รัฐบาลแพทองธาร | ปราปต์ บุนปาน

ณ เวลานี้ ต้องนับว่า “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” มีสถานะสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว เพราะมีทั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีครบถ้วนทุกองค์ประกอบ

(ทั้งยังมี “ที่ปรึกษาพิเศษ” หรือ “รัฐมนตรีอาวุโส” นอก ครม. ที่กระตือรือร้นอยากช่วยทำงานเป็นอย่างยิ่ง)

ถ้าถามว่าปัญหาท้าทายใหญ่สุดและเห็นภาพได้ชัดเจนสุดของรัฐบาลชุดนี้คืออะไร?

ใครๆ ก็คงให้คำตอบได้คล้ายคลึงกันว่า “รัฐบาลแพทองธาร” (ต่อเนื่องจาก “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน”) ต้องเข้ามาทำงานฟื้นฟูประเทศไทยที่ “หยุดพัฒนา” หรือ “ถูกแช่แข็งไว้” ยาวนานร่วมทศวรรษ

กระทั่งระบบราชการขยายใหญ่ ฝังรากลึก แต่กลับเคลื่อนตัวลำบาก, ภาคเศรษฐกิจก็ยังหาทางไปต่อในวิถีทางใหม่ๆ หรือรักษาสภาพเดิมเอาไว้ได้ไม่ง่ายนัก ด้วยระบบการผลิตแบบเก่า, ระบบการศึกษาพัฒนาคนไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการแข่งขันในประชาคมโลก

ขณะที่การเมืองก็ไร้เสถียรภาพด้วยกับดักทางรัฐธรรมนูญและกลไกอำนาจอันพันลึกขององค์กรอิสระ

กล่าวอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า ทุกภาคส่วน (ที่ป่วยไข้ไม่แพ้กัน) ข้างต้น ล้วนกำลังต้องการการปฏิรูปครั้งใหญ่โดยถ้วนหน้า และไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเปลี่ยนแปลงได้เลย

รัฐบาลและผู้นำประเทศที่ต้องเข้ามารับภาระหน้าที่ในการ “นำ” กระบวนการปฏิรูปประเทศคราวนี้ จึงต้องมีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว เฉลียวฉลาด และรอบรู้เป็นอย่างสูง

 

ถ้าเรื่องท้าทายข้อแรกของรัฐบาลแพทองธารมีความข้องเกี่ยวกับอนาคตข้างหน้าที่ยังไม่แจ่มชัดนัก เรื่องท้าทายประการที่สองก็อาจเกี่ยวข้องกับวิถีอดีต ซึ่งยังส่งอิทธิพลมาถึงปัจจุบันอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

ดังที่หลายคนทราบกันดีถึงสัจจะที่ว่า “ประวัติศาสตร์” มักไม่เคยเดินทางวนซ้ำรอยเดิม แต่ “ประวัติศาสตร์” ก็เป็นบทเรียน-ข้อคิดเตือนใจ ซึ่งช่วยให้เราหลีกเลี่ยง “ความผิดพลาด” เก่าๆ ได้อยู่เสมอ

วงจรอำนาจทางการเมืองไทยระยะนี้ ทำให้หลายคนย้อนนึกถึงสถานการณ์ช่วงต้นทศวรรษ 2550

ผ่านการเทียบเคียงการพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “เศรษฐา ทวีสิน” เข้ากับกรณีการพ้นตำแหน่งนายกฯ ของ “สมัคร สุนทรเวช”

หากมองในแง่นี้ ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่านายกฯ แพทองธาร จะต้องเผชิญวิบากกรรมหนักหน่วง รุนแรง รวดเร็ว ไม่แพ้อดีตนายกฯ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์”

 

อย่างไรก็ดี มีข้อโต้แย้งที่ฟังขึ้นพอสมควรว่า บริบทต่างๆ ในปลายทศวรรษ 2560 นั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเรื่องราวในครึ่งแรกของทศวรรษ 2550 มากมายนัก

อย่างน้อยเครือข่ายผู้นำกองทัพที่เคยมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้ง “รัฐบาลพลเรือนในค่ายทหาร” และมีความรับผิดชอบต่อปฏิบัติการปราบปรามคนเสื้อแดงช่วงปี 2552-53 ก็ทยอยลงจากหลังเสือไปเกือบหมด

ส่วนคนที่ไม่ยอมลง ก็เหลือเครดิต ความน่าเชื่อถือ และอำนาจน้อยลงทุกที

เช่นเดียวกับบรรดานักการเมืองที่เคยมีภาพลักษณ์เป็น “คนดีฝ่ายประชาธิปไตย” ซึ่งเลือกจะขัดขวางพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ด้วยการร่วมมือกับอำนาจนอกระบบ จนถึงขั้นตัดสินใจลงมือใช้ความรุนแรงต่อประชาชนกลางเมืองหลวง ซึ่งล้วนหมดสิ้นศักดิ์ศรี บารมี (ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น) ไปเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่มวลชนเสื้อสีต่างๆ ก็อ่อนล้ากำลังลงเยอะ และหลงเหลือเป็นเพียงกลุ่มฮาร์ดคอร์/ลัทธิพิธีย่อยๆ ในภาวะที่ผู้นำทางการเมืองของพวกตนต่างหันมาปรองดอง คืนดี ก้าวข้ามความขัดแย้งด้วยกัน

กระนั้นก็ตาม นอกจากความเปลี่ยนแปลงของบรรดาตัวละครแวดล้อม พลังอีกส่วนหนึ่งที่จะผลักดันให้ “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” ก้าวพ้นวงจรอุบาทว์ทางการเมืองไทยได้อย่างเต็มตัว ย่อมหนีไม่พ้น “เจตจำนงอันแน่วแน่เข้มแข็ง” ซึ่งมุ่งหวังอยากเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ ให้กลายเป็นสังคมที่ดีขึ้นสำหรับผู้คนพลเมืองส่วนใหญ่ •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน