ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | จ๋าจ๊ะ วรรณคดี |
ผู้เขียน | ญาดา อารัมภีร |
เผยแพร่ |
‘มือ’ มิได้หมายถึงอวัยวะที่ต่อกับแขน ใช้หยิบจับสิ่งของเท่านั้น แต่มีความหมายหลากหลายเมื่อประกอบกับคำอื่น
เช่น เป็นสัญญาณบอกให้รู้จุดประสงค์ ‘กวักมือ’ โดยกระดกปลายนิ้วเข้าหาฝ่ามือ หมายความว่า เรียกให้เข้ามาหา
‘โบกมือ’ หรือ ส่ายมือ เป็นได้ตั้งแต่ โบกมือเรียก โบกมือทักทาย ไปจนถึงโบกมือไล่
ส่วน ‘ปรบมือ’ คือเอาฝ่ามือตบกันหลายๆ ครั้งให้เกิดเสียงเพื่อแสดงความยกย่อง ชื่นชมยินดี
‘มือ’ ที่หมายถึง ความสามารถ ได้แก่ ‘มือโปร – มืออาชีพ’ คือมีฝีมือระดับใช้เป็นอาชีพทำมาหากินได้
‘มือหนึ่ง’ หมายถึง มีฝีมือเยี่ยมยอด ไม่มีใครเทียบ บางครั้งเวลามีผลโดยตรงต่อความชำนิชำนาญ
‘มือเก่า’ เป็นผู้มากประสบการณ์เพราะทำมานานจนมีฝีมือ ตรงกันข้ามกับ ‘มือใหม่’ หรือ ‘มือใหม่หัดขับ’ ที่เพิ่งเริ่มทำได้ไม่นาน ประสบการณ์น้อย ฝีไม้ลายมือยังไม่ค่อยมี
แต่สำหรับบางคนต่อให้ทำมานานสักแค่ไหนก็ยัง ‘มือไม่ถึง’ คือ มีฝีมือไม่มากพอสำหรับทำงานที่ได้รับมอบหมาย
นอกจากนี้ ถ้าใครถูกตำหนิว่า ‘มือห่างตีนห่าง’ หมายความว่า ทำอะไรไม่ประณีตละเอียดลออ ไม่เรียบร้อย
ยิ่งไปกว่านั้น ‘มือ’ ยังหมายถึงจำนวนอีกด้วย ความหมายของ ‘มือเติบ’ เกี่ยวกับเงิน หรือข้าวของก็ได้ เช่น คนมือเติบใช้จ่ายเงินทองฟุ่มเฟือยเป็นจำนวนมาก หรือชอบซื้อของทีละมากๆ ถ้าเป็นแม่ค้าขายอาหาร ตักทั้งข้าวทั้งกับเสียจนพูนจานพูนชาม คงยากจะได้กำไรเพราะขายของมือเติบ
นอกจากจำนวนมากยังมีจำนวนน้อย เช่น ‘หยิบมือเดียว’ หรือ ‘หยิบมือ’ เป็นสำนวนมีความหมายว่า น้อยมากเหลือเกิน เป็นจำนวนหรือปริมาณเท่าหยิบมือ คือปลายนิ้วทั้งห้าหยิบหรือจับยกขึ้นมาครั้งหนึ่ง
ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ไม่เพียงแต่ใช้สำนวนว่า ‘หยิบมือ’ เมื่อต้องการเปรียบเทียบว่ามีจำนวนน้อยอย่างยิ่ง ยังเปรียบว่ามีขนาดเล็กมากได้อีกด้วย ดังตอนที่พระเจ้าเชียงใหม่ส่งพระราชสาส์นท้ารบสมเด็จพระพันวษาว่าได้ส่งกองทัพมาชิงนางสร้อยทองและจับตัวพระท้ายน้ำไปจองจำไว้ ถ้าสมเด็จพระพันวษาอยากได้ตัวนางก็ขอเชิญมาทำยุทธหัตถี ชนช้างกันตัวต่อตัว หากชนะก็ได้นางไป แต่ถ้าแพ้ หลังเสร็จศึกนี้พระเจ้าเชียงใหม่จะจัดการอภิเษกกับนางประกาศให้รู้ทั่วกันว่าชนช้างชนะได้นางมาเป็นศรีเมือง
สมเด็จพระพันวษาแค้นพระทัยยิ่งนัก กระทืบพระบาท เปล่งพระสุรเสียงตวาดดังกึกก้อง ทรงกวัดแกว่งพระแสงศาสตราวุธจนทุกผู้ที่เข้าเฝ้าตื่นตระหนกอกสั่นขวัญหาย อีกทั้งตรัสบริภาษพระเจ้าเชียงใหม่อย่างรุนแรง
“เหม่เหม่อ้ายเชียงใหม่ใจพาล จับพวกพลทหารของกูได้
หยาบช้าท้าให้ไปชิงชัย กำเริบนี่กระไรใช่พอดี
อ้ายบ้านเล็กเมืองน้อยร้อยประเทศ บังเหตุจะสู้กับกูนี่ (บังเหตุ = ทำให้เป็นเหตุ)
มันเหมือนหนึ่งลูกมฤคี จะมาสู้ราชสีห์ให้วายปราณ
ตัวกูผู้เป็นหลักนัคเรศ ทุกประเทศมิได้รอต่อต้าน
อ้ายนี่โมหันธ์อันธการ กรรมของมันบันดาลให้หลงคิด
เชียงใหม่ใหญ่เท่าสักหยิบมือ ไม่พอครือทัพไทยจะไปติด
จะพลอยพาโคตรวงศ์ปลงชีวิต อวดฤทธิ์จะประจญชนช้างกู”
ในที่นี้สมเด็จพระพันวษาทรงเหยียดหยามเมืองเชียงใหม่โดยเปรียบว่ามีขนาดเท่าหยิบมือ ไม่อาจสู้กองทัพไทยได้ การศึกครั้งนี้ทรงมอบหมายให้ขุนแผนและพลายงามนำนักโทษมีวิชาอาคมขลัง 35 คนออกจากคุกไปร่วมรบด้วย สองพ่อลูกพาพรรคพวกปล้นคุกเชียงใหม่กลางดึก ชิงตัวพระท้ายน้ำและนักโทษชาวล้านช้างหนีไปพร้อมกับลักช้างและม้าจำนวนมาก ขุนแผนปักหนังสือท้าพระเจ้าเชียงใหม่ประกาศตัวว่า
“เราฤๅชื่อพระยาแผนพิฆาต คุมพวกไพร่อาทมาตสามสิบห้า
กับพลายงามลูกรักอันศักดา ยกมาจะประหารผลาญบุรี”
ทั้งยังทิ้งท้ายท้าทายว่า
“จะรอเราให้เข้ามาชิงชัย ฤๅจะตามก็ไปที่บึงบัว
ถ้ารักชีวิตคิดถึงซึ่งพวกพ้อง จงทูนนางสร้อยทองไปบนหัว
ส่งให้แล้วคำนับรับว่ากลัว จึงจะปลอดรอดตัวไม่มรณา”
พระเจ้าเชียงใหม่พิโรธยิ่งนัก ตรัสถามท้าวพระยาลาวว่า เข้าใจข้อความในหนังสือหรือไม่
“ซึ่งมันว่ายังจะจริงกระนั้นแน่
ฤๅพรั่นตัวกลัวเราจะตามแจ จึงพูดแก้ขู่ไว้ให้รอช้า
กับพวกมันสามสิบสักหยิบมือ อ้ายที่หนีคุกฤๅจะสู้หน้า
ล้อมฟันเสียไม่ทันจะพริบตา ซึ่งเราว่าใครจะเห็นเป็นอย่างไร”
ความหมายของพระเจ้าเชียงใหม่ก็คือ ถ้อยคำฝ่ายไทยนั้นจริงหรือแค่ขู่กันแน่ เขียนเช่นนี้คงเพราะมันกลัวเราจะไล่ตามติดกระมัง ลำพังพวกมันสามสิบห้าคนจำนวนน้อยนิดเพียงหยิบมือเท่านั้น พวกที่หนีคุกไปหรือจะกล้าสู้ ถ้าเราเข้าล้อมฟันมันทันทีก็เรียบร้อย ใครคิดเห็นอย่างไร
พลายงามคุมพลอาสาสามสิบห้าเป็นทัพหน้า ต่อมาสองทัพเผชิญหน้ากัน แสนตรีเพชรกล้าเห็นทัพไทยมีทหารแค่หยิบมือ เปรียบเสมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ จึงสั่งทหารรุมโจมตีให้แหลกลาญ
“พอสองทัพถึงกันประจันหน้า ลาวก็แยกปีกกาออกหวั่นไหว
แสนตรีเพชรกล้าทอดตาไป เห็นทัพไทยลิบลิบสักหยิบมือ
มันเสมือนแมลงเม่ามาเข้าไฟ นี่เข้าใจว่าจะรอดไปแล้วหรือ
สั่งให้ขับอัสดรต้อนพลฮือ คนละมือก็จะยับทั้งทัพไทย”
การสู้รบดำเนินไปอย่างดุเดือด ท้าวกรุงกาฬ แสนตรีเพชรกล้า และแม่ทัพนายกองทั้งหลายเสียชีวิตในสนามรบ เชียงใหม่ทั้งห้าทัพแตกพ่าย ไพร่พลหนีตายกระเจิดกระเจิง
เมื่อพระเจ้าเชียงใหม่ทรงรู้ว่าเสียทัพยับเยินก็ตกตะลึง พระพักตร์อมทุกข์ พระทัยเศร้าหมอง แต่ด้วยมานะกษัตริย์จึงสั่งให้ป้องกันพระนครอย่างแน่นหนา ตั้งค่ายรอบเมือง ปิดประตูเมืองมั่นคง เอาซุงแขวนไว้สำหรับตัดให้หล่นลงไปทับข้าศึก คั่วกรวดทรายร้อนๆ เตรียมไว้ให้พร้อม ฯลฯ
รวมทั้งกวาดต้อนผู้คนรอบนอกให้เข้ามาอยู่ในเมือง ตระเตรียมน้ำท่าอาหาร บ้านใครมีแหล่งน้ำมีบ่อมีสระ ให้ไขน้ำใส่ไว้ให้เต็ม ข้าวปลาอาหารให้แต่ละคนขนกันเข้ามา
ภายในวัง บรรดาเจ้าจอมหม่อมห้ามตื่นกลัวร้องไห้กันระงม พระเจ้าเชียงใหม่ทรงพยายามปลอบใจให้คลายกังวล จากนั้นเสด็จออกสั่งการให้ต้านทัพไทยด้วยการตั้งมั่นรักษาพระนคร
“ถ้าแม้นมันบุกตะบึงถึงบุรี อย่าเพ่อออกต่อตีให้ตั้งมั่น
ข้างเรามีข้าวปลาสารพัน พวกมันนั้นจะได้อะไรกิน
เหล่าบ้านนอกธานีมียุ้งเข้า เอาไฟเผายุ้งฉางล้างให้สิ้น (ยุ้งเข้า = ยุ้งข้าว)
ตัดกำลังพวกอ้ายใจทมิฬ มันจะบินไปข้างไหนได้เห็นกัน
พอเสบียงเลี้ยงท้องมันหมดตัว จึงออกไปจิกหัวเอาดาบหั่น
อ้ายศึกสักหยิบมือไม่ครือครัน พวกเราทำเสียไม่ทันจะพริบตา”
พระองค์ทรงปลุกปลอบขวัญทหารให้มั่นใจว่าปลอดภัย ยามข้าศึกบุกเมือง ไม่ต้องออกรบ ไม่ต้องกลัวอด เสบียงอาหารในเมืองมีพร้อม ใช้วิธีตัดกำลังทัพไทยโดยเผายุ้งฉางนอกเมืองให้เกลี้ยง เสบียงศัตรูหมดเมื่อไหร่ ก็ออกไปเด็ดชีวิตพวกมันเมื่อนั้น ข้าศึกแค่หยิบมือ มีจำนวนน้อยนิด สามารถจัดการให้เสร็จสิ้นได้อย่างรวดเร็ว
เหตุการณ์กลับตรงกันข้าม พระเจ้าเชียงใหม่พ่ายแพ้ทหารไทยแค่ ‘หยิบมือ’ หรือ ‘หยิบมือเดียว •
จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022