ภาพยนตร์ : ความบันเทิงของคนไทยในช่วงสงคราม (1)

ณัฐพล ใจจริง

พลันเมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในเช้าวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เกิดการปะทะกันแล้ว ต่อมา รัฐบาลไทยมีคำสั่งหยุดยิง ญี่ปุ่นขอให้ไทยเปิดทางเดินทัพผ่านไปยังอาณานิคมอังกฤษ ต่อมามีการทำสนธิสัญญาพันธมิตรระหว่างกัน ไม่นานจากนั้น ไทยประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร

ปรากฏว่า เมื่อเข้าสู่ช่วงสงคราม ความนิยมชมภาพยนตร์ในสังคมไทยลดลงเป็นอย่างมาก ด้วยสภาวะสงครามไม่เอื้อให้ผู้คนใช้ชีวิตได้อย่างปกติ คนชมภาพยนตร์ต่างวิตกกังวลการโจมตีทางอากาศ อีกทั้งชาวกรุงในพระนครก็ลดลงจากการอพยพหนีภัยสงครามไปต่างจังหวัด ตลอดจนภาวะข้าวยากหมากแพงทำให้คนไทยไม่อยากสุรุ่ยสุร่ายไปกับความบันเทิงอันเป็นกิจกรรมที่ไม่จำเป็น

ภาวะสงครามทำให้ความบันเทิงจากภาพยนตร์ที่คนไทยคุ้นเคยเริ่มประสบกับปัญหา ด้วยเส้นทางการขนส่งนำเข้าสินค้าจากยุโรปและอเมริกาถูกปิดกั้น ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าภาพยนตร์ใหม่จากโลกตะวันตกเข้ามาด้วย

ในช่วงเวลานั้น สุวัฒน์ วรดิลก นักเขียน นักหนังสือพิมพ์เล่าว่า ภาพยนตร์ที่ฉายตามโรงหนังนั้นจึงมักเป็นภาพยนตร์จากเยอรมันและญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ ด้วยเหตุเป็นมิตรประเทศฝ่ายอักษะของไทย ทำให้ภาพยนตร์จากยุโรปและสหรัฐที่ฉายอยู่บ้างเป็นของเก่าที่ฉายวนไปมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า (สุพรรณ บูรณพิมพ์, 2528, 116)

โรงภาพยนตร์โอเดียนในช่วงสงคราม เครดิตภาพ : นิภาภรณ์ รัชตพัฒนากุล

กำเนิดการฉายภาพยนตร์ในไทย

ความบันเทิงจากภาพยนตร์ถูกนำเสนอในพระนครเป็นครั้งแรกเมื่อ 2440 ที่โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ ในชื่อว่า ซีเนมาโตแครฟ โดย นาย เอส.จี. มาร์คอฟสกี (S.G. Marchovsky) เป็นผู้นำเข้ามา ภาพยนตร์สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับชาวกรุงครั้งนั้นเป็นอย่างมาก (จำเริญลักษณ์ ธนะวังน้อย, 2544, 8-9)

ต่อมา ในช่วงทศวรรษ 2460-2470 ความนิยมของการชมภาพยนตร์เกิดการขยายตัวอย่างมาก พระนครมีโรงหนังอยู่แทบทุกมุมเมือง เช่น โรงหนังนาครเขษม ที่เวิ้งนาครเขษม โรงหนังสิงคโปร์ (เฉลิมบุรี) ที่สามแยกโรงหนังชวา ที่ตำบลบางลำพู เป็นต้น

และโรงหนังที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้นคือ ศาลาเฉลิมกรุง

โรงหนังพัฒนากร 2473

ภาพยนตร์ในฐานะสื่อทางการเมือง

ในช่วงเวลานั้น ชาวกรุงนิยมชมภาพยนตร์ต่างประเทศทั้งภาพยนตร์ฝรั่ง จีนและไทยเป็นอย่างมาก อีกทั้งรัฐบาลภายหลังการปฏิวัติ 2475 ตระหนักดีว่า ภาพยนตร์ คือสื่อชนิดใหม่ที่ช่วยรัฐบาลกล่อมเกลาทางการเมืองให้กับประชาชนเข้าใจระบอบการปกครองและปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลได้

เมื่อครั้งจอมพล ป.เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลพระยาพหลฯ เมื่อ 2478 นั้น เขามีแนวคิดในการใช้ภาพยนตร์เพื่อสื่อสารทางการเมือง โดยให้สร้างภาพยนตร์มีเนื้อหาเกี่ยวกับทหารสามเหล่าทัพ

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีชื่อว่า “เลือดทหารไทย” โดยรัฐบาลมอบหมายให้บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุงของตระกูลวสุวัตมาดำเนินงานถ่ายทำเป็นภาพยนตร์เสียง โดยมีกระทรวงกลาโหมเป็นผู้สนับสนุนในเรื่องกำลังพล และยุทโธปกรณ์มาประกอบฉากอันเพิ่มความสมจริงและอลังการ (นพดล อินทร์จันทร, 2554, 33)

วันเปิดศาลาเฉลิมกรุง เมื่อ 2 กรกฎาคม 2476 เครดิตภาพ : สารคดี

ด้วยเหตุที่รัฐบาลเป็นผู้ดำริในการสร้างเลือดทหารไทย ทำให้มีฉากการรบอย่างมโหฬารทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ด้วยได้รับการรับสนุนจากกองทัพทั้งสาม อันเป็นเรื่องราวของไทยประกาศสงครามกับชาติศัตรู กองทัพไทยเข้าสงครามและได้รับชัยชนะ สันนิษฐานกันว่า โครงเรื่องนี้คงจะรับมาจากจอมพล ป. และสะท้อนความคิดของเขาว่า สงครามใหญ่เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของกองทัพและแนวคิดทหารนิยมกำลังก่อตัวขึ้นในไทย (โดม สุขวงศ์, 2555, 251; นพดล อินทร์จันทร, 2554, 33)

ต่อมา ศรีกรุงได้สร้าง เลือดชาวนา ขึ้น ได้เข้าฉายที่ศาลาเฉลิมกรุงเมื่อ 2479 เนื้อหาเป็นเรื่องของนายเปรม ปลอดภัย ลูกชาวนาชาวกรุงเก่า ผู้ยากจนที่ถูกกีดกันจากความรักและต้องผจญกับความอยุติธรรมและโชคชะตา แม้นคนรักจะต้องเข้าวิวาห์กับชายอื่นที่บิดาของหล่อนสนับสนุน แต่เธอไม่ยอม แต่เปรมไม่ต้องการให้คนรักอกตัญญูต่อบิดา แต่สุดท้าย เจ้าบ่าวยอมเสียสละให้เธอครองรักกับเปรมในท้ายที่สุด (thaibunterng.fandom.com)

ในปี 2482 ศรีกรุงได้นำ ค่ายบางระจัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนการสร้างจากรัฐบาล ภาพยนตร์นี้มีตัวแสดงทหารและชาวบ้านกว่า 2,000 คน รวมทั้งฝูงช้างและม้าจำนวนมาก เนื้อเรื่องเป็นการต่อสู้ของชาวบ้านไทยกับพม่าอย่างดุเดือด แต่สุดท้าย ชาวบางระจันก็พ่ายแพ้เสียชีวิตกันหมดอย่างสมเกียรติ (จำเริญลักษณ์, 195)

จอมพล ป. แถวหลัง คนที่ 2 จากซ้าย และเหล่าสมาชิกคณะราษฎรคนสำคัญถ่ายภาพกับ มานิตและเภา วสุวัต เจ้าของบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง (2478)

ท่ามกลางบรรยากาศสังคมไทยก่อนสงคราม รัฐบาลให้ความสำคัญกับภาพยนตร์มากขึ้น และในเวลาต่อมา รัฐบาลตั้งกองภาพยนตร์ทหารอากาศขึ้น ( 2483) มีจุดประสงค์เพื่อผลิตภาพยนตร์ ประชาสัมพันธ์กิจการของรัฐบาล อาจกล่าวได้ว่า ภาพยนตร์ไทยในช่วงนี้ เริ่มเห็นกระแสภาพยนตร์ปลุกใจให้รักชาติ การปลุกขวัญให้บากบั่นสร้างตนให้มั่นคง ให้ผู้คนต่อสู้กับโชคชะตา

ในช่วงกลางปี 2484 ไม่นานก่อนสงครามระเบิดขึ้นในปลายปีนั้น ปรากฏภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก อำนวยการสร้างโดยนายปรีดี พนมยงค์ เป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ มีเค้าโครงเรื่องมาจากสงครามยุทธหัตถีในประวัติศาสตร์ไทย เป็นการนำเสนอแนวคิดระหว่างสงครามกับสันติภาพ โดยเล่าเรื่องระหว่างพระเจ้าจักราแห่งอโธยา ผู้เป็นธรรมราชากับพระเจ้าหงสา ผู้เป็นทรราช พระเจ้าจักราจำต้องเข้าต่อสู้แต่มิได้ต้องการพิชิตสงคราม แต่ต้องการสันติภาพ โดยมีทิดเขียวใส่เสียงพากย์ ได้เข้าฉายเฉลิมกรุง เฉลิมบุรี เฉลิมราษฎร์ เมื่อ 4 เมษายน 2484 และฉายพร้อมกันที่นิวยอร์ก และสิงคโปร์ (จำเริญลักษณ์, 201; fapot.or.th)

เมื่อสงครามระเบิดขึ้นแล้ว ในช่วงต้นยังพอมีภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ดและค่ายภาพยนตร์ต่างๆ เข้ามาฉายในไทยอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อสงครามทวีความรุนแรงขึ้นและมีการตัดเส้นทางการคมนาคมอย่างเข้มงวด ทำให้ไทยไม่สามารถสั่งซื้อภาพยนตร์จากโลกตะวันตกได้ ด้วยเหตุนี้ ความบันเทิงประเภทภาพยนตร์ในสังคมไทยในยามนั้นจึงซบเซา เนื่องจากขาดภาพยนตร์ตะวันตกใหม่ๆ (จำเริญลักษณ์, 201; ลาวัณย์ โชตามระ, 2527 : 165)

ช่วงต้นสงคราม ราวปี 2485 จอมพล ป. มอบหมายให้กองถ่ายภาพยนตร์ทหารอากาศผลิตภาพยนตร์สนองนโยบายรักชาติถึง 3 เรื่อง ได้แก่ “บ้านไร่นาเรา” “บินกลางคืน” และ “สงครามเขตหลัง” ภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องนี้ต่างมีลักษณะในการโน้มน้าวจิตใจคน และปลุกจิตสำนึกทางด้านการเมืองอย่างแนบเนียน กล่าวได้ว่า จอมพล ป.ประสงค์ใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อเผยแพร่นโยบายของรัฐบาลต่อสังคม (นพดล อินทร์จันทร, 2554, 33)

โปสเตอร์เลือดทหารไทย (2478) และค่ายบางระจัน (2482) เครดิตภาพ : thaibunterng.fandom.com

ชมภาพยนตร์ท่ามกลางเสียงหวอ

ในครั้งนั้น นักชมภาพยนตร์คนร่วมสมัยบันทึกว่า บางครั้งนั่งดูหนังอยู่ดีๆ ก็มีภาพสไลด์ฉายออกมาว่า “บัดนี้มีสัญญาณภัยทางอากาศ ให้ท่านออกจากโรงภาพยนตร์โดยด่วน กรุณาอย่าแย่งกัน” เมื่อเห็นสไลด์นี้ ผู้ชมทุกคนต่างรีบผุดลุกขึ้น วิ่งหนีแบบตัวใครตัวมัน สุดแต่โชคชะตาว่าใครจะคิดออกว่าที่ใดปลอดภัย และพลันที่ประตูโรงหนังเปิดออก ทุกคนวิ่งพรวดออกไปภายนอก พร้อมกับทุกคนได้ยินเสียงหวอครวญครางสนั่นเมือง (สรศัลย์ แพ่งสภา, 2539, 106)

ในช่วงเวลานั้น ข้าราชการมหาดไทยบันทึกไว้ว่า “ขณะนั้น สงครามมหาเอเชียบูรพาทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น รัฐบาลของท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงได้ดำเนินการในอันที่จะปลุกใจให้คนไทยรักประเทศชาติและปลอบขวัญให้มั่นคง เพราะสินค้าทุกอย่างขาดแคลน รถยนต์ไม่ค่อยมีน้ำมัน ตกกลางคืนมีการพรางไฟมืด หนังละครไม่มี…” (จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา, 2520, 16)

ส่วน จุรี โอศิริ นักร้องสุนทราภรณ์ หวนความทรงจำไว้ว่า บรรยากาศบ้านเมืองครั้งนั้นอยู่ในภาวะคับขัน ผู้คนต่างอพยพหนีการทิ้งระเบิด ทุกบ้านในพระนครล้วนต้องพรางไฟ ทำให้ผู้คนจึงไม่ค่อยมีอารมณ์ออกไปแสวงหาความสำราญบานใจได้ดังเคย (จุรี โอศิริ, 2542, 82)

ในครั้งนั้น เนื้อหาในภาพยนตร์ที่คนไทยได้ชมจึงอยู่ในช่วงแห่งการปลุกเร้ากระแสชาตินิยมและตกอยู่ภายใต้ภยันตรายของการโจมตีทางอากาศจากฝ่ายสัมพันธมิตร

โปสเตอร์เลือดชาวนา (2479) และพระเจ้าช้างเผือก (2484)
นายปรีดี ในฐานะคนเขียนบทและผู้อำนวยการสร้าง ในโรงถ่ายพระเจ้าช้างเผือก
สภาพพระนครภายหลังเครื่องบินอังกฤษโจมตี เมื่อ 8 มกราคม 2485