ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับมติชนสุดสัปดาห์ โดยมองว่าตอนนี้ ชนชั้นนำ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มชนชั้นนำทางจารีตกลุ่มนี้ยังคงสืบทอดต่อมา มีความเปลี่ยนแปลงภายในอยู่ระดับหนึ่ง แต่ว่าการเกาะกลุ่มยังถือว่าเหนียวแน่น
กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่เรียกว่ากลุ่มข้าราชการและระบบราชการ กลุ่มนี้ก็สืบทอดประเพณีตัวเองมามาก แต่กลุ่มนี้ถูกสั่นสะเทือนในช่วงหลัง
กลุ่มที่ 3 คือชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ กลุ่มนี้ก็เปลี่ยนพอสมควร พยายามจะแสดงตัวเองออกมา
ทั้ง 3 กลุ่มนี้มีความเปลี่ยนแปลงแต่ไม่มากนัก แต่ที่น่าตกใจผมมองว่าทั้ง 3 กลุ่มเข้ามาผนวกกันแน่นขึ้นในช่วงรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา กลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาลประยุทธ์ ทั้งหมดครั้งหนึ่งเคยอยู่ห่าง เคยต่อรอง แต่วันนี้เขาเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกัน หากจะพูดถึงที่สุดผมกำลังคิดว่าเขาสามารถที่จะควบคุมรัฐได้มากกว่าเดิมมาก
ดังนั้น ถามว่ากลุ่มนี้ยังอยู่แต่เปลี่ยนรูปแบบ ผมคิดว่ากลุ่มทุนเรียนรู้ตรงนี้ กรณีทักษิณ ชินวัตร เมื่อเขารู้ว่ามีใครแบ๊กอัพ มีใครยืมมือยืมทักษิณมาใช้ เจ้าสัวก็ยินดีที่จะเข้าไปแสดงความคารวะ เพราะเขาคือเนื้อเดียวกัน
เราจะเห็นว่าสถานภาพของทักษิณกับชนชั้นนำตอนนี้เป็นพันธมิตรกัน แต่ว่าชนชั้นนำเองก็ไม่ได้ไว้ใจทักษิณ 100% แต่ยืมมือทักษิณมาเพื่อต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงอันเกิดขึ้นจากอนาคตใหม่
แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามทักษิณแสดงท่าทีบิดเบี้ยว เช่น แอบหลิ่วตาให้กับพรรคประชาชน ทักษิณก็จะถูกเขี่ยทิ้ง
เงื่อนไขที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องจับมือกันทำให้บรรยากาศมันเลยยิ่งทำให้อึมครึมมากขึ้น
ถามว่า วิธีคิดแบบทักษิณ ยังมีพลังหรือไม่ อาจารย์อรรถจักร์บอกว่า ผมคิดว่าตรงนี้คือจุดที่คุณทักษิณน่าจะพลาด ถ้าเราดูสิ่งที่ทักษิณแสดงวิสัยทัศน์ในดินเนอร์ทอล์ก ยังคงมองชาวบ้านแบบเดิม คือมองชาวบ้านว่าฉันจะเป็นคนจัดการให้ ซึ่งวันนี้ 17 ปีที่ผ่านมาและผ่านกระบวนการอีกเยอะแยะ ผมคิดว่าชาวบ้านเริ่มไม่ได้คิดแค่เศรษฐกิจเฉพาะหน้าแบบเดิมแล้ว ชาวบ้านคิดถึงความยุติธรรมในชีวิตประจำวันมากขึ้น
ดังนั้น ผมคิดว่าแบรนด์ทักษิณไม่มีพลังเหมือนเดิมเพราะมองตัวชาวบ้านผิด แม้ดิจิทัลวอลเล็ตต่อให้ทำสำเร็จ ความนิยมก็ได้เพิ่มไม่มากนัก
ผมคิดถ้ากลับไปอ่านหนังสือ วัฒนธรรมคนอย่างทักษิณ จะเห็นว่าทักษิณยังคิดเหมือนเดิม ยังแสดงท่าทีหน้าตาเหมือนกับที่เคยแสดงเมื่อปี 2546 ทักษิณคือกลุ่มที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใช้คำว่าอำนาจนิยม
ผมเสนอเพิ่มคำว่าอำนาจนิยมที่เป็นประชานิยม คือใช้อำนาจเพื่อจะขยับประชานิยมโดยหวังว่าตัวเองจะได้คะแนน
เรื่องที่คุณทักษิณต้องรับฟัง ผมว่าคือเรื่องความชอบธรรมอันแรก ซึ่งอันนี้ก็ยากเพราะคุณทักษิณไม่ได้แยแสความชอบธรรมเชิงทางการเมืองมานานแล้ว
ครั้งหนึ่งคุณทักษิณสามารถสร้างความนิยมได้และข้ามความชอบธรรมได้ เช่น กรณีฆ่าตัดตอนและอีกหลายกรณี ตอนนั้นความนิยมมันกลายเป็นตัวกดทับ แต่วันนี้ไม่ใช่ ถามว่ายากไหมที่จะกลับมาสร้างความชอบธรรม ยากมาก แต่คุณเล่นการเมืองแบบนี้ยิ่งทำให้ไร้ความชอบธรรมมากขึ้น
ถามว่าพรรคเพื่อไทยต้องคิดเรื่องความชอบธรรมให้มากขึ้นกว่าเดิม ย้ำก่อนนะต้องคิด ทำได้ไหม ผมว่ายากเพราะคุณเริ่มต้นมาแบบนี้
ประการที่สอง ต้องมองสังคมให้มันเปลี่ยนจากเงื่อนไขเศรษฐกิจ สมมุติถ้าคุณคิดแค่ว่าคนจนก็สร้างบ้านให้ไม่พอนะครับ คุณต้องคิดถึงว่าโอกาสที่คุณบอกว่าพรรคของเราให้โอกาสทางเศรษฐกิจ แต่อีกพรรคให้คนเท่ากันคุณต้องคิดถึงโอกาสทางการเมืองที่จะทำให้เขาเป็นพลเมืองอย่างเต็มรูปแบบ นี่คือจุดอ่อนของของวิธีคิดแบบคุณทักษิณ ซึ่งมันก็ฝังอยู่ในพรรคเพื่อไทย
และประการสุดท้ายก็น่ากังวล ซึ่งก็ยากมากๆ คือการจัดดุลยภาพระหว่างนายกฯ อุ๊งอิ๊งกับทักษิณ วันนี้เป็นภาพที่คนไทยรู้สึกอึดอัดมาก จะแปรเปลี่ยนเป็นความไม่พอใจ คับข้องใจและถูกปฏิเสธสูงขึ้น
มองไปอีกขั้วคือ พรรคประชาชน ในความเห็นของอาจารย์อรรถจักร์มองว่าถูกโดดเดี่ยวหรือไม่
ซึ่งอาจารย์อรรถจักร์กล่าวว่า อันที่จริงแล้วผมคิดว่า “ประชาชน” นำพรรคประชาชน สิ่งที่อนาคตใหม่ ก้าวไกล หรือพรรคประชาชนทำคือไปหยิบประเด็นต่างๆ ของชาวบ้านและก็ยกระดับขึ้นมาเป็นนโยบาย เขาไม่คิดเอง 100% จากสุญญากาศ เพียงแต่ว่าคนพวกนี้ฉลาดพอที่จะยกระดับประเด็นต่างๆ ของชาวบ้านขึ้นมาเป็นเรื่องนโยบาย
สถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ชนชั้นนำอยากจะหยุดความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ เพราะทันทีที่พรรคประชาชนหยิบประเด็นขึ้นมามันไปสอดคล้องกัน ทำให้ความคิดชาวบ้านตกตะกอนชัดขึ้น (crystallize) ท้ายที่สุดแล้วในการเลือกตั้งครั้งต่อไป สมมุติว่ามันก้ำกึ่ง เพื่อไทยกับประชาชนอาจจะขึ้นมาใกล้ๆ กัน แล้วก็จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ อาจจะมีการทุบทั้งสองพรรคลงไป หรือถ้าใกล้ๆ กันเพื่อไทยกับประชาชนเกิดกะพริบตาให้กัน จะเชื่อมกัน คุณก็จะถูกทุบกลางเวทีแน่ๆ
การบ้านพรรคประชาชน ที่ต้องทำคือ ต้องทำงาน 3 ขา ด้านหนึ่ง ที่พรรคทำงานเด่นมาได้ตลอดก็คือการเมืองในสภา การตรวจสอบและอื่นๆ ซึ่งทำให้ได้ความนิยม
ขณะเดียวกันอีก 2 ขาที่พรรคประชาชนจะต้องขยาย คือ การเมืองภาคประชาชน พรรคจำเป็นที่จะต้องคิดถึงการทำงานการเมืองที่ทำให้กลุ่มที่เราเรียกรวมๆ ว่ากลุ่มประชาสังคมจะเข้มแข็งขึ้น เพราะวันนี้กลุ่มประชาสังคมยังต่ออะไรกับพรรคการเมืองได้น้อยมาก ผมคิดว่าจะต้องคิดถึงการทำงานภาคประชาชนให้มากขึ้น
ขาที่ 3 คือ การเมืองพื้นที่ ผมคิดว่าการปฏิเสธที่จะลงไปช่วยเหลือชาวบ้านในกรณีน้ำท่วม มันหักพร้าด้วยเข่าเกินไป ผมคิดว่ามันมีวิธีอื่นในการทำงานกับพี่น้องชาวบ้าน ดังนั้น 3 ขาของพรรคประชาชนจะต้องทำงานให้มากขึ้น สาขาพรรคจะต้องทำงานหลายมิติมากขึ้น เพราะแม้ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นพรรคประชาชนหรือกลุ่มสีส้มจะได้คะแนนเพิ่มขึ้น ซึ่งดีกว่าเดิมแบบไม่น่าเชื่อ
แต่ไม่พอ และฐานตรงนี้เองมันจะเป็นฐานที่จะเปลี่ยนจากคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งคุณชนะทุกพื้นที่เข้ามาเชื่อมกับคะแนนพื้นที่ ถ้าคุณทำ 3 ขา
การที่ “สีส้ม” ยังไม่ประสบความสำเร็จในสนามท้องถิ่น อาจารย์อรรถจักร์มองว่า ผมคิดว่าชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เวลาเขาสัมพันธ์กับนักการเมืองบ้านใหญ่ เขาสัมพันธ์ในเชิงไม่เป็นทางการ ในเชิงขอเงิน เอาเงินมาทำบุญและอื่นๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือหน้าที่ของการเมืองท้องถิ่น แต่นักการเมืองท้องถิ่นต้องตอบสนองตรงนี้
ดังนั้น เวลาชาวบ้านเลือก คือเลือกคนที่สามารถช่วยเหลือในชีวิตประจำวันได้ และที่สำคัญสามารถใช้อำนาจบ้านใหญ่ในการเข้าไปต่อรองกับรัฐ เช่น สมมุติถูกจับไฮโลก็วิ่งหาบ้านใหญ่เพื่อแจ้งผู้กำกับให้หน่อย
ดังนั้น การเลือกตั้งท้องถิ่น สายสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านยังคงต้องเลือกบ้านใหญ่ แต่จุดเปลี่ยนที่น่าสนใจมันเริ่มเป็นความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์มากขึ้น แปลว่าอะไร แปลว่าแม้ว่าบ้านใหญ่จะสร้างสายสัมพันธ์ แต่บ้านใหญ่ก็รู้อยู่แก่ใจว่าถึงจุดหนึ่งคุณต้องซื้อ
ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในท้องถิ่นมันจะเริ่มมีพลังน้อยลง รวมทั้งถ้าหากชาวบ้านสามารถเข้าถึงอำนาจรัฐได้ง่ายขึ้นและสามารถเข้าถึงอำนาจรัฐได้มากขึ้น ในกรณีเช่นอาศัยสื่อ ดังนั้น ความสัมพันธ์กับบ้านใหญ่ก็จะมีความหมายลดลงไปเรื่อยๆ ในอนาคตถ้าบ้านใหญ่จะจรรโลงก็ต้องซื้อมากขึ้นหรือขยายการอุปถัมภ์ที่หลากมิติมากขึ้น ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล
การโดนท้าทายสิ่งที่เรียกว่าบ้านใหญ่โดยกระแสสีส้มทำให้คนเริ่มสำนึกถึงตัวเองในฐานะปัจเจกชนพลเมืองคนหนึ่ง และในความเป็นพลเมืองเขาเรียกร้องต่อรองกับรัฐโดยตรง เขาเปลี่ยนจากชาวบ้านเป็นพลเมืองมากขึ้น ดังนั้น บ้านใหญ่ก็อยู่ยากขึ้น อาจจะอยู่ได้อีกพักหนึ่งด้วยเส้นสายกลไกเก่าหรือภูมิปัญญาของการอุปถัมภ์
เราถึงได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น ผมขอยืมคำอาจารย์สมชาย “ชนชั้นนำเปลือยกายล่อนจ้อน” เราไม่เคยคิดว่าเราจะเห็นชนชั้นนำจะเปลือยกายล่อนจ้อน จนกระทั่งเรารู้ว่ามันสกปรก มันไม่มีขื่อมีแป ใช้แต่อำนาจ
ซึ่งครั้งหนึ่งผมคิดว่าชนชั้นนำไทยจะมีหิริโอตตัปปะ วันนี้เราเห็นแล้วมันไม่มีเลย และเป็นการทำให้สังคมไทยเห็นว่าเราศรัทธา เราคิดจะแนะนำแบบนี้ไม่ได้ มันต้องคิดกันใหม่
ติดตามคลิปได้ที่
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022