‘การปลดปล่อยจิตสำนึกประวัติศาสตร์ชาติจากรัฐ’ (1)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

‘การปลดปล่อยจิตสำนึกประวัติศาสตร์ชาติจากรัฐ’ (1)

 

(ร่างคำบรรยายของผู้เขียนเพื่อเป็นเกียรติแก่ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในโครงการ 60th Anniversary Academic Lecture ณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 30 สิงหาคม 2567)

 

เป็นเหตุบังเอิญอันชวนสะทกสะท้อนใจที่ผมมีกิจกรรมเข้าร่วมอภิปรายและบรรยายเพื่อเป็นเกียรติและรำลึกถึงครูผู้จากไปของผมถึง 3 ท่านในเดือนนี้ ได้แก่ ศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ศาสตราจารย์เบ็น แอนเดอร์สัน และศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์

ความแตกต่างอยู่ตรงในกรณีอาจารย์ชัยวัฒน์ ผมสามารถอาศัยประสบการณ์และความรู้จักคุ้นชินโดยส่วนตัวมาเล่าถึงความคิดอ่านทางปรัชญาการเมืองของท่านได้ และในกรณีอาจารย์เบ็น ผมได้อาศัยข้อมูลความเข้าใจทางเศรษฐศาสตร์การเมืองโลกและการเมืองไทยระยะใกล้ที่ได้ฝึกฝนติดตามค้นคว้ามาประยุกต์กับแนวคิดชุมชนในจินตนากรรมของท่าน

ทว่า ในกรณีอาจารย์นิธิ วิชาประวัติศาสตร์อยู่นอกขอบเขตการอบรมเรียนรู้โดยตรงของผมในทางรัฐศาสตร์ แม้ข้อมูลความเข้าใจสำหรับการคิดวิเคราะห์ทางการเมืองจำนวนมากย่อมอาศัยประวัติศาสตร์เป็นพื้น แต่ก็ไม่ใช่ความชำนาญเฉพาะทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพยายามจะพูดถึงในเชิงปรัชญา/ทฤษฎีประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์นิพนธ์

เมื่อทางผู้จัดติดต่อทาบทามไป ด้วยความเคารพรักอาจารย์นิธิและน้ำใจไมตรีที่มีต่อคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มายาวนาน ผมจึงรับคำด้วยความครั่นคร้ามว่า “อยากทำให้” แต่ก็ไม่มั่นใจในผลลัพธ์ของการเตรียมงานซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ศึกษาเป็นประจำและในเวลาจำกัด

อย่างไรก็ตาม เมื่อผมได้ทดลองเสนอหัวข้อเค้าโครงคำบรรยายมาและทางคณะผู้จัดเห็นว่าสอดคล้องและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อวิชาการประวัติศาสตร์ ผมจึงบังอาจรับมาบรรยายในวันนี้ ฉะนั้น หากมันสามารถก่อประโยชน์ทางสติปัญญาต่อท่านผู้ฟังด้วยประการใดแล้ว ผมใคร่ขอให้ถือเป็นอานิสงส์คุณูปการของอาจารย์นิธิผู้ทำให้ผมสำนึกในความสำคัญของการมองและเข้าใจประวัติศาสตร์

ส่วนจุดอ่อนข้อบกพร่องที่ย่อมมีจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ผมขอน้อมรับไว้เพื่อปรับปรุงแก้ไขค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมต่อไปข้างหน้าโดยส่วนตัว

 

ผมขอแบ่งการบรรยายในวันนี้ออกเป็น 3 หัวข้อใหญ่ :

– บทยืน (thesis) : ประวัติศาสตร์รัฐชาติสยามในฐานะประวัติศาสตร์รัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ราชาชาตินิยมสยาม อันนำไปสู่สัจนิยมทางประวัติศาสตร์ (historical realism)

– บทแย้ง (anti-thesis) : วิพากษ์ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมในฐานะสัจนิยมทางประวัติศาสตร์

– บทสรุปยืน (synthesis) : ข้อสังเคราะห์ทางทฤษฎีว่าด้วยวิธีการตรวจสอบสามเส้าทางประวัติศาสตร์นิพนธ์ (historiographical triangulation)

1.บทยืน : ประวัติศาสตร์รัฐชาติสยามในฐานะประวัติศาสตร์รัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ราชาชาตินิยมสยาม อันนำไปสู่สัจนิยมทางประวัติศาสตร์ (historical realism)

ประวัติศาสตร์นิพนธ์รัฐชาติสยามเกิดขึ้นในบริบทของการเปลี่ยนรูปแบบการเมืองการปกครองไทยแต่เดิมจากรัฐราชสมบัติ (นิธิ) หรือระบอบศักดินา (จิตร ภูมิศักดิ์) หรือระบอบราชูปถัมภ์ (เสน่ห์ จามริก) มาเป็น –> รัฐชาติสมัยใหม่ โดยผ่านการนำเข้าดัดแปลงและรังสรรค์ของชนชั้นนำเจ้านาย-ขุนนางต้นรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 เป็นสำคัญ จนกลายเป็น :

รัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ (absolutist state) ได้แก่ รัฐที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางโดยเฉพาะสถาบันกษัตริย์ + ระบบราชการสมัยใหม่ที่เอาอย่างตะวันตก และ

ราชาชาตินิยม (royal-naitonalism) หมายถึงชุมชนที่ถูกจินตนากรรมขึ้นให้มีสถานที่ร่วมกัน (ด้วยแผนที่), มีอดีตร่วมกัน (ด้วยประวัติศาสตร์) และมีสายสัมพันธ์ร่วมกัน (ด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น ธงชาติ, เพลงชาติ ฯลฯ) โดยผูกความเป็นชาติเข้ากับสถาบันกษัตริย์เป็นหนึ่งเดียวทางแนวคิดและจินตนากรรมอย่างแยกไม่ออก

ดังปรากฏกลุ่มงานวิชาการของนักวิชาการไทยศึกษาท่านต่างๆ รวมทั้งอาจารย์นิธิที่บุกเบิกอธิบายเรื่องนี้ในสาระสำคัญตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 มาถึง 2000 อาทิ :

– Anderson, Benedict R. O’G., “Studies of the Thai State : The State of Thai Studies”, 1978.

– สมเกียรติ วันทะนะ, “รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ในสยาม 2435-2475”, 2533/1990.

– นิธิ เอียวศรีวงศ์, “ชาติไทยและเมืองไทยในแบบเรียนประถมศึกษา”, 2534/1991.

– นิธิ เอียวศรีวงศ์, “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทย”, 2537/1994.

– Chaiyan Rajchagool, The Rise and Fall of the Thai Absolute Monarchy : Foundations of the Modern Thai State from Feudalism to Peripheral Capitalism, 1994.

– Thongchai Winichakul, Siam Mapped : A History of the Geo-Body of a Nation, 1994.

– ธงชัย วินิจจะกูล, “ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม จากยุคอาณานิคมอำพรางสู่ราชาชาตินิยม ใหม่หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฎุมพีไทยในปัจจุบัน”, 2544/2001.

– Kullada Kesboonchoo Mead, The Rise and Decline of Thai Absolutism, 2004.

ก็แลบุคคลสำคัญผู้ริเริ่มสร้างประวัติศาสตร์นิพนธ์รัฐชาติสยามขึ้นย่อมได้แก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงมีบทบาทสร้างรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์กับราชาชาตินิยม เป็นอเนกประการในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยและอื่นๆ รวมทั้งผลิตงานประวัติศาสตร์ของรัฐชาติสยาม จนได้รับการถวายพระสมัญญานามว่า “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย”

บทบาทผลงานสำคัญของกรมพระยาดำรงฯ ในการนิยาม “ความเป็นไทย” และชี้ให้คนไทยเข้าใจตัวเองโดยอิงอาศัยประวัติศาสตร์เป็นฐานคติอาจเห็นได้จากตัวอย่างเช่น :

– “ชนชาติไทยสามารถปกครองประเทศสยามมาได้นานด้วยคุณธรรมของคนชาติไทย 3 ประการคือ

1. ความจงรักอิสระของชาติ

2. ความปราศจากวิหิงสา และ

3. ความฉลาดในการประสานประโยชน์เป็นอย่างดี” (2470)

– เป้าหมายของการจัดการศึกษาได้แก่ :

“1. รักอิศรภาพแห่งชาติภูมิและประพฤติตนอยู่ในสุจริตธรรม และ

2. มีความรู้ทางวิทยาการ”

– วิธีการจัดการศึกษา : “รัฐบาลมีอำนาจที่จะตกแต่งนิไสยใจคอไพร่บ้านพลเมืองได้ด้วยแต่งหนังสือสำหรับสอนเด็กนักเรียน…” (2449)

อันเป็นฐานที่มาของจินตนากรรมชุมชนชาติไทยในแบบเรียนประถมศึกษาของรัฐราชการไทยตามที่อาจารย์นิธิค้นคว้าสรุปไว้ (2534) กล่าวคือ ชาติไทยและเมืองไทยคือชุมชนหมู่บ้าน (Gemeinschaft) นั่นเอง

 

ความเกี่ยวโยงระหว่างประวัติศาสตร์กับรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์สยามในผลงานของกรมพระยาดำรงฯ ปรากฏในการค้นคว้าน่าสนใจของศาสตราจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งได้นำเสนอไว้ในงานเสวนา “มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์?” ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 31 พฤษภาคม 2562 ในประเด็นมุมมองประยุกต์เปรียบเทียบเชิงประวัติศาสตร์ศิลป์เรื่อง “โบราณวัตถุ มิวเซียม และรายงานสำรวจในฐานะเครื่องมือสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์” (https://www.youtube.com/watch?v=FFuC-6L2Y9o) กล่าวคือ :

โบราณวัตถุ มิวเซียม และรายงานเดินทางสำรวจมีส่วนสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามขึ้นมาภายใต้การอำนวยการของกรมพระยาดำรงฯ (ความรู้ –> การก่อตัวของรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์/การสร้างภูมิกายาชาติสยาม)

ภาระหน้าที่อย่างหนึ่งของหน่วยงานเทศาภิบาลในท้องที่ต่างๆ คือรวบรวมโบราณวัตถุและรายงานสู่ส่วนกลางคือกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเมื่อประกอบเข้ากับรายงานเดินทางสำรวจ ข้อมูลโบราณคดี โบราณวัตถุต่างๆ แล้วก็เป็นฐานข้อมูลในการก่อรูปขึ้นเป็น –> พรมแดนศิลปะของสยามประเทศ (artistic boundaries of Siam)

ฉะนั้น จึงมีความสอดคล้องพ้องรับกันอย่างสำคัญในบทบาทฐานะของกรมพระยาดำรงฯ ที่ทรงเป็นเสนาบดีว่าราชการอำนาจรวมศูนย์ส่วนกลางที่มหาดไทย และทรงเป็นบิดาของวิชาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะไทย

 

อาจารย์ชาตรีตั้งข้อสังเกตเทียบเคียงว่ากระบวนการนี้พ้องกับข้อสังเกตของ Chandra Mukerji ศาสตราจารย์หญิงด้านการสื่อสารและวิทยาศาสตร์ศึกษาสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ณ เมืองซานดิเอโก ผู้เขียนงานโดดเด่นเรื่อง Territorial Ambitions and the Gardens of Versailles (1997) ในกรณีการสร้างรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ฝรั่งเศสของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ในศตวรรษที่สิบเจ็ด

Mukerji ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงอย่างแยบยลระหว่างกระบวนการยาตราทัพรุกรบยึดดินแดนและวิศวกรรมพื้นที่ต่างๆ กับวัฒนธรรมเชิงวัตถุในการออกแบบพระราชอุทยานที่วังแวร์ซายส์ผ่านการดัดแปลงภูมิทัศน์เพื่อเป็นพาหะจำลองขอบเขตดินแดนแห่งราชอาณาจักรขึ้นมาในจินตนากรรมผ่านศิลปกรรมและธรรมชาติ หรือนัยหนึ่ง :

[Material Culture -> Art World -> Vehicles of Imagination]

ในกรณีสยาม อาจารย์ชาตรีได้ชี้ให้สังเกตการปรากฏขึ้นในช่วงปีไล่ๆ กันของเอกสารและสิ่งปลูกสร้างสำคัญทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ศิลป์จำนวนหนึ่ง ได้แก่ แบบเรียนภูมิศาสตร์ประเทศสยาม (กรมตำรา ศธ. 2468), ตำนานพุทธเจดีย์สยาม (กรมพระยาดำรงฯ 2469), โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร (ยอร์ช เซเดส์ 2471) และ ระเบียงวัดเบญจมบพิตร (อันเป็นที่ประดิษฐานเรียงรายพระพุทธรูปต่างๆ ในลักษณะมิวเซียม) ฯลฯ

ว่ามันร่วมกันสะท้อนความพยายามในการรังสรรค์สร้างภูมิกายาสยามขึ้นผ่านวัฒนธรรมเชิงวัตถุ (material construction of the Siamese geobody) อันได้แก่พุทธเจดีย์ในท้องที่ต่างๆ, โบราณวัตถุที่ถูกจัดระเบียบลำดับ นำเสนอในพิพิธภัณฑ์ และพระพุทธรูปองค์ต่างๆ ในระเบียงวัดเบญจมบพิตร เหล่านี้ถูกปะติดปะต่อเรียบเรียงเป็น -> พาหะจินตนาการสยามผ่านวัฒนธรรมทางวัตถุที่ศูนย์กลางอำนาจรัฐ

อันตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าวัตถุทางวัฒนธรรมสะท้อน DNA ของชาติพันธุ์…

โดยที่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แม้จะแยกสถาบันกษัตริย์ออกจากชาติในทางอำนาจการเมืองการปกครองและแนวคิดหลักการ แต่กระนั้นกลับไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความรู้โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลป์ และพิพิธภัณฑ์ดังที่สร้างวางไว้ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)