ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนัง |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
เพิ่งมีการเปิดเผยข้อมูลว่า ตลอดปี 2023 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมภาพยนตร์แอนิเมชั่นญี่ปุ่นสามารถสร้างรายได้รวมกันเป็นมูลค่า 2.34 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร่วม 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นสถิติรายได้รวมต่อปีที่สูงที่สุด และเพิ่มจากตัวเลขเมื่อปี 2022 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์
มีการคาดการณ์ต่อว่า รายได้ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อนิเมะในปี 2024 ก็จะมีระดับใกล้เคียงกับของปี 2023
โดยหากพิจารณารายละเอียดจากสถิติเมื่อปีก่อน ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง “Suzume” (การผนึกประตูของซุซุเมะ) ของ “มาโกโตะ ชิงไก” จะทำรายได้ทั่วโลกไป 133.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.5 พันล้านบาท) และเป็นหนังญี่ปุ่นที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลเป็นอันดับที่ 11 ของตลาดภายในประเทศ
ส่วน “The Boy and the Heron” (เด็กชายกับนกกระสา) ของ “ฮายาโอะ มิยาซากิ” แห่ง “สตูดิโอจิบลิ” ก็ทำรายได้ทั่วโลกไป 173.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 6 พันล้านบาท) และได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชั่นขนาดยาวยอดเยี่ยม
หนึ่งในปัจจัยหรือความเปลี่ยนแปลงสำคัญ ที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมภาพยนตร์แอนิเมชั่นญี่ปุ่น ก็คือ การปรับเปลี่ยนช่องทางการเผยแพร่และรูปแบบการผลิต
จากการผลิตซีรีส์แอนิเมชั่นเพื่อออกอากาศในสถานีโทรทัศน์ เป็นการผลิตเพื่อเผยแพร่ในบริการสตรีมมิ่งออนไลน์ เช่น เน็ตฟลิกซ์ รวมถึงการดัดแปลงซีรีส์แอนิเมชั่นในโทรทัศน์เป็นอนิเมะฉบับภาพยนตร์ เพื่อนำไปฉายในโรงหนัง
ตัวอย่างความสำเร็จชัดเจน คือ “Haikyu!! The Dumpster Battle” ภาพยนตร์ภาคต่อของซีรีส์แอนิเมชั่นทางโทรทัศน์ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับตัวละครที่เป็นนักวอลเลย์บอล ที่สามารถทำรายได้ไป 79.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.7 พันล้านบาท) เฉพาะในประเทศญี่ปุ่น
เช่นเดียวกับ “Mobile Suit Gundam SEED Freedom” ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของแฟนๆ ซีรีส์การ์ตูนหุ่นยนต์ “กันดั้ม” ซึ่งทำรายได้ไป 33.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.1 พันล้านบาท) เฉพาะในประเทศบ้านเกิด
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบผลประกอบการของผู้เล่นทั้งหมดในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อนิเมะ จะพบร่องรอยความเหลื่อมล้ำปรากฏอยู่
โดยจากจำนวนสตูดิโอผู้ผลิตภาพยนตร์อนิเมะรวมทั้งหมด 301 บริษัท พบว่ามีเพียง 112 บริษัทเท่านั้น ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นในปี 2023 (หากเทียบกับปี 2022)
ขณะเดียวกัน สตูดิโอที่ทำรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่สูงมากก็มักเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรม ผิดกับผู้เล่นรายเล็กๆ ซึ่งเป็น “ผู้รับจ้างช่วง” ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะในงานบางด้าน ที่กลับไม่ได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นนักในปีที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับตัวเลขผลกำไร ซึ่งร้อยละ 77.5 ของสตูดิโอขนาดใหญ่สามารถทำกำไรได้ในปี 2023 ขณะที่มีเพียง 57 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทรับจ้างช่วงขนาดเล็กที่มีผลกำไรในปีเดียวกัน
ปัจจัยหลักๆ ที่นำไปสู่ข้อแตกต่างข้างต้น ก็คือ สตูดิโอใหญ่ๆ มักมีอีกสถานภาพเป็นหนึ่งในผู้อำนวยการสร้าง/ผู้อำนวยการผลิตของภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องต่างๆ ส่งผลให้สตูดิโอใหญ่ได้เป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์ร่วมของหนังเรื่องนั้นๆ อันนำมาสู่ผลประโยชน์ทางเม็ดเงินที่จับต้องได้ชัดเจน เมื่อหนังประสบความสำเร็จทางด้านรายได้
สวนทางกับสตูดิโอขนาดเล็กที่วางพื้นฐานทางธุรกิจของตนเองอยู่บนสัญญาการว่าจ้างผลิตเท่านั้น
นักวิเคราะห์มองว่าจุดท้าทายในอนาคตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์แอนิเมชั่นญี่ปุ่น ก็คือ การพยายามกระจายรายได้จากการจัดเก็บ-ถือครองลิขสิทธิ์ ไปยังผู้ผลิตทุกภาคส่วนให้กว้างขวางและครอบคลุมยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน ก็ต้องหาวิธีป้องกันวงการอนิเมะจากการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ ท่ามกลางบริบทที่เทคโนโลยี “เจเนอเรทีฟเอไอ” กำลังพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ เมื่อมองในภาพกว้างทั้งระบบ อุตสาหกรรม “แอนิเมชั่นญี่ปุ่น” ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจผลิตภาพยนตร์, ธุรกิจซีรีส์โทรทัศน์, ธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้อง รวมถึงธุรกิจจัดอีเวนต์ มีมูลค่าทั้งสิ้น 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราวๆ 6.8 แสนล้านบาท) ในปี 2022 เพิ่มขึ้น 6.8 เปอร์เซ็นต์จากปี 2021
และนับเป็นรายได้ที่สูงที่สุดตลอดกาลของอุตสาหกรรมกลุ่มนี้เช่นเดียวกัน •
| คนมองหนัง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022