ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 กันยายน 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | สุภา ปัทมานันท์ |
เผยแพร่ |
สถิติของกระทรวงสาธารณสุขและแรงงาน (厚生労働省) ญี่ปุ่น ปี 2002 มีคู่แต่งงาน 757,331 ราย หย่าร้าง 289,836 ราย นับเป็นปีที่มีคู่หย่าร้างมากที่สุด เป็นคู่ที่หย่าแต่งงานงานมาปีก่อนหน้านั้น ต่อจากนั้น จำนวนคู่หย่าร้างก็ลดลงต่อเนื่อง
ชวนให้ค้นหาสาเหตุ เป็นเพราะคู่แต่งงานมีความสัมพันธ์ที่ดี รักหวานชื่นยาวนานงั้นหรือ?
เปล่าเลย…แต่เพราะว่ามีจำนวนคนแต่งงานน้อยลง หรือแต่งงานช้าลงต่างหาก
จากสถิติ 20 กว่าปีย้อนหลัง คำนวณคร่าวๆ ได้ว่า 1 ใน 3 คู่แต่งงานจบลงด้วยการหย่าร้าง ปี 2002 มี 38% มากที่สุด
ส่วนปี 2022 จำนวนคู่แต่งงานลดลงเหลือ 504,878 ราย ขณะที่จำนวนหย่าก็ลดลงด้วย คือ179,099 ราย คิดเป็น 35% เมื่อดูสัดส่วนก็ไม่ได้ลดลงเลย
พิจารณาให้ละเอียดพบว่า ในจำนวนนี้เป็นคู่แต่งงานที่อยู่ด้วยกันเกิน 20 ปีขึ้นไป เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หมายความว่าตัดสินใจหย่า แยกย้ายกันทางใครทางมันเมื่อล่วงเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว ปี 1990 มีจำนวนราว 15% จากนั้นก็ไม่ได้ลดลงเลย มีแต่เพิ่มขึ้นจนถึงปี 2022 มีถึง 23.5% มากที่สุดเป็นประวัติการณ์
ปัจจุบัน คนแต่งงานกัน เริ่มต้นหวานชื่น อยู่กันไปมีเรื่องต้องปรับตัวหลายอย่างแน่นอน ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันแล้วพบว่า เราสองคนเข้ากันไม่ได้ ก็ไม่เสียเวลา ต่างคนต่างไปตามทางของตัวเอง แต่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นของคู่สามีภรรยาที่อยู่ด้วยกันมานานเกินกว่า 20 ปี จนลูกโตเข้ามหาวิทยาลัย เรียนจบหรือมีงานทำแล้ว ตัดสินใจหย่ากันเมื่อต่างก็เข้าสู่วัยกลางคนทั้งคู่ เรียกว่า “หย่าวัยกลางคน” (熟年離婚) หรือ “หย่าก่อนแก่” คงไม่ผิด
อัทสึโกะ โอคาโน อาชีพที่ปรึกษาเรื่องการหย่า ตัวเธอเองผ่านการหย่าวัยกลางคนมาแล้ว เมื่อเริ่มทำอาชีพนี้หลายปีก่อนมีเสียงตำหนิมากมาย บัดนี้มีแต่คนอยากมาขอคำปรึกษา เธอบอกว่า ร้อยละ 70-80 ของการหย่าในวัยนี้ ผู้หญิงเป็นฝ่ายเรียกร้อง นอกจากนิสัยเข้ากันไม่ได้ ยังมีเหตุผล คือ
– การทำร้ายจิตใจ (モラハラ) ทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ เหยียดหยาม ด่าทอ ใช้อำนาจบาตรใหญ่ แม้ไม่ใช่การทำร้ายร่างกาย แสดงให้เห็นชัดเจนถึงสังคม “ชายเป็นใหญ่” ของญี่ปุ่น ภรรยาเป็นแม่บ้าน พึ่งพิงสามีด้านการเงินจึงไม่มีปากมีเสียง ต้องยอมอยู่ใต้อาณัติและอดทนจนถึงที่สุด
– สามีนอกใจ (浮気) ภรรยาไม่อยากฝืนทน ยากที่จะทำใจได้
– สามีไม่ให้ค่าใช้จ่ายส่วนตัวแก่ภรรยา
– การมีอายุยืนยาวขึ้น (長寿化) สามีภรรยาต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันนานขึ้น ภรรยาฉุกคิดได้ว่าจะต้องทนอยู่กับสภาพปัจจุบันไปอีก 30-40 ปีงั้นหรือ? รีบตัดสินใจหย่าตอนนี้ดีกว่า
– ยุคสมัยเปลี่ยนไปจากสังคมชายเป็นใหญ่ เป็นหญิงชายเท่าเทียมกัน ผู้หญิงมีโอกาสทำงานนอกบ้านมากขึ้น มีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง จึงกล้าคิดเป็นอิสระ
– การตัดสินของศาลเรื่องการหย่าไม่ได้ใช้เวลามากเหมือนแต่ก่อน ยื่นเรื่องหย่าได้ง่ายและเร็วขึ้น
– ทุกวันนี้มีแอพพลิเคชั่นหาคู่เฉพาะสำหรับคนอายุเกิน 50 ปี เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด หย่าสามีแล้ว ไม่ใช่ว่าจะต้องใช้ชีวิตเหงาอยู่คนเดียว โอกาสจะพบคนใหม่ดีกว่าคนปัจจุบันก็มีเพิ่มขึ้นกว่าผู้หญิงยุคก่อน
นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลที่เกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นด้วย นั่นคือ ความสัมพันธ์กับ “แม่สามี” (義理の母) สะใภ้ต้องอดทนกับความเคร่งครัด จุกจิกจู้จี้ของแม่สามี ที่อยู่ร่วมบ้านหรือไม่อยู่ร่วมบ้าน แต่ก็แผ่อิทธิพลมาให้ผวามายาวนานกว่า 20 ปี ถึงเวลาหลีกหนีให้ไกลได้แล้ว หากยังอยู่แบบนี้ต่อไป อีกไม่นานก็ถึงเวลาต้องดูแล ปรนนิบัติ เฝ้าไข้แม่สามีในยามที่เธอชรา มองเห็นภาระหนักในอนาคตแล้ว บางรายลูกๆ เห็นความอดทนของแม่ กลับเป็นฝ่ายเชียร์ให้แม่ขอหย่าพ่อ ก็มีไม่น้อย เพื่อแม่มีชีวิตอิสระหลังหย่าอย่างมั่นใจ เนื่องจากใครๆ ก็หย่ากันในวัยนี้มากขึ้น ไม่ต้องกังวลกับเสียงซุบซิบนินทาของสังคมรอบข้างอีกต่อไป
ในความเป็นจริง ได้เป็นอิสระจากชีวิตแต่งงานที่ไม่มีความสุข ไม่ต้องรับภาระหนักอึ้งของภรรยา แม่ และสะใภ้แล้ว แต่ผู้หญิงญี่ปุ่นที่หย่าในวัยกลางคนไม่น้อยกลับต้องเผชิญกับ “ความเหงา” อยู่คนเดียว เมื่อเหลียวหาลูก ลูกก็มีครอบครัวต้องดูแล และต้องกังวลกับค่าใช้จ่าย เงินทอง ต้องกระเหม็ดกระแหม่ ไม่ฟุ่มเฟือย จนในที่สุดก็ตัดสินใจแต่งงานครั้งที่สอง ชีวิตวนกลับไปที่จุดเริ่มต้นอีก ถ้าโชคดีมีความสุขก็เป็นกำไร
แต่ถ้าเหมือนเดิมหรือเลวร้ายกว่าเดิม ก็เป็นบทเรียนราคาแพง
อย่างไรก็ตาม โอคาโน มีความเห็นว่า “ถ้าไม่ตัดสินใจหย่า ก็ไม่ได้ก้าวข้ามปัญหาเสียที” “ถ้าคิดว่าจะทำให้มีความสุข ก็ตัดสินใจ” ก่อนหย่าควรสืบทรัพย์สิน เงินฝากของสามีให้รอบคอบเพื่อจะได้ส่วนแบ่งมายังชีพอย่างยุติธรรม อย่าหมดความอดทน ทิ้งไว้เพียงจดหมาย “พอกันทีชาตินี้” โดยไม่เรียกร้องเงินทองเลย
ปัจจุบันการใช้ชีวิตร่วมกันด้วยการแต่งงาน มีที่อยู่กันจนแก่เฒ่า แยกกันอยู่ไม่หย่า อยู่ใต้ชายคาเดียวกันแต่ต่างคนต่างอยู่ ไม่ยุ่งเกี่ยวกัน หรือต่างก็มีคนคุยที่ถูกใจ ไม่ได้หย่ากันตามกฎหมาย ถือเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากขนบธรรมเนียมเดิมอย่างมาก
ด้านปัญหาสังคมผู้สูงวัย (高齢化社会) ที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ หากจำนวนหญิงหรือชายที่หย่าในวัยกลางคนมากขึ้น และไม่ได้แต่งงานใหม่อีก สังคมต้องแบกรับภาระด้านสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงวัยที่อยู่คนเดียว ค่าดูแล ค่ารักษาพยาบาล และการตายอย่างโดดเดี่ยวในที่พักโดยไม่มีใครรู้ (孤独死) ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายชรา
สังคมญี่ปุ่นจึงตระหนักรู้เตรียมรับมือกับ “ปัญหาผู้สูงวัยผู้โดดเดี่ยว” จากการ “หย่าก่อนแก่” เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งปัญหา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022