ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ตั้งแต่เป็นพรรคอนาคตใหม่ ต่อมาเป็นพรรคก้าวไกล กระทั่งถูกยุบกลายร่างเป็น “พรรคประชาชน” ใช้เวลาไม่กี่ปีก็สร้างประวัติศาสตร์สำเร็จ กลายเป็นพรรคคะแนนอันดับ 1 ในประเทศ
แต่ที่ไม่สำเร็จเลย คือสนามการเมืองท้องถิ่น โดยเฉพาะสนาม “นายก อบจ.” ยังไม่สามารถสร้างประวัติศาสตร์ได้ แพ้แล้วแพ้อีกในเกมมาต่อเนื่อง หลายปี
ตอกย้ำล่าสุดในผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี ที่บ้านใหญ่ “วิวัฒน์ นิติกาญจนา” รักษาเก้าอี้ได้ด้วยคะแนน 2.4 แสนคะแนน ส่วนนายชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์ ได้ 1.75 แสนคะแนน ห่างกัน 6 หมื่นกว่าคะแนน เรียกได้ว่า นำห่าง ชนะขาด
แต่ก็น่าสนใจที่แกนนำพรรคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าพรรค ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หรือผู้ช่วยหาเสียงอย่าง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายชัยธวัช ตุลาธน ทุกคน ออกมายอมรับความพ่ายแพ้ตั้งแต่คะแนนยังนับไม่เสร็จ ขอโอกาสสู้ต่อในสมัยหน้า
เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งประวัติศาสตร์ คนทั้งประเทศต่างจับตามอง เพราะเป็นครั้งแรกหลังการถูกยุบพรรคของนักการเมืองพรรคก้าวไกล สู่การต่อสู้ในนามพรรคประชาชนครั้งแรก
เรียกได้ว่าพรรคประชาชนระดมสรรพกำลังแทบทั้งพรรค กรูกันไปช่วยหาเสียง แต่สุดท้ายก็เอาบ้านใหญ่ไม่อยู่
เป็นอันว่าการเมืองระบบพรรค ก็ยังไม่สามารถเอาชนะระบบบ้านใหญ่ได้
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มองได้ 2 มุม
ในมุมของความพ่ายแพ้ ก็ต้องยอมรับความจริงในความไม่พร้อมของพรรคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวผู้สมัครล่าช้า ทำให้มีเวลาหาเสียงแบบจริงจังได้น้อยเพียงเดือนเศษ
แต่กลับได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนสูง เนื่องจากเป็นการลงในนามพรรคประชาชน แกนนำของพรรคเองมีความเชื่อว่าคนจะเปลี่ยนความโกรธแค้นจากที่เพิ่งโดนยุบพรรคเป็นคะแนนการเมือง
ปัญหาจากความไม่พร้อมในกระบวนการคัดเลือกผู้สมัคร ส่งผลมายังตัวบุคคล เนื่องจากตัวกำนันตุ้ย อดีตนายก อบจ.คนเดิม ทำพื้นที่มานานกว่า ย่อมเป็นที่รู้จักมักคุ้นมากกว่า ขณะที่ผู้ท้าชิงจากพรรคประชาชน ไม่โดดเด่นเท่า อาศัยกรอบนโยบายของพรรคเป็นหลักในการหาเสียง
ปัญหาก็คือการทำนโยบายแพ็กเกจแบบพรรค อาจพบปัญหาไม่ตรงเป้า ไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริงในพื้นที่
ขณะที่การต่อสู้ในสนามความคิด หลายครั้งก็พ่ายแพ้ให้กับ “การเมืองกระแส” ที่ตนเองเคยคิดว่าได้เปรียบ
การที่ผู้สมัครพรรคประชาชน พูดวิจารณ์ผลงานของนายกคนเดิม ถูกนำไปเสนอบิดเบือนว่าเป็น “การด้อยค่า” สิ่งดีๆ ที่เคยมีมา
เช่น การพูดเรื่องโรงเรียนห่วย และ รพ.สต. ทำได้แค่ล้างแผลสด ก็ถูกนำไปขยายความในแง่ลบ ว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยาม จนกลายเป็นพาดหัวข่าวของสื่อระดับประเทศที่เป็นฝ่ายตรงข้ามพรรคประชาชน จนกลายเป็น “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” แม้พยายามชี้แจงแก้ต่าง ก็ไม่ทัน
แน่นอนว่า สนามการเมืองท้องถิ่นจากนี้ไม่ง่าย หรือพูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือพรรคประชาชนคงจะต้องแพ้อีกหลายครั้ง ปัญหาจึงอยู่ที่การยอมรับ และเรียนรู้อย่างไร
ในเบื้องต้น บทเรียนที่พรรคประชาชนต้องสรุป หากจะส่งผู้สมัครสู้ศึกสนามท้องถิ่น อาทิ
1. ต้องสร้างระบบคัดเลือกผู้สมัครที่ดี ลดการพึ่งหรือเกาะกระแส อย่าคิดว่าเคยได้คะแนนปาตี้ลิสต์สูงแล้วจะชนะ
2. ต้องมีนโยบายที่ตอบโจทย์ท้องถิ่นจริงๆ ตามปัญหาแต่ละพื้นที่ด้วย นโยบายสำเร็จรูปจากพรรค อาจไม่ได้ผลเสมอไป
3. ต้องสะสมประสบการณ์การเมือง ต้องมีความสามารถในงาน “ท้องถิ่น” เพื่อเข้าใจว่าท้องถิ่นแต่ละที่มีปัญหาเฉพาะ ต้องสร้างเครือข่าย ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่เพื่อรู้จักปัญหามากขึ้น นำมาสู่การออกแบบนโยบายที่โดดเด่น ลดการพึ่งกระแสพรรคในระดับประเทศ
4. การขับเคลื่อนการเมืองด้วยอารมณ์ ความโกรธ มีทั้งข้อดีข้อเสีย เพราะหากมาในจังหวะที่ผิด จะกลายเป็น “ทรัพยากรข้อมูลอย่างดีให้กับปฏิบัติการจิตวิทยาของฝ่ายตรงข้าม” ใช้แก้เกม
อย่าคิดว่า ยุทธศาสตร์การเมืองแบบ “มีเราไม่มีลุง” จะได้ผลเสมอไป
แต่ในมุมบวกต่อพรรคประชาชนก็มี
แม้จะลงไปช่วยกันทั้งพรรคและพ่ายแพ้ แต่พรรคประชาชนก็ได้คะแนนมาถึง 1.75 แสนคะแนน พูดอย่างตรงไปตรงมาก็ต้องบอกว่าเป็นความพ่ายแพ้ที่มีความน่าพึงพอใจอยู่
หลายคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับ ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรีหลายสมัย ที่พุ่งเป้าพูดเรื่อง 200 บาท ในการสัมภาษณ์สื่อหลายช่อง แต่ประเด็นหนึ่งที่ปารีณามองเห็นคือการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้มี “ชัยชนะ” ทางการเมืองของพรรคประชาชนอยู่
แน่นอนว่าในทาง “ตัวเลข” พรรคประชาชนแพ้ แต่ที่ชนะเพราะการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากของฐานเสียงของพรรค จากการเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งก่อน และจากการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2566
หากมองในสนามการต่อสู้เชิงอุดมการณ์และพื้นที่ทางการเมือง พรรคประชาชนไม่ได้แพ้ขาดลอยเลย กลับกัน ชนะในทางการเมืองต่างหาก
ต้องไม่ลืมด้วยว่ากำนันตุ้ยได้รับแรงหนุนจากการเมืองเครือข่ายอุปถัมภ์บ้านใหญ่ทุกหลังในจังหวัดราชบุรี ที่ร่วมมือกันสู้กับพรรคประชาชนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
แม้พรรคประชาชน (อดีตพรรคก้าวไกล) ไม่เคยได้ ส.ส.เขตใน จ.ราชบุรีเลย แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้ศึกเลือกตั้งใหญ่ 2570 น่าสนใจอย่างยิ่ง
ที่น่าจับตาจากนี้คือสนามเลือกตั้งซ่อมพิษณุโลก เขต 1 แทนนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง
ความกดดันเกิดขึ้นกับพรรคประชาชนทันที หลังเพิ่งแพ้ที่สนามราชบุรี สนามเลือกตั้งซ่อม ส.ส.พิษณุโลกจึงเป็นเหมือนไฟต์บังคับ “เดิมพันครั้งสำคัญ” ว่าต้องชนะให้ได้
แต่การเลือกตั้งที่พิษณุโลกน่าสนใจ เพราะเป็นการเมือง “คนละโจทย์” กับเลือกตั้งที่ จ.ราชบุรี
รอบนี้เป็นการต่อสู้กันตรงไปตรงมาของพรรคฝ่ายค้านที่ส่ง “ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์” จากพรรคประชาชน สู้กับ “จเด็ศ จันทรา” ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ที่พรรคฝ่ายรัฐบาลทุกพรรคช่วยกันหลีกทางและให้สนับสนุนหลังอยู่
สนามพิษณุโลกจึงสะท้อนการต่อสู้ใน “มิติการเมือง” มากกว่า
แน่นอน แม้พรรคประชาชนจะได้เปรียบเนื่องจากเคยชนะการเลือกตั้งเขตนี้มาแล้ว 2 ครั้ง แต่การสู้กับพรรครัฐบาลก็มีความท้าทาย
เพราะโดยปกติการเลือกตั้งซ่อม ฝ่ายค้านมักแพ้ให้กับฝ่ายรัฐบาล คนไม่รู้จะเลือกฝ่ายค้านไปทำไม อย่างน้อยฝ่ายรัฐบาลยังมีโอกาสใกล้ชิดอำนาจและงบประมาณมากกว่า
นี่จึงเป็นความท้าทายของพรรคประชาชนว่าจะรักษาเก้าอี้อย่างไร?
และก็อย่าลืมว่าการเลือกตั้งซ่อมไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า-เลือกตั้งนอกเขต ซึ่งมองกันว่าสร้างคะแนนเสียงเป็นกอบเป็นกำให้พรรคก้าวไกล (พรรคประชาชนปัจุบัน)
รวมถึงฐานเสียงพื้นที่ซึ่งจำนวนไม่น้อยเคยเลือกพรรคขั้วอำนาจเก่าอย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ เลือกตั้งซ่อมคราวนี้ก็อาจจะหันมาเลือกพรรคเพื่อไทย เนื่องจากมองว่าพรรคประชาชน “เป็นภัยคุกคามมากกว่า”
ขณะที่ฝั่งพรรคเพื่อไทยก็ท้าทายเช่นกัน แม้พรรคร่วมอื่นหลีกทางให้ ผนึกกำลังกันโค่นพรรคประชาชน แต่หาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไม่ไปช่วยหาเสียง ผู้สมัครในพื้นที่ก็คงเหนื่อย
อย่าลืมว่าถ้าเพื่อไทยแพ้ จะมีผลยิ่งตอกย้ำปัญหาคะแนนนิยมของเพื่อไทยมีปัญหา แบบที่โพลมหาวิทยาลัยดังสำรวจมา
แถมคราวพรรคประชาชนแพ้ที่ราชบุรี ทั้งๆ ที่ไม่ได้ส่งผู้สมัครไปลงแข่งกับเขา แต่ ส.ส.เพื่อไทยบางคน รวมถึงกองเชียร์ระดับนำ ยังกล้าแซวพรรคประชาชนออกสื่อโซเชียลซะยับ
นายอดิศร เพียงเกษ ถึงกับร่ายกลอนออกไปในทางเยาะเย้ยด้วยซ้ำ แซวว่าเป็น “ส้มจืด” ไร้คนศรัทธา
คราวนี้หากแพ้ที่พิษณุโลกแบบไม่สู้ให้สมศักดิ์ศรีรัฐบาล มีหวังถูกนินทายับ
15 กันยายนนี้นี่แหละ เดิมพันของจริง ทดสอบ “อนาคตพรรคประชาชน”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022