‘พระพุทธมงคลเรณูนคร’ วัดพระธาตเรณู นครพนม มงคลพระเทพสิทธาจารย์

“วัดธาตุเรณู” ต.เรณู อ.เรณูนคร จ.นครพนม เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรัตนมงคลทศพลญาณ (พระพุทธมงคลเรณูนคร) พระประธานในอุโบสถก่ออิฐถือปูน ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1.89 เมตร สูง 2.90 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.2499

ปี พ.ศ.2508 พระครูสีลสัมปัน อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีวิไลย์ ต.เรณูนคร จัดสร้าง “เหรียญพระพุทธมงคลเรณูนคร” นำรายได้ไปก่อสร้างวัดป่าสันติสุข

จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง เนื้อทองแดงกะไหล่เงิน และเนื้อทองแดงรมดำ จำนวนการสร้างไม่ได้บันทึกไว้

ลักษณะเป็นเหรียญทรงรูปไข่ มีหูห่วง ด้านหน้า ขอบเหรียญมีลวดลายคล้ายเม็ดข้าว 2 ชั้นซ้อนกัน ขอบเหรียญชั้นในมีจุดไข่ปลาล้อมรอบ ตรงกลางเหรียญประดิษฐานพระพุทธรัตนมงคลทศพลญาณ ปางมารวิชัย ประทับบนแท่นฐานรูปทรงคล้ายกลีบบัวหงาย ใต้ฐานสลักตัวหนังสือ 2 บรรทัดคำว่า “พระพุทธมงคลเรณูนคร”

ด้านหลัง ขอบเหรียญมีเส้นสันนูนหนา ตรงกลางเหรียญมีรูปเหมือนครึ่งองค์ ด้านล่างสุดสลักตัวหนังสือคำว่า “พระเทพสิทธาจารย์”

เหรียญรุ่นนี้ “พระเทพสิทธาจารย์” หรือ “หลวงปู่จันทร์ เขมิโย” อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครพนม (ธ) อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีเทพประดิษฐาราม พระเถระชื่อดังรูปหนึ่งของเมืองไทย อนุญาตให้จัดสร้างเป็นกรณีพิเศษ สืบเนื่องจากเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระครูสีลสัมปัน

อีกทั้งยังเมตตาปลุกเสกให้เป็นพิเศษ ในปี พ.ศ.2518

ทำให้เป็นที่ต้องการของบรรดานักนิยมสะสมวัตถุมงคล

เหรียญพระพุทธมงคลเรณูนคร (หน้า)

มีนามเดิมว่า จันทร์ สุวรรณมาโจ ถือกำเนิดเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม 2424 ปีมะเส็ง ณ บ้านท่าอุเทน หมู่ 3 ต.ท่าอุเทน อ.เมือง จ.นครพนม บิดามารดาชื่อ นายวงศ์เสนา และนางไข สุวรรณมาโจ

ช่วงวัยเยาว์ สุขภาพไม่ค่อยสมบูรณ์ ป่วยโรคหอบหืด บิดาจึงให้ไปอยู่กระท่อมปลายนา

พ.ศ.2431 เริ่มศึกษาหนังสือไทยน้อยและหนังสืออักษรลาว ขณะมีอายุ 7 ขวบ หัดอ่านเขียนจากหนังสือผูกใบลานวรรณคดีพื้นบ้าน

ขณะอายุ 10 ขวบ บิดาล้มป่วยและเสียชีวิต จึงได้บรรพชาหน้าไฟ ณ วัดโพนแก้ว ต.ท่าอุเทน อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม โดยมีพระขันธ์ ขันติโก เป็นพระอุปัชฌาย์

ขณะอยู่ที่วัดโพนแก้ว ได้ศึกษาอักษรขอมและอักษรธรรม ฝึกอ่านเขียนสวดมนต์น้อย มนต์กลาง และมนต์หลวง ตามลำดับ

อายุ 19 ปี ลาสิกขาไปประกอบอาชีพค้าขาย

เหรียญพระพุทธมงคลเรณูนคร (หลัง)

ครั้นอายุ 20 ปี เมื่อ พ.ศ.2445 จึงตัดใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้ง ณ พัทธสีมาวัดโพนแก้ว โดยมีพระเหลา ปัญญาวโร เป็นพระอุปัชฌาย์, พระเคน อุตตโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระหนู เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า เขมิโย

พำนักอยู่วัดได้ 2 เดือน กราบลาพระอุปัชฌาย์ไปจำพรรษาที่วัดอินทร์แปลง อ.เมือง จ.นครพนม เพื่อติดตามพระเคน ครูผู้สอนคัมภีร์มูลกัจจายน์

พ.ศ.2445 พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล แห่งวัดเลียบ จ.อุบลราชธานี พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผู้เป็นอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แม่ธรรมทัพพระป่า และพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปัญโญ) วัดปทุมาราม ผ่านมาพักปักกลดบริเวณโรงฆ่าสัตว์เทศบาลเมืองในปัจจุบัน

ซึ่งพระปัญญาพิศาลเถร และพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ ได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์เสาร์ ให้คัดพระภิกษุ 4 รูป ผู้เฉลียวฉลาด โดย 1 ในนั้นมีพระจันทร์ พระลา พระหอม และสามเณรจูม (พระธรรมเจดีย์) วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี ถวายเป็นศิษย์พระอาจารย์เสาร์

ออกธุดงค์ผ่านป่าดงสัตว์ป่านานาชนิด บำเพ็ญเพียรสมาธิภาวนา ก่อนมุ่งสู่ จ.อุบลราชธานี

หลวงปู่จันทร์ เขมิโย

ช่วงที่พำนักที่วัดนี้ 4 เดือนเต็มเพื่อฝึกซ้อมบทสวดมนต์ พระอาจารย์เสาร์นำประกอบพิธีญัตติหลวงปู่จันทร์ เป็นพระธรรมยุต ณ อุโบสถวัดศรีอุบลรัตนราม (วัดศรีทองเดิม) จ.อุบลราชธานี มีพระปัญญาพิศาลเถร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีฉายาเดิมว่า เขมิโย

ขณะจำพรรษาที่วัดเลียบ ได้ศึกษาวิชาวินัย วิชาธรรม วิชาพุทธประวัติ ฝึกหัดแสดงธรรมด้วยปากเปล่า และศึกษาวิปัสสนาเพิ่มเติม มีหลวงปู่เสาร์ พระอาจารย์มั่น เป็นพี่เลี้ยง

พ.ศ.2449 กราบลาพระอาจารย์มาจำพรรษาที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม ซึ่งเป็นวัดร้าง เดิมชื่อวัดศรีคุณเมือง นาน 3 ปี ปรับปรุงพัฒนาวัดขณะพรรษาที่ 7

พ.ศ.2453 เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ฝากตัวเป็นศิษย์กับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพกวี) ที่วัดเทพศิรินทราวาส ศึกษานักธรรมตรี-โท และบาลีเปรียญ 3 ประโยค นาน 6 ปี จึงเดินทางกลับบ้านเกิด

เป็นช่วงที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม ขาดพระผู้ใหญ่ปกครอง จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส และเป็นเจ้าคณะอำเภอหนองบึก (อำเภอเมืองในปัจจุบัน)

พ.ศ.2459 ได้นำแผนการศึกษาของรัชกาลที่ 5 จัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยแผนใหม่และนักธรรมบาลีขึ้นเป็นแห่งแรก มีพระเณรและคฤหัสถ์ชาย เรียนรวมกัน

ก่อนย้ายไปเรียนที่ศาลากลางจังหวัดหลังเก่า และโรงเรียนปิยะมหาราชาลัย ในปัจจุบัน และยังตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นแห่งแรกที่วัดแห่งนี้ด้วย เปิดสอนพระภิกษุ-สามเณร

 

ลําดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2459 เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีเทพประดิษฐาราม

พ.ศ.2460 เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2477 เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดนครพนม

พ.ศ.2502 เป็นเจ้าคณะจังหวัดนครพนม

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2474 เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูสารภาณพนมเขต

พ.ศ.2480 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสารภาณมุนี

พ.ศ.2496 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสารภาณมุนี

พ.ศ.2502 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพสิทธาจารย์

ด้วยสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2516 เวลา 08.00 น. มรณภาพลงอย่างสงบ สิริอายุ 92 ปี พรรษา 72

สร้างความเศร้าสลดให้สาธุชนทั่วประเทศ •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]