนึ่งพรรคการเมืองก็มีการต่อสู้กันระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า ในหนึ่งพรรคการเมืองก็มีทั้งส่วนที่ใช้ระบบคุณธรรมกับส่วนที่ยังมีระบบเส้นสาย
พรรคของเราก็ไม่สมบูรณ์ พรรคอื่นๆ ก็ไม่สมบูรณ์แบบ แต่มีจุดเด่น จุดด้อยที่บางเรื่องเราก็แพ้ บางเรื่องคนอื่นก็แพ้เรา
สนามไหนเราเก่งกว่าก็ชนะให้ได้ สนามไหนเราสู้ไม่ได้ก็ยอมรับความจริง
และพึงมองว่า การทำงานในระบบสภา หากมีโอกาสจะได้ตั้งรัฐบาล ควรพยายามเป็นรัฐบาลให้ได้ เพื่อเอาวาระที่เป็นนโยบายหลักของพรรคไปขับเคลื่อนให้สังคมเปลี่ยนแปลง
เปลี่ยนน้อยดีกว่าไม่เปลี่ยน ได้ทำบ้างดีกว่าไม่มีโอกาสทำเลย
และในระหว่างนั้นก็ค่อยๆ เติบโตกันไปพร้อมๆ กับที่พรรคอื่นก็เติบโตด้วยเช่นกัน เมื่อกาลเวลาผ่าน ย่อมมีการผลัดใบ เปลี่ยนรุ่น การเมืองก็น่าจะค่อยๆ เข้ารูปเข้ารอย ประชาธิปไตยค่อยๆ มีเสถียรภาพมากขึ้น
ตรงไหนในองคาพยพของรัฐที่ไม่ควรโต ไม่ควรเข้มแข็งกว่าที่ควรจะเป็น ฟากฝั่งการเมืองก็ต้องช่วยกัน “เก็บทรง” ควบคุมให้ได้มากที่สุดพร้อมๆ กับประคองให้ “ปะทะ” กันน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เล่นบทรุก บทรับ สลับกันรุก สลับกันถอย แข่งกันเต็มร้อยเมื่อครบวาระในการลงเลือกตั้งใหม่
ฉันคิดว่าหากเราประคองสถานการณ์แบบนี้ให้การเลือกตั้งต่อเนื่องสักสี่สมัยติดต่อกัน ต่อให้ยังมีองค์กรอิสระและตุลาการภิวัฒน์อยู่ แต่ภาคการเมืองและประชาชนก็จะเข้มแข็งมากพอที่พวกเขาจะรุกคืบหาเราได้น้อยลง
แต่ก็น่าผิดหวังพอสมควรที่เมื่อแพทองธาร ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกฯ โดยเสียงของสภา พรรคฝ่ายค้านที่แบรนดิ้งตัวเองเป็นพรรคการเมืองแห่งความหวัง พรรคของคนรุ่นใหม่ พรรคที่ต้องการสร้างสังคมประชาธิปไตยกลับชี้นำสังคมด้วยวาทกรรม “ครม.สืบสันดาน” “การสืบทอดอำนาจจากพ่อสู่ลูก” “ครม.กุลธิดา” ที่มีนัยของการเหยียด/กด ความเป็นหญิงและอคติต่อสภาวะ “ลูกสาว” อย่างชัดเจน
ทั้งๆ ที่ผู้พูดก็เป็นผู้หญิงที่เผชิญกับวิบากกรรมของอคติของสังคมชายเป็นใหญ่มานับครั้งไม่ถ้วน
การที่นักการเมืองหญิงมักถูกมองว่าเป็นชู้รักชู้ลับของนักการเมืองชาย มันก็แย่พอๆ กับการไปตัดสินว่า รัฐมนตรีหญิง นายกฯ ผู้หญิงก้าวสู่ตำแหน่งนั้นเพราะความเป็นลูกสาวนั่นแหละ เพราะแก่นสารของคำพูดเช่นนี้มาจากความไม่เชื่อว่าผู้หญิงสามารถขึ้นสู่พื้นที่การเมืองได้ด้วยตัวเธอเอง
จาก ครม.สืบสันดาน สู่ญาติโกโหติกาคาบิเน็ต เบบี๋อุ๊งอิ๊ง ถูกพ่ออุ้มขึ้นเก้าอี้นายกฯ สิ่งเหล่านี้เป็น mysoginistic หรือภาวะ “เกลียดผู้หญิงเข้าไส้”
และหากมันเกิดกับเหล่าชายแท้ ขวาจัด ฉันจะไม่แปลกใจ
แต่มันกลับเกิดขึ้นและออกจากปากของนักเขียนหญิงรางวัลซีไรต์ที่มักอ้างตัวเป็นเฟมินิสต์เพื่อนหญิงพลังหญิง
ออกจากปากของนักการเมืองหญิงที่อ้างว่าต่อสู้เพื่อให้ผู้หญิงมีพื้นที่ทางการเมือง
ออกจากปากเหล่าปัญญาชนทั้งหญิงและชายที่ปกติแล้วแสนจะ woke กับทุกเรื่อง
มิพักต้องพูดถึงสื่อออนไลน์ที่ผู้ดำเนินรายการชายสองคนที่ไม่มีความสามารถอะไรนอกจากการล้อเลียน แสร้งขำขันแบบเกินจริงโดยอ้างว่าเป็นการ satire อำนาจ
ฉันไม่ได้บอกว่า ห้ามวิจารณ์นักการเมืองหญิง ห้ามวิจารณ์รัฐบาล ทุกการกระทำของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยดีหมดเลย ไร้ที่ติ
แต่การวิจารณ์นี้ต้องเริ่มจากการติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก นั่นคือต้องชัดเจนว่า
หนึ่ง คนในครอบครัวการเมืองย่อมมีสมาชิกในครอบครัวทำงานการเมืองเหมือนการสืบทอดกิจการครอบครัว ตรงนี้ไม่เถียง อาจจะเกิดจากการซึมซับ อาจจะเกิดจากความคุ้นเคยจนกลายเป็นความถนัด เหมือนเราโตมากับอะไร เราก็ทำสิ่งนั้นได้ดี เพราะฉะนั้น การที่มีพ่อเป็นนักการเมือง และลูก หลาน ญาติพี่น้อง ก็เป็นนักการเมือง จึงไม่ได้เรื่องต้องมากรีดร้องอะไร
สอง การที่เติบโตมาในครอบครัวนักการเมืองและลงมาเล่นการเมือง ถือเป็นข้อได้เปรียบหรือไม่ คำตอบคือ ใช่ แต่ก็อาจจะเป็นข้อเสียเปรียบเพราะจะโดนจับจ้อง เปรียบเทียบตลอดเวลาว่าเก่งสู่พ่อ สู้แม่ สู้พี่ น้อง คนอื่นๆ ได้หรือเปล่า
สาม มาจากครอบครัวที่ร่ำรวย ได้เปรียบ หรือไม่ คำตอบคือ ใช่ และต้องขยายความว่า ในการใช้ชีวิตปกติ ต่อให้ไม่เป็นนัการเมือง การมีเงินมากกว่า ก็เป็นข้อได้เปรียบอย่างเป็นปกติอยู่แล้ว
สี่ ครม.นี้ รัฐบาลนี้โดยแพทองธาร มีครบสามข้อข้างต้นหรือไม่?
คำตอบคือ “มี” แต่ต้องถามต่อไปว่า เมื่อมีแล้ว พวกเขาเข้าสู่อำนาจโดยการปล้นใครมาหรือไม่?
พ่อของพวกเขายึดอำนาจ รัฐประหาร ฉีกกฎหมาย สถาปนาตัวเอง เป็นผู้นำสูงสุดแล้วตั้งทายาท จากรุ่นสู่รุ่นหรือไม่?
คำตอบคือ “ไม่ใช่” และควรเขียนคำว่า “ไม่ใช่” นี้ด้วยตัวหนังสือที่ใหญ่มาก
ห้า ครม.นี้ และตัวแพทองธาร ในฐานะนายกฯ ลงประกาศในสนามเลือกตั้งเพื่อขอฉันทานุมัติจากประชาชนหรือไม่? คำตอบคือ “ใช่”
หก โควต้า รมต.ของพรรคภูมิใจ จะเป็นชาดา ไทยเศรษฐ์ หรือลูกชาดา หรือหลานชาดา มันก็จบตรงที่มันเป็นโควต้าของภูมิใจไทย และภูมิใจไทยได้โควต้าที่มาตามจำนวน ส.ส.ที่พรรคเขามี
ดังนั้น การที่เขาให้ลูกมาเป็นก็มาตามโควต้า ไม่ใช่ว่าเดิมเป็นตำแหน่งของคนอื่นในพรรคแล้วชาดาไปเตะเขาออก ดันทุรังเอาลูกตัวเองขึ้น เรื่องมันก็มีอยู่แค่นี้
และซาบีดา ไทยเศรษฐ์ ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองกับประชาชน เพราะในอีกสามปีข้างหน้า การเลือกตั้งก็รออยู่
เจ็ด ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ประชาชนไม่ได้เลือกนายกฯ โดยตรง และไม่ได้เลือกรัฐมนตรีโดยตรง เป็นการเลือกผ่านระบบตัวแทน ดังนั้น ส.ส.เข้าไปเลือกนายกฯ และพรรคการเมืองสรรหารัฐมนตรีตามโควต้าของแต่ละพรรค ก็ถูกต้องแล้วตามกติกาที่มีและเป็น
แปด ถ้าไม่ได้อยากได้แบบข้อเจ็ด ก็ไปแก้รัฐธรรมนูญให้นายกฯ ต้องมาจากการเป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์หนึ่งเท่านั้น หรือแก้รัฐธรรมนูญว่า ส.ส. นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น รัฐมนตรีก็ต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น ห้ามเอาคนนอกมาดำรงตำแหน่งเด็ดขาด ซึ่งจะแก้แบบนั้น ตัวฉันเองไม่มีปัญหา ไม่ประเด็น
เก้า แต่ในเมื่อยังไม่ได้ไปแก้กติกาว่า นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. รมต.ต้องเป็น ส.ส. ภายใต้กติกานี้ ทุกคนใน ครม. ก็ตามกติกาทุกประการ และทุกคนจะอยู่ในตำแหน่งตามวาระอีกแค่สามปีเท่านั้น ปี 2570 ทุกคนก็ต้องลงเลือกตั้งให้ประชาชนตัดสินอีกครั้ง
ดังนั้น ทั้งตัวนายกฯ และ ครม. ไม่ได้มีอะไรที่ใกล้เคียงกับคำว่าสืบสันดานเลย
ฉันไม่ได้มีปัญหากับคำว่า สืบสันดาน หรือคำว่า สันดาน ไม่ได้มีปัญหาว่ามันเป็นคำแรงหรือคำหยาบ แต่มีปัญหาว่า คำนี้เป็น “ความเท็จ” และน่าอดสูใจที่ปัญญาชนชั้นนำของเราไม่มีใครมีภูมิต้านทานกับความเท็จเช่นนี้ แต่กลับปล่อยให้สมองไหลเหลวราวอุจจาระของคนป่วยด้วยโรคอหิวาห์
นายกฯ แพทองธาร เก่งหรือไม่ ฉันไม่รู้ แต่เข้าสู่อำนาจด้วยกติกาประชาธิปไตยแน่นอน
ครม.นี้ดีหรือไม่ เก่งหรือไม่ คำตอบคือ ไม่รู้ แต่ไม่ได้ปล้นอำนาจเข้ามาแน่นอน
รัฐบาลนี้ร่วมกันบนการต่อรองและประนีประนอมใช่หรือไม่ คำตอบคือ “ใช่” แต่ถามว่า ประชาธิปไตย ถ้าไม่ประนีประนอมจะให้ฆ่ากันหรือ?
เรายังต้องคืนความยุติธรรมให้คนเสื้อแดงหรือไม่? คำตอบคือ “ใช่” แต่ก่อนจะคืนความยุติธรรมได้ เราต้องสร้างสังคมประชาธิปไตยที่แข็งแรงและมีเสถียรภาพได้พอสมควร
รวมถึงส่งเสริมให้สังคมมีวุฒิภาวะทางการเมืองผ่านการใช้ชีวิตในสังคมประชาธิปไตยให้ยาวนานพอใช่หรือไม่?
สำหรับฉันผิดหวังมากที่พรรคการเมืองแห่งความหวังกลับใช้แท็กติกทางการเมืองที่บั่นทอนความเข้มแข็งของวัฒนธรรมประชาธิปไตยด้วยการเหยียดเพศ ใส่ร้าย สร้างวาทกรรมเป็นความเท็จ ทำลายฝ่ายการเมืองด้วยกันเอง ไม่ต่างจากยุค “บุฟเฟ่ต์คาบิเน็ต” หรือ “ทรราชเสียงข้างมาก”
สันดานสลิ่มฝังรากลึกและสืบต่อได้โดยไม่ต้องมีสายโลหิตเดียวกัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022