ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
เผยแพร่ |
คุยกับทูต | แพทริก เฮมเมอร์
ชวนเที่ยวงานแฟร์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งปีของลักเซมเบิร์ก
ลักเซมเบิร์ก ดินแดนเล็กๆ แต่ขุมทรัพย์มหาศาล ส่งผลให้ลักเซมเบิร์กเป็นรัฐอธิปไตยที่เล็กที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปยุโรป ไม่มีแม้แต่ทางออกสู่ทะเล มีประชากรไม่มากเพียง 650,000 คน
คนทั่วไปรู้จักลักเซมเบิร์กในฐานะเมืองหลวงทางการเงิน เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความมั่งคั่งสูงที่สุดของยุโรป ติดอันดับประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกแห่งปี 2023
นอกจากนี้ ลักเซมเบิร์กยังติดท็อป 1 ใน 20 คุณภาพชีวิตพลเมือง และพลเมืองที่มีความสุขที่สุดในโลกอีกด้วย
วันนี้ นายแพทริก เฮมเมอร์ (H.E. Mr. Patrick Hemmer) เอกอัครราชทูตราชรัฐลักเซมเบิร์กประจำประเทศไทย มาเล่าเรื่องสนุกของเทศกาลสำคัญในลักเซมเบิร์ก
นั่นคือ “ชูเบอร์ฟูเอร์” (Schueberfouer)
ฤดูร้อนของลักเซมเบิร์กจะไม่สมบูรณ์หากปราศจากเทศกาล “ชูเบอร์ฟูเอร์” ซึ่งเป็นงานรื่นเริงที่จัดกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในประเทศ ได้สร้างความสุขให้กับผู้มาเยือนตั้งแต่ปี 1340 ด้วยเครื่องเล่นที่น่าตื่นเต้นและเกมต่างๆ มากมาย และอาหารพื้นเมืองสุดแสนอร่อย
ซึ่งไม่ใช่แค่เด็กๆ เท่านั้นที่ตื่นเต้นกับงานสวนสนุกที่ใหญ่ที่สุดในลักเซมเบิร์ก
ประวัติความเป็นมาของ “ชูเบอร์ฟูเอร์”
เคานต์แห่งลักเซมเบิร์ก กษัตริย์แห่งโบฮีเมีย หรืออีกพระนามหนึ่งคือ จอห์นผู้ตาบอด (John the Blind) ออกไปสู้รบในสงครามครูเสด แล้วเกิดตาบอดทั้งสองข้าง ต่อมาได้ออกไปรบอีกเพราะมั่นใจว่าพระองค์เก่งกาจในการรบโดยใช้วิธีขี่ม้าไปตามเสียงของข้าศึก ในที่สุดก็สิ้นชีพิตักษัยในสมรภูมิ คือผู้ก่อตั้งงานนี้ขึ้นในเดือนตุลาคม 1340
เป็นงานที่จัดขึ้นเป็นเวลา 8 วัน ซึ่งในปัจจุบันได้ขยายเป็น 20 วันเพื่อเฉลิมฉลองวันเก็บเกี่ยว (St Bartholomew’s day)
งานนี้มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างยิ่งต่อภูมิภาคนี้ เนื่องจากลักเซมเบิร์กเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโยงระหว่างอิตาลีกับแฟลนเดอร์ส (Flanders) เดิมทีงานนี้เป็นสถานที่สำหรับซื้อขายเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องเคลือบดินเผา ผ้า และของใช้ในครัวเรือน รวมถึงผลิตผลทางการเกษตรและปศุสัตว์
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ตลาดแห่งนี้ได้กลายเป็นตลาดปศุสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ ผู้คนสามารถซื้อหมู แพะ แกะ และม้าได้
งานนี้จัดขึ้นที่ Plateau Saint Esprit ข้างป้อมปราการ Schiedlberg ของเมือง แต่เนื่องจากพื้นที่ค่อนข้างแคบ จึงย้ายไปที่ Limpertsberg ทางตอนเหนือของ All?e Scheffer ในปี 1610 หลังจากที่มีการเคลียร์พื้นที่ป่าเพื่อให้มีพื้นที่กว้างขวางสมบูรณ์แบบ
ตลาดแห่งนี้ได้เติบโตขึ้นจนกลายเป็นมากกว่าตลาดตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา มีการแสดงคอนเสิร์ต การเต้นรำ และเกมฝึกทักษะต่างๆ จนกระทั่งถึงปี 1840 เครื่องเล่นต่างๆ ก็ได้เริ่มเปิดให้บริการ
มาถึงปี 1893 เมื่อ Limpertsberg เริ่มมีการขยายตัวเป็นเมืองมากขึ้น มีการรื้อถอนกำแพงป้อมปราการของเมือง งานสวนสนุก “ชูเบอร์ฟูเอร์” จึงได้ย้ายไปที่ทุ่ง Glacis ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีชิงช้าสวรรค์และรถไฟเหาะ และในปี 1929 เพิ่มตลาดนัดเข้ามาด้วย
เชื่อกันว่าชื่อ “ชูเบอร์ฟูเอร์” (Schuerberfouer) อาจมาจากสถานที่จัดงานครั้งแรก ซึ่งก็คือ Schuedbuerg (ปัจจุบันรู้จักกันดีในชื่อ Plateau du Saint-Esprit) หรืออาจมาจาก ‘Schober’ ซึ่งแปลว่าโรงนา
งาน “ชูเบอร์ฟูเอร์” จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีจนถึงทุกวันนี้ ยกเว้นในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 เท่านั้น
ดังนั้น งาน “ชูเบอร์ฟูเอร์” ในปี ค.ศ.2024 จึงนับเป็นครั้งที่ 682
เอกอัครราชทูตเฮมเมอร์ เล่าถึงพิธีเปิดงาน “ชูเบอร์ฟูเอร์”
ตามธรรมเนียมแล้ว งานรื่นเริงสมัยใหม่จะทำพิธีเปิดโดยนายกเทศมนตรีเมืองลักเซมเบิร์ก จากนั้นนายกเทศมนตรีจะเดินชมบริเวณงานพร้อมกับนักการเมืองในท้องถิ่นและระดับชาติคนอื่นๆ ส่วนสำคัญอีกประการหนึ่งของพิธีเปิดคือ Hämmelsmarsch (Mutton March) ซึ่งนักดนตรีจะแต่งตัวเป็นชาวนาในศตวรรษที่ 19 เดินตามฝูงแกะไปพร้อมกับเล่นเพลงชื่อดังของลักเซมเบิร์กที่มีชื่อเดียวกัน
ในสมัยก่อน แกะเป็นรางวัลชนะเลิศในสนามยิงปืนและถูกใช้เป็นโปรโมชั่นของผู้คนในงานเทศกาล อย่างไรก็ตาม ประเพณีส่วนนี้ไม่ได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และไม่มีการขายแกะอีกต่อไปหลังจากการเดินขบวนพาเหรด
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดแห่งนี้ได้พัฒนาเป็นสวนสนุก โดยมีเกมและการแสดงเปิดตัวในศตวรรษที่ 18 มีรถไฟเหาะตีลังกาแห่งแรกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20
งานสวนสนุกนี้จัดโดยเทศบาลเมืองลักเซมเบิร์กบนพื้นที่ 4 เฮกตาร์หรือ 25 ไร่ของจัตุรัส Glacis ดังนั้น ที่จอดรถจึงกลายเป็นพื้นที่สำหรับเครื่องเล่น แผงขายอาหาร และอื่นๆ ถือเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดประจำปีทั้งในลักเซมเบิร์กและในภูมิภาค
มีเครื่องเล่นทุกอย่างที่ผู้คนคาดหวังกว่า 200 รายการ ได้แก่ ชิงช้าสวรรค์ รถไฟเหาะตีลังกา และม้าหมุนหลายตัว งาน “ชูเบอร์ฟูเอร์” จึงมีสิ่งที่ทุกคนและทุกวัยชื่นชอบ ตั้งแต่เด็กวัยเตาะแตะไปจนถึงผู้ใหญ่
ดังนั้น งานแฟร์นี้จึงเป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมที่จะได้ลิ้มลองอาหารพิเศษของลักเซมเบิร์ก เช่น ‘Gromperekichelcher’ (มันฝรั่งทอด) หรือ ‘Fouerfesch’ (ปลาไวท์ติ้งปรุงในยีสต์เบียร์) ซึ่งอย่างหลังเป็นอาหารเฉพาะของงานแฟร์
ในตอนกลางวัน ครอบครัวจะมารวมตัวกันที่สวนสนุกเป็นส่วนใหญ่ แต่ในตอนเย็น จะกลายเป็นสถานที่จัดงานปาร์ตี้ยอดนิยม มีบาร์และร้านอาหารบางแห่งที่กลายเป็นคลับที่มีศิลปินแสดงสด
ช่วงเย็นยังเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่ผู้ร่วมงานจะตื่นตาตื่นใจไปกับแสงไฟหลากสีสันที่ปรากฏบนเครื่องเล่นทุกเครื่อง นักท่องเที่ยวสามารถเดินเล่นในยามค่ำคืนไปตาม All?e Scheffer ซึ่งมีพ่อค้าแม่ค้าขายสิ่งของตั้งแต่เครื่องครัวและเสื้อผ้า ขนมทุกประเภท เช่น ขนมนูกัต และอัลมอนด์ย่าง
ประเพณีสมัยใหม่ของ “ชูเบอร์ฟูเอร์” มี “วันนายกเทศมนตรี” (Mayors’ Day) เพราะในช่วงนี้ นายกเทศมนตรีของลักเซมเบิร์กสามารถอาสาทำงานบริการในร้านอาหารแห่งใดแห่งหนึ่งที่มีอยู่มากมาย โดยจะนำรายได้ทั้งหมดไปบริจาคให้กับองค์กรการกุศลในภายหลัง
ในคืนสุดท้ายของงาน “ชูเบอร์ฟูเอร์” ท้องฟ้ายามค่ำคืนจะสว่างไสวด้วยการแสดงดอกไม้ไฟสุดตระการตา ซึ่งจุดขึ้นจากสะพาน Grande-Duchesse Charlotte ซึ่งมักจะเป็นจุดสิ้นสุดของสวนสนุก
ในแต่ละปี มีนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน ไปเที่ยวงาน “ชูเบอร์ฟูเอร์” จึงขอเชิญชวนท่านไปร่วมสนุกสนานหาประสบการณ์แปลกใหม่ในงานนี้ช่วงฤดูร้อนของลักเซมเบิร์ก ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน (23/08-11/09) ของทุกปี •
รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022