ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | กาแฟดำ |
ผู้เขียน | สุทธิชัย หยุ่น |
เผยแพร่ |
การเมืองวิปริตที่เราเห็นอยู่ขณะนี้คือปรากฏการณ์ของการทำทุกอย่างเพื่อให้มาซึ่งอำนาจ…โดยไม่สนใจวิธีการ
หมายความว่าหากบรรลุเป้าหมาย วิธีที่จะไปถึงจุดหมายปลายทางแห่งอำนาจไม่สำคัญ
จะถูกต้องทำนองคลองธรรมหรือไม่
จะสอดคล้องกับจริยธรรมหรือไม่
จะสร้างความตกอกตกใจให้กับวิญญูชนหรือไม่
ล้วนไม่สำคัญทั้งนั้น
เมื่อ “เป้าหมาย” สำคัญกว่า “วิธีการ” ก็เข้าสูตร The end justifies the means
ซึ่งสำหรับนักการเมืองแล้วเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อเป้าหมายของการเข้ามาทำการเมืองคือการได้มาซึ่งอำนาจการบริหารเท่านั้น
มิได้เพื่อต้องการจะเสียสละเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
ยิ่งกว่านั้น ในสังคมไทยทัศนคติ “เป้าหมายสำคัญกว่าวิธีการ” ยังลามไปถึงกิจกรรมในสังคมอื่นๆ อีกมากมาย
เช่น จะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ไม่ว่าจะต้องใช้วิธีการอย่างไร
ให้คนสอบแทนก็ได้
จ้างให้คนทำข้อสอบรั่วก็ได้
ให้คนมีอำนาจบารมีสั่งอาจารย์ที่ตรวจคะแนนให้สอบผ่านก็ได้
ทั้งนี้ เกิดจากค่านิยมของคนไทยที่เคารพนับถือคนมีปริญญา, มีเงิน และมีอำนาจ
คนส่วนใหญ่จึงมุ่งหวังจะ “ประสบความสำเร็จ” ด้วยการใช้ทุกวิถีทางที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นให้จงได้
ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ได้ด้วยกล
ทำตามขั้นตอนปกติเหมือนคนอื่น แข่งขันไม่ได้ ก็ใช้วิธีการทางลัด, ทางอ้อม, เส้นทางใต้ดิน
เพื่อไปถึงจุดหมายปลายทางให้จงได้
วัฒนธรรมอย่างนี้ส่งต่อไปถึงลูกหลานในครอบครัวที่ติดค่านิยมอย่างนี้ด้วยอย่างน่ากลัว
เด็กรุ่นใหม่จะดูถูกพ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่รู้วิธีลดเลี้ยวเคี้ยวคดเพื่อนำพาให้คนในครอบครัวไปถึงจุดที่สังคมถือว่าเป็นจุดแห่งความสำเร็จ
สังคมไทยจึงมาถึงจุดที่สุ่มเสี่ยงกับความเสื่อมโทรมอย่างหนัก
ความจริง วลีคลาสสิค The end justifies the means นี้ย้อนกลับไปที่ “มาเคียเวลลี” ชื่อเต็ม Niccol? Machiavelli ผู้มีชีวิตอยู่ช่วง ค.ศ.1469-1527 ที่เมืองฟลอเรนซ์ของประเทศอิตาลี
ได้ชื่อว่าเป็นนักคิดนักเขียนการเมืองของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา
เขาเขียนหนังสือชื่อ “The Prince” ในศตวรรษที่ 16
ที่กลายเป็นตำนานแห่งการวิเคราะห์ศิลป์แห่งการบริหาร
ที่อำนาจการเมืองเพื่อบรรลุเป้าหมายด้วยวิธีการที่สอดคล้องกับค่านิยมของสังคมในยุคนั้น
Machiavelli เองไม่ได้ใช้วลีนี้โดยตรง แต่เนื้อหาสาระของหนังสือเล่มนี้ก็สื่อถึงแนวปฏิบัตินี้โดยตรง
จนทุกวันนี้ พอมีใครเอ่ยถึงการ “เป้าหมายสำคัญกว่าวิธีการ” ก็จะคิดถึงเขาเป็นหลัก
เป็นหลักคิดวิเคราะห์และวิพากษ์ผู้ปกครองประเทศที่ไม่ล้าสมัยสำหรับทุกยุคทุกสมัย
เพราะมันเป็นแนวทางสำหรับการได้มาซึ่งอำนาจ
ได้อำนาจยังไม่พอ ต้องมีวิธีที่จะรักษาอำนาจด้วยวิธีการต่าง ๆ นานาที่ไม่จำเป็นต้อง “ชอบมาพากล” นัก
ทำให้เกิดคำถามว่าด้วยมาตรฐานจริยธรรมและศีลธรรม
แต่ก็มี “ข้ออ้าง” ว่าวิธีการเช่นว่านี้มีความจำเป็นเพราะจะช่วยสร้างรัฐที่มีเสถียรภาพ, มั่นคงและมีประสิทธิผล
ถ้าเป็นภาษาการเมืองทุกวันนี้ก็ต้องบอกว่า “เพื่อให้บ้านเมืองไปต่อได้”!
ผู้บริหารที่เชื่อแนวคิดนี้ไม่แยแสกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นวิธีการที่โหดเหี้ยมและไร้ความปรานี
บางคนเรียกมันว่า “ลัทธิผลลัพธ์นิยม”
เป็นความเชื่อที่ว่าผลลัพธ์ของการกระทำใดๆ ย่อมมีความสำคัญลำดับสูงสุด
อะไรที่ไม่สอดคล้องกับการทำให้บรรลุเป้าหมายของผู้มีอำนาจในตำแหน่งต่างๆ ล้วนเป็นเรื่องรองลงมา
หากผู้ปกครองประเทศจะใช้หลักศีลธรรมอยู่บ้างก็เฉพาะเมื่อมันตอบคำถามได้ว่า
มันตอบโจทย์ของผู้มีอำนาจหรือไม่?
หากตอบไม่ได้ หรือเป็นคำตอบที่ไม่แน่ชัด ก็ไม่ต้องพิจารณาประเด็นเรื่อง “ความถูกต้องชอบธรรม”
เพราะคนที่เชื่อแนวคิดอย่างนี้จะต่อต้านหลักการที่ว่าการกระทำทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักจริยธรรม…ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร
คนที่เชื่อตามแนวของ Machiavelli จะยืนยันว่าการคิดแบบนี้ล้าสมัยและไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง
หนีไม่พ้นว่าในสังคมที่เรียกร้องหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใสกับความเท่าเที่ยมนั้นย่อมไม่อาจจะยอมรับหลัก “เป้าหมายสำคัญกว่าวิธีการ” เช่นนี้ได้
หรือมีบางกรณีที่ต้องประนีประนอมกับหลักจริยธรรมหากการกระทำนั้นๆ สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ได้ประโยชน์มากเพียงพอที่สังคมจะยอมรับได้?
ทุกสังคมประชาธิปไตยที่ยึดหลักนิติรัฐ-นิติธรรมเป็นหลักย่อมจะยกประเด็นเช่นว่านี้มาถกแถลงกันอย่างกว้างขวางและลุ่มลึก
ดังนั้น การ “ดีเบต” ข้อดีข้อเสีย ข้อเด่นข้อด้อยของกรณีที่ว่านี้จึงเป็นหัวใจสำคัญ
เพราะประเด็นเรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องที่มนุษย์ต้องเผชิญในชีวิตประจำวันมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจเรื่องส่วนตัวไปจนถึงการเมืองระดับโลก
ยิ่งในโลกการเมืองระหว่างประเทศที่กำลังถูกคุกคามด้วยความขัดแข้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ คำถามเรื่อง “จริยธรรม” กับ “ผลลัพธ์ในภาคปฏิบัติ” ยิ่งจะหนักหน่วงและรุนแรง
ความย้อนแย้งเช่นว่านี้จะปรากฏให้เห็นเด่นชัดยิ่งขึ้นในช่วงที่เกี่ยวโยงกับกลไกสังคมว่าด้วยการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ
ไม่ว่าจะเป็นช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง
มีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ในแวดวงการเมืองไทยแล้วว่า “ศรีธนญชัย” มีอิทธิพลต่อวิธีคิดและแนวปฏิบัติของนักการเมืองส่วนใหญ่
เพราะพวกเขาเห็น “เป้าหมาย” ของการเข้ามาทำการเมืองก็เพื่อได้เป็น ส.ส. และหวังต่อไปว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐ
เมื่อ “เป้าหมาย” คือลำดับความสำคัญสูงสุด “วิธีการ” ที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นจึง “มาในรูปแบบไหน” ก็ไม่สำคัญ
แม้จะสุ่มเสี่ยงกับการโกงคะแนน, ซื้อเสียง, ข่มขู่คู่แข่ง, แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับคนที่ช่วยหนุนเนื่องให้ชนะเลือกตั้งได้
นักการเมืองบางคนอ้างว่า “โกหกสีขาว” (white lies) เป็นสิ่งที่สังคมการเมืองยอมรับ
แต่เมื่อ “โกหกสีขาว” นั้นถูกใช้เพื่อการผลักดันนโยบายทางการเมืองที่เข้าข่ายสุ่มเสี่ยงกับการทุจริตประพฤติมิชอบก็เท่ากับเป็นการใช้หลัก “ศรีธนญชัย”
นั่นคือการตีความกฎหมายหรือกฎกติกาให้เข้าข้างผู้มีอำนาจ
แทนที่จะให้การวิเคราะห์เนื้อหาแห่งกฎหมายั้นเอื้อต่อประโยชน์สาธารณะ
หรือในการณีที่แอบอ้างว่าการ “ตระบัดสัตย์” ที่ให้ไว้กับประชาชนนั้นมีความจำเป็นต้องทำ “เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้”
แต่ในความเป็นจริง กลับกลายเป็นว่าการ “ทรยศ” ต่อคำมั่นสัญญาของตนต่อสาธารณชนนั้นเป้าหมายที่แท้จริงคือการกระชับอำนาจ
เพื่อให้ตนหรือเครือข่ายของตนได้เข้าสู่อำนาจ
โดยไม่สนใจไยดีกับ “ความชอบธรรม” ที่ตีความจากการที่ประชาชนลงคะแนนให้กับพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างโดดเด่นเห็นชัดแจ้ง
คำกล่าวอ้างว่าการกระทำต่างๆ ที่ถูกชาวบ้านวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงนั้นเพื่อ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง”
กลับกลายเป็นการ “ก้าวข้ามหัวประชาชน”
อย่างที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดในแวดวงการเมืองไทยวันนี้!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022