‘วิวัฒนาการอย่างช้าๆ’ ของความเคลื่อนไหว ในการเปลี่ยนแปลงของรัฐไทย ที่ไม่แตกหักกับจารีตเก่า

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
(Photo by Tuwaedaniya MERINGING / AFP)

เป็นความบังเอิญอย่างยิ่งที่ผมมีโอกาสพบกวีจริงๆ และได้หนังสือ “บทกวีตีพิมพ์บนสรวงสวรรค์ในปีต่อมา” ของซะการีย์ยา อมตยา (สมมติ 2567) กวีซีไรต์คนแรกของชุมชนมลายูมุสลิมในพระราชอาณาจักรสยามไทย ที่เรื่องเล่าของเขาให้แสงสว่างอย่างดียิ่งต่อการทำความเข้าใจกระบวนการคลี่คลายของการเกิดจินตนาการในความเป็นชาติของคนในแต่ละชุมชนที่ถูกเรียกว่ากลุ่มน้อยหรือชายขอบจากชุมชนที่มีอำนาจรัฐซึ่งคือศูนย์กลางและทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดเนื้อหาของความเป็นชาติให้แก่คนอื่นๆ ทั่วทั้งประเทศ

คำถามในที่นี้คือทำไมการกำหนดความเป็นชาติให้แก่คนกลุ่มน้อยที่แตกต่างในระยะเริ่มต้นมักกระทำด้วยการบังคับ

แม้ระบบการศึกษาซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเครื่องมือที่นุ่มนวลและเอื้ออาทรต่อผู้เรียนเยาว์วัยแล้วก็ยังไม่ปลอดจากการใช้กำลังในหลายรูปแบบเข้าบังคับกับผู้เรียนและผู้ปกครองด้วย

ประสบการณ์ของคนมลายูมุสลิมในอาณาจักรปาตานีเก่าที่กลายมาเป็นมณฑลปัตตานีหลังการปฏิรูปการปกครอง เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดกว่าของคนชนชาติอื่นๆ ในพระราชอาณาจักร

เนื่องจากในภูมิภาคอื่นๆ เช่น เหนือ อีสานนั้นคนส่วนมากนับถือศาสนาพุทธหรือผีแลบรรพบุรุษและพูดด้วยภาษาลาวไทยขอมที่สื่อสารกันได้ ไม่เป็นปัญหา ดังที่เกิดขึ้นกับคนมลายูมุสลิม ซึ่งมีภาษายาวีและศาสนาอิสลามที่เขียนในอักษรภาษาอาหรับอันเป็นภาษากลางของชาวมุสลิมทั่วโลก

การปะทะสังสรรค์อย่างอ่อนไปถึงแก่จึงก่อตัวขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ดังที่หนังสือ “ชุมชนจินตกรรม” ได้บรรยายไว้แล้วว่า ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมสำคัญคือศาสนากับราชวงศ์ผ่านการใช้ภาษาเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างชาติ

เบ็น แอนเดอร์สัน กล่าวว่ากระบวนการสร้างชาติเกิดเพื่อแทนที่ความเชื่อเก่าที่ไม่อาจรองรับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองที่กำลังก่อตัวขึ้นของรัฐสมัยใหม่

ในกรณีสยามไทยเราถูกสอนว่า ความคิดเรื่องชุมชนชาตินี้เกิดหลังจากมหาอำนาจตะวันตกพากันเข้ามาเปิดประเทศให้สยามดำเนินนโยบายการค้าเสรี (สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง) และในที่สุดนำไปสู่การปฏิรูประบบปกครองทั้งพระราชอาณาจักร อันเป็นความรู้ที่คนไทยได้เรียนและรู้กันมาอย่างดี

แต่คำถามคือปฏิสัมพันธ์เหล่านั้นมีหลักฐานรองรับมากน้อยประการใด

ซะการีย์ยะ อมตยา

ผมกลับไปอ่านบทความเก่าของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง “พระปฐมสมโพธิกถากับความเคลื่อนไหวทางศาสนาในต้นรัตนโกสินทร์” (2525) ข้อค้นพบและวิพากษ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของนิธินำไปสู่ข้อสรุปที่ตรงข้ามกับความเชื่อของนักประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์ทั้งหลายโดยสิ้นเชิง

ผมสรุปข้อค้นพบของนิธิได้ดังนี้ว่าการปฏิรูปศาสนาที่เน้นไปสู่การให้ความสำคัญทางจิตใจมากกว่าทางรูปธรรมภายนอกเช่นพิธีกรรมเริ่มมีมาแล้วแต่ต้นรัตนโกสินทร์ ถ้าจะเอาให้มั่นอาจสืบค้นกลับไปถึงปลายสมัยอยุธยาด้วยแต่หลักฐานหายากมาก เอาแค่เริ่มต้นรัตนโกสินทร์ก็น่าเพียงพอแล้ว

กิจกรรมใหญ่ในทางศาสนาพุทธได้แก่การสังคายนาพระไตรปิฎกโดยรัชกาลที่ 1 โปรดให้แปลงานบาลีออกเป็นภาษาไทย (มิลินทปัญหา ชินกาลมาลีปกรณ์) และให้แต่งหนังสือศาสนาเป็นภาษาไทย เช่น ไตรโลกวินิจฉัย “แนวโน้มของการทำให้คำสอนทางศาสนาอยู่ในสามัญภาษาได้เริ่มขึ้นแล้ว ก่อนหน้าที่เจ้าฟ้ามงกุฎจะได้เริ่มเทศนาเป็นภาษาไทยแบบชาวบ้าน และก่อนหน้าที่พวกธรรมยุตจะได้เริ่มจับแปลบางตอนของพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย”

ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการเคลื่อนไหวเชิงปฏิรูปฟื้นฟูศาสนาพุทธนี้ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของการเคลื่อนไหวทางศาสนาเท่านั้น ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่ยืนยันเช่นนี้มาตลอด ทั้งชี้ว่าการฟื้นฟูสำเร็จด้วยพระปรีชาสามารถของผู้นำเช่นรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 4

หากแต่ในความเห็นเชิงวิเคราะห์ของนิธินั้น กลับเห็นตรงข้ามว่าการเคลื่อนไหวทางศาสนาเหล่านี้ล้วนเป็น “การเคลื่อนไหวทางการเมือง” ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

ในข้อที่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรที่รวมเอาชนชั้นขุนนางไว้ด้วยอย่างสำคัญ คนเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจที่ทุนการค้าเติบใหญ่ขึ้น มีผลให้ความคิดทางศาสนาและวัฒนธรรมเปลี่ยนไป ก่อนที่ความรู้และเทคโนโลยีตะวันตกจะเข้ามามีบทบาทเชิงประจักษ์เสียอีก

การเคลื่อนไหวต่างๆ รวมถึงศาสนาและกฎหมายจึงเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพราะผู้เข้าร่วมกิจกรรมและจุดหมายของการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นคนส่วนข้างมากของอำนาจรัฐ จึงไม่ใช่การปฏิรูปของผู้นำแต่ถ่ายเดียว “การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงที่นำโดยชนชั้นนำจึงมิได้เป็นสิ่งแปลกปลอมที่ยากแก่การเข้าใจของคนร่วมสมัย และด้วยเหตุดังนั้น จึงเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างดีแก่ผู้นำการเคลื่อนไหวนี้” ข้อน่าสังเกตที่นิธิให้ไว้คือความเคลื่อนไหวใหญ่ทางศาสนาในต้นรัตนโกสินทร์ แสดงถึงความสอดคล้องกันของเนื้อหาที่ชนชั้นนำมองอย่างเหมือนกันในจุดหมาย ความแตกต่างจึงเป็นเรื่องของรูปแบบ “ความแตกต่างเป็นวิวัฒนาการอย่างช้าๆ ของความเคลื่อนไหวทางศาสนา มิใช่การแตกหักของจารีตใหม่กับจารีตเก่า” ข้อนี้หรือเปล่าที่จะมีอิทธิพลหรือเป็นตัวแบบการปฏิบัติของการปฏิรูปในสังคมไทยต่อมาที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งใหม่ที่แตกหักกับสิ่งเก่าลงไปได้

เพราะเราถือเอาความแตกต่างเป็นวิวัฒนาการอย่างช้าๆ ของความเคลื่อนไหวทั้งปวง

พระปฐมสมโพธิกถา

ในวิธีวิทยาของเบ็น แอนเดอร์สัน ให้ไปดูการเปลี่ยนแปลงในหน่วยการเมืองว่าก่อรูปและพัฒนาขึ้นมาอย่างไรในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็นรัฐชาติ ข้อค้นพบข้างบนนี้ทำให้เรากล่าวได้ว่า การก่อรูปของความเป็นชาติผ่านภาษาไทยกลางนั้น ดำเนินไปในปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างปัจจัยทางวัฒนธรรมศาสนาและรัฐราชวงศ์ ที่ชนชั้นนำสยามไทยเองเป็นผู้ตระหนักถึงความเสื่อมคลายของอำนาจศาสนาแบบจารีตและลงมือเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นใหม่ ไม่ใช่ถูกบีบให้ต้องนำเข้าหรือลอกเลียนแบบของตะวันตกด้านเดียว

นั่นคือฐานะและบทบาทอันเป็นแกนกลางของภาษาไทยแห่งชาติ ที่อาศัยพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปทางสังคมและการเมือง การปฏิรูปศาสนาพุทธให้เป็นสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 อาจใกล้กับการทำให้เป็นศาสนาฆราวาสหรือ secularization ที่ได้เกิดขึ้นในยุโรป

ข้อที่แตกต่างกันคือศาสนาพุทธใหม่เป็นเครื่องมือที่ชอบธรรมของรัฐชาติซึ่งมีเจ้านายและขุนนางเป็นฐานอำนาจอันมั่นคง ไม่ได้นำไปสู่การสร้างรัฐฆราวาสที่เป็นโปรเตสแตนต์อันเป็นฐานของชนชั้นกระฎุมพีอย่างในยุโรปและสหรัฐ

ขั้นตอนต่อมาที่ขันเกลียวให้แก่กระบวนการสร้างรัฐชาติไทยคือปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจตะวันตกและญี่ปุ่น ที่รุกคืบหน้าเคียงข้างการขยายตัวของระบบทุนนิยมโลกที่กำลังจะเป็นระบบจักรวรรดินิยม (imperialism) ในปลายศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20 ยุทธศาสตร์ของรัฐสยามคือปกปักรักษาพระราชอาณาจักรอย่างสุดความสามารถ

ด้านหนึ่งไทยก็เลียนแบบและจ้างที่ปรึกษาฝรั่งให้มาตั้งกรมกองสมัยใหม่ที่คนไทยไม่มีความรู้ เช่น กองทหารประจำการ กรมแผนที่ ป่าไม้ ไปถึงโรงพยาบาล

อีกด้านรัฐบาลสรุปประสบการณ์ของระบบอาณานิคมในภูมิภาคในการสร้างรัฐอาณานิคมที่มีรัฐเข้มแข็งและมีพลเมืองที่เชื่อฟัง

เครื่องมืออันแรกๆ คือการสร้างระบบการศึกษาเพื่อกล่อมเกลาความคิดและความเชื่อของราษฎรให้ยอมรับและอยู่ในความสงบเรียบร้อยภายใต้อำนาจระบบปกครองเด็ดขาดของกรุงเทพฯ

นี่เองทำไมชนชั้นนำเช่นรัชกาลที่ 5 ถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ และข้าราชการทั้งปวง ทรงทราบได้อย่างไรว่าการเรียนสอนในภาษาไทยกลางให้แก่นักเรียนทั้งประเทศและทุกชนชาติภาษาจะมีผลดีต่อการสร้างรัฐชาติได้อย่างไร

ในกรณีของรัฐยุโรปการผลักดันให้มีการใช้ภาษาพูดท้องถิ่น เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศสแทนละตินมาจากคนชั้นกลางและเจ้าที่ดินที่ขัดแย้งกับกษัตริย์ ประกอบกับมีการใช้ระบบพิมพ์สมัยใหม่เข้ามา เกิดตลาดผู้อ่านและผู้เขียนที่เติบใหญ่กว้างขวางกระจายไปทั่วทั้งทวีป

เช่นนี้เองที่กระบวนการที่ทำให้ภาษาพิมพ์เป็นภาษาทางการและมีอำนาจนั้น เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นมาโดยไม่มีใครตั้งใจ “แต่เป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์อันรุนแรงระหว่างทุนนิยม เทคโนโลยีและความหลากหลายในภาษาของมนุษย์”

 

ตรงกันข้ามกับกระบวนการที่เกิดขึ้นในสยามไทยกระบวนการทำให้ภาษาไทยกลายเป็นภาษาชาติเป็นนโยบายที่แน่ชัดไม่ใช่ “เกิดขึ้นโดยไม่มีใครตั้งใจ” ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ความว่า “แต่ก่อนหัวเมืองไทยทางลุ่มแม่น้ำโขงเหมือนกับเป็นเมืองประเทศราชต่างชาติต่างภาษากับเมืองหลวง…ต่อมารัฐบาลในกรุงเทพจัดการหาอำมาตย์ในการปกครองหัวเมืองทางนั้นด้วยอุบายอันสุขุม คือตั้งเจ้านายและข้าราขการในกรุงเทพฯ ออกไปเป็นข้าหลวงประจำในท้องที่นั้นนานๆ ไม่ผลัดเปลี่ยนโดยเร็ว และคิดให้พระจัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือและภาษาไทยให้แพร่หลายไปในหมู่พลเมืองยิ่งขึ้นทุกที ด้วยอุบายอันนี้มีผลทำให้ไพร่บ้านพลเมืองนิยมและยำเกรงรัฐบาลไทย…ทุกวันนี้จึงมีอำนาจบังคับบัญชาหัวเมืองเหล่านั้นได้ทั่วไป”

ทางที่ควรจัดในบางมณฑลที่อักษรและภาษายังไม่เหมือนกับหัวเมืองชั้นในนั้น ประโยชน์ของราชการบังคับให้ต้องคิดสอนภาษาและหนังสือให้เหมือนกับหัวเมืองชั้นในเป็นสำคัญ เท่ากันกับหรือยิ่งกว่าที่จะสอนหนังสือและภาษาที่ใช้อยู่ในมณฑลนั้นๆ เสียอีก

ดังนั้น บทสรุปที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็คือ “มณฑลปัตตานีนั้นจะต้องอุดหนุนการเล่าเรียนภาษาไทยให้เด็กๆ มลายูพูดไทยได้ นี่เป็นข้อสำคัญในเบื้องต้น ด้วยทรงประสงค์จะให้ใช้ภาษาไทยได้ทั่วทั้งมณฑลเป็นที่สุด”


อ้างอิง

นิธิ เอียวศรีวงศ์, “พระปฐมสมโพธิกถากับความเคลื่อนไหวทางศาสนาในต้นรัตนโกสินทร์” ใน ปากไก่และใบเรือ : รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ ฟ้าเดียวกัน, 2555.