ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | Agora |
ผู้เขียน | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์ |
เผยแพร่ |
Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
www.facebook.com/bintokrit
แนวคิดของ ‘โธมัส ฮ็อบส์’ ว่าด้วยความมั่นคงแห่งรัฐ
ข่าวใหญ่ที่สุดในรอบสัปดาห์นี้ไม่น่าจะมีข่าวใดใหญ่กว่าข่าวการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง 1 ตามข่าว “โปรดเกล้าฯ แล้ว ครม. แพทองธาร ชินวัตร 1 ตามโผเป๊ะ บิ๊กอ้วน กลาโหม เด็กบิ๊กตู่ นั่ง รมช.” ทางลิงก์ https://www.matichon.co.th/politics/news_4772502 ซึ่งหลังจากนี้ก็จะมีการแถลงนโยบายต่างๆ ตามมา ตลอดจนเกิดการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของรัฐไปสู่ภาคปฏิบัติต่อไป
สำหรับเราทุกคนที่ลืมตาเกิดมาโดยมีรัฐและรัฐบาลอยู่ในชีวิตประจำวันแล้ว ย่อมเกิดความเคยชินและเห็นเป็นเรื่องปกติ กระทั่งยากจะจินตนาการว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรหากไม่มีรัฐดำรงอยู่ สภาพการณ์เช่นนั้นเป็นไปได้หรือไม่ และหากเลือกได้เราควรมีรัฐอยู่หรือเปล่า
อย่างไรก็ตาม คำถามที่โดยทั่วไปแล้วไม่ค่อยมีใครคิดเหล่านี้กลับเป็นประเด็นถกเถียงซึ่งมีมาช้านานแล้ว
ผู้ที่ตั้งคำถามดังกล่าวเป็นคนแรกๆ และนำเสนอแนวคิดมาอธิบายเรื่องราวนี้อย่างเป็นระบบก็คือ “โธมัส ฮ็อบส์” (Thomas Hobbes) นักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษในยุคต้นสมัยใหม่
ฮ็อบส์อาศัยการทดลองทางความคิดขึ้นมาโดยจินตนาการว่าหากไม่มีรัฐอยู่เลยสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์จะเป็นเช่นใด
เขาคิดว่าเมื่อนั้นชีวิตของทุกคนจะตกอยู่ในอันตรายเนื่องจากไม่มีหลักประกันความปลอดภัย
ในสภาพการณ์ดังกล่าวไม่ว่าเป็นคนแข็งแรงหรืออ่อนแอก็มีโอกาสถูกทำร้ายและล้มตายได้ทั้งนั้น เพราะไม่มีอำนาจใดคอยคุ้มครองดูแลอยู่
ฮ็อบส์เรียกสภาวะเช่นนั้นว่า “สภาวะธรรมชาติ” (State of Nature) อันเป็นสภาพที่ทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน แต่ความเสมอภาคนี้คือความเสมอภาคที่ใครก็ฆ่าใครได้ ไม่ว่าเป็นใครก็อาจตายได้ไม่ต่างกัน เนื่องจากทุกคนล้วนมีเหตุผล รักตัวกลัวตาย มีผลประโยชน์ที่ต้องการ มีอาหารที่ต้องกิน
ดังนั้น ต่อให้ไม่อยากทำร้ายใคร ท้ายที่สุดสถานการณ์ก็บีบบังคับให้จำเป็นต้องชิงลงมือก่อนเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง
ฮ็อบส์กล่าวถึงแนวคิดนี้เอาไว้ในหนังสือ Leviathan บทที่ 13 “ว่าด้วยเงื่อนไขตามธรรมชาติของมนุษยชาติเกี่ยวกับความสุขและความทุกข์ของพวกเขา” (Of the Natural Condition of Mankind as Concerning their Felicity and Misery) ว่าแม้กระทั่งคนอ่อนแอที่สุดก็ยังมีกำลังเพียงพอที่จะฆ่าคนที่แข็งแรงที่สุดได้ด้วยอาวุธลับหรือด้วยการสมรู้ร่วมคิดกันกับคนอื่นที่ตกอยู่ในอันตรายเหมือนกัน (For as to the strength of body, the weakest has strength enough to kill the strongest, either by secret machination or by confederacy with others that are in the same danger with himself.)
นอกจากนั้นคำมั่นสัญญาใดๆ ก็ไม่มีหลักประกันเลย เพราะไม่มีอำนาจตรงกลางที่คอยจัดการให้แต่ละคนต้องรักษาสัญญาและปฏิบัติตามข้อตกลงทั้งหลาย การที่ไม่มีรัฐอยู่จึงทำให้มนุษย์ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าสะพรึงกลัว ท่ามกลาง “สงครามระหว่างทุกคน” (war of all against all)
เช่นนี้ จึงจำเป็นต้องสถาปนาอำนาจกลางขึ้นเพื่อจัดระเบียบสังคมให้เกิดความมั่นคงปลอดภัย
สภาวะธรรมชาติในทัศนะของฮ็อบส์ไม่ต่างกับ “สภาวะสงคราม” (State of war) ที่ซึ่งเป็นเวลาแห่งสงครามที่ทุกคนเป็นศัตรูกับทุกคน (a time of war, where every man is enemy to every man)
เขากล่าวว่า
“ไม่มีอุตสาหกรรม ไม่มีวัฒนธรรม ไม่มีการเดินทางสำรวจ ไม่มีสินค้าโภคภัณฑ์นำเข้าทางทะเล ไม่มีอาคารใหญ่โต ไม่มีเครื่องมือขนย้าย ไม่มีความรู้ทางโลก ไม่มีความเข้าใจเรื่องเวลา ไม่มีศิลปะ ไม่มีวรรณคดี ไม่มีสังคม ที่เลวร้ายที่สุดก็คือความหวาดกลัวอย่างต่อเนื่อง ภยันตรายของความตายจากการใช้ความรุนแรง ชีวิตของมนุษย์ซึ่งโดดเดี่ยว ยากไร้ น่ารังเกียจ โหดร้าย และแสนสั้น”
(there is no place for industry, because the fruit there of is uncertain: and consequently no culture of the earth; no navigation, nor use of the commodities that may be imported by sea; no commodious building; no instruments of moving and removing such things as require much force; no knowledge of the face of the earth; no account of time; no arts; no letters; no society; and which is worst of all, continual fear, and danger of violent death; and the life of man, solitary, poor, nasty, brutish, and short.)
เมื่อมองเช่นนี้ รัฐจึงไม่ใช่สิ่งที่มีมาแต่เดิม ทว่า ถูกสร้างขึ้นจากมือของมนุษย์ ด้วยการที่มนุษย์ตกลงปลงใจทำให้เกิดขึ้นเพื่อธำรงรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง หรือกล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือรัฐถือกำเนิดขึ้นจาก “พันธสัญญาทางสังคม” (Social Contract) ที่มนุษย์กำหนดขึ้นร่วมกันนั่นเอง
เมื่อรัฐเป็นสิ่งสร้างจากมนุษย์ ดังนั้น มนุษย์ที่อยู่ภายใต้รัฐจึงต้องภักดีและยอมรับการใช้อำนาจของรัฐ เคารพ และปฏิบัติตามอำนาจของรัฐ
ด้วยเหตุนี้เสถียรภาพของรัฐและรัฐบาลจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในแนวคิดแบบฮ็อบส์
แน่นอนว่าเมื่อมองเช่นนี้รัฐจึงเป็นทั้งสิ่งจำเป็นและเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งมนุษย์มิอาจต่อต้านทำลายได้
ในทางประวัติศาสตร์ ฮ็อบส์เกิดในปี ค.ศ.1588 เสียชีวิตในปี 1679
ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นเป็นช่วงเวลาที่อังกฤษเกิด “สงครามกลางเมือง” (English Civil War) ขึ้นระหว่าง ค.ศ.1642-1651
ด้วยเหตุนี้ความคิดของเขาจึงเป็นผลจากสภาวะสงครามรอบตัวที่ประจักษ์แจ้งแก่สายตาของเขาด้วย กล่าวอีกทางหนึ่งก็คือ แนวคิดของฮ็อบส์เป็นปฏิกิริยาที่มีต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และน่าจะมีธงในใจที่ต้องการแสดงทัศนะต่อสภาพสังคมในช่วงเวลาดังกล่าว โดยพยายามนำเสนอเหตุผลสนับสนุนอำนาจรัฐจากการถูกต่อต้านสั่นคลอน
แนวคิดของฮ็อบส์ปรากฏอยู่ในงานชิ้นสำคัญของเขาเรื่อง “Leviathan” ซึ่งเผยแพร่ในปี ค.ศ.1651 อันเป็นปีสุดท้ายของสงครามกลางเมืองอังกฤษพอดี
คำว่า Leviathan มาจากคำเรียกขานสัตว์ประหลาดยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเลตามตำนานปรัมปราที่ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลของพวกฮิบรูหรือชาวยิว
ฮ็อบส์ใช้คำนี้เพื่อสื่อนัยถึงอำนาจรัฐอันยิ่งใหญ่ที่มีกำลังอำนาจเหนือคนแต่ละคน
ด้วยอำนาจเช่นนี้เท่านั้นจึงสามารถสถาปนาความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ได้
แต่ในทางปรัชญาการเมืองของฮ็อบส์ ยักษ์ใหญ่ไม่ใช่สัตว์ประหลาด หากแต่คือ “อำนาจอธิปัตย์” (absolute sovereign) ที่เด็ดขาดและสูงสุดเหนือปัจเจกบุคคล
แม้แนวคิดของฮ็อบส์จะโด่นเด่นเป็นตำนานในวิชาปรัชญาการเมืองก็ตาม
แต่ในสังคมการเมืองสมัยปัจจุบันดูเหมือนว่าบทสรุปของเขาที่สนับสนุนความมั่นคงของอำนาจรัฐจะไม่ได้รับการยอมรับมากนัก
เมื่อใดก็ตามที่ไม่มีรัฐบาลอยู่ก็เป็นไปได้ว่าสภาวะเช่นนั้นอาจเลวร้ายอย่างที่ฮ็อบส์คิด
ทว่า นั่นไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะต่อต้านอำนาจรัฐไม่ได้ ยิ่งรัฐบาลเกิดขึ้นจากประชาชนก็ยิ่งต้องถูกควบคุมจำกัดอำนาจโดยประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจนี้มาแต่เดิมด้วยซ้ำ
แนวคิดของฮ็อบส์ถูกท้าทายโดยนักปรัชญาที่ตามมาภายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักคิดในสายเสรีนิยม (Liberalism) อย่างเช่น จอห์น ล็อก (John Locke) และฌอง ฌาคส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) ซึ่งเริ่มต้นแนวคิดด้วยการใช้คำอธิบายด้วยสภาวะธรรมชาติเช่นกัน แต่ต่างกันอย่างมากในรายละเอียด
และนำมาสู่บทสรุปที่แตกต่างกับฮ็อบส์แบบคนละโลก
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022