ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ บุตรตัน |
เผยแพร่ |
ผี “แก่งเสือเต้น” เฮี้ยนจริงๆ แค่ปลุกขึ้นมาจิ๊ดเดียวก็อาละวาดไปทั่วเมือง ผีที่ว่านั่นคือโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ในอุทยานแห่งชาติแม่ยม จังหวัดแพร่ โครงการที่ถกเถียงกันนานเกือบ 5 ทศวรรษในหลายรัฐบาลแต่ไม่มีบทสรุป ปีนี้ฝนตกหนักทางตอนเหนือของลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน น้ำไหลทะลักท่วมจังหวัดแพร่และสุโขทัย ผีตัวนี้ก็ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง
ฝ่ายหนุนให้สร้างเขื่อนมาจากฝั่งรัฐบาลเพื่อไทย มีคุณภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ ทำหน้าที่แทนนายกฯ เป็นหัวหอกให้สัมภาษณ์กับสื่อระหว่างไปดูพื้นที่น้ำท่วม
คุณภูมิธรรมเปิดประเด็นว่า จะเอาเรื่องการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมาแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคเหนือ
“จังหวัดสุโขทัยถึงเวลาต้องคุยกันถึงเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่ผ่านมาสร้างอะไรไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากมีความคิดเห็นที่แตกต่าง 2 ฝ่าย ระหว่างประชาชนประสบภัยพิบัติ ทุกข์ร้อนต้องจมอยู่กับน้ำขังน้ำหลากเป็นเวลานาน แต่มีเรื่องเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น เรื่องนี้ขอให้เป็นประเด็นสาธารณะและคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาอย่างถ่องแท้รอบคอบ”
สิ้นคำสัมภาษณ์ของคุณภูมิธรรมไม่ทันข้ามวัน ก็มีความเห็นสอดรับจาก “ปลอดประสพ สุรัสวดี” ผ่านทางเฟซบุ๊กว่าต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่จังหวัดแพร่
ภูมิหลังคุณปลอดประสพเป็นอดีตอธิบดีกรมป่าไม้ อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอดีตรองนายกฯ ในสมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”
คุณปลอดประสพตั้งหัวเรื่องในเฟซบุ๊กว่า “สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่แพร่เถอะครับ บทเรียน 50 ปี” พร้อมคำอธิบายเหตุผลทำไมต้องสร้าง
“พะเยา น่านและแพร่ ฝน 5 วันมากถึง 500-700 ม.ม. (มิลลิเมตร) หากคำนวณเป็นน้ำท่าอาจจะมากถึง 5,000 ล้านลูกบาศ์กเมตร (ลบ.ม.) น้ำจำนวนนี้ไหลผ่านแม่น้ำยมที่แพร่ด้วยปริมาณถึง 1,700 ลบ.ม.ต่อวินาที สำหรับแพร่ยอมปล่อยให้น้ำกระจายเข้าไปในเมืองและในพื้นที่เกษตร
แต่ครั้นมาถึงสุโขทัย ได้เลือกที่จะสร้างคันดินตามขอบลำน้ำหรือใช้พนังคอนกรีตมาเรียงยาวตามขอบพื้นที่ลุ่มและเกือบไม่เสริมความแข็งแรงใดๆ เลย โดยเฉพาะฐานราก
การทำอย่างนี้ หากน้ำไม่มาก พนังก็พอคุ้มครองประชาชนให้พ้นจากน้ำท่วมได้ แต่เมื่อใดก็ตามน้ำสูงเกินพนังกั้นจะเกิดการล้นเป็นแถบยาวจนควบคุมไม่ได้ ยิ่งหากเป็นทางโค้งน้ำจะเชี่ยวจัดพุ่งกระแทกพนังเกิดรอยแตกใหญ่ เกิดขึ้นหลายสิบแห่งในบริเวณแม่น้ำยมของสุโขทัย
ดังนั้น ต่อไปนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องคิดให้รอบคอบว่า จะเลือกแบบไหน หากเลือกแบบแพร่ น้ำก็จะท่วมกระจายต้องทนเอาสักอาทิตย์หนึ่ง แต่ถ้าเลือกแบบสุโขทัย หากโชคดีก็รอดไป แต่หากโชคร้ายพนังพังซึ่งจะเกิดอย่างฉับพลันอาจจะเกิดอันตรายและความเสียหายกับทรัพย์สินได้มาก
สำหรับสุโขทัยนั้น แน่นอนการผันน้ำ (Detour) โดยใช้ประตูน้ำหาดสะพานจันทร์เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเร่งทำให้แล้วเสร็จตลอดความยาว 30 กิโลเมตรภายในหนึ่งปีนับจากนี้ให้ได้ มิเช่นนั้นเหตุการณ์อย่างปีนี้จะเกิดกับจังหวัดสุโขทัยอีก
แต่สำหรับแพร่ ผมเห็นว่า จำเป็นจะต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่จังหวัดแพร่ เพราะเราปล่อยให้แม่น้ำยมไม่มีเครื่องมือควบคุมไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
มีคนพูดกระทบเชิงเปรียบเทียบว่า การไม่สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นชัยชนะของคนเป็นจำนวนพันของตำบลหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นความพ่ายแพ้ของประชาชนนับล้านในจังหวัดแพร่ สุโขทัย พิจิตร และพิษณุโลก เชื่อผมเถอะ เห็นกับประโยชน์คนส่วนใหญ่ ต้องเอากลับมาพูดกันอย่างจริงจังอีกครั้งแล้ว”
ถัดมาอีก 2 วัน คุณปลอดประสพโพสต์เรื่องแก่งเสือเต้นผ่านเฟซบุ๊กอีกครั้งโดยอ้างว่ามีผู้สนใจมากมายหลายหมื่นคน จึงขอลงรายละเอียดเพิ่ม แยกเป็นข้อๆ ดังนี้
1. ผมเป็นนักเรียนสิ่งแวดล้อมรุ่นแรกๆ ของประเทศ เป็นปลัดกระทรวงฯ เป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สมัยที่เป็นรองนายกฯ สอนหนังสือบรรยายเรื่องสิ่งแวดล้อมเกือบทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทย จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เข้าใจผลกระทบสิ่งแวดล้อมหากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
2. สมัยเป็นอธิบดีกรมป่าไม้และเป็นปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ นานถึง 8 ปี และเป็นผู้ใหญ่กำเนิดกรมอุทยานฯ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รักและหวงแหนป่า ในสมัยผม ประเทศไทยมีป่ามากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ถึง 33 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ
3. มีการพูดเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นมาตั้งแต่ปี 2519 จุดที่จะสร้างมีชื่อว่า บ้านห้วยสัก ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ปัจจุบันอยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่ยม น้ำลึกเฉลี่ย 1.31เมตร น้ำไหลผ่านเฉลี่ย 1,278 ลบ.ม./วินาที แต่ในปีนี้ด้วยพายุฝน น้ำลึกเกือบ 10 เมตร มีน้ำไหลด้วยความเร็ว 1,000-1,500 ลบ.ม./วินาทีตลอดอาทิตย์
ฝน 5-7 วันในช่วงพายุมีฝนรวม 500-600 ม.ม. ก่อให้เกิดมวลน้ำขนาดมหึมาอาจมากถึง 5,000 ล้าน ลบ.ม. มวลน้ำจำนวนนี้แหละที่ไหลลงไปท่วมภาคเหนือตอนล่าง เช่น แพร่และสุโขทัย
4. ในปัจจุบันมีการศึกษาเปรียบเทียบสร้างเขื่อนใหญ่แก่งเสือเต้นบนลำน้ำยม (main stream) พบว่าหากสร้างในลำน้ำสาขา 26 แห่ง ราคาจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวแต่เก็บน้ำได้น้อยลง 1 เท่า ทำให้ใช้เพื่อการป้องกันอุทกภัยไม่ได้
5. สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ทุกอย่างไม่ว่าสนามบิน ท่าเทียบเรือ ถนนหรือทางรถไฟล้วนกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น แต่หากมันจำเป็นต้องสร้างเพื่อความปลอดภัยของคนส่วนใหญ่เพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนเพื่อพัฒนาประเทศก็ต้องทำ เพียงแต่ทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด คุ้มค่าที่สุด ชาติไหนในโลกก็ทำทั้งนั้นแหละครับ
6. การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นต้องเสียพื้นที่ป่าประมาณแสนไร่ เราคงต้องยอม แต่สามารถเรียกคืนได้ เช่น หยุดเรื่องที่คิดจะเฉือนอุทยานทับลาน 2 แสนไร่ ก็ทดแทนกันได้แล้ว หรืออนุญาตให้เอกชนปลูกป่าเศรษฐกิจในเขตป่าสงวนที่เสื่อมโทรม มีมากกว่า 5 ล้านไร่ก็จะได้กำไรเสียด้วยซ้ำ
“ผมเกิดมา 80 ปี ประเทศไทยควรเจริญกว่านี้ ที่ไม่เจริญเพราะเอาชนะคะคานกัน ไม่มองประโยชน์ของประเทศและประชาชนส่วนใหญ่ กลุ่มเอ็นจีโอและชาวสะเอียบ ผมเชื่อว่าท่านรักส่วนรวมและมีความรู้ควรหันกลับมาพูดคุยกันเถอะเพื่อลูกหลานในอนาคต”
ส่วนคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คนที่หนุนให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมานานแล้ว วันนี้คุณสมศักดิ์ออกมาหนุนอีกเพราะเชื่อว่ามีความเหมาะสมในการผลิตไฟฟ้าเพราะมีความสูงกว่า 60 เมตร เมื่อตกลงมามีแรงผลิตไฟฟ้าได้มาก นำไฟฟ้าไปขายก็แบ่งเงินให้คนในพื้นที่ได้
คุณสมศักดิ์ให้ความเห็นสนับสนุนเสร็จก็เหน็บฝ่ายต่อต้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นว่า “ใจแคบ” ถ้าใจแคบแบบนี้ก็แก้ปัญหาไม่ได้
ฝ่ายคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นออกมาแสดงความเห็นโต้แย้งในทันที มีทั้งจากนักวิชาการ กลุ่มเอ็นจีโอและชาวบ้านในตำบลสะเอียบ
อาจารย์ “สิตางศุ์ พิลัยหล้า” จากภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลเป็นคนแรกๆ หลังมีการปลุกผีสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นว่า ต่อให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น น้ำก็ท่วมสุโขทัยอยู่ดี เพราะตำแหน่งเขื่อนที่จะสร้างเป็นน้ำที่ลงมาสุโขทัยแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
อาจารย์สิตางศุ์อธิบายว่า ปริมาณน้ำท่า ลุ่มน้ำยมมีปริมาณน้ำท่าประมาณ 4,143 ล้าน ลบ.ม. ถ้าสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นในพื้นที่จังหวัดแพร่ ซึ่งจุน้ำได้ประมาณ 1,175 ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ำยมจากจังหวัดพะเยา จนถึงจังหวัดพิจิตร มีลำน้ำสาขา 19 ลำน้ำ ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เพียงพอ ทำให้น้ำท่วมพื้นที่ท้ายน้ำอยู่ดี
เช่นเดียวกับ คุณภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
คุณภาณุเดชมองว่า การสร้างเขื่อนอย่างเดียวไม่น่าจะใช่คำตอบ ควรบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ให้มีความเหมาะสมจะดีกว่า หากสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่าจะทำให้ป่าหายไป ปัจจุบันพื้นที่ป่าในประเทศไทยเหลือน้อยมาก การสร้างเขื่อนหรือกิจกรรมอื่นที่จะทำให้พื้นที่ป่าหายไปมากขึ้นในทุกๆ ปี
“การนำข้อมูลการสูญเสียพื้นที่ป่ามาประเมินประกอบการพิจารณาสร้างเขื่อนด้วย จะทำให้ตระหนักได้ว่าสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดน้ำท่วม คือการไม่มีป่าไม้ในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร” คุณภาณุเดชให้ความเห็น
เป็นความเห็นสอดคล้องกับชาวตำบลสะเอียบ ซึ่งเป็นจุดที่วางแผนจะก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ชาวบ้านในตำบลนี้เห็นว่าการสร้างเขื่อนไม่ใช่ทางออกของปัญหาและยังทำลายป่าสักทองนับหมื่นไร่ ส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น
ชาวสะเอียบพึงพอใจกับแนวคิด “สะเอียบโมเดล” บริหารจัดการน้ำยมด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เพราะเห็นว่าไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชุมชน
สะเอียบโมเดล เป็นความร่วมมือระหว่างชุมชนกับกรมชลประทานเพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 6 แห่ง ปัจจุบันวางแผนก่อสร้าง 2 โครงการเป็นอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น 2 และอ่างเก็บน้ำห้วยเป้าจะแล้วเสร็จปลายปีนี้
ทั้ง 2 โครงการจะกักเก็บน้ำได้ราวๆ 21 ล้าน ลบ.ม. ช่วยพื้นที่เพาะปลูกได้ประมาณ 1 หมื่นไร่ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของตำบลสะเอียบและรักษาสมดุลนิเวศท้ายน้ำ ระบายน้ำในฤดูแล้งลงลำน้ำเดิม
“ณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ ซึ่งอดีตเคยเป็นแกนนำคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ยอมรับว่าสะเอียบโมเดลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากที่ชาวบ้านเคยขัดแย้งกับกรมชลฯ มาเป็นความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งน้ำช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างได้ผล ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดภัยแล้ง
ถ้าเอาแนวคิดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นกับแนวคิดสะเอียบโมเดลมาเทียบกัน จะเห็นได้ว่าสะเอียบโมเดลเป็นสายกลางมีความละมุนละม่อนทั้งการแก้ปัญหาภัยแล้งน้ำท่วมการดำรงอยู่ของชุมชนและยังดำรงความผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์
อีกทั้งการไม่เอาเขื่อนกำลังเป็นเทรนด์ของโลกวันนี้ เพราะบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งยุโรปและสหรัฐพากันทุบทิ้งไม่น้อยกว่า 1,400 เขื่อนเพื่อฟื้นคืนกลับสู่ธรรมชาติ
ฉบับหน้ามีรายละเอียดทำไมโลกจึงทุบเขื่อนทิ้ง •
สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022