ตร.ล้างบาง ‘ส่วยสติ๊กเกอร์’ รวบชุด ฉก.กรมทางหลวง เรียกเงิน-แลกบรรทุกเกิน ขยายผลสอบเส้นทางเงิน

พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผบช.ก.แถลงผลปฎิบัติการล้างบางspot check

ปัญหาข้าราชการคอร์รัปชั่นอยู่คู่กับสังคมไทยมานาน ข่าวการจับกุมเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับสินบนมีให้เห็นอยู่เป็นระยะ ล่าสุด ตำรวจสอบสวนกลาง ผนึกกำลังกับ ป.ป.ช.และ ป.ป.ท. ลุยล้างบางข้าราชการกรมทางหลวงรีด ‘ส่วยสติ๊กเกอร์’ ได้ตัวการเป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจ spot check ที่มีหน้าที่จับกุมรถบรรทุกเกิน

 

จับ จนท.ทางหลวงรีดส่วยรถบรรทุก

ปฏิบัติการ “ล้างบาง spot check” ครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) พ.ต.อ.สิทธิพร กะสิ ผกก.2 ปปป. นายจักรกฤษณ์ ตันเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายสุขสันต์ ประสาระเอ ผอ.สืบสวนและกิจการพิเศษ ป.ป.ช. พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผอ.กองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และ พ.ต.ท.สราวุธ คำเหลือง ผอ.กองอำนวยการต่อต้านการทุจริต ป.ป.ท. นำกำลังเจ้าหน้าที่เปิดปฏิบัติการทลายเครือข่ายเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับส่วยรถบรรทุก โดยเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 11 จุดในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ชัยภูมิ จ.เพชรบูรณ์ จ.นครปฐม จ.ชลบุรี จ.เชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร

นำไปสู่การจับกุมนายนพดล แสนงาย อายุ 57 ปี นายช่างเครื่องกลอาวุโส หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักอุบลราชธานีขาออกและเป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจ สปอตเช็ก ของกรมทางหลวง นายอเนก คำโฉม อายุ 59 ปี นายช่างเครื่องกลชำนาญงาน หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักด่านขุนทดขาเข้านครราชสีมา และนายธงชัย เต็มฟอม อายุ 38 ปี พลเรือนทำหน้าที่เป็นหน้าเสื่อ ในข้อหา “เป็นเจ้าพนักงานร่วมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” พร้อมเชิญนายประทิน โพธิ์ชัยรัตน์ อายุ 39 ปี เจ้าของบัญชีธนาคารที่รับโอนเงินมารับทราบข้อกล่าวหาด้วยเช่นเดียวกัน

ที่มาที่ไปของปฏิบัติการครั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อกลางปี 2566 มีกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกร้องเรียนว่าถูกกลุ่มเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงร่วมกับพลเรือนเรียกเก็บส่วยรถเครนและรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ต่อมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบและแก้ไข

ตรวจหาหลักฐานการทุจริต

พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. จึงสั่งการ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.ประสงค์ ผบก.ปปป. ประสานข้อมูลร่วมกับ บก.ปอท. เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท.เร่งสืบสวนตรวจสอบข้อเท็จจริง

จากการสืบสวนสอบสวนทราบว่า กลุ่มผู้ต้องหาเป็นเจ้าหน้าที่สำนักควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ เป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจสปอตเช็ก ของกรมทางหลวง มีหน้าที่สืบสวนจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินที่วิ่งบนทางหลวง แต่กลับใช้อำนาจหน้าที่จากการเรียกเก็บเงินส่วยรายเดือนจากผู้ประกอบการเพื่อแลกกับการไม่จับกุมดำเนินคดี โดยมีนายธงชัยซึ่งเป็นพลเรือนทำหน้าที่เข้าไปเจรจาเรียกรับเงิน

หากผู้ประกอบการรายใดไม่ทำตามข้อเรียกร้องจะถูกกวดขันจับกุมอย่างหนักจนกระทบต่อกิจการ ทำเช่นนี้มานานหลายปี มีผู้ประกอบการตกเป็นเหยื่อกว่า 30 รายทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง แต่ละรายต้องจ่ายส่วยรายเดือนตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสนบาท เงินส่วยหมุนเวียนเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท เงินที่ได้มาจะถูกโอนเข้าบัญชีม้าที่เปิดโดยนายประทิน ก่อนโอนถ่ายไปยังกลุ่มเจ้าหน้าที่หัวหน้าขบวนการตามลำดับ

เจ้าหน้าที่สืบหารวบรวมพยานหลักฐานและสอบปากคำพยานบุคคลต่างๆ กว่า 30 คน รวมไปถึงข้อมูลบัญชีธนาคารผู้รับส่วย บัญชีม้า บัญชีผู้จ่ายส่วย ภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิด ธนาคาร กล้องโทรศัพท์มือถือของพยาน จากนั้นขออำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3 ออกหมายจับจนนำมาสู่การจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 3 คนที่ จ.ชัยภูมิ และ จ.เพชรบูรณ์ ก่อนควบคุมตัวมาตรวจค้นที่ห้องทำงานด่านบางปะอิน และด่านวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

ผู้ต้องหานำค้นหาหลักฐาน

เส้นทางเงินส่วยเชื่อมโยง 4 ผู้ต้องหา

ต่อมาเวลา 15.30 น. นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม และโฆษกกระทรวงคมนาคม พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และนายจิระพงศ์ เทพพิทักษ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง พร้อมด้วย พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป. พ.ต.อ.ธณัชชนม์ เก่งกสิกิจ ผกก.3 บก.ปปป. นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. นายจักรกฤช ตันเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการ

พล.ต.ต.จรูญเกียรติกล่าวว่า การแข่งขันทางธุรกิจทำให้เกิดส่วยสติ๊กเกอร์ขึ้นมา ตนมองว่าปัญหาเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ หากเจ้าหน้าที่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ก็จะส่งผลกระทบกับประชาชน และสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติ สำหรับเงินหมุนเวียนที่พบของกลุ่มผู้ต้องหาประมาณ 200 ล้านบาท ภายใน 4 ปี หลังจากนี้จะขยายผลต่อไป หากพบใครเกี่ยวข้องก็จะดำเนินคดีให้หมด นอกจากเงินผ่านบัญชียังพบว่ามีเงินสดจำนวนมากซึ่งไม่สามารถระบุจำนวนได้ชัดเจน โดยคาดว่าหลังจากนี้จะมีผู้ต้องหาเพิ่ม และเชื่อว่ามีตัวการใหญ่ในกรมทางหลวงอยู่เบื้องหลัง ยืนยันว่าไม่มีมวยล้มต้มคนดูอย่างแน่นอน

ด้าน พล.ต.ต.ประสงค์กล่าวว่า จากการตรวจสอบเงินหมุนเวียนในบัญชีของผู้ต้องหา จำนวน 200 ล้านบาท เป็นเพียงเงินขาเข้าบัญชีที่มาจากผู้ประกอบการรถบรรทุกทางภาคอีสานประมาณ 200 ราย ซึ่งโอนผ่านบัญชีม้าของนายประทิน ก่อนจะแปลงเป็นเงินสดออกจากบัญชีซึ่งต้องขยายผลต่อว่ามีการส่งต่อไปให้ใครบ้าง ซึ่งในตอนนี้มีผู้เสียหายที่ให้ข้อมูลกับตำรวจแล้วประมาณ 50 ราย แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการอีกหลายรายที่ไม่ได้เข้ามาให้ข้อมูลเนื่องจากกังวลว่าจะถูกดำเนินคดีไปด้วย เพราะเจ้าตัวยินยอมจ่ายให้เจ้าหน้าที่เอง

คุมตัวผู้ต้องหาสอบปากคำ

ด้านนายจักรกฤชกล่าวว่า ยอมรับว่าจากการตรวจสอบการชั่งน้ำหนักรถบรรทุกในระบบของกรมทางหลวง มีความหละหลวมเป็นอย่างมากเนื่องจากไม่สามารถตอบสอบได้ว่าจะมีมาตรการติดตามรถบรรทุกที่น้ำหนักเกินได้อย่างไร นอกจากนี้ ชุดเฉพาะกิจ Spot check บางชุด ก็ไม่ได้มีการรายงานผลการปฏิบัติการอย่างเป็นทางการ ลักษณะของการปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทำงานกันเอง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทางหลวงมีจำนวนน้อย ในด่านชั่ง 1 ด่าน มีเพียงเจ้าหน้าที่ทางหลวงแค่ 1 คน ที่เหลือเป็นเพียงลูกจ้างที่ปฏิบัติงานตามด่านชั่งน้ำหนักเท่านั้น

ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตรวจพบบัญชีม้าของผู้ต้องหากลุ่มนี้ ที่เปิดในชื่อของนายประทิน สำหรับใช้รับโอนเงินจากผู้ประกอบการนั้น พบว่าบัญชีดังกล่าวถูกเปิดมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 จนถึงเดือนมิถุนายน 2566 ระยะเวลาประมาณ 10 เดือน มีเงินโอนเข้าบัญชีดังกล่าว ทั้งการรับโอนและฝากเงินสดเข้าตู้เอทีเอ็ม รวมแล้วกว่า 6,265,631 บาท

ขณะที่การตรวจสอบเส้นทางการเงินบัญชีธนาคารของนายธงชัย หรือบอย ซึ่งเป็นหน้าเสื่อ พบว่าตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มีกระแสการเงินหมุนเวียนเข้าออกรวมแล้วกว่า 126,460,745 บาท ในจำนวนนี้มีการโอนไปยังบัญชีธนาคารส่วนตัวของนายนพดล หัวหน้าชุด จำนวน 31 ครั้ง รวมเป็นเงิน 3,161,100 บาท แต่จากแนวทางสืบสวนพบว่าวิธีการผ่องถ่ายเงินส่วย ส่วนใหญ่จะใช้วิธีถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มแล้วนำไปส่งมอบตามจุดนัดหมาย ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายผลตรวจสอบในส่วนนี้เพิ่มเติมด้วย

ส่วนบัญชีธนาคารส่วนตัวของนายนพดล จำนวน 1 บัญชี ที่ใช้รับโอนเงินจากนายธงชัย พบว่าตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน มีผู้โอนเงินหรือฝากเงินสดเข้ามา 13,237,672 บาท เมื่อตรวจสอบรายละเอียดปลีกย่อยของผู้ฝากเงินเข้ามา ยังพบว่ามีการรับโอนเงินมาจากบัญชีธนาคารของนายเอนก หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักด่านขุนทด-ขาเข้า เข้ามายังบัญชีธนาคารของนายนพดล ตั้งแต่ปี 2563-2566 รวมเป็นเงิน 5,526,500 บาท ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นเงินส่วยรถบรรทุกเช่นเดียวกัน

จากการตรวจพบความเชื่อมโยงดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ขยายผลตรวจสอบเส้นทางการเงินของนายเอนก จนพบหลักฐานสำคัญ ว่ามีการรับโอนเงินจากผู้ประกอบการรถบรรทุกโดยตรงในลักษณะรายเดือน ตกเดือนละตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท เฉพาะปี 2563-2566 มีเงินฝากเข้าบัญชีและโอนเงินเข้ามาบัญชีของนายเอนก ประมาณ 11,465,976 บาท จึงเป็นหลักฐานที่เชื่อมโยงตัวละครทั้งหมดเข้าด้วยกันจนเห็นภาพโครงข่ายส่วยดังกล่าวจนนำมาสู่การจับกุมในครั้งนี้

ต่อมา พ.ต.อ.ธณัชชนน์ เก่งกสิกิจ ผกก.3 บก.ปปป. เผยว่า ผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ให้การรับสารภาพ รวมทั้งให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี หลังสอบปากคำเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปปป. จึงอนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ยื่นขอประกันปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้เงินสดคนละ 3 แสนบาท จากนี้ผู้บังคับบัญชาได้สั่งการให้ขยายผลหาผู้กระทำผิดต่อไป

จะเป็น “ส่วยสติ๊กเกอร์” หรือสารพัดส่วยที่มีอยู่ในสังคม ล้วนมีต้นตอมาจากปัญหาการคอร์รัปชั่นของข้าราชการ หากไม่จัดการปัญหาที่ต้นตอก็ไม่มีวันหมดไปจากสังคม