สถาปัตย์ไทยศิลปากร : 70 ปีของการหาความเป็นไทย ในโลกสมัยใหม่ (2)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

สถาปัตย์ไทยศิลปากร

: 70 ปีของการหาความเป็นไทย

ในโลกสมัยใหม่ (2)

 

จะเข้าใจการเกิดขึ้นของ “คณะสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร” ในฐานะคณะวิชาที่ได้รับมอบหมายภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ในการอนุรักษ์และต่อยอดความเป็นไทยในทางสถาปัตยกรรม ในปี พ.ศ.2498 ได้ชัดเจนขึ้น เราต้องย้อนกลับไปมองอดีตที่ยาวไกลกว่านั้น ต้องทำความเข้าใจสภาวะทางอารมณ์ของสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นนำ ที่เกิดความรู้สึกว่าความเป็นไทยกำลังถูกคุกคามและกำลังจะสูญหายไปเสียก่อน

ความรู้สึกนี้ถูกบ่มเพาะขึ้นอย่างช้าๆ โดยเป็นผลสืบเนื่องจากจุดเปลี่ยนสำคัญราวกลางพุทธศตวรรษที่ 25 ที่สังคมไทยเปิดรับความเป็นสมัยใหม่ในนามของคำว่า “ศิวิไลซ์” อย่างเต็มที่ ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการปะทะครั้งใหญ่ระหว่างโลกทัศน์แบบจารีตชองไทยกับโลกทัศน์สมัยใหม่ที่มียุโรปเป็นศูนย์กลาง

ภายใต้สภาวะนี้ องค์ความรู้แบบจารีตหลายอย่างถูกท้าทายและถูกแทนที่ด้วยองค์ความรู้จากตะวันตก การแพทย์แผนโบรานของไทยถูกแทนที่ด้วยการแพทย์สมัยใหม่ โหราศาสตร์ถูกท้าทายด้วยดาราศาสตร์ จักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิถูกแทนที่ด้วยจักวาลวิทยาสมัยใหม่ที่มีวิทยาศาสตร์เป็นศูนย์กลาง

และแน่นอน งานช่างแบบจารีตก็ถูกท้าทายอย่างหนักหน่วงจากงานช่างแบบตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทาง “วิศวกรรมศาสตร์” และ “สถาปัตยกรรมศาสตร์”

ภาพถ่ายหน้าโรงเรียนเพาะช่างยุคแรก
ที่มา : เพจ ประวัติโรงเรียนเพาะช่าง

การปฏิรูปสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 นำมาสู่การพัฒนาเมืองครั้งใหญ่ เกิดกิจกรรมทางสังคมรูปแบบใหม่ เกิดรสนิยมการใช้ชีวิตอย่างใหม่ ทั้งหมดนำมาสู่ความต้องการการใช้สอยสถาปัตยกรรมในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งงานช่างแบบจารีตไม่อาจรองรับได้ ผลก็คือ มีการนำเข้าช่างตะวันตกเป็นจำนวนมากเข้ามาออกแบบและก่อสร้างสถาปัตยกรรมตามแนวทางตะวันตก และเปลี่ยนกายภาพบ้านเมืองของไทยไปอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม แม้ชนชั้นนำไทยส่วนมากจะหลงใหลความศิวิไลซ์แบบตะวันตก แต่ขณะเดียวกัน อาการของความรู้สึกอยากรักษารากเหง้าประเพณีไทยเอาไว้ก็ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เป็นความลักลั่นทางอารมณ์ที่ทั้งรักทั้งเกลียดความเป็นตะวันตก

ใจหนึ่งก็อยากทัดเทียมและได้รับการยอมรับจากฝรั่ง

แต่อีกใจก็เกลียด กลัว ไม่ไว้ใจฝรั่ง และโหยหารากเหง้าตัวตนของตนเอง หรือที่ในเวลาต่อมาจะเรียกว่าความเป็นไทยนั่นแหละ

อาการนี้ดำรงอยู่ในทุกปริมณฑลทางสังคม และแน่นอนไม่เว้นแม้แต่ในวงการสถาปัตยกรรม

อยากเข้าใจประเด็นนี้ ต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจพัฒนาการทางความคิดแบบชาตินิยมที่ถูกบ่มเพาะขึ้นในประเทศโลกที่สามหรือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากลัทธิล่าอาณานิคมเสียก่อน

 

ในหนังสือของคุณ Partha Chatterjee เรื่อง “The Nation and Its Fragments: Colonial and Postcolonial Histories” เสนอไอเดียไว้น่าคิดว่า การอธิบายลักษณะเฉพาะของชาตินิยมในกลุ่มประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปแอฟริกาและเอเชีย (ซึ่งประเทศไทยก็สามารถจัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้) เราจะต้องทำความเข้าใจพลังขับดันที่สำคัญในการก่อรูปจิตสำนึกของ “ความเป็นชาติ” ในประเทศเหล่านี้ที่ตั้งอยู่บนฐานคิดและความรู้สึกในการต่อต้านอาณานิคมด้วยเสมอ

คุณ Chatterjee กล่าวต่อมาว่า หัวใจสำคัญของการจินตกรรมชุมชนชาติในหมู่นักชาตินิยมกลุ่มนี้มิได้ตั้งอยู่บนประเด็นเรื่อง “อัตลักษณ์” (identity) ของชาติแบบโดดๆ แต่ตั้งอยู่บนการสถาปนาบน “ความแตกต่าง” (difference) จาก “ตัวแบบ” ที่ดำรงอยู่ในโลกตะวันตกเป็นสำคัญ

ด้วยเหตุนี้ นักชาตินิยมกลุ่มนี้จึงมีจุดร่วมบางอย่างในการสร้างคำอธิบายทางสังคมและวัฒนธรรมให้มีลักษณะหรือตัวตนที่สามารถแยกออกเป็น 2 ด้าน คือ “ด้านวัตถุ” (material) และ “ด้านจิตวิญาณ” (spiritual)

“ด้านวัตถุ” จะถูกอธิบายว่าเป็นเสมือนตัวตนภายนอก เช่น รูปแบบทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อันเป็นด้านที่ได้รับการยอมรับว่าสังคมตะวันตกมีความเหนือกว่าสังคมตะวันออก โลกตะวันออกจำเป็นต้องยอมรับและพยายามก้าวตามให้ทันความเจริญในด้านนี้

“ด้านจิตวิญญาณ” คือตัวตนภายในของชาติ เป็นเนื้อแท้ของความเป็นชาติที่แสดงออกผ่านอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม, ประเพณี, ศิลปะ ฯลฯ ซึ่งนักชาตินิยมในกลุ่มประเทศเหล่านี้จะเชื่อว่า สังคมตะวันออกมีความเหนือกว่าตะวันตกอย่างมาก

ดังนั้น เราจะต้องธำรงรักษาเนื้อแท้ทางจิตวิญญาณนี้เอาไว้ให้ได้อย่างมั่นคงและต้องไม่ยอมให้วัฒนธรรมประเพณีแบบโลกตะวันตกเข้ามาแทรกแซงได้เป็นอันขาด และการรักษาจิตวิญญาณเอาไว้ได้ก็จะทำให้สังคมนั้นๆ มีความเหนือกว่าตะวันตก เป็นการเยียวยาทางความรู้สึกของความด้อยกว่าทางด้านวัตถุ

การนิยามสองด้านของความเป็นชาติในลักษณะข้างต้น คุณ Chatterjee เชื่อว่าคือรากความคิดหลักของนักชาตินิยมในโลกตะวันออก

 

มองกลับมาที่สังคมไทย เราจะเห็นถึงลักษณะดังกล่าวเช่นกัน ชนชั้นนำไทยกลางพุทธศตวรรษที่ 25 ต้องเข้าไปปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับความเป็นสมัยใหม่จากโลกตะวันตก และถึงแม้เราจะไม่ตกเป็นอาณานิคม แต่ก็สัมผัสกับพลังของมันในระดับที่ไม่ต่างมากนักจากประเทศที่เป็นอาณานิคมโดยตรง

ด้วยเหตุนี้ การแบ่งสังคมวัฒนธรรมไทยออกเป็น “ด้านวัตถุ” ที่ยอมรับในความเหนือกว่าของตะวันตกและ “ด้านจิตวิญญาณ” ที่เชื่อว่าวัฒนธรรมไทยนั้นมีคุณค่าสูงส่งกว่าวัฒนธรรมตะวันตกจึงเกิดขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประเพณีการปกครองแบบไทยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง และวัฒนธรรมไทยที่มีรากเหง้าที่มาบนฐานของพระพุทธศาสนาซึ่งถูกอธิบายว่าเป็นแก่นแท้ของความเป็นไทย ที่ต้องรักษาไว้และไม่ควรให้วัฒนธรรมตะวันตกที่ด้อยกว่าเข้าแทรกแซงได้

ลักษณะข้างต้นนำไปสู่การสร้างคำอธิบายที่ว่า คนไทยมีอุปนิสัย “ความฉลาดในการประสานประโยชน์” โดยบรรพบุรุษของเราไม่ว่าจะยุคไหนสมัยใดสามารถเลือกรับปรับใช้สิ่งดีๆ จากภายนอก (ด้านวัตถุ) เช่น ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ ฯลฯ โดยผสมผสานเข้ากับแก่นแท้ทางจิตวิญญาณดั้งเดิมของสังคมไทยที่ยิ่งใหญ่กว่ามาโดยตลอด จนทำให้ชาติไทยยิ่งใหญ่สืบเนื่องมาได้จนถึงปัจจุบัน

หากคิดตามกรอบทฤษฎีนี้ เราก็จะเข้าใจความยอกย้อนทางความรู้สึกที่มีต่อสภาวะที่งานสถาปัตยกรรมตะวันตกซึ่งถูกสร้างขึ้นอย่างมหาศาลในช่วงเวลาดังกล่าวได้เช่นกัน

ในแง่หนึ่งตัวมันคือภาพแทนของความศิวิไลซ์ที่ทัดเทียมตะวันตกและน่าชื่นชม แต่ในอีกด้านตัวมันก็ดูน่ากังวล แลดูแปลกแยก และไม่มีความเป็นไทย

ความรู้สึกทั้งรักทั้งชังนี้พัฒนาขึ้นโดยลำดับ และเริ่มนำไปสู่ความพยายามสร้างคู่ความสัมพันธ์ระหว่าง “ด้านวัตถุ” แบบตะวันตก และ “ด้านจิตวิญญาณ” แบบไทยที่เหนือกว่าขึ้นในแวดวงศิลปะและสถาปัตยกรรม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสมดุลทางความรู้สึกระหว่างความศิวิไลซ์และความเป็นไทย

 

กําเนิดโรงเรียนเพาะช่าง เมื่อปี พ.ศ.2456 คือตัวอย่างรูปธรรมครั้งแรกๆ ของความพยายามนี้

จากพระราชดำรัสเปิดโรงเรียนของรัชกาลที่ 6 เราจะมองเห็นความรู้สึกนี้ได้อย่างชัดเจน ดังความตอนหนึ่งที่ทรงกล่าวไว้ว่า

“…ชาติไทยเราได้เคยถึงซึ่งความเจริญมานานแล้ว ดังปรากฎด้วยระเบียบแบบแผนแลตำนานของเรา…ครั้นต่อมาเมื่อเราต้องดำเนิรตามสมัยใหม่ วิชาช่างของเราเราก็ชวนจะลืมเสียหมด ไปหลงเพลินแต่จะเอาอย่างของคนอื่นเข้าถ่ายเดียว…แท้จริงวิชาช่างเปนวิชาพื้นเมือง จะคอยแต่เอาอย่างของคนอื่นถ่ายเดียวไม่ได้ เพราะงามของเขาไม่เหมาะแก่ตาเรา แลฐานะของเขากับของเราต่างกัน ที่ถูกนั้นควรเราจะแก้ไขพื้นวิชาของเราเองให้ดีขึ้นตามความรู้แลวัตถุอันเกิดขึ้นใหม่ตามสมัย…แลได้เคยปรารภกับเจ้าพระยาพระเสด็จแลผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วยการศึกษา ที่จะให้วิชาช่างไทยของเราตั้งขึ้นใหม่จากพื้นเดิมของเราแล้วแลขยายให้แตกก่องก้านสาขางอกงามยิ่งขึ้น เปรียบเหมือนเอาพันธุ์พืชของเราเองมาปลูกลงในพื้นดินของเราแล้วบำรุงให้เติบโตงอกงาม ดีกว่าจะไปเอาพันธุ์ไม้ต่างประเทศมาปลูกลงในพื้นแผ่นดินของเราอันไม่เหมาะกัน. โดยความประสงค์เช่นนี้ เมื่อเจ้าพระยาพระเสด็จมาขอชื่อโรงเรียนเราได้ระฎกผูกผันอยู่ในความเปรียบเทียบกับต้นไม้ดังกล่าวนี้. เราจึงได้ให้ชื่อโรงเรียนนี้ว่า โรงเรียนเพาะช่าง…”

พระราชดำรัสข้างต้นคือบทสรุปทางความรู้สึกที่สะท้อนทัศนะโดยรวมของชนชั้นนำไทย ณ ขณะนั้นได้เป็นอย่างดีว่าต้องการค้นหาการสร้างสรรค์งานช่างในรูปแบบใหม่ ที่จะต้องแสดงออกซึ่ง “ความเป็นไทยทางจิตวิญญาณ” ที่ดีกว่าตะวันตกเอาไว้ให้ได้ ไปพร้อมๆ กับการรับ “ความศิวิไลซ์” ตามมาตรฐานตะวันตก

คำถามสำคัญคือ ความเป็นไทยทางศิลปะและสถาปัตยกรรมที่จะถูกนำมาเพาะขึ้นใหม่นี้ คืออะไรกันแน่?