ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
พิธีกรรมหลังความตายหลายพันปีมาแล้ว มี 2 ระดับ ได้แก่ ระดับทั่วไป กับระดับคนเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์และเครือญาติโคตรตระกูล
ระดับคนทั่วไป เมื่อมีคนตายก็เอาร่างวางไว้สถานที่กลางแจ้งของชุมชนที่จัดไว้ให้แร้งกากินตามความเชื่อทางศาสนาผี ว่าแร้งเป็นสัตว์มีปีก บินได้ แล้วพาขวัญไปอยู่สถานที่พิเศษ
ระดับหัวหน้าเผ่าพันธุ์ ต้องเก็บศพนานหลายวัน และมีการละเล่นอึกทึกครึกโครม ซึ่งมีข้อปลีกย่อยมากต้องอธิบายต่อไป
1. เก็บศพนานหลายวัน
ต้นตอจากความเชื่อทางศาสนาผี ดังนี้
(1.) มนุษย์ประกอบด้วย 2 สิ่ง ได้แก่ สิ่งมีตัวตน คือร่างกาย (บางทีเรียกมิ่ง) และสิ่งไม่มีตัวตน คือขวัญ
(2.) คนตาย เพราะขวัญหาย ไม่อยู่กับตัวตนร่างกาย ซึ่งเท่ากับคนนั้นตาย ส่วนขวัญไม่ตาย แต่ไม่อยู่กับตัว เหตุจากขวัญตกใจออกจากร่าง แล้วหาทางกลับเข้าร่างไม่ถูก
(3.) ดังนั้น ต้องเก็บร่างคนตายรอขวัญคืนร่าง คนตายจะฟื้นคืนปกติ
[การเก็บศพนานหลายวัน เป็นประเพณีงานศพที่สืบเนื่องอยู่ในไทยทุกวันนี้]
2. การละเล่นอึกทึกครึกโครม
คนตาย เพราะขวัญหายออกจากร่าง แล้วหาทางคืนร่างไม่ถูก ทำให้เมื่อชนชั้นนำตาย บรรดาชุมชนต้องร่วมกันดีดสีตีเป่า ร้องรำทำเพลง ส่งเสียงอึกทึกครึกโครม ด้วยหวังว่าเมื่อขวัญได้ยินแล้วขวัญจะหาทางคืนร่างตามเสียงเหล่านั้น
แต่ขวัญไม่เคยกลับคืนร่าง ดังนั้นเมื่อเก็บศพนานหลายวันจนมั่นใจว่าขวัญไม่คืนร่างแน่แล้ว ชุมชนจึงมีพิธีฝังศพบนลานกลางบ้านซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชน แล้วสร้าง “เฮือนแฮ้ว” หรือ “เฮือนเฮ่ว” คือเรือนจำลอง (หรือ “เรือนเสมือน” ที่เคยอยู่เมื่อมีชีวิต) โดยให้เสาเรือนทั้ง 4 คร่อมหลุมศพ คือสัญลักษณ์เป็นที่อยู่ของขวัญตามปกติเหมือนตอนยังไม่ตาย
จากนั้นมีพิธีส่งขวัญขึ้นฟ้าไปรวมพลังกับผีฟ้าผีแถน เพื่อคุ้มครองเผ่าพันธุ์ ให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลเกิดความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ธัญญาข้าวปลาอาหาร และกำจัดโรคภัยไข้เจ็บเหน็บเหนื่อยให้คนทั้งชุมชน
[ชุมชนสองฝั่งโขงมีประเพณี “งันเฮือนดี” หมายถึงมีขับลำเป็นทำนองสนุกสนาน ซึ่งสืบเนื่องจากความเชื่อดั้งเดิมหลายพันปีมาแล้วที่ยกมานั้น รวมทั้งงานศพชนชั้นนำทุกวันนี้มีสืบเนื่องจากดึกดำบรรพ์เป็นมหรสพ เช่น โขน, ละคร, ลิเก, หมอลำ, ลูกทุ่ง, ภาพยนตร์กลางแจ้ง ฯลฯ ชาวบ้านทั่วไปมีปี่พาทย์งานศพเท่านั้น]
ครรภ์มารดาเหมือนผลน้ำเต้า
มนุษย์เกิดจากครรภ์มารดา เมื่อตาย คือการคืนสู่ครรภ์มารดา
หลายพันปีมาแล้ว มนุษย์เชื่อว่าผลน้ำเต้าเหมือนครรภ์มารดา จึงมีเรื่องเล่าว่าคนเราเกิดจากน้ำเต้า เมื่อตายก็ต้องคืนสู่น้ำเต้า จึงทำภาชนะดินเผารูปน้ำเต้าใส่กระดูกคนตายแล้วฝังดินไว้
ภาชนะดินเผามีฝาปิดรูปน้ำเต้า บรรจุกระดูกคนตาย ราว 2,500 ปีมาแล้ว ขุดพบที่บ้านเมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด เป็นหลักฐานยืนยันว่าความเชื่อเรื่องนี้มีจริง และเรื่องเล่าสืบเนื่องมาจริง
[ชาวสยามลุ่มน้ำเจ้าพระยา ใช้หม้อดินเผา รูปคล้ายน้ำเต้า บรรจุอัฐิสืบต่อมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น เรื่องเล่าแม่นาคพระโขนง]
ร่างคนตายใส่ภาชนะฝังดิน
คนทุ่งกุลา 2,500 ปีมาแล้ว มีพิธีกรรมหลังความตายของชนชั้นนำ ดังนี้ (ก.) ร่างคนตายใส่ภาชนะดินเผา แล้วฝังดิน และ (ข.) กระดูกคนตายใส่ภาชนะดินเผา แล้วฝังดิน
ภาชนะดินเผารูปร่างทรงกระบอก (คล้ายแคปซูล) พบทั่วไปแถบทุ่งกุลาร้องไห้
[ภาชนะดินเผาใส่ร่างคนตายหรือใส่กระดูกคนตาย เป็นต้นแบบพระโกศทุกวันนี้ตามประเพณีราชสำนักไทย] •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022