ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (31)

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

ศาลอาชญากรสงคราม

เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งยุโรปและแปซิฟิก ฝ่ายสัมพันธมิตรได้จัดตั้งศาลอาชญากรสงครามขึ้นทั้งที่ประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่นในลักษณะ “ศาลพิเศษ” ขณะที่สถานีวิทยุกระจายเสียงกองบัญชาการฝ่ายสัมพันธมิตรที่กรุงเดลลีและที่ซานฟรานซิสโกก็ได้ออกข่าวว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะนำอาชญากรสงครามไทยไปขึ้นศาลอาชญากรสงครามที่จะจัดตั้งขึ้นที่ญี่ปุ่นด้วย 4 คน คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม หลวงวิจิตรวาทการ พล.ต.ประยูร ภมรมนตรี และนายสังข์ พัธโนทัย

นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการ และนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เห็นตรงกันว่า ถ้าต้องส่งตัวจอมพล ป.พิบูลสงคราม ไปขึ้นศาลอาชญากรสงคราม ประเทศไทยก็จะต้องถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศผู้แพ้สงครามด้วย ซึ่งจะส่งผลเสียที่ติดตามมาอย่างใหญ่หลวง จึงเห็นตรงกันว่าไทยควรจัดตั้งศาลอาชญากรสงครามขึ้นเอง แต่เนื่องจากประเทศไทยยังไม่เคยมีกฎหมายประเภทนี้บังคับใช้มาก่อน จึงต้องออกพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามขึ้นเพื่อใช้ในการพิจารณาคดีเป็นการด่วน โดยยึดตามแนวทางจากศาลอาชญากรสงครามที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจัดตั้งขึ้น

คณะรัฐมนตรีจึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามต่อสภาผู้แทนราษฎร โดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้แถลงหลักการและเหตุผลของกฎหมายนี้ต่อสภาว่า

“…โดยที่อาชญากรสงครามเป็นภัยร้ายแรงต่อความสงบของโลก สมควรที่จัดให้บุคคลที่ประกอบได้สนองกรรมชั่วที่ตนได้กระทำตามโทษานุโทษ เพื่อเป็นการผดุงรักษาความสงบของโลก อันเป็นยอดปรารถนาของประชาชาติไทย…”

สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการในวาระแรกอย่างเป็นเอกฉันท์โดยไม่มีการอภิปราย และให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 9 คนเพื่อแปรญัตติร่างกฎหมายนี้ภายใน 3 วัน

 

โทษประหารชีวิต

สาระสำคัญของพระราชบัญญัตินี้แบ่งได้เป็น 3 ส่วนได้แก่ “ส่วนสารบัญญัติ” คือ การกำหนดลักษณะความผิดฐานเป็นอาชญากรสงคราม “การกำหนดระวางโทษ” ของผู้กระทำผิดซึ่งรวมถึงมาตรการทางแพ่งที่เกี่ยวข้อง และ “ส่วนวิธีบัญญัติ” ที่ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาชญากรสงคราม

ส่วนสารบัญญัติ ได้กำหนดความผิดฐานเป็นอาชญากรสงครามไว้ในมาตรา 3 รวม 4 ประการ ได้แก่

(1) กระทำการติดต่อและวางแผนการศึกเพื่อทำสงครามรุกรานหรือกระทำโดยสมัครใจเข้าร่วมสงครามกับผู้ทำสงครามรุกราน หรือโฆษณาชักชวนให้บุคคลเห็นดีเห็นชอบในการกระทำของผู้ทำสงครามรุกราน

(2) กระทำการละเมิดกฎหมายหรือจารีตประเพณีในการทำสงคราม คือการปฏิบัติที่ไม่ชอบธรรมต่อทหารที่ตกเป็นเชลย จัดส่งพลเรือนไปเป็นทาส ฆ่าผู้ที่ถูกจับเป็นประกัน และการทำลายบ้านเมืองโดยไม่จำเป็นสำหรับการทหาร

(3) กระทำการละเมิดต่อมนุษยธรรม คือกดขี่ข่มเหงในทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ หรือทางศาสนา

และ (4) กระทำการโดยสมัครใจเข้าร่วมมือกับผู้ทำสงครามรุกราน คือชี้ลู่ทางให้ทำการยึด หรือครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดยไม่ชอบธรรม หรือสืบ หรือให้ความลับ หรือความรู้อันเป็นอุปการะแก่การทำสงครามของผู้ทำสงครามรุกราน

ทั้งนี้ ไม่ว่าการนั้นจะได้กระทำขึ้นก่อนหรือหลังวันที่กฎหมายอาชญากรสงครามมีผลใช้บังคับ

 

ส่วนการกำหนดระวางโทษ กำหนดให้ผู้ที่เป็นอาชญากรสงครามมีระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 ตั้งแต่ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกไม่เกินยี่สิบปี ให้ริบทรัพย์สินทั้งหมด และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสิบสองปีนับแต่วันพ้นโทษ รวมทั้งยังมีบทบังคับทางแพ่งว่านิติกรรมใดที่มีลักษณะเป็นการจำหน่ายถ่ายโอนทรัพย์สินโดยผู้ที่ศาลพิพากษาแล้วว่าเป็นอาชญากรสงครามได้กระทำไปในระหว่างหนึ่งปีก่อนกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือเป็นโมฆะ เว้นแต่ผู้ได้รับประโยชน์พิสูจน์ได้ว่าเป็นการทำนิติกรรมที่สุจริตและมีค่าตอบแทนแล้ว

ส่วนวิธีบัญญัติ ที่เป็นปัญหาสำคัญที่สุด คือ จะให้คดีอาชญากรสงครามนี้ถูกชำระกันโดยศาลใด สำหรับกรณีการไต่สวนอาชญากรสงครามในภาคพื้นยุโรปและเอเชียนั้นได้มีลักษณะเป็นการจัดตั้ง “ศาลพิเศษ” ขึ้นโดยมีผู้พิพากษาและอัยการจากประเทศผู้ชนะสงครามคือฝ่ายสัมพันธมิตร

ในกรณีของประเทศไทย ร่างแรกของกฎหมายดังกล่าวคณะรัฐมนตรีได้เสนอให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาคดีอาชญากรสงคราม โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการยุติธรรมต่อจำเลยอาชญากรสงคราม คดีนี้จึงสมควรได้รับการไต่สวนและตัดสินจากผู้มีประสบการณ์สูงในการพิจารณาอรรถคดีต่างๆ จึงควรเป็นหน้าที่ของศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดของศาลยุติธรรม

 

อย่างไรก็ตาม ในชั้นการแปรญัตติ นายสงวน ตุลารักษ์ รัฐมนตรีคนหนึ่งในคณะรัฐบาลและอดีตเสรีไทยสายพลเรือน รวมถึงการแปรญัตติของนายถวิล อุดล ได้เสนอให้จัดตั้ง “ศาลพิเศษ” เพื่อดำเนินคดีนี้

แนวทางจัดตั้งศาลพิเศษนี้มีผู้เห็นด้วยคือ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอดีตอธิบดีกรมอัยการ เห็นว่าศาลฎีกาในสมัยนั้นมีผู้พิพากษาจำนวนน้อย หากต้องพิจารณาคดีอาชญากรสงครามซึ่งเป็นการพิจารณาคดีเต็มรูปแบบเช่นเดียวกับศาลชั้นต้นด้วย ก็จะทำให้อรรถคดีอื่นๆ ของประชาชนล่าช้าไป รวมถึงคดีอาชญากรสงครามมีลักษณะเป็น “คดีการเมือง” หากให้ศาลฎีกามาตัดสินก็จะถูกมองว่าเป็นการทำให้ศาลลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งไม่เป็นการดีต่อสถาบันศาลในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการบางส่วนก็เห็นว่า การกำหนดให้มีการจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นในพระราชบัญญัตินี้อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 59 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ที่ใช้บังคับอยู่ ซึ่งหากจะใช้วิธีดังกล่าว รัฐบาลจะต้องเสนอกฎหมายจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมาเสียก่อน

นอกจากนั้น ยังเห็นว่า การตั้งศาลพิเศษเพื่อชำระคดีการเมือง ในอดีตได้เคยสร้างความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมจากครั้งที่รัฐบาลเคยตั้งมาแล้วถึง 3 ครั้ง ได้แก่ ในปี พ.ศ.2476 เพื่อพิจารณาโทษกบฏบวรเดช ปี พ.ศ.2478 เพื่อพิจารณาโทษกบฏนายสิบ และปี พ.ศ.2481 เพื่อพิจารณาโทษผู้ประทุษร้ายและล้มล้างรัฐบาลที่นำไปสู่การประหารชีวิตถึง 18 ราย

จุดอ่อนของศาลพิเศษที่ตั้งขึ้นเพื่อชำระคดีการเมืองทั้ง 3 ครั้ง คือจำเลยไม่มีสิทธิ์แต่งตั้งทนายแก้ต่าง การตัดสินพิพากษามีเพียงศาลชั้นเดียว ไม่มีการอุทธรณ์ ฎีกา นำไปสู่ข้อครหาเกี่ยวกับความเป็นธรรมของจำเลยซึ่งมีผู้แทนราษฎรที่เคยได้รับผลกระทบจากการจัดตั้งศาลพิเศษดังกล่าวมาแล้วได้เคยอภิปรายคัดค้านการจัดตั้งศาลพิเศษไว้แล้ว

 

ในที่สุดจากการลงมติสภาผู้แทนราษฎรจึงเห็นควรให้ศาลฎีกาทำหน้าที่พิจารณาคดีอาชญากรสงครามคงตามร่างของรัฐบาล แต่ถึงกระนั้นแม้จะให้เป็นอำนาจของศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลยุติธรรมในระบบปกติ แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็มิได้แตกต่างจากการชำระความโดยศาลพิเศษเท่าใดนัก เพราะก็ยังเป็นการพิจารณาเพียงชั้นศาลเดียวคือศาลฎีกาเท่านั้น

สำหรับผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาชญากรสงครามนั้น มาตรา 5 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีจำนวน 15 คน “มีอำนาจในการทั้งสอบสวนและฟ้องคดีแทนพนักงานสอบสวนและอัยการ” รวมถึงมีอำนาจสั่งการให้ตำรวจและสารวัตรทหารช่วยเหลือจับกุมตัวจำเลยได้ ส่วนวิธีพิจารณาทั้งในส่วนของการจับกุม สอบสวน ส่งฟ้อง การดำเนินคดีในศาล ให้นำวิธีพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญามาปรับใช้

นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ ได้ลงนามในพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พุทธศักราช 2488 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2488 และมีผลบังคับใช้ในวันต่อมาเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และในวันเดียวกัน รัฐบาลก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 5 ดังกล่าว โดยมีนายสงวน ตุลารักษ์ และกรรมการคนอื่นอีก 14 คน ขึ้นมาเพื่อดำเนินคดีต่ออาชญากรสงครามตามกฎหมายนี้ทันที

ชะตากรรมของจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงแขวนอยู่บนเส้นด้าย

 

การดิ้นรนของจอมพล ป.

ระหว่างที่ข่าวความคืบหน้าการจัดตั้งศาลอาชญากรสงครามของรัฐบาลไทยปรากฏเป็นจริงขึ้นทุกขณะ วันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2488 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งอยู่ในสภาพโดดเดี่ยว ทหารบกที่เคยให้ความเชื่อมั่นและสนับสนุนก็อยู่ในสภาพตกต่ำหลังสิ้นสุดสงคราม มติเป็นเอกฉันท์ของสภาผู้แทนราษฎรก็แสดงให้เห็นชัดว่าในทางการเมืองไม่อยู่ในสภาพที่จะพึ่งพาได้เช่นเดียวกัน จอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงหาที่พึ่งจากประชาชนผ่านหนังสือพิมพ์โดยเขียนคำชี้แจงเป็นเอกสารโรเนียว 16 หน้า แจกจ่ายไปยังหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเกี่ยวกับเรื่องราวทั้งหมด นับตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะการนำประเทศไทยเข้าร่วมรบกับญี่ปุ่นที่บัดนี้แพ้สงคราม

หนังสือพิมพ์ได้ตีพิมพ์บทความซึ่งมีหลายหน้ากระดาษของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง

แต่ปรากฏว่าลงพิมพ์ได้เพียง 3 วัน เนื้อความยังไม่ถึงครึ่งของทั้งหมด รัฐบาลก็มีคำสั่งให้หนังสือพิมพ์ทุกฉบับระงับการตีพิมพ์บทความนี้เสีย