ปิยบุตร แสงกนกกุล : ศาลรัฐธรรมนูญ (5)

รัฐธรรมนูญอินเดียมีผลบังคับใช้เมื่อ 26 มกราคม 1950 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ยาวที่สุดในโลก ประกอบด้วย บทบัญญัติ 448 มาตรา (มาตราสุดท้าย คือ มาตรา 395 แต่มีการตราบทบัญญัติเพิ่มเข้าไปอีกหลายมาตรา โดยใช้เลขมาตราเดิมและใส่ตัวอักษร a b c … เพิ่มเข้าไป นับรวมแล้วได้ 448 มาตรา) แบ่งเป็น 25 หมวด (หมวดสุดท้าย คือ หมวด 22 แต่มีการตราบทบัญญัติเพิ่มเข้าไปอีก 3 หมวด โดยใช้เลขหมวดเดิมและใส่ตัวอักษร a b c เพิ่มเข้าไป นับรวมได้ 25 หมวด) มีตารางผนวกแนบท้ายอีก 12 ตาราง มีภาคผนวกรวม 5 รายการ

จนถึงกันยายน 2013 มีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรวม 120 ครั้ง แต่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภารวม 98 ครั้ง

ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของอินเดียกลายเป็น “เดิมพัน” และ “สนามการต่อสู้” ระหว่างรัฐสภาและรัฐบาล กับศาลสูงสุด (Supreme Court)

ปฐมบทของการตอบโต้กันทางอำนาจระหว่างรัฐสภากับศาลสูงสุดในเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เริ่มต้นภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญได้เพียงปีเศษๆ

รัฐบาลในเวลานั้น ภายใต้การนำของ Nehru นายกรัฐมนตรี มีนโยบายเวนคืนที่ดินของเอกชนและโอนกิจการของเอกชนบางประเภทให้เป็นของรัฐ

รัฐสภาได้ตรากฎหมายออกมาจำนวนมากเพื่อการนี้ จึงเกิดข้อถกเถียงกันว่ากฎหมายเหล่านี้ขัดรัฐธรรมนูญซึ่งรับรองกรรมสิทธิ์เอาไว้หรือไม่ ในขณะที่รัฐธรรมนูญอินเดีย มาตรา 13(2) บัญญัติว่า “รัฐไม่อาจตรากฎหมายใดๆ ยกเลิกหรือตัดทอนสิทธิที่รับรองไว้ในหมวดนี้ กฎหมายใดที่ขัดแย้งกับบทบัญญัติดังกล่าวเป็นโมฆะ” ดังนั้น หากเกิดเป็นประเด็นโต้แย้งกันในศาล ศาลก็อาจวินิจฉัยว่ากฎหมายมีผลยกเลิกหรือตัดทอนสิทธิ และวินิจฉัยให้กฎหมายสิ้นผลไปได้ตามมาตรา 13(2)

นายกรัฐมนตรี Nehru จึงตัดสินใจผลักดันให้รัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งแรกในปี 1951 เพื่อสร้างหลักประกันว่าบรรดากฎหมายหลายฉบับที่รัฐบาลเป็นผู้ผลักดันจะไม่สิ้นผลไปจากการที่ศาลวินิจฉัยว่ากฎหมายเหล่านั้นขัดรัฐธรรมนูญ เพราะละเมิดกรรมสิทธิ์ และขัดหลักความเสมอภาค

ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนั้นได้เพิ่มเติมมาตรา 31 b เพื่อรับรองว่ารัฐบัญญัติและกฎที่กำหนดไว้ใน “ตารางผนวกแนบท้ายที่ 9” (Schedule 9) ไม่อาจถือได้ว่าสิ้นผลและไม่อาจถูกทำให้กลายเป็นสิ้นผลไปด้วยเหตุที่ว่ามีบทบัญญัติที่ยกเลิกหรือตัดทอนสิทธิที่รัฐธรรมนูญหมวด 3 รับรองไว้ โดยในตารางผนวกแนบท้ายที่ 9 มีรายชื่อของกฎหมายรวม 12 ฉบับ

(หลังจากนั้น มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอีกหลายครั้งเพื่อเพิ่มรายการกฎหมายเข้าไปในตารางผนวกแนบท้ายที่ 9 จนถึงปัจจุบัน รวมแล้วมีรายชื่อกฎหมาย 284 ฉบับ)

เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 ประกาศใช้ในวันที่ 18 มิถุนายน 1951 ก็เท่ากับว่า กฎหมาย 12 ฉบับที่กำหนดไว้ในตารางผนวกแนบท้ายที่ 9 นั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปแล้ว ศาลไม่สามารถวินิจฉัยให้กฎหมายเหล่านั้นสิ้นผลไปเพราะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะกระทบสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองได้อีกต่อไป

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งแรกถูกวิจารณ์จากผู้พิพากษาศาลสูงสุด นาย Gajendragadkar ว่ารัฐสภาใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อทำลายตัวรัฐธรรมนูญเอง รัฐธรรมนูญไม่ควรถูกทำลายลงโดยการตรากฎหมายของรัฐสภาที่ขัดแย้งกับสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรอง

ในขณะที่รัฐบาลในเวลานั้นอธิบายว่า เป็นความจำเป็นของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายปฏิรูปที่ดินซึ่งเกิดจากเจตจำนงทางการเมืองของผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน โดยแสดงออกจากการใช้เสียงของสมาชิกรัฐสภามากกว่า 2 ใน 3 ให้ความเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และหากไม่สร้างหลักประกันให้กฎหมายเหล่านี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ นโยบายการปฏิรูปที่ดินก็จะล้มเหลว

บุคคลที่ได้รับผลร้ายจากกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินได้ต่อสู้เป็นคดีในศาลโดยพยายามหาช่องทางในการโต้แย้งว่ากฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินและเวนคืนที่ดินนั้นขัดรัฐธรรมนูญ

ในปี 1951 ศาลสูงสุดในคดี Shankari Prasad Singh Deo v. The Union of India and the State of Bihar ได้วินิจฉัยว่า บทบัญญัติในมาตรา 13 ที่ว่ากฎหมายที่ยกเลิกหรือตัดทอนสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ย่อมสิ้นผลไปนั้น คำว่า “กฎหมาย” ตามมาตรา 13 นั้นไม่รวมถึงกฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ศาลจึงไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยกฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 1 ปี 1951 ว่ายกเลิกหรือตัดทอนสิทธิขั้นพื้นฐานหรือไม่ เพราะไม่ใช่ “กฎหมาย” ตามความในมาตรา 13

เมื่อกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดิน การเกษตร การเวนคืนที่ดินนั้น เป็นกฎหมายที่ถูกบัญญัติอยู่ในตารางผนวกแนบท้ายที่ 9 และมาตรา 31 b รับรองความสมบูรณ์ไว้ ศาลจึงไม่อาจวินิจฉัยให้กฎหมายเหล่านั้นสิ้นผลไปได้

คดีลักษณะนี้ยังคงขึ้นสู่ศาล เพื่อความมั่นใจมากขึ้น รัฐสภาจึงแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งในปี 1955 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 4 โดยกำหนดกรอบการชดใช้ค่าทดแทนให้แก่เอกชนผู้ถูกเวนคืนหรือยึดที่ดินเพื่อไปทำประโยชน์สาธารณะ และเพิ่มรายชื่อกฎหมายเข้าไปในตารางผนวกแนบท้ายที่ 9 อีก

ต่อมา รัฐสภาได้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 17 ในปี 1964 เพื่อเพิ่มรายชื่อกฎหมายเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินและการยึดที่ดินเข้าไปในตารางผนวกแนบท้ายที่ 9 อีกครั้ง เกิดมีคดีขึ้นสู่ศาลสูงสุดในปีเดียวกัน ศาลสูงสุดในคดี Sajjan Singh v. State of Rajasathan วินิจฉัยยืนยันว่าศาลไม่มีอำนาจตรวจสอบกฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 17 ปี 1964 และยอมรับว่าศาลไม่อาจตรวจสอบกฎหมายในตารางผนวกแนบท้ายที่ 9 ซึ่งถูกรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในคดีนี้ มีผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย 2 คนทำความเห็นแย้งว่าศาลมีอำนาจตรวจสอบว่ากฎหมายที่ถูกรับรองในตารางผนวกแนบท้ายที่ 9 นั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

เมื่อเข้าถึงยุครัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Indira Gandhi ศาลสูงสุดของอินเดียได้กลับแนวคำพิพากษาเดิม โดยประกาศให้ศาลมีอำนาจในการตรวจสอบกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เป็นครั้งแรกในคดี Golaknath v. Punjab State ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1967

ในคดีดังกล่าว มีประเด็นแห่งคดีว่ากฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 17 ปี 1964 นั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลสูงสุด โดยมติ 6 ต่อ 5 เห็นว่าศาลมีอำนาจพิจารณาประเด็นดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า “สิทธิขั้นพื้นฐานไม่อาจถูกตัดทอนหรือยกเลิกได้โดยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 368 ของรัฐธรรมนูญ กฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็น “กฎหมาย” ในความหมายของมาตรา 13(2) และเป็นส่วนหนึ่งของหมวด 3 ของรัฐธรรมนูญ”

อย่างไรก็ตาม ศาลในคดีนี้วินิจฉัยว่าอำนาจในการตรวจสอบกฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้เริ่มต้นใช้กับกฎหมายการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งต่อๆ ไปที่เกิดภายหลังคำพิพากษานี้

ดังนั้น ศาลสูงจึงไม่ลงไปพิจารณาว่ากฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 17 ปี 1964 กระทบสิทธิขั้นพื้นฐานในหมวด 3 หรือไม่

จากคดี Golaknath v. Punjab State นี้เอง ศาลสูงสุดของอินเดียได้วางบรรทัดฐานไว้ว่ากฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายประเภทหนึ่ง จึงต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องการตัดทอนหรือยกเลิกสิทธิตามมาตรา 13(2)

ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาว่ากฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตัดทอนหรือยกเลิกสิทธิตามมาตรา 13(2) หรือไม่

กรณีดังกล่าวนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ใน 2 ประการ

ประการแรก คำว่า “กฎหมาย” (law) ที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายที่ตราโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่รวมถึงกฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพราะ ในมาตรา 368 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้ใช้คำว่า law แต่ใช้คำว่า Amendment

คำพิพากษาดังกล่าวส่งผลให้ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญออกจากกัน ทั้งๆ ที่มีกระบวนการตราที่แตกต่างกัน โดยการตรากฎหมายต้องเป็นไปตามกระบวนการที่กำหนดในมาตรา 107-111 ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามกระบวนการที่กำหนดในมาตรา 368

ประการที่สอง จากคำพิพากษาในคดี Golaknath v. Punjab State ส่งผลให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญอินเดียมีสถานะและลำดับศักดิ์ไม่เท่ากัน

กล่าวคือ บทบัญญัติในหมวด 3 ตั้งแต่มาตรา 12-36 มีสถานะและลำดับศักดิ์สูงกว่าบทบัญญัติอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญ และบทบัญญัติในหมวด 3 ไม่อาจถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้เลย