ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | โลกทรรศน์ |
ผู้เขียน | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ |
เผยแพร่ |
ด้วยเป็นช่วงการแต่งตั้งนายทหารระดับสูง โดยเฉพาะผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลต่อการเมืองไทยอย่างยิ่ง
ผมจึงอยากวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงนี้
โดยย้อนไปดูบริบท นโยบายและผู้เล่นรายสำคัญของกองทัพและพรรคการเมือง
เพื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นต่อกองทัพกับพรรคเพื่อไทย
ในความเคลื่อนไหว
กลางปี 2567 มีข้อสังเกตน่าสนใจเรื่อง เตรียมเสนอชื่อผู้สืบทอดตำแหน่งนายทหารเกษียณราชการ แน่นอนที่สำคัญมากคือ ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก งานเขียนของ Pual Chambers1 บรรยายว่า ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ มี 3 แคนดิเดต ได้แก่
1 พล.อ.อุกฤษฏ์ บุญตานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. เป็นกลุ่มก้อนทหารคอเขียว ซึ่งมาจากเตรียมทหารรุ่น 24 จะเกษียณปี 2570
2 พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. เป็นกลุ่มก้อนทหารคอแดง มาจากเตรียมทหารรุ่น 24 และจะเกษียณปี พ.ศ.2568
3 พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ เสนาธิการทหารบก เป็นกลุ่มก้อนทหารคอแดง มาจากเตรียมทหารรุ่น 26 และจะเกษียณปี พ.ศ.2570
โดยข้อมูลล่าสุดในการเขียนบทความนี้ ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้คือ สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีกลาโหมรักษาการ โดยทำงานร่วมกับ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีรักษาการ เลือก พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ เสนาธิการทหารบก ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก บางเหตุผลเพื่อเตรียมการกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯ
ในแง่วิธีการอาจจริง แต่ถ้าข้อมูลนี้เป็นจริง แสดงถึงอะไรได้บ้าง ที่สำคัญคือ
เส้นขนานระหว่างกองทัพกับพรรคเพื่อไทย
ในแง่กองทัพและการวิเคราะห์พัฒนาการของกองทัพนับจากทศวรรษ 2560 เป็นต้นมา เหล่าผู้บัญชาการทหารจากกลุ่มก้อนทหารคอแดง ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนนายทหารพระราชา (Monarchized Military) ที่สถาปนาขึ้นมาใหม่ ต้องไม่มีความโน้มเอียงให้พลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งคุมทหาร
นี่เป็นประเด็นแรกของเส้นขนานระหว่างกองทัพกับพรรคเพื่อไทย
สืบเนื่องจากพรรคเพื่อไทย โดยสุทิน คลังแสง นำเสนอนโยบายปฏิรูปกองทัพ ซึ่งแม้ว่าเป็นการปฏิรูปกองทัพที่ถูกวิจารณ์ว่ามีความประนีประนอมสูง แต่ก็ส่งผลเปลี่ยนแปลงและถูกต่อต้านจากทหารบางส่วน ได้แก่
1 ลดจำนวนนายพล
2 สุทิน คลังแสง ยังลังเลการหนุนให้มีการเกณฑ์ทหารต่อไป แม้ว่าสัญญาเมื่อกันยายน 2566 ว่าจะทำการลดการเกณฑ์ทหารเดือนเมษายน 2567 โดยหัวหน้านายทหารแจ้งกับสุทินว่า จำนวนทหารเกณฑ์สมัครใจมีจำนวนไม่พอในการลดเกณฑ์ทหาร
3 รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ได้ลดงบประมาณป้องกันประเทศเมื่อเทียบกับปีก่อน
รอยร้าวปรากฏ
ช่วงรัฐบาลเศรษฐา ยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับกองทัพ อาจเรียกว่าเป็นกฎเกณฑ์กระทรวงกลาโหม ได้แก่
1 การตั้งนายพล นายพลต้องไม่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ ทำลายสิ่งแวดล้อม
2 ห้ามนายพลทำธุรกิจกับกระทรวงกลาโหม
3 ห้ามตั้งนายพล หากกำลังอยู่ในช่วงตรวจสอบหรือต้องโทษคดีอาญา
นายกรัฐมนตรีสามารถระงับได้ทันทีกับนายพล เมื่อปรากฏว่า พวกเขาจะเข้าร่วมทำรัฐประหาร
ดังนั้น จึงมีข่าวลือเมื่อเมษายน 2567 มีการต่อต้านจากกลุ่มทหารอนุรักษนิยมต่อการปฏิรูปกองทัพของสุทิน และจะนำมาสู่การปรับคณะรัฐมนตรี โดยให้นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เป็นรัฐมนตรีกลาโหมแทนสุทิน
อย่างไรก็ตาม มีการประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดงที่รัฐสภา ทำให้สุทินเป็นรัฐมนตรีกลาโหมต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทยและได้รับความไว้วางใจจากทักษิณ ชินวัตร
ถึงแม้ว่าความยืดหยุ่นของสุทิน คลังแสง เป็นความอยู่รอดของพรรคเพื่อไทยที่ไต่เส้นกับกองทัพ แต่ก็ไม่ได้พิสูจน์ว่า สุทิน คลังแสง คุมกองทัพได้
แต่สำหรับผม ข้อเสนอปฏิรูปกองทัพของพรรคเพื่อไทย แม้มีความเปลี่ยนแปลงไม่มาก แต่ก็ถูกต่อต้านจากกลุ่มทหารอนุรักษนิยม อีกทั้งรุนแรงถึงขั้นจะมีการรัฐประหาร
เส้นขนานยังมีอยู่
มีการศึกษาว่า นโยบายการปฏิรูปกองทัพของพรรคเพื่อไทยเทียบไม่ได้กับนโยบายของพรรคก้าวไกลซึ่งตอนนี้คือ พรรคประชาชน แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ตอนนี้และในอนาคตพรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แพทองธาร ชินวัตร นโยบายการปฏิรูปกองทัพก็ยังมีอยู่ ไม่ควรลืมว่า สำหรับทหารฝ่ายอนุรักษนิยม กองทัพแตะต้องไม่ได้ พลเรือนไม่มีทางคุมกองทัพได้ แล้วเส้นขนานระหว่างกองทัพกับพรรคเพื่อไทยก็ถูกถ่างออกอย่างน่าเป็นห่วง
ไม่ทราบว่าเหตุผลอะไร ที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาลแพทองธาร เหตุผลคือ
เป็นไปได้ว่า นี่เป็นข้อเสนอสนับสนุนโดยทักษิณ ชินวัตร ด้วยภูมิธรรมเป็นคนใกล้ชิดน่าไว้วางใจมาก ด้วยความสามารถด้านการเมือง การประนีประนอม เป็นผู้ใหญ่และเป็นตัวแทนของบ้านจันทร์ส่องหล้า สามารถเจรจากับนายทหารระดับสูง ท่ามกลางประสบการณ์น้อยมากของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร
แต่จุดนี้มีทั้งสองด้าน ด้านบวกและด้านลบ ตรงต่อนายกรัฐมนตรี แพทองธาร
อีกเส้นขนานหนึ่งปรากฏ หากข้อมูลเป็นจริง สุทินและภูมิธรรมเลือก พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ เป็นผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่
แนวคิดหนึ่ง ไม่ใช่กองทัพต้องการกระฉับอำนาจ เพราะ พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ อยู่ยาวถึงปี พ.ศ.2570 กองทัพไม่ได้แสดงแนวโน้มก่อรัฐประหารใดๆ ต้องการให้การเมืองนิ่ง
อีกแนวคิดหนึ่ง พล.อ.พนา เป็นนายทหารเพียงไม่กี่คนที่อยู่ในกลุ่มแคนดิเดตผู้บัญชาการทหารบกที่เคยดำรงตำแห่งแม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งเป็นฐานกำลังรัฐประหารทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่สำคัญ เขาไม่ใช่สายของ 3 ป. บูรพาพยัฆค์ และทหารเสือราชินี พล.อ.พนา เป็นวงค์เทวัญ และทหารคอแดง ที่มีความใกล้ชิดกับแกนนำของกลุ่มก้อนทหารคอแดง
ผู้รู้เรื่องทหารไทย เล่าถึงบุคลิกของ พล.อ.พนา น่าสนใจ เขาเป็นคนอารมณ์ร้อน ตรงนี้ผมตีความว่า พล.อ.พนา ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ ส่งสัญญาณตรงไปที่ใครบางคนในพรรคเพื่อไทยหรือเปล่า
ต้านปฏิรูปกองทัพ และไม่พอใจพลเรือนคุมกองทัพ
1Paul Chambers, “Pheu Thai’s Military Reform : Keeping the Military onside” Fulcrum, ISEAS 2024.
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022