พัฒนาการ โรงพิมพ์ ก่อนยุค “แดน บีช บลัดเลย์” เริ่มตั้งแต่ ‘อยุธยา’

ในความเห็นของ “ผู้อาวุโส” ระดับ ลาวัณย์ โชตามระ เจ้าของหนังสือ “อุบัติการณ์หนังสือพิมพ์” (สำนักพิมพ์พาสิโก, กันยายน 2522)

ปฐมบทว่าด้วย “เรื่องของหนังสือพิมพ์ในไทย”

ถ้าจะกล่าวย้อนไปถึงปฐมวัยแล้วก็ออกจะเป็นที่ขัดกันอยู่ บางท่านกล่าวว่าหนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่ออกในเมืองไทย คือ หนังสือ “บางกอก รีคอร์เดอร์” ของหมอบรัดเลย์ ชาวอเมริกัน

แต่บางท่านก็บอกว่า หนังสือ “ราชกิจจานุเบกษา” เป็นฉบับแรก

แต่เมื่อตรวจดูจากหนังสือชื่อ “รายงานหนังสือพิมพ์ข่าวซึ่งออกเป็นระยะในประเทศสยาม” ฉบับหอพระสมุด พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2474 ก็เห็นบอกไว้ว่า อันดับแรก คือ หนังสือพิมพ์ “บางกอก รีคอร์เดอร์” เป็นหนังสือรายปักษ์ เริ่มออกตั้งแต่ปี พ.ศ.2387

ส่วนหนังสือ “ราชกิจจานุเบกษา” อันเป็นอันดับ 2 นั้นออกเมื่อ พ.ศ.2401

แดน บีช บลัดเลย์
บางกอก รีคอร์ดเดอร์

หนังสือ “ภาษากับมวลชน วิวัฒนาการของภาษาเพื่อการเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์ไทย” ซึ่งเป็นงานวิจัยของ จำนง วิบูลย์ศรี ดวงทิพย์ วรพันธ์ (โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มกราคม 2526)

มีบทบาทอย่างทรงความหมายในการให้รายละเอียดอย่างเป็นระบบ

กิจการหนังสือพิมพ์ของไทยได้เริ่มเกิดขึ้นในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อ นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ (Rev. Dan Beach Bradley M.D.) มิชชันนารีชาวอเมริกัน ได้นำเครื่องพิมพ์จากสิงคโปร์เข้ามายังกรุงเทพฯ และได้ออกหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกของประเทศไทย

คือ “บางกอก รีคอร์ดเดอร์” (Bankok Recorder) เมื่อปี พ.ศ.2387

นับเป็นหนังสือพิมพ์รายปักษ์แถลงข่าวฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีชาวตะวันตกเป็นผู้บุกเบิกและวางรากฐานงานหนังสือพิมพ์ให้กับคนไทย

หนังสือพิมพ์ของประเทศไทยในยุคเริ่มแรกเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดสำหรับคนไทยเช่นเดียวกับไฟฟ้า รถยนต์ น้ำแข็งหรือภาพยนตร์ ซึ่งเป็นของมหัศจรรย์สำหรับปู่ทวดของเรา

นอกจากนั้น การแสดงความคิดเห็น ทัศนคติต่างๆ และการเรียกร้องเสรีภาพอย่างเปิดเผยก็เป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนสำหรับคนไทยด้วย

สอ เสถบุตร ซึ่งเป็นนักเรียนอังกฤษและรับราชการเป็น “นายมหาสิทธิโวหาร” อยู่ในราชสำนักได้บันทึกพร้อมกับข้อสังเกตเอาไว้ในภายหลังว่า เมื่อความแปลกประหลาดมหัศจรรย์ของหนังสือพิมพ์คลายลงไป

“เจ้านาย” ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้เริ่มทำหนังสือพิมพ์กันบ้าง

 

สาน ตำนาน โรงพิมพ์
พระนารายณ์ อยุธยา

หากศึกษาจากหนังสือ “สยามพิมพการ : ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย” อันเป็นงานค้นคว้าที่สำคัญของ “ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ” ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน เมื่อเดือนกันยายน 2549

ก็จะพบ “ความจริง” อันเกี่ยวกับ “โรงพิมพ์” และ “แท่นพิมพ์” ลึกซึ้งและกว้างขวางมากขึ้น

โรงพิมพ์และแท่นพิมพ์มิได้มีจุดเริ่มต้นใน “กรุงรัตนโกสินทร์” เมื่อปี พ.ศ.2378 โดยหมอบรัดเลย์

ตรงกันข้าม มีในสยามตั้งแต่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ กรุงศรีอยุธยา

โดยบาทหลวงฝรั่งเศส คือ สังฆราชลาโน (Louis Laneau) ได้แต่งและแปลหนังสือศาสนาคริสตังเป็นภาษาไทย จำนวน 26 เล่ม

หนังสือไวยากรณ์ไทยและบาลี และพจนานุกรมไทยอย่างละ 1 เล่ม

นอกจากนี้ ยังได้สร้างศาลาเรียนขึ้นในที่พระราชทานที่ตำบลเกาะมหาพราหมณ์ เหนือกรุงเก่า ตามบันทึกของ ฟ. ฮีแลร์ ได้อ้างว่า มีการตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่เกาะมหาพราหมณ์แห่งนี้ด้วย

“ตามเสียงบางคนกล่าวกันว่า ที่โรงเรียนมหาพราหมณ์นั้นท่านได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นไว้ด้วย

นัยว่าสมเด็จพระนารายณ์ชอบพระทัยการพิมพ์ตามวิธีฝรั่งของท่านสังฆราชลาโนถึงกับทรงโปรดให้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่เมืองลพบุรีเป็นส่วนของหลวงอีกโรงหนึ่งต่างหาก แต่เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลงแล้ว

พระเจ้าแผ่นดินต่อมาไม่ทรงโปรดของฝรั่ง การพิมพ์ก็เลยทรุดโทรมแต่นั้นมา”

 

ตัวพิมพ์ แท่นพิมพ์
ต้น กรุงรัตนโกสินทร์

ไม่ว่าหลักฐานอันเนื่องแต่ท่านสังฆราชลาโน ไม่ว่าหลักฐานอันเนื่องแต่จดหมายของบาทหลวงอังคลูส์ ที่ได้รับการอ้างอิงโดย ฟ. ฮีแลร์ ไม่ว่ากระบวนการค้นคว้าและนำเสนอผ่าน “สยามพิมพการ”

กล่าวในแง่ “โรงพิมพ์” มีจุดเริ่มต้นจากยุค “กรุงศรีอยุธยา” กระทั่งต่อเนื่องมาถึงยุค “รัตนโกสินทร์”

เห็นได้จากการสั่ง “ตัวพิมพ์” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

เป็นเรื่องในแวดวงของ “บาทหลวง” เป็นความปรารถนาของแวดวง “คริสตัง” เพื่อการเผยแผ่ศาสนาเป็นด้านหลัก

นั่นก็คือ รากฐานที่มาแห่งกำเนิด “ตัวพิมพ์ภาษาไทย”

เกิดขึ้นจากมิชชันนารีชาวอเมริกัน 2 สามีภรรยา คือ หมอจัดสัน (Adoniram Judson) และ แนวซี จัดสัน หรือแอนน์ (Ann Hazeltine Judson) ซึ่งเดินทางมาเผยแผ่พระศาสนาที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ในปี พ.ศ.2356

โดยนางจัดสันได้เรียนรู้ภาษาไทยจากเชลยไทยในประเทศพม่า

ต่อมา ในปี พ.ศ.2359 จอร์จ ฮัฟ (George H. Hough) ซึ่งเป็นช่างพิมพ์ได้นำแท่นพิมพ์และตัวพิมพ์ภาษาอังกฤษมาตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในประเทศพม่า มิสเตอร์ฮัฟได้หล่อ “ตัวพิมพ์ไทย” ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2359 ตามแบบของนางจัดสัน

จากนั้น จึงได้แปลพระคัมภีร์จากภาษาพม่าเป็นภาษาไทยและได้ส่งคำแปลนี้ไปตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์ของคณะแบ๊บติสต์ เมืองเซรัมโบร์ในปี พ.ศ.2362

เส้นทางของ “โรงพิมพ์” ในประเทศไทย เส้นทางของ “ตัวพิมพ์ไทย” ก็มากด้วยความยอกย้อนและสะท้อนพัฒนาการที่ต่อเนื่องยาวนานอย่างยิ่งจากยุคกรุงศรีอยุธยากระทั่งยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์

เส้นทางการเข้ามาของ “แท่นพิมพ์” และเส้นทางการเกิดขึ้นของ “หนังสือพิมพ์” ยิ่งมากด้วยความพิสดาร

เป็นการเริ่มต้นจากการผลิตสร้างใน “ต่างประเทศ” แล้วนำเข้ามา “ในประเทศ”

เป็นการเริ่มต้นเพื่อรับใช้และเผยแผ่ทางด้านพระศาสนาและพัฒนากลายมาเป็นเรื่องของ “ข่าวสาร” และ “ความเห็น”

กระจายจากแวดวงของ “ชาวต่างประเทศ” เข้าสู่ “เจ้านาย” ไทย

พัฒนาการของการ “หนังสือพิมพ์” ในประเทศไทยจึงสัมพันธ์อยู่กับพัฒนาของเทคโนโลยีด้าน “การพิมพ์”

เหมือนกับกำเนิดแห่ง “กูเทนเบิร์ก” ในประวัติศาสตร์โลก