ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
เป็นที่แน่นอนแล้วว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะต้องไปทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาแบบไม่เต็มใจ หลังจากพรรคเพื่อไทยมีมติเขี่ยพรรคพลังประชารัฐออกจากการร่วมรัฐบาล “แพทองธาร 1”
ใครจะไปเชื่อว่าลุงป้อมที่เคยเรืองอำนาจถึงขีดสุดในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วงปี 2557-2566 ทว่า วันนี้กลับถูกทอดทิ้ง และทำให้ลูกพรรคพลังประชารัฐในปีกของตนเองชวดเก้าอี้รัฐมนตรีกันหมด
ตอนนี้ชื่อ พล.อ.ประวิตร จึงกลายเป็นแค่ลุงแก่ๆ ที่ไร้ซึ่งบารมี และนับวันจะยิ่งโรยราหมดสภาพพี่ใหญ่ของนายทหารกลุ่ม “บูรพาพยัคฆ์” แห่ง 3 ป. ไปโดยปริยาย
ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ลุงป้อมผ่านประสบการณ์บนเส้นทางการเมืองมาอย่างโชกโชน ย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 สมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังครองอำนาจอยู่ เขาได้รับแต่งตั้งจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เป็นประธานคณะที่ปรึกษา คสช., รองหัวหน้า คสช., กรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการเมือง
และหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ในเดือนสิงหาคม ปี 2557 ลุงป้อมก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.กลาโหม และกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในรัฐบาล “ประยุทธ์ 1”
อีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญคือลุงป้อมยังเป็นตัวหลักในการชงและคัดเลือกบุคคลให้มาดำรงตำแหน่งใน 5 องค์กรตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 หรือที่เรียกกันว่า “แม่น้ำ 5 สาย”
ประกอบด้วย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ คสช.
ยิ่งไปกว่านั้น พล.อ.ประวิตร ยังเป็นประธานกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.ชุดเฉพาะกาล 250 คนด้วย เรียกได้ว่าบารมีทางการเมืองเบ่งบานสุดสุด
เพราะ สนช. และ ส.ว.ชุดเฉพาะกาลที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีบทบาทในการให้ความเห็นชอบบุคคลไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ดังนั้น จึงสามารถคุมเกมต่างๆ ให้เป็นไปตามที่ฝ่ายตนเองต้องการได้
เชื่อว่าหลายคนคงได้เห็นพลังพิเศษกันมาแล้วกับคดีถือครองนาฬิกาหรู 22 เรือน และแหวน 12 วง ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติ 5 ต่อ 3 ไม่ชี้มูลความผิด พล.อ.ประวิตร ฐานแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จ
สรุปว่านาฬิกายืมเพื่อนมา ส่วนแหวนเป็นของแม่!
ในช่วงปี 2565 ลุงป้อมก้าวขึ้นมาอยู่ในจุดสูงสุดทางการเมืองกับตำแหน่งรักษาการนายกฯ หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ถูกฝ่ายค้านยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ หรือคดีนายกฯ 8 ปี
ระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกสั่งพักงาน พล.อ.ประวิตร ก็ได้ทำหน้าที่รักษาการนายกฯ โดยมีอำนาจเต็มเสมือนเป็นนายกฯ ทุกประการ ซึ่งในช่วงนั้นลุงป้อมก็ดูกระฉับกระเฉงมากขึ้น มีใจบันดาลแรงอย่างเต็มเปี่ยม
อย่างไรก็ตาม จากที่เคยเป็นผู้มากบารมี แต่ในระยะหลังๆ อำนาจของลุงป้อมก็เริ่มถดถอยลง ซึ่งเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ มีขึ้นก็ต้องมีลง ยิ่งไปกว่านั้นความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง 2 ป. “ประยุทธ์-ประวิตร” ก็เริ่มสั่นคลอนไปด้วย
ในการเลือกตั้งปี 2566 พล.อ.ประวิตร กับ พล.อ.ประยุทธ์ สวมคอนเวิร์สแยกทางกันเดิน ลุงป้อมอยู่กับพลังประชารัฐ ส่วนลุงตู่ถือธงนำพรรครวมไทยสร้างชาติ
ทว่า 2 ลุงกลับไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง พลังประชารัฐร่วงไปเป็นพรรคอันดับ 4 ของสภา ได้ ส.ส. 40 คน ส่วนรวมไทยสร้างชาติ ได้ ส.ส.เข้าสภา 36 คน
แม้ว่าทั้ง 2 ลุงจะแพ้การเลือกตั้ง แต่วาสนาและบารมีของคนเราไม่เท่ากัน ลุงตู่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี ส่วนลุงป้อมยังคงเป็นหน้าพรรคพลังประชารัฐเหมือนเดิม
เมื่อทุกอย่างเริ่มไม่เป็นอย่างที่ใจหวัง แถมลุงป้อมก็ยังไม่มีบทบาทใดๆ ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ด้วย ทำได้แค่เก็บความรู้สึกไว้ในใจ
จนนำมาสู่เกมล้มรัฐบาลเศรษฐา ซึ่งมีการมองว่าเพราะลิ่วล้อคนใกล้ชิดเป่าหูทุกวัน หวังดันลุงป้อมนั่งเก้าอี้นายกฯ ให้ได้ ซึ่งก่อนที่ 250 ส.ว.ชุดเฉพาะกาลจะหมดวาระลงในเดือนพฤษภาคม 2567
เพราะจู่ๆ ก็เกิดปฏิบัติการของ 40 ส.ว.ที่ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน กรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ
ผลคือเศรษฐาต้องหลุดจากเก้าอี้นายกฯ ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐาสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ทำให้ต้องเลือกประมุขฝ่ายบริหารกันใหม่ กระทั่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบให้ แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ด้วยคะแนนเสียง 319 ต่อ 145 เสียง
แม้ว่าจะมีคนใกล้ชิดออกมาปฏิเสธข่าวว่าลุงป้อมไม่ได้อยู่เบื้องหลัง 40 ส.ว.เดินเกมโค่นล้มรัฐบาล และถ้าไปถามลุงป้อม ก็จะตอบแค่ว่าไม่รู้ๆ
แต่คนที่ออกมาส่งสัญญาณว่ารู้เบื้องหลังเกมลับลวงพรางทั้งหมดคือ ทักษิณ ชินวัตร เพราะเคยเปิดประเด็นว่าคนในบ้านป่าฯ สร้างความวุ่นวายทางการเมือง จากนั้นนายใหญ่ก็เริ่มเปิดฉากเช็กบิลบิ๊กบราเธอร์แบบทบต้นทบดอก
อีกทั้งยังเกิดรอยร้าวระหว่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ พล.อ.ประวิตร ในช่วงจัดโผ ครม. หลังไม่ปรากฏชื่อ ร.อ.ธรรมนัส เป็นรัฐมนตรีในโควต้าของพลังประชารัฐ เสมือนเป็นการหักหน้ากัน เพราะกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส แสดงจุดยืนชัดเจนว่าสนับสนุนเพื่อไทย
เมื่อไม่ให้เกียรติกันแบบนี้ พรรคพลังประชารัฐจึงแตกเป็นเสี่ยงๆ กลุ่มหนึ่งปกครองโดยพลเอก ส่วนอีกกลุ่มมีร้อยเอกเป็นแกนนำ
“ที่ผ่านมา 6 ปี ผมรับใช้คนคนหนึ่ง พรรคหนึ่งมามากพอสมควร ถึงเวลาที่ผมต้องเดินออกมา โดยไม่ทะเลาะกับใคร ผมไม่จำเป็นต้องคุยกับ พล.อ.ประวิตร ไม่รู้จะคุยทำไม” ร.อ.ธรรมนัสกล่าว
ตามมาด้วยถ้อยแถลงของนายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาระบุว่า ส.ส.หลายๆ ท่านมีความไม่สบายใจถึงพฤติกรรมของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ตั้งแต่ตั้งรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ก็ไม่ได้มาร่วมโหวต ประกอบกับหลายสิ่งหลายอย่าง การยื่นถอดถอนนายกฯ เศรษฐา คนที่อยู่เบื้องหลังทุกคนทราบกันดี
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้พรรคเพื่อไทยขับพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร พ้นจากรัฐบาลแพทองธาร และตบรางวัลตอบแทนกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ด้วยการมอบเก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้กับนายอัครา น้องชายของ ร.อ.ธรรมนัส
ล่าสุดในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วาระที่ 2 ร.อ.ธรรมนัส ยกก๊วน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ นั่งโซนเก้าอี้เพื่อไทย พร้อมส่งหัวใจให้สื่อ หลังประกาศอิสรภาพจาก พล.อ.ประวิตร สะท้อนภาพความแตกหัก ไปร่วมกับทักษิณ โดยที่ไม่แยแสลุงป้อมอีกต่อไป
พล.อ.ประวิตร จึงตกอยู่ในสภาพหัวเดียวกระเทียมลีบ ไร้ขุนพลฝีมือดีคอยเป็นไม้เป็นมือให้ ที่เหลืออยู่รอบตัวก็มีแค่นักร้อง จ้องเล่นงาน 2 พ่อลูกตระกูลชินวัตร หวังให้พังกันไปข้างหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบนายกฯ แพทองธาร ว่าได้มีหนังสือลาออกจากกรรมการบริษัทต่างๆ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 จริงหรือไม่
เหตุใดจึงจดทะเบียนกรรมการออกในวันที่ 19 สิงหาคม 2567 หลังจากที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมแล้ว และกรณีดังกล่าวจะเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่
นอกจากนี้ ยังมีนักร้องปริศนารายหนึ่งที่ไปยื่นเรื่องขอให้ กกต.ชงเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคเพื่อไทย ในกรณีเดียวกับที่ กกต.เคยยื่นเรื่องให้ยุบพรรคก้าวไกล เพราะมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคเพื่อไทยยินยอมให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกชี้นำกิจกรรมของพรรค ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง
ดูเหมือนว่าเส้นทางข้างหน้าของนายกฯ แพทองธาร อาจจะเต็มไปด้วยขวากหนามก็จริง เพราะมีแต่คนจ้องเล่นงาน คอยตัดแข้งตัดขา ดังนั้น ก็ต้องระวังตัวให้ดี แต่ถ้าผ่านไปได้ หนทางต่อไปก็น่าจะสดใส
สวนทางกับฝั่ง พล.อ.ประวิตร ที่กำลังนับถอยหลังสู่วันโรยรา สูงสุดคืนสู่สามัญ และอาจจะปิดฉากชีวิตทางการเมืองหลังจากการเลือกตั้งครั้งต่อไป
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022