ประชานิยมปีกขวา (3) ชนชั้นนำผู้ห่างเหิน

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“เราไม่ได้เพียงปรับเปลี่ยนการส่งผ่านอำนาจจากรัฐบาลหนึ่งไปสู่อีกรัฐบาลหนึ่ง หรือจากพรรคหนึ่งไปสู่อีกพรรคหนึ่ง แต่เรากำลังส่งผ่านอำนาจจากวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อคืนให้พวกท่านทั้งหลาย-ชาวอเมริกัน”

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

คำกล่าวในวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง, 2017

 

เสาต้นที่ 2 ชนชั้นนำขี้โกง

ผู้นำประชานิยมมีแกนความคิดเรื่องหนึ่งที่ตรงกันอย่างน่าสนใจ โดยมิไยต้องคำนึงว่าพวกเขาอยู่ในประเทศใด คือทัศนะที่เชื่อว่าผู้นำที่อยู่ในอำนาจ (established elite) ล้วนแต่เป็นพวกขี้โกง ฉ้อฉล และทุจริต อันนำไปสู่การสร้างชุดความเชื่อเรื่อง “corrupt elites” หรืออาจเรียกสิ่งนี้ด้วยคำอธิบายง่ายๆ ว่า “ชนชั้นนำขี้โกง”

การประกอบสร้างวาทกรรมเช่นนี้ไม่ต่างกับการสร้างคอนเซ็ปต์เรื่อง “The ประชาชน” ที่ไม่ใช่ประชาชนในแบบที่เราเข้าใจ แต่เป็นประชาชนที่มีความหมายเฉพาะ และประชาชนในแบบของประชานิยมเช่นนี้ ที่ถูกเหล่าบรรดาชนชั้นนำที่มีอำนาจทอดทิ้ง การประกอบสร้างชุดความคิดผ่านวาทกรรมในรูปของภาษา ทำให้ผู้นำประชานิยมสามารถทำให้เกิดภาพของการต่อสู้ระหว่าง “ประชาชนที่แท้จริง” (pure people) กับ “The ชนชั้นนำ” อันมีนัยถึงชนชั้นนำที่ขี้โกง ซึ่งในทางภาษาจึงเป็นเช่นเดียวกับคำว่าประชาชนที่มี “the” นำหน้า ชนชั้นนำในมุมของฝ่ายประชานิยมก็มี “the” นำหน้าไม่แตกต่างกัน

การทำเช่นนี้ทำให้ฝ่ายประชานิยมสามารถกำหนดนิยามของชนชั้นนำได้ตามความต้องการของตนสำหรับการเคลื่อนไหวในแต่ละครั้ง ซึ่งก็ไม่มีความชัดเจนว่าในที่สุดแล้ว ชนชั้นนำคือใคร? แต่มีความหมายว่าเป็นคนที่ผู้นำประชานิยมได้กำหนดให้เป็น และถือว่าชนชั้นนำเหล่านี้ศัตรูของประชาชน

ในการมีทัศนคติต่อต้านชนชั้นนำเช่นนี้ พวกเขาไม่ได้ต่อต้านเฉพาะพวกชนชั้นนำทางการเมืองเท่านั้น หากยังมีข้อวิจารณ์อย่างมากต่อชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ชนชั้นนำทางวัฒนธรรม ชนชั้นนำด้านสื่อสารมวลชน และชนชั้นนำทางศิลปะ ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ทั้งหมดจะถูกลดรูปของความเป็นกลุ่มที่แตกต่างกัน ให้มีภาพเป็นคนกลุ่มเดียวคือ เป็น “กลุ่มชนชั้นนำขี้โกง” และกิจกรรมของคนพวกนี้สวนทางกับ “เจตจำนงร่วม” (General View) ของประชาชน

เราอาจกล่าวได้ว่า ปัจจัยที่แยก “The ประชาชน” ออกจาก “The ชนชั้นนำ” คือปัญหาทางด้านศีลธรรม เพราะชนชั้นนำเป็นพวกคอร์รัปชั่น… พวกขี้โกง แต่ต้องเข้าใจว่าชนชั้นนำเช่นนี้จะต้องไม่รวมผู้นำที่เป็นประชานิยมเป็นอันขาด และไม่นับรวมชนชั้นนำที่อยู่ในฝ่ายสนับสนุน หรือชนชั้นนำที่แสดงความเห็นใจต่อฝ่ายประชานิยม

ตัวอย่างเช่น สื่อที่วิจารณ์พรรคการเมืองที่เป็นประชานิยม จะถูกจัดว่าเป็นสื่อที่ปกป้องชนชั้นนำ แต่สื่อที่แสดงท่าทีสนับสนุนพรรคแบบนี้ จะได้รับการยกย่องว่าเป็น “เสียงของประชาชนอย่างแท้จริง” (a true voice of the people)

 

การจำแนกฝ่ายในลักษณะเช่นนี้ ไม่มีความซับซ้อนแต่อย่างใด คือใครที่สนับสนุนนโยบายประชานิยม จะได้รับการยอมรับว่าเป็นฝ่ายที่ “ยืนกับความถูกต้อง” แต่ถ้าใครอยู่ในทางตรงข้ามแล้ว คนเหล่านั้นจะถูกนิยามว่า “ยืนกับพวกชนชั้นนำ” ทันที (อาจเปรียบเทียบคล้ายกับการเมืองยุครัฐประหารไทย คือใครยืนกับฝ่ายรัฐบาลทหาร จะกลายเป็น “คนดี” ไปโดยปริยาย)

การจำแนกฝ่ายเช่นนี้เป็นวิธีที่ฝ่ายขวาจัดมักใช้อยู่เสมอ เพราะสามารถทำให้เกิดความเข้าใจแก่ผู้คนในสังคมการเมืองได้ง่าย และสำคัญในการนำเสนอคือ เป็นวิธีที่ไม่ซับซ้อนแต่อย่างใด เพราะประชาชนในฐานะ “ผู้รับสาร” จะเห็นได้ทันทีว่าชนชั้นนำเป็นคนละฝ่ายกับพวกเขา และยืนตรงข้ามกับผลประโยชน์ของพวกเขา ซึ่งวิธีการเช่นนี้จะช่วยให้ผู้นำประชานิยมสามารถระดมผู้คนให้เข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวของพวกเขาได้มาก

ชุดความคิดเช่นนี้ในภาพรวมก็คือ การประกาศจุดยืนในการ “ต่อต้านชนชั้นนำที่มีอำนาจ” (anti-establishment position) ซึ่งได้กลายเป็นแกนสำคัญของการปลุกระดมทางการเมืองของผู้นำประชานิยม แต่ต้องไม่ลืมว่า ไม่ว่าพวกผู้นำเช่นนี้จะมีสถานะทางสังคมอย่างไร แต่เมื่อเขาเป็นประชานิยมแล้ว เขาย่อมไม่มีสถานะเป็นชนชั้นนำตามนิยามของฝ่ายประชานิยม พร้อมกับสร้าง “ภาพแทน” ในทางความคิดว่า เขาเป็นพวกที่ไม่มีอำนาจ และเป็นฝ่ายเดียวกับประชาชน เพราะประชาชนเป็นคนที่ไม่มีอำนาจ

ซึ่งทำให้ผู้นำประชานิยมต้องสร้างภาพอีกว่า เขายอมรับหลักการทางรัฐศาสตร์ในเรื่อง “ความเป็นใหญ่ของประชาชน” จึงต้องเอาอำนาจดังกล่าวกลับคืนมาจากชนชั้นนำ

 

อาการพารานอยด์!

การสร้างจินตนาการแห่งอำนาจเช่นนี้ มักทำให้ผู้นำประชานิยมไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใดนำเสนอคำขวัญให้แก่คนในสังคมไม่แตกต่างกันคือ การ “เอารัฐกลับคืนสู่อำนาจของประชาชน” และที่เป็นเช่นนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะชนชั้นนำเอาอำนาจนี้ไปจากประชาชนเท่านั้น หากยังเกิดจากการที่ “อำนาจแท้จริง” นั้น (the real power) ถูกนำไปซ่อนไว้กับพลังมองไม่เห็นที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง อำนาจนี้จึงไม่เคยอยู่กับผู้นำในระบอบประชาธิปไตยที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน

การอธิบายของฝ่ายประชานิยมเช่นนี้ ส่วนหนึ่งดูจะเป็นเหมือนกับ “ทฤษฎีสมคบคิด” (conspiracy theory) ที่เชื่อว่าทุกอย่างมีตัวละครสำคัญแอบซ่อนอยู่เบื้องหลัง และเป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริง ไม่ใช่คนที่เราเห็นอยู่ในเวทีประชาธิปไตยอย่างเปิดเผย หรือที่มีนักประวัติศาสตร์การเมืองมองจากประสบการณ์ในสังคมอเมริกัน และเรียกสภาวะเช่นนี้ว่าเป็น “พารานอยด์ทางการเมือง” กล่าวคือ ความคิดแบบประชานิยมเป็นรูปแบบของ “โรคจิตหลอนทางการเมือง” (the paranoid style of politics) ที่มักชอบคิดเอาเอง หรือคิดไปตามความเชื่อทางการเมืองของตนเอง และประกอบสร้างความเชื่อแบบโรคจิตหลอนนี้ มาเป็นคำอธิบายทางการเมืองแก่คนในสังคมให้เชื่อตาม

ความเชื่อแบบพารานอยด์เช่นนี้ช่วยทำให้ทฤษฎีสมคบคิดดูเป็นจริงมากขึ้น กล่าวคือ ความเชื่อดังกล่าวเปิดช่องให้พวกเขา “อธิบาย” ได้ว่า นโยบายแบบประชานิยมล้มเหลว เป็นเพราะชนชั้นนำทางเศรษฐกิจที่มีอำนาจคอยหาทางบ่อนทำลายโอกาสของความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น เพราะถ้าความสำเร็จเช่นนี้เกิดขึ้นจริงแล้ว ชนชั้นนำจะสูญเสียอำนาจทางการเมือง จนไม่อาจควบคุมอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ได้

 

น่าสนใจว่าชุดของคำอธิบายเช่นนี้ ถูกนำมาใช้อยู่บ่อยครั้ง ไม่ใช่เพียงเพราะพวกเขาเชื่อเช่นนั้น แต่คำอธิบายชุดนี้สามารถสื่อสารได้ง่ายถึงความเป็นชนชั้นนำที่ฉ้อฉล และช่วยแยก “สามัญชนคนทั่วไป” ออกจากพวกที่อยู่ในอำนาจ ดังนั้น คำอธิบายชุดนี้จึงถูกนำมาใช้โดยผู้นำประชานิยม ที่เป็นทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ประชานิยมทั้ง 2 ปีกนี้ไม่แตกต่างกันที่ยืนอยู่บนความพารานอยด์ชุดเดียวกัน

คำอธิบายชุดนี้ขยายความต่ออีกว่า ชนชั้นนำเป็นพวกที่ไม่สนใจประชาชน ไม่สนใจผลประโยชน์ของประชาชน หรือในความหมายคือการเป็น “ชนชั้นนำที่ห่างเหิน” จากประชาชน เพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่เคยยืนอยู่กับผลประโยชน์ของประชาชน อีกทั้งชนชั้นนำมักดำเนินนโยบายที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของประเทศ เช่น พวกประชานิยมในยุโรปมีความเห็นตรงกันว่า รัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งนั้น เอาผลประโยชน์ของสหภาพยุโรปไว้เหนือผลประโยชน์ของประเทศตน หรือพวกประชานิยมในละตินอเมริกากล่าวหามาอย่างยาวนานแล้วว่า ชนชั้นนำในสังคมเห็นแก่ผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกามากกว่าผลประโยชน์ของประเทศ

การประกอบสร้างภาพของความเป็นชนชั้นนำที่ไม่ยืนกับผลประโยชน์ของประชาชนเช่นนี้ ก็เพื่อเสริมให้วาทกรรมการต่อสู้ระหว่าง “ประชาชนที่แท้จริง vs. ชนชั้นนำขี้โกง” ให้เด่นชัดขึ้น และสามารถรับรู้ได้ง่ายขึ้นในวงกว้างด้วย อันทำให้การต่อต้านชนชั้นนำจึงเป็นหัวใจสำคัญของความเป็นประชานิยม ผู้นำประชานิยมในทุกประเทศจะต้องหยิบเรื่องนี้มาเป็นประเด็นในการปราศรัยทางการเมืองเสมอโดยไม่มีข้อยกเว้น

ฉะนั้น ยิ่งมีปัญหาเศรษฐกิจไม่ดีมากเท่าใด ก็ยิ่งเป็นโอกาสอย่างดีที่ผู้นำประชานิยมจะหยิบมาใช้ประโยชน์ในทางการเมือง เพราะยิ่งทำให้การโจมตีชนชั้นนำทางเศรษฐกิจที่กุมอำนาจไว้นั้น ยิ่งดูเป็นความจริงที่ชวนให้คนในสังคมคล้อยตามไปได้ง่าย ดังนั้น ความตกต่ำทางเศรษฐกิจ หรือการที่ประเทศต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ จึงกลายเป็นช่องทางอย่างดีที่ทำให้เกิดผู้นำประชานิยม เพราะพวกเขาสามารถสร้างการโฆษณาชวนเชื่อในเรื่องของการต่อสู้กับชนชั้นนำ และการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน

ตัวอย่างของขบวนการประชานิยมอเมริกันชื่อ “The Tea Party” ซึ่งกำเนิดภายในพรรครีพับลิกันในปี 2009 ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ พวกเขาเชื่อว่ากลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่ฉ้อโกงควบคุมรัฐสภาอเมริกันไว้ในมือ จึงทำให้มีการออกกฎหมายเพื่อป้องกันผลประโยชน์ของชนชั้นนำเหล่านี้ และส่งผลให้การแข่งขันตามทฤษฎีของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีถูกบิดเบือน ซึ่งทำให้ธุรกิจขนาดเล็กต้องล้มละลาย หรือไม่มีความสามารถในการแข่งขันได้ สำหรับชาวประชานิยมแล้ว ธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้คือ “เครื่องจักรของระบบทุนนิยม” และเป็นตัวแทนของ “ประชาชนที่แท้จริง”

สำหรับการเคลื่อนไหวเช่นนี้ พวกเขาประกาศว่าตัวเองเป็น “ขบวนประชานิยมทางรัฐธรรมนูญ” (a popular constitutional movement) โดยใช้ชื่อที่นำมาจากยุคสงครามเอกราชอเมริกันคือ “The Boston Tea Party” ในปี 1773 และเป็นการประกอบสร้างภาพลักษณ์ของขบวนการนี้ว่า เป็นตัวแทนของ “คนรากหญ้า” ที่ขับเคลื่อนการต่อสู้กับชนชั้นนำที่วอชิงตัน ซึ่งผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวส่วนใหญ่เป็นพวกประชานิยมปีกขวา และพวกอนุรักษนิยมที่ต่อต้านนโยบายของพรรคเดโมแครตในยุคของประธานาธิบดีบารัก โอบามา

 

หลังยุคทีปาร์ตี้

ขบวนการนี้สิ้นสุดลงในปี 2016 เพราะนโยบายแบบประชานิยมดังกล่าวถูกดูดซับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของพรรครีพับลิกัน และกลายเป็นฐานทางการเมืองสำคัญชุดหนึ่ง ที่รองรับกระแสประชานิยมของทรัมป์ซึ่งเคลื่อนเข้ามาสำหรับการเลือกตั้งในปี 2016 ได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น การเกิดและการขับเคลื่อนขบวนของ “The Tea Party” นั้น เป็นคำตอบที่ชัดเจนในอีกส่วนว่า ทำไมพรรครีพับลิกันในช่วงหลังจึงมีทิศทางแบบขวาจัดมาก และเริ่มไม่มีสภาพเป็นพรรคอนุรักษนิยมในกระแสหลักแบบเดิม จึงกลายเป็นโอกาสอย่างดีให้ทรัมป์เข้ามาขยายอิทธิพลในพรรคได้อย่างชัดเจน ทั้งที่ทรัมป์ไม่เคยมีบทบาท หรือมีตำแหน่งในพรรคมาก่อน จนเป็นเสมือนกับการ “ยึดพรรครีพับลิกัน” ของทรัมป์ และส่งผลให้ทรัมป์กลายเป็น “ผู้นำสูงสุด” ของพรรคไปโดยปริยาย

ดังเช่นที่ปรากฏให้เห็นจากการคัดเลือกผู้สมัครของพรรครีพับลิกันในปี 2024 ซึ่งชัดเจนว่าทรัมป์ชนะในการเป็นตัวแทนของพรรค จากการแข่งขันภายในที่มาด้วยคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น