ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | จดหมาย |
เผยแพร่ |
จดหมาย | ประจำวันที่ 6-12 กันยายน 2567
• เขื่อนกั้นน้ำยม
(จากกรณีน้ำท่วมที่ภาคเหนือ รวมถึง จ.แพร่) รัฐได้บอกว่า ถึงเวลาชาวแพร่ต้องยอมให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพราะ ปิง วัง น่าน มีเขื่อนหมดแล้ว ยกเว้น ยม
ผมในฐานะนักชลธีวิทยาน้ำจืด
ขอเสนอข้อเขียนทางวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม
ไม่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง ไม่โยงเข้าเรื่องการเมือง
คําถามแรกคือ มีวิธีการใดบ้างที่ป้องกันน้ำท่วมโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนกั้นน้ำ
คำตอบคือ มีครับ
มีหลายร้อยหลายพันวิธีในการยักย้ายถ่ายเทมวลน้ำ
ยากง่ายแตกต่างกัน ใช้เงินมหาศาล ใช้เงินนิดหน่อย กับวิธีการไม่ต้องใช้เงินงบประมาณเลย
แค่คิดนอกกรอบ มองลึกเข้าไปในปัญหาแบบสายตาคนนอกไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย
ก็น่าจะหาทางได้
คําถามที่สอง ทำไมคนแพร่ไม่ยอมให้สร้างเขื่อน
หรือทำไมรัฐบาลสร้างเขื่อนไม่ได้เสียทีในลุ่มน้ำยม?
การคัดค้านการสร้างเขื่อนเกิดขึ้นมาเสมอในทุกลำน้ำ จะมากจะน้อย จะยืดเยื้อยาวนานหรือสั้น
30 กว่าปีแล้วมีการพูดถึงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยม ตั้งแต่ พ.ศ.2532 สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
แต่เผอิญที่บริเวณนั้นมีชุมชนอาศัยอยู่มาต่อเนื่องยาวนานกว่า 200 ปี
เป็นชุมชนปิด มีสังคมเครือญาติ รักถิ่นฐานบ้านเกิด มีความสามัคคีในชุมชน ไม่เคยมีกลุ่มทุนจากภายนอกเข้ามาหาผลประโยชน์เลย
ประเด็นสำคัญคือ ต้องอพยพโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น เรื่องนี้ต่างหากที่เป็นประเด็นสำคัญ
สมัยก่อนจังหวัดแพร่ก็เป็นชุมชนที่อยู่มานานเกือบ 2,000 ปี
เมื่อรวมประเทศเปลี่ยนจากสยามเป็นไทย ส่วนกลางส่งผู้สำเร็จราชการมาปกครอง
ชาวเมืองแพร่ก็ไม่ยอมรับง่ายๆ ถึงกับเข่นฆ่า เจ้าเมืองแพร่ก็ถูกเนรเทศออกไป ปัจจุบันเมืองแพร่เลยเหมือนเมืองเล็กในเมืองใหญ่
เมืองที่ใครก็แตะไม่ได้ ไร้ซึ่งตึกสูง รัฐไม่พัฒนา (ซึ่งคนแพร่ดั้งเดิมชอบ) เป็นเมืองรอง เป็นทางผ่าน
ผู้ว่าราชการจังหวัดผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ผมแทบจะจำชื่อผู้ว่าฯ แต่ละคนไม่ได้เพราะว่ามาเอาตำแหน่งปีสองปีสุดท้ายก่อนเกษียณ
ตระกูลไหนตระกูลใหญ่ทำมาหากินอะไรใครก็รู้หมด
คดีความก็มีแค่เรื่องเล็กน้อย คดีชาวบ้าน ยาเสพติด พนัน หวย
แต่เปลี่ยนคนปกครองไม่ใช่อพยพคนออกเหมือนตอนจะสร้างเขื่อน
มีป่าสักทองสองหมื่นกว่าไร่
เขื่อนตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแผ่นดินไหว
มี พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
เขื่อนแก่งเสือเต้นจุน้ำได้เพียง 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกันกับปริมาณน้ำฝนในแต่ละปีแล้วน้อยนิด
แม้สร้างก็ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมภาคกลางได้
คําถามตามมา
สร้างเขื่อนโดยไม่อพยพคนได้ไหม?
ได้ครับ ก็ไปสร้างในที่ที่ไม่มีคนหรือบ้านเรือนน้อยอย่างเขื่อนภูมิพล
รัฐบาลเคยไปสำรวจยมบน ยมล่าง ชาวบ้านก็ยังไม่ยอม บอกไม่เอาก็คือไม่เอา
พอวันนี้มีน้ำท่วม กลุ่มที่เริ่มเห็นความสำคัญของเขื่อนอาจจะเพิ่มมากขึ้น
เพราะเห็นว่าเมื่ออุดรอยรั่วของเรือโดยการสร้างเขื่อนที่แม่น้ำสายอื่นหมดแล้วยกเว้นแม่น้ำยมตามที่สื่อช่องรัฐบาลเสนอข่าว (ตอนนี้มีสื่อช่องไหนไม่ใช่ของรัฐบ้างครับ? แต่ใครจะไปสน)
รูรั่วนี้กำลังจะทำให้เรือจมในที่สุด
ทุกคนจึงหันมามองกรณีน้ำท่วมจังหวัดแพร่กันมากและเริ่มเรียกร้องให้สร้างเขื่อน
เป็นเคราะห์กรรมของคนแพร่อีกครั้งหลังเสียเจ้าเมืองที่ปกครองอย่างร่มเย็นมาโดยตลอด
วันนี้อาจต้องยอมเสียแขนขาเพื่อรักษาร่างกาย
คําถามสุดท้าย
ไม่สร้างเขื่อนและน้ำก็ไม่ท่วมทำอย่างไร?
เมื่อก่อนบ้านนอกคอกนามีตุ่มมีโอ่งไว้รองน้ำฝนไว้ใช้ไว้อาบ อุปโภค บริโภค เป็นโครงการแก้มลิงย่อมๆ
ห้วยหนองคลองบึงเป็นแก้มลิงขนาดกลาง
ผืนป่าก็เป็นแก้มลิงแก้มใหญ่
ปัจจุบันแก้มลิงพวกนี้หายไป น้ำดื่มไหลไปตามท่อ น้ำใช้ไหลไปตามเขื่อนชลประทานท้องนา
ใครขุดบ่อต้องเสียภาษี เลยไม่มีใครอยากขุด
ต้องแก้เป็นใครขุดบ่อทำแก้มลิง รัฐขอสนับสนุนเงินช่วยค่าขุด
นอกจากนี้ แม่น้ำสายหลักทางภาคเหนือมีไม่กี่สายหรอกครับ
แผนที่เราก็มีในมือ ภูเขาเราก็มีไม่กี่ลูก ดูประเทศจีนและรัสเซียสิ น่าปวดหัวกว่าตั้งเยอะ ความเร็วของกระแสน้ำเราก็วัดได้
รัฐต้องการตัวเลขดังกล่าวมาบริหารและจัดการ ตอนนี้ยังขาดอยู่เพียงลำน้ำยม (จริงหรือ?)
จึงเป็นตัวการหนึ่งให้การบริหารจัดการน้ำ
ทำได้ดีบ้าง แย่บ้างเป็นบางปี
หรือผิดพลาดคราวเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 หรือปี 2538 ที่มีพายุหนักหลายลูก
ดร.รัตนตรัย เป๊กทอง
ลูกชาวนา
เนื่องจากเขียนมายาว
เลยขออนุญาตตัดทอนไปพอสมควร
อาจเสียความไปบ้าง
แต่กระนั้นข้อเสนอของ ดร.รัตนตรัย
คือจะสร้างเขื่อนกั้นน้ำยม
ต้องช่วยกันดูให้รอบคอบ
• เขื่อนภูมิพล
ทิพยประกันภัย ขอเชิญชวนร่วมโครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 44 ในการเดินทางไปจังหวัดตาก
เพื่อถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในด้านการบริหารจัดการน้ำ ณ เขื่อนภูมิพล เขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกของประเทศไทย
ซึ่งเป็นตัวอย่างของการพัฒนาแหล่งน้ำแบบบูรณาการตามแนวพระราชดำริ ที่ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัย และภัยแล้ง ผลิตกระแสไฟฟ้า และสนับสนุนการเกษตร
โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้การวางแผน และบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ร่วมทำกิจกรรมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ ศาลตากสินมหาราช และวัดดอยข่อยเขาแก้ว อีกทั้งยังได้ศึกษาแนวทางการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนในทุกมิติ
โครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 44 จะมีขึ้นวันที่ 14-15 กันยายน 2567 ณ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ คุณจารุกัญญ์ โทรศัพท์ 09-9397-5333 FB : ตามรอยพระราชา-The King’s Journey
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด
สนใจเขื่อนภูมิพล
และอยากร่วมโครงการ
ลองติดต่อสอบถามกันดู •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022