‘รัฐบาลอิ๊งค์ 1’ เทหมดหน้าตัก งัด ‘กองทุนวายุภักษ์’ พยุงหุ้น หวังทะยานไกลแตะ 1,800 จุด

ปรากฏการณ์ตลาดหุ้นไทยเด้งรับ “รัฐบาลแพทองธาร 1” อย่างรัวๆ แม้จะเป็นแค่ช่วงสั้นๆ แต่ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจไทยได้ไม่มากก็น้อย

เพราะปฎิเสธไม่ได้ว่าภาค “ตลาดเงิน-ตลาดทุน” มีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยไม่น้อยไปกว่าภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ที่เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยมายาวนาน เพราะถือเป็น “เศรษฐกิจจริง” ที่มีผลให้เกิดการใช้จ่าย การลงทุน และความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น

จึงได้เห็นความพยายามในการผลักดัน “ตลาดหุ้นไทย” ให้กลับมามีความคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะการหยุดขาลงของดัชนีหุ้นไทย หลังจากปรับลดลงทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 1,274 จุด ในช่วงวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการปรับตัวต่ำสุด นับตั้งแต่โควิดคลายตัวลง และตลาดต่างรับรู้ว่าเป็นการปรับตัวต่ำกว่ามูลค่าจริงของหุ้นไทยสูงมาก

แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งและเปิดทางขึ้นได้

 

ทําให้แม่ทัพทีมเศรษฐกิจรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร “พิชัย ชุณหวชิร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องงัดกลยุทธ์เด็ด เรียกความมั่นใจของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น

นำร่องด้วยการกดปุ่มเปิดจอง “กองทุนวายุภักษ์” ที่จะเข้ามาสนับสนุนตลาดทุนไทย วงเงินรวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท

โดยจะเปิดจองซื้อในรอบประชาชนทั่วไป ในวันที่ 16-20 กันยายน 2567

ขุนคลังเชื่อมั่นการที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้น จะเป็นหนึ่งตัวช่วยในการเสริมสร้างความมั่งคั่งให้กับคนไทยได้

โดยเฉพาะนักลงทุนไทยที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งการที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นทุกๆ 100 จุด จะทำให้ความมั่งคั่งที่คิดมาจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) เพิ่มขึ้น 1.2 ล้านล้านบาท โดยกระทรวงการคลังคาดหวังจะเห็นดัชนีกลับขึ้นไปยืนที่ระดับ 1,800 จุด มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด อยู่ที่กว่า 20 ล้านล้านบาท ทำให้นักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยกลับมามีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น

ถือเป็นการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของภาคเอกชนในตลาดทุนและสมาคมต่างๆ ที่ต้องการให้รัฐบาลหามาตรการในการปิดทางลงของดัชนีหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่อง นับจาก “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” ก้าวขึ้นบริหารประเทศ แม้ที่ผ่านมาจะมีมาตรการหรือแนวนโยบายออกมา แต่ยังไม่เห็นดัชนีหุ้นตอบรับเชิงบวกมากนัก

จนล่าสุดรัฐบาลตีฆ้อง “กองทุนวายุภักษ์” จึงเห็นกระดานหุ้นไทยดีดบวกสุดร้อนแรง สวนทางตลาดหุ้นอื่นทั่วโลก ที่เผชิญแรงกดดันร่วงหล่นกันเป็นแถว

แม้เสียงส่วนใหญ่จะบอกว่า รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ เพิ่มการเติบโตในระยะยาว แต่ต้องยอมรับว่ามาตรการระยะสั้นก็ยังมีความสำคัญ เพื่อลดแรงกระแทกที่ทำให้นักลงทุนไทยเจ็บตัว เจ็บกระเป๋า และเจ็บใจกับหุ้นในพอร์ตก่อนเป็นอันดับแรก

 

“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (ไอเอเอ) และกรรมการสภาธุรกิจตลาดไทย (เฟทโก้) กล่าวว่า ความจริงในโลกปัจจุบัน หมดยุคของการมีกองทุนพยุงหุ้นแล้ว แต่ประเทศไทยยังมี ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะมองในแง่การเก็บออมที่ฝึกให้ประชาชนออมเงินกับการลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้น จึงไม่ไม่ได้มองว่ากองทุนวายุภักษ์จะเป็นกองทุนเพื่อพยุงหุ้นไทยมาก

แต่เป็นการปกป้องส่วนของการดาวน์ไซส์หุ้นหรือช่วงของการปรับลดลง เมื่อเข้าไปลงทุนในหุ้นไทยแล้ว มีการการันตีผลตอบแทนให้ในรูปแบบเงินปันผลตามกำหนดไว้ ภายใต้ผลตอบแทนตามจริง แต่สูงสุดไม่เกินที่กำหนดไว้เช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เม็ดเงินลงทุนหายไปอย่างแน่นอน

“ไพบูลย์” ประเมินว่าตลาดหุ้นไทยต่อจากนี้ จะมีเม็ดเงินจากกองทุนวายุภักษ์เข้ามากว่าหลักแสนล้านบาท คนจะเข้ามาซื้อหุ้นไทยมากขึ้นและยังมีเม็ดเงินจากกองทุนรวมไทย เพื่อความยั่งยืนหรือไทยอีเอสจี ที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ที่จะทยอยมีเม็ดเงินเข้ามาในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หุ้นไทยจะคึกคักมากขึ้นอีก คนอาจเข้ามาเร็วกว่าที่คาดไว้ด้วย เพราะนักลงทุนคงไม่อยากรอจนถึงปลายปีแล้วค่อยทยอยเข้าซื้อลงทุนในตัวหุ้น เพราะกลัวว่าหุ้นจะแพงกว่านี้

การที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาตอนนี้ เป็นการปรับตัวขึ้นมาในจุดเดิม เพราะที่ผ่านมาลดลงไปหลายร้อยจุด เทียบกับปลายปี 2566 ที่ดัชนีอยู่ระดับ 1,416 จุด ถือว่ายังไม่ไปไหน ขณะที่วันที่ 7 กันยายน 2567 ดัชนีหุ้นไทยอยู่ระดับ 1,427.64 จุด บวกกว่าเดิมเพียง 10 จุดเท่านั้น เท่ากับว่ายังไม่ไปไหน

แต่หากกลับไปพิจารณาในช่วงก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือน พบว่าดัชนีขึ้นไปที่ระดับ 1,500 จุด จึงถือว่าติดลบอยู่ ทั้งที่ปี 2567 เป็นปีที่หุ้นไทยไม่ควรติดลบแล้ว ทำให้ตลาดหุ้นไทยเป็นการตั้งตัวใหม่นับจากศูนย์ ขณะที่ตลาดหุ้นอื่นบวกขึ้นไปแล้วกว่า 15% จึงต้องรอดูว่าจะไปได้ไกลมากเท่าใด

ตอนนี้จึงยังไม่ต้องตื่นเต้นอะไรกันมากนัก

 

ด้าน “ชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ” กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) สะท้อนว่าภาพรวมตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่ต้นปี 2567 ถึงปัจจุบัน สร้างผลงานรั้งท้ายตลาดหุ้นเอเชีย หากเปรียบเทียบผลตอบแทนบนสกุลเงินท้องถิ่น โดยให้ผลตอบแทนติดลบ 6.1% เมื่อเทียบตลาดหุ้นในเอเชียที่มีผลตอบแทนสูงสองหลักขึ้นไป อาทิ ตลาดหุ้นไต้หวัน บวก 25% หุ้นญี่ปุ่น บวก 14% และหุ้นเวียดนาม บวก 15%

ดังนั้น ตลาดหุ้นไทยจึงให้ผลตอบแทนต่ำกว่าภาพรวมตลาดต่อเนื่อง 2 ปีติด โดยในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ดัชนีปรับตัวลดลงกว่า 10-12% สาเหตุจากกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ครึ่งปีแรกออกมาขยายตัวเพียง 3% จากเป้าหมายทั้งปีที่คาดจะโต 14% ผลจากการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐที่เพิ่งออกมาเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา รวมทั้งรัฐบาลยังโฟกัสอยู่ที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นหลัก จึงปรับลดเป้าหมายดัชนีหุ้นสูงสุดปลายปี 2567 ลงมาที่ระดับ 1,396 จุด จากเดิมที่คาดเป้าหมายอยู่ที่ระดับ 1,466 จุด

ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจ ยังมีหลายปัญหาต้องเร่งแก้ไข ทั้งสินค้าราคาต่ำของจีนทะลักเข้าไทย กระทบธุรกิจเอสเอ็มอี การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐและจีน ที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจเติบโตชะลอตัว แต่รัฐบาลยังให้ความสำคัญที่ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นหลัก โดยช่วงที่เหลือของปีนี้ เชื่อว่าจะได้ประโยชน์จากท่องเที่ยว แต่ดีมานด์ภายในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้า อาทิ ธุรกิจก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ สื่อโฆษณา และการเงินเพื่อการบริโภค ที่ภาพรวมยังดูไม่ค่อยดี ทำให้เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยง

คงต้องลุ้นนโยบาย “กองทุนพยุงหุ้น” ที่รัฐบาลแพทองธาร กำลังจะกดปุ่มนั้น จะเป็นตัวช่วยบูสต์ดัชนีหุ้นไทยไต่ระดับไปไกลแตะ 1,800 จุด ได้หรือไม่!!