ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
Fragmented Reality
ไดอารีทางศิลปะ ของนักสะสมงานศิลปะร่วมสมัยชั้นนำของไทย
ในตอนนี้เราขอนำเสนอนิทรรศการศิลปะที่เรามีโอกาสได้ไปชมมา ที่น่าสนใจก็คือ ผลงานศิลปะที่จัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ทั้งหมดนั้นมีที่มาจากการสะสมของนักสะสมงานศิลปะร่วมสมัยคนสำคัญของประเทศไทยอย่าง ดร.ดิสพล จันศิริ ผู้ก่อตั้ง DC Collection คลังสะสมงานศิลปะส่วนบุคคล ที่รวบรวมผลงานศิลปะที่เขาสะสมมานับแต่ทศวรรษ 1990 จวบจนถึงปัจจุบัน โดยมีตั้งแต่ผลงานของศิลปินไทยสมัยใหม่และร่วมสมัย ไปจนถึงผลงานของศิลปินในภาคพื้นทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา
ที่ผ่านมา ผลงานเหล่านี้เคยถูกยืมแสดงตามนิทรรศการศิลปะนานาชาติทั่วโลก เช่น มูลนิธิหลุยส์วิตตอง ประเทศฝรั่งเศส, พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ (SAM) และหอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์ หรือแม้แต่ในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เป็นต้น
ในคราวนี้ ผลงานในการสะสมของเขาถูกนำมาจัดแสดงใน หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ในนิทรรศการที่มีชื่อว่า Fragmented Reality ที่รวบรวมและคัดสรรผลงานศิลปะร่วมสมัยของหลากศิลปินหลายสัญชาติมาประกอบกัน ไม่ต่างอะไรกับการประกอบเศษเสี้ยวความเป็นจริงที่สะท้อนมุมมองใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมไตร่ตรองและทำความเข้าใจกับความเป็นจริงอันซับซ้อนในปัจจุบัน ในยุคสมัยที่ความเป็นจริงถูกแทรกแซงด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัย ผ่านผลงานวาดเส้น จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพถ่าย และศิลปะจัดวาง ที่เป็นเหมือนการแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์ของศิลปินที่เกิดจากผลกระทบของการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา
อีกทั้งยังเป็นการแบ่งปันประสบการณ์แห่งความผูกพัน และความรู้สึกนึกคิดที่นักสะสมอย่างดิสพลมีต่อผลงานศิลปะที่เขาเก็บสะสมเอาไว้อีกด้วย
ไม่ว่าจะเป็นผลงานของศิลปินอย่าง โอลาเฟอร์ เอเลียสสัน (Olafur Eliasson), เธียสเทอร์ เกตส์ (Theaster Gates), อันเดรียส เกอร์สกี้ (Andreas Gursky), โทมัส สตรูธ (Thomas Struth), คาร่า วอล์กเกอร์ (Kara Walker), เดเมียน เฮิร์ส (Damien Hirst), โอซาง กวอน (Osang Gwon), ยาโยอิ คุซามะ (Yayoi Kusama), นลินี มาลานี (Nalini Malani), โคเฮ นาวะ (Kohei Nawa), จาง เสี่ยวกัง (Zhang Xiaogang), ไซ คูนิ่ง (Zai Kuning), จอมเปท คุสวิดานันโต (Jompet Kuswidananto) และ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข
ดิสพลกล่าวถึงผลงานของเขาที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ว่า
“สำหรับผม งานศิลปะที่ผมสะสมก็เป็นเหมือนไดอารีบันทึกชีวิตของผม ที่บ่งบอกว่าตอนที่ผมอายุช่วงหนึ่งๆ ผมอยู่ที่ไหน ทำอะไร มีความสนใจแบบไหน ทำให้การเลือกงานมาสะสมนั้นมีความหลากหลาย”
“มีเพื่อนๆ หลายคนบอกว่าคอลเล็กชั่นของผมไม่มีความเจาะจง มีงานหลายๆ อย่างปนเปกัน แต่จริงๆ แล้วความเจาะจงของผมคือชีวิตของผม ความสนใจของผม ผมไม่ได้เจาะจงที่จะต้องเลือกแต่ผลงานภาพวาดพอร์ตเทรต หรือศิลปะนามธรรม การสะสมงานของผมไม่มีหัวข้อ หัวข้อของผมคือความสงสัยใครรู้ ความสนใจช่วงระยะเวลานั้น งานที่นำมาแสดงในนิทรรศการนี้หลายชิ้นที่มีความต่างกันมาก เช่น ผลงานของ คาร่า วอล์กเกอร์ ซึ่งผมชอบตั้งแต่สมัยที่ผมเรียนหนังสืออยู่ เพราะผมมีความสนใจในเรื่องของประวัติศาสตร์ การเมือง เพราะผมเรียนด้านกฏหมายและการทูต”
“หรือผลงานของ อ.อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ผมจำได้ว่าผมขึ้นไปหาอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนได้งานชุดนี้มา หรือผลงานของ เดเมียน เฮิร์ส ในชุดนี้ Pharmacy ก็เป็นช่วงที่ผมอยู่อังกฤษพอดี ประจวบกับการที่เฮิร์สเปิดร้านอาหารที่มีผลงานของเขาแสดงอยู่ด้วย ซึ่งผมก็สะสมผลงานในชุดนี้เอาไว้หลายชิ้น ดังนั้น ทุกอย่างก็ค่อนข้างจะเกี่ยวเนื่องกับตัวผมมากๆ”
“สําหรับนิทรรศการครั้งนี้ ผมเคยคุยกับ อ.เจี๊ยบ (กฤติยา กาวีวงศ์) มานานแล้วว่าอยากทำนิทรรศการจากคอลเล็กชั่นของผมที่นี่ พอถึงเวลา อ.เจี๊ยบก็บอกว่ากำหนดวันให้แล้ว ผมก็ยื่นรายการผลงานที่ผมสะสมให้ทาง อ.เจี๊ยบและทีมงานหอศิลป์คัดสรรผลงานมาแสดงนิทรรศการครั้งนี้ ซึ่งผมค่อนข้างแปลกใจกับผลงานที่อาจารย์คัดเลือกมาแสดงในครั้งนี้อยู่เหมือนกัน”
กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน กล่าวถึงการคัดสรรผลงานมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ว่า
“ถึงแม้เราจะบอกกับหลายคนว่า เราตั้งใจเลือกงานสวยๆ มาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ แต่จริงๆ แล้ว ผลงานเหล่านี้ก็มีเรื่องราวของประวัติศาสตร์และการเมืองแฝงอยู่ อย่างเช่นผลงานของจอมเปท ที่เกี่ยวกับผลกระทบจากลัทธิอาณานิคม หรือผลงานของ คาร่า วอล์กเกอร์ ที่พูดถึงประวัติศาสตร์ของทาสเพศหญิงที่ถูกผลกระทบจากช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกา หรือผลงานของ นลินี มาลานี ก็เกี่ยวกับชะตากรรมของผู้หญิงในช่วงเวลาการขีดเส้นแบ่งอินเดีย บางทีงานที่ดูสวยๆ เหมือนไม่มีอะไร อาจจะมีอะไรแฝงอยู่ข้างใต้เยอะมาก ทั้งความหมายเชิงสัญลักษณ์ทางสังคมการเมืองที่สอดแทรกเอาไว้ ความท้าทายของเราก็คือการคัดเลือกงานที่ดิสพลสะสมอยู่เป็นพันๆ ชิ้นให้เหลือแค่ 20 กว่าชิ้นมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้”
ในบรรดาผลงานของศิลปินร่วมสมัยชั้นนำของโลกตะวันตกและตะวันออกมากหน้าหลายตา หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นที่สุดในนิทรรศการครั้งนี้ ที่ได้พื้นที่แสดงงานเดี่ยวๆ คนเดียวทั้งห้อง คือผลงาน Java’s machine : crevasses (2014) ของ จอมเปท คุสวิดานันโต ศิลปินร่วมสมัยชาวอินโดนีเซีย ศิลปะจัดวางที่ปลุกชีพทหารกองทัพหลวงของพระราชวังยอกจาการ์ตาในช่วงศตวรรษที่ 19 ให้ลุกขึ้นมาเดินสวนสนามในรูปลักษณ์ของเครื่องแบบทหารอันว่างเปล่าไร้ร่างกายมนุษย์ หากยังมีเสียงบรรเลงดนตรีดังออกมา ราวกับเป็นภูตผีวิญญาณผู้พ่ายแพ้สงครามมาหลอนหลอกผู้ชมในนิทรรศการนี้ก็ไม่ปาน
โดยจอมเปทกล่าวถึงผลงานชุดนี้ของเขาว่า
“ผลงานชุดนี้เป็นการจำลองเครื่องแบบของกองทัพหลวงของพระราชวังยอกจาการ์ตา ซึ่งก่อนหน้านี้ เครื่องแบบของทหารเหล่านี้ไม่ได้เป็นแบบนี้ เหตุเพราะในช่วงปี 1825-1830 เกิดสงครามชวา ซึ่งเป็นสงครามระหว่างเจ้าอาณานิคมดัตช์กับชาวพื้นเมืองชวา ซึ่งในที่สุดชาวชวาก็แพ้สงคราม หลังจากนั้น รัฐบาลอาณานิคมก็ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างของชวาอย่างเบ็ดเสร็จ ทั้งสังคม การเมือง และวิถีชีวิตของชาวชวาในหลายแง่มุม”
“ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลอาณานิคมยังพยายามลดทอนความเป็นไปได้ในการที่ประเทศใต้การปกครองจะลุกขึ้นมาต่อต้าน พวกเขาจึงลดทอนอำนาจกองทัพหลวงของพระราชวัง ด้วยการทำให้กองทัพเหล่านี้ไม่ได้มีหน้าที่ทางการทหารอีกต่อไป หากแต่มีหน้าที่ทางพิธีการแทน รัฐบาลอาณานิคมจึงออกแบบชุดเครื่องแบบของกองทัพเสียใหม่ ด้วยการใส่เครื่องหมายเชิงสัญลักษณ์และปรัชญาตะวันตกให้ชุดเหล่านั้น”
“สำหรับผม กองทัพหลวงของพระราชวังนั้นเป็นอนุสรณ์ของความพ่ายแพ้ในสงคราม ที่น่าสนใจก็คือ คนในยอกจาการ์ตาเฉลิมฉลองกองทัพหลวงของพระราชวังนี้ในฐานะเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ โดยไม่จดจำความพ่ายแพ้ของกองทัพที่ผ่านมา”
“อันที่จริงแล้ว ผลงานชุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการค้นคว้าวิจัยของผมเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามชวา ผมคิดว่าสงครามชวาเป็นหมุดหมายของการที่ลัทธิอาณานิคมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศเรา ยกตัวอย่างเช่น การเริ่มต้นของระบบเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว ที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากสงคราม ด้วยการควบคุมให้ชาวชวาปลูกอ้อยอย่างเดียว เพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลขนาดมหึมาจำนวนมาก ซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมอย่างมหาศาล”
“องค์ประกอบหนึ่งของงานชุดนี้เป็นวิดีโอจัดวางที่แสดงภาพของเครื่องจักรผลิตน้ำตาล ที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์กองทัพและประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมจากระบบเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว อุตสาหกรรมน้ำตาลเหล่านี้กลายเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ของลัทธิอาณานิคม ที่สร้างผลกำไรอย่างมหาศาลให้แก่รัฐบาลอาณานิคม จากโรงงานน้ำตาลราว 200 แห่งในชวา รอบๆ โรงงานหนึ่งจะมีการสร้างเมืองขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับโรงงานเหล่านั้น”
“ลองจินตนาการดูว่าจะมีเมืองใหม่ถูกสร้างขึ้นมามากขนาดไหน แต่ในช่วงปี 1930 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ทำให้โรงงานหลายแห่งต้องปิดตัวไปจนเกือบหมด จนเหลือแต่โรงงานร้างอยู่มากมายในปัจจุบัน”
“ผมทำงานชิ้นนี้ขึ้นเพื่อเชื้อเชิญให้ผู้คนเห็นว่าเราสูญเสียอะไรไปบ้างจากลัทธิอาณานิคม เราถูกลดทอนกดทับโดยรัฐบาลอาณานิคมอย่างไร ในขณะที่คนส่วนใหญ่กลับเฉลิมฉลองเครื่องแบบเหล่านี้ในฐานะสัญลักษณ์ของชาติที่ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐบาลอาณานิคม ผมต้องการวิพากษ์วิจารณ์ความย้อนแย้งนี้ของชาติของผมเอง”
“แรงบันดาลใจอีกอย่างของผลงานชุดนี้ยังมาจากตำนานท้องถิ่นเกี่ยวกับภูตผี ที่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในยอกจาการ์ตาในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา เคยมีประสบการณ์ในการได้ยินเสียงเพลงสวนสนามของทหารก่อนพระอาทิตย์ขึ้นทุกวัน ผมเองก็เคยได้ยิน สิ่งนี้เป็นอะไรที่คนในเมืองเราคุ้นเคย เสียงเพลงสวนสนามลึกลับนี้ถูกสมมุติฐานหลายแบบ ว่าเสียงเหล่านี้มาจากไหน แต่ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่าเป็นเสียงของผี”
“หนึ่งในสมมุติฐานคือมันเป็นวิญญาณของกองทัพที่สู้รบและตายในสงครามชวา บ้างก็ว่าเป็นวิญญาณของกองทัพแห่งชาติที่สู้เพื่อปลดแอกอาณานิคม บ้างก็ว่าเป็นวิญญาณของผู้ที่หนีตายจากการล่าคอมมิวนิสต์ในช่วงปี 1965”
“ส่วนผมเองตีความว่าร่องรอยของผีเหล่านี้ทำให้ผู้คนรำลึกถึงภารกิจที่ยังไม่บรรลุ หรือปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขในประวัติศาสตร์ชาติอินโดนีเซีย อย่างความรุนแรงในอดีต การต่อสู้กับลัทธิอาณานิคม และลัทธิเผด็จการ”
“เสียงที่ประกอบอยู่ในผลงานชุดนี้จึงเป็นเสียงของผู้นำทางทหารในจินตนาการที่ประกาศความพ่ายแพ้ของกองทัพตนเองและเตรียมพร้อมสำหรับสงครามครั้งต่อไป ผมจึงทำงานชุดนี้ให้มีกลิ่นอายและบรรยากาศของความเป็นภูตผีออกมา”
นิทรรศการ Fragmented Reality : Selected Artworks From DC Collection จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม-25 ตุลาคม 2024 ณ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน (Jim Thompson Art Center) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ [email protected] หรือโทรศัพท์ 0-2001-5470
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Jim Thompson Art Center •
อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022