(ไม่ซี…) อุ๊งอิ๊ง มั่นใจ รมต. หลังกรองเข้ม สลับตัว ฝ่าด่านจริยธรรม

จากผลพวงคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ซึ่งลงดาบฟัน “นายเศรษฐา ทวีสิน” พ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170(4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(5)

จากกรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่เคยต้องคำพิพากษาคดีละเมิดอำนาจศาล

ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ หรือ “ครม.อิ๊งค์ 1” ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี วางสเป๊กไว้สูงขึ้น นอกจากต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์การทำงานแล้ว สิ่งสำคัญที่สุด คือคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีต้องเป๊ะ ไม่มีมลทินหรือมีคดีติดตัว และมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรม ต้องเป็นไปตามบรรทัดฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญวางแนวทางไว้ด้วย

ฉะนั้น กว่ารายชื่อ “ครม.อิ๊งค์ 1” จะสะเด็ดน้ำและลงตัวได้นั้น จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบ คัดกรองคุณสมบัติอย่างเข้มข้นที่สุด

โดยปกติการตรวจคุณสมบัติของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จะใช้เวลาเพียง 3-4 วัน หรือไม่เกิน 1 สัปดาห์ก็เรียบร้อยแล้ว

แต่ทว่า ครั้งนี้กลับใช้เวลานานมากกว่า 2 สัปดาห์เลยก็ว่าได้

 

อีกทั้งเพื่อป้องกันปัญหาการถูกตีความ หรือถูกยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญสอยพ้นตำแหน่งภายหลัง จึงจำเป็นต้องตรวจสอบคัดกรองเช็กข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่มีกูรูทางกฎหมายระดับประเทศ ทั้งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 รวมถึงนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี มาช่วยสแกนคุณสมบัติโผ ครม.อีกชั้นหนึ่งด้วย

ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีคณะกรรมการกฤษฎีกามาร่วมตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีก่อนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ

โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงถึงการตรวจสอบคุณสมบัติว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ตั้งประเด็นคำถามเกี่ยวกับลักษณะผู้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี และอยู่ระหว่างดำเนินการฟ้อง จะมีการวินิจฉัยอย่างไร เป็นต้น

ขณะที่ทางกฤษฎีกามีการให้ความเห็นกลับไปตาม 10 ประเด็นที่ถามมา แต่ไม่ได้ตรวจสอบเป็นรายบุคคลและไม่ได้ลงรายละเอียด

“กฤษฎีกามีหน้าที่ให้ความเห็นประกอบกับดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่การตัดสินว่าผิดหรือถูก เป็นอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ หากถูกร้องที่ ป.ป.ช.แล้วเหมารวมว่ามีมลทินก็ไม่แฟร์กับผู้ถูกร้อง เพราะบางเรื่อง ป.ป.ช.ไม่มีการชี้มูล จึงต้องดูรายละเอียดเป็นกรณี” เลขาฯ กฤษฎีการะบุ

 

แต่เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ออกมาเคลื่อนไหวโดยโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ระบุว่า “ข่าวดี! ครม.อิ๊งค์ 1 ตรวจละเอียดยิบ รมต.ต้องสุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่ประพฤติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ข่าวลืออื้ออึงว่า ติดปมตั้ง 11 ทั้งคดีใน ป.ป.ช. อัยการ ศาล ฯลฯ”

ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงข้อห่วงและความกังวลเรื่องของคุณสมบัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะมีการถูกร้องเรียนตามมาภายหลังหรือไม่ โดยนายกรัฐมนตรีโบกมือพร้อมกับบอกว่าไม่ซี (ไม่ซีเรียส)

อย่างไรก็ดี สำหรับรายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 4 กันยายน 2567 ต้องยอมรับว่ารายชื่อไม่ได้ผิดเพี้ยนไปจากโผ ครม.ที่ปรากฏตามหน้าข่าวสื่อมวลชนที่เผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้แต่อย่างใด อีกทั้งส่วนใหญ่เคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน

แต่ทว่า เมื่อ ครม.อิ๊งค์ 1 ได้กำหนดคุณสมบัติเข้มและวางสเป๊กรัฐมนตรีไว้สูงกว่าทุกครั้ง ฉะนั้น จึงปรากฏภาพการสลับตัวของรัฐมนตรีในบางตำแหน่ง

 

เริ่มจากปัญหาความวุ่นวายภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จนนำมาสู่การประกาศแยกทางทางการเมือง เกิดการแตกก๊กแบ่งก๊วน ส.ส.ภายในพรรคออกเป็น 2 ขั้ว ระหว่างขั้ว “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค

กระทั่งพรรคเพื่อไทย (พท.) ประกาศตัดความสัมพันธ์กับพรรคพลังประชารัฐ เขี่ยพ้นออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และดึงพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เข้าร่วมรัฐบาลแทน และให้เก้าอี้รัฐมนตรี 2 ที่นั่ง ซึ่งเป็นโควต้าเดิมของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะที่นายเดชอิศม์ ขาวทอง สามารถฝ่าด่านข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณสมบัติและมาตรฐานจริยธรรม ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ คนสนิทของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนใหม่ ในโควต้าสัดส่วนพรรคกล้าธรรม ขณะที่นายอัครา พรหมเผ่า น้องชายของ ร.อ.ธรรมนัส นั่งเก้าอี้ รมช.เกษตรฯ ตามคาด ส่วน รมช.เกษตรฯ อีก 1 ตำแหน่ง เป็นของนายอิทธิ ศิริลัทธยากร บิดาของนายอรรถกร ศิริลัทธยากร อดีต รมช.เกษตรฯ หนึ่งใน ส.ส.กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส ที่เข้ามาทำหน้าที่สานงานต่อแทน

สำหรับพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ก่อนหน้านี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรค ออกมายืนยันและพูดเสมอว่ารัฐมนตรีโควต้าสัดส่วนของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ขอยึดตามเดิม ไม่มีเปลี่ยนแปลงรายชื่อ

แต่ทว่า นายชาดา ไทยเศรษฐ์ กลับแจ้งขอถอนรายชื่อและส่ง น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ บุตรสาว เข้ามาสานงานต่อในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

ซึ่งการถอนชื่อของนายชาดาครั้งนี้ ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่มีกระแสข่าวว่าสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตีกลับรายชื่อหรือมีปัญหาคุณสมบัติติดขัดข้อกฎหมายแต่อย่างใด

 

นอกจากนี้ ยังมีรัฐมนตรีใหม่ป้ายแดง ที่น่าสนใจ ประกอบด้วย นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ คงต้องจับตาดูว่า “ครม.อิ๊งค์ 1” ซึ่งผ่านด่านหินจากการเช็กสเป๊กและตรวจสอบคุณสมบัติอย่างเข้มข้นรอบคอบและถี่ถ้วน ตามมาตรฐานจริยธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญวางบรรทัดฐานไว้

จะมีใครถูกบรรดา “นักร้อง” เล่นงานยื่นตรวจสอบคุณสมบัติและถูกสอยพ้นตำแหน่งอีกหรือไม่