นี่คือสิ่งที่พิพิธภัณฑ์ทำกับเด็กสี่ขวบ หลังจากที่เขาทำไหโบราณอายุสามพันห้าร้อยปีแตก

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ข่าวล่าสุดที่เพิ่งลงในสื่อหลักเกือบทุกสำนักทำให้ผมประทับใจ

อเล็กซ์ เกลเลอร์ (Alex Geller) คุณพ่อลูกสามจากเมืองนาฮาริยา (Nahariya) ทางตอนเหนือของอิสราเอล ได้วันลาพักร้อนก็เลยพาครอบครัวเที่ยวในช่วงซัมเมอร์ เขาพาภรรยาและลูกๆ ไปทัวร์เมืองต่างๆ และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจ และพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งที่เขาและครอบครัวได้ไปแวะชมคือพิพิธภัณฑ์เฮชต์ (Hecht museum) ในเมืองไฮฟา (Haifa)

และที่นี่เอง เรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น

“ในวันนั้นพิพิธภัณฑ์คนแน่นมาก มีเด็กๆ เยอะแยะเต็มไปหมด” อเล็กซ์เล่า เขาและครอบครัวอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์ แค่ชั่วระยะเวลาสั้นๆ ในขณะที่เขา (และภรรยา) ละสายตาจากเจ้าตัวจิ๋ว ลูกน้อยวัยสี่ขวบของพวกเขาก็สร้างเรื่องใหญ่โตมหึมาขึ้นมา

เพล้ง! เสียงสิ่งของหล่นแตกอยู่ที่ตรงปากทางเข้าพิพิธภัณฑ์…

เกิดอะไรขึ้น อเล็กซ์ตกใจ เขาได้ยินเสียงของแตก แต่ไม่เห็นว่าอะไรตกแตกเสียหายอยู่ที่ไหน “ขออย่าให้เป็นลูกเราเลย” เขาภาวนา

และเมื่อเขาหันไปมองที่ต้นเสียง อเล็กซ์ก็แทบสิ้นสติสมประดี คำภาวนาของเขาไม่เป็นผล ลูกคนที่สามของเขากำลังงุนงงและตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า

ไหบรรจุของเหลวของคานาอันโบราณที่ตกแตกที่พิพิธภัณฑ์เฮชต์ที่อิสราเอล (ภาพโดย Hecht Museum staff)

อเล็กซ์รีบออกตัว ปกติลูกของเขาไม่ได้เป็นเด็กที่ชอบรื้อทึ้งทำลายข้าวของ แต่เป็นเด็กช่างสงสัย พอดีเห็นไหโบราณใบใหญ่ตั้งโชว์อยู่ที่หน้าพิพิธภัณฑ์ ก็เลยสนใจอยากรู้ว่ามีอะไรอยู่ข้างใน ด้วยความอยากรู้อยากเห็นตามประสาเด็ก ก็เลยพยายามปีนป่ายขึ้นไปดูเพื่อไขข้อสงสัยให้กระจ่าง แต่ยังไม่ทันได้ปีน แค่ดึงลงมานิดเดียว ไหเจ้ากรรมดันร่วงลงมาจากฐาน และแตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยอยู่ตรงหน้า ทำให้ทุกคนตกใจ

ภรรยาของเขาได้สติไวกว่าและรีบวิ่งไปคว้าตัวเจ้าตัวเล็กออกไปนอกพิพิธภัณฑ์ ตรวจเช็กเรียบร้อยแล้วว่าไม่ได้สึกหรอหรือบาดเจ็บอะไร แต่น้องตกใจมาก คุณแม่ก็เลยต้องนั่งคอยปลอบให้หายตกใจ พร้อมทั้งค่อยๆ สอนเพื่อให้น้องรู้ว่านี่คือสิ่งที่ไม่ควรทำ

แต่สำหรับอเล็กซ์ หลังจากที่เห็นภาพตรงหน้า ใจก็ตกลงไปอยู่ที่ตาตุ่ม เพราะจากข้อมูลที่อ่านได้ ไหใบเขื่องที่ตกแตกไปเป็นของเก่าแก่โบราณที่มีอยู่มาเนิ่นนานตั้งแต่ยุคสำริด ราวหนึ่งพันห้าร้อยถึงสองพันปีก่อนคริสตกาล หรืออาจจะก่อนนั้นเสียอีก ไหประเภทนี้เป็นภาชนะของพวกคานาอัน (Canaanite) มักจะใช้ในการขนส่งของเหลว เช่น น้ำมันมะกอก หรือไวน์

ไหขนาดใหญ่สภาพสวยงามหายากจากยุคสำริดที่เคยจัดแสดงอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์ ตอนนี้แตกเป็นชิ้นๆ ไม่ต่างจากกองกระเบื้องไร้ค่า

เชือกก็ไม่กั้น ตั้งโชว์หราอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์ บางทีไหนี้อาจจะไม่ใช่ของแท้ก็ได้ ขอให้เป็นโมเดลที่ทำเทียมเลียนแบบทีเถอะ…อเล็กซ์ภาวนา (อีกแล้ว)

โชคไม่ดีที่คำภาวนาของเขาไม่ประสบผล อิงบาล ริฟลิน (Inbal Rivlin) ผู้อำนวยการทั่วไปของพิพิธภัณฑ์ยืนยันว่าไหนี้น่าจะมีอายุราวๆ สามพันห้าร้อยปี เป็นของแท้ที่มาจากแหล่งขุดทางโบราณคดีร้อยเปอร์เซ็นต์ และเป็นหนึ่งในไหที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดที่เคยขุดได้มา ส่วนใหญ่ไหไซซ์ขนาดนี้ที่ขุดได้ มักจะมีรอยบิ่น หรือไม่ก็แตกหักไปบางส่วน แต่ชิ้นนี้คือเอกอุ สภาพสวยกริบ

ถือเป็นของเก่าโบราณที่มีหนึ่งเดียว หาได้ยากยิ่ง

 

นี่คือฝันร้ายที่น่ากลัวที่สุด ที่จะเกิดขึ้นได้กับครอบครัวหนึ่ง…เพราะในกรณีนี้ สิ่งที่แตกไปคือไหโบราณล้ำค่า ค่าเสียหายน่าจะหนักหนาสาหัสไม่น้อย

“ถ้าเราต้องจ่าย เราจะจ่าย อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด” อเล็กซ์และภรรยาทำใจยอมรับ พวกเขาไม่คิดหนี แต่ไปติดต่อขอคุยกับเจ้าหน้าที่เพื่อยอมรับผิด และบอกว่าพวกเขายินดีจ่ายค่าชดใช้ความเสียหาย แม้อาจจะต้องขายบ้าน ขายรถมาใช้ก็ยอม

แต่พวกเขาก็ต้องเซอร์ไพรส์ เพราะหลังจากที่พนักงานรักษาความปลอดภัย และผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ได้ดูกล้องวงจรปิด พวกเขามองว่านี่ไม่ได้เป็นการก่อการร้าย หรือจงใจบ่อนทำลาย อีกทั้งทางพิพิธภัณฑ์ก็มีประกันคุ้มครองของเสียหายอยู่ เรื่องนี้ก็เลยไม่เอาเรื่อง…

ทางพิพิธภัณฑ์ให้อภัย…และจะเชิญให้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ใหม่ หลังจากที่ไหซ่อมเสร็จ เพราะคราวที่แล้วยังไม่ทันได้ย่างเท้าเข้าไปข้างใน ก็เกิดเรื่องเสียก่อน

และนั่นเป็นอะไรที่ฟังดูทำให้ใจฟูสำหรับอเล็กซ์และพ่อแม่หลายคนที่มีลูกเล็ก เพราะบางที ด้วยความไม่ประสีประสาของเด็กๆ พลาดแค่นิดเดียวก็อาจเป็นเรื่องใหญ่ได้ แต่การที่มีแซนด์บอกซ์ด้านการศึกษาแบบนี้ให้เด็ก ทำให้ครอบครัวไม่กลัวที่จะส่งเสริมให้เด็กๆ กล้าที่จะแสดงออก และช่วยจุดประกายให้เด็กๆ กล้าคิดนอกกรอบ

 

แต่ถ้ามองอีกมุม ของล้ำค่าแบบนี้ทำไมไม่เอาไปใส่ไว้ในตู้โชว์ที่มีการป้องกันดีกว่านี้ แต่กลับเอามาตั้งโชว์ให้ใครก็จับได้ แตะได้เช่นนี้ พิพิธภัณฑ์คิดอะไรอยู่กันแน่

“ทางพิพิธภัณฑ์เชื่อว่ามันมีเสน่ห์พิเศษบางอย่างในการได้มีสัมผัสกับการค้นพบทางโบราณคดีโดยไม่มีอะไรมาขวางกั้น” อิงบาลกล่าว “เมื่อไรก็ตามที่เป็นไปได้ นิทรรศการของเราจะจัดแสดงแบบไม่มีรั้วกั้น ไม่มีแม้แต่กระจก”

เสน่ห์ที่ว่าจะทำให้เด็กๆ และคนชื่นชม และตื่นเต้นกับการได้เห็นของจริงแบบชิดใกล้ และไม่แน่บางคนอาจจะกลายมาเป็นนักโบราณคดีผู้บุกเบิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศหรือแม้แต่ของโลกก็ได้

อิงบาลเพิ่มเติมอีกว่า “นอกจากนโยบายอนุญาตให้แตะ ให้สัมผัสชิ้นงานได้แล้ว ตอนนี้ ทางพิพิธภัณฑ์มีแผนจะทำแบบจำลองโบราณวัตถุที่พิมพ์เป็นสามมิติออกมาให้เด็กๆ หยิบจับ เอาไปเล่นและเอาไปศึกษาได้อีกด้วย”

ซากของไหโบราณจะถูกส่งต่อไปให้ รอย ชาเฟอร์ (Roee Shafir) ผู้เชี่ยวชาญด้านการซ่อมแซมและฟื้นฟูโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์ ผู้ซึ่งจะค่อยๆ เชื่อมประกอบทุกชิ้นที่แตกหักไปของไหขึ้นมาใหม่ทีละส่วนด้วยกาวพิเศษอย่างระมัดระวังจนกลับมาเป็นไหใบใหม่ที่สมบูรณ์

นี่ไม่ใช่งานที่ยาก ปกติต่อเศษซากโบราณวัตถุที่ขุดมาจากไซต์งานยากกว่าเพราะไม่รู้ว่าชิ้นไหนแตกออกมาจากชิ้นไหน อันนี้ แรกเริ่มเดิมที มันมีอยู่ชิ้นเดียว ถ้าเก็บเศษมาครบ ก็เหมือนต่อจิ๊กซอว์ งานนี้ไม่ได้เป็นงานยาก แต่เป็นงานฝีมือที่ทั้งถึก ทั้งจุกจิก ทั้งละเอียด

…แต่รอยเชื่อมั่นว่าเขาทำได้ในอีกไม่กี่วัน

 

ที่ผมชอบที่สุดคือทางพิพิธภัณฑ์มองว่านี่คือโอกาสที่ดีจะบันทึกวิธีการที่รอยใช้ในการซ่อมแซมไหโบราณ ทุกสิ่งที่รอยทำจะถูกบันทึกเอาไว้เพื่อการศึกษาของคนรุ่นใหม่

และถ้าถามรอยว่าในฐานะคนที่ต้องมาคอยจัดการซ่อมแซม แก้ปัญหา เขาคิดอย่างไรกับการที่พิพิธภัณฑ์มีนโยบายเปิดให้คนมาแตะ มาสัมผัส มาเข้าถึงประสบการณ์กับชิ้นงานโบราณวัตถุแบบไม่มีผนังกั้น

คำตอบของรอยน่าสนใจ “ผมชอบให้คนได้สัมผัสนะ แค่อย่าทำมันพังก็พอ แต่การได้จับ ได้สัมผัสนี่ถือว่าสำคัญเลยทีเดียว”

และด้วยมุมมองที่เป็นบวกมากๆ ของภัณฑารักษ์ของที่นี่ ทำให้พิพิธภัณฑ์นี้ติดอยู่ในกระแสแห่งสื่อ อย่างน้อยก็ในเมืองนาฮาริยา ตอนนี้ ชื่อของพิพิธภัณฑ์เฮชต์ กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ไปแล้ว

และถ้ามองย้อนกลับไป บางคนอาจจะอยากบอกอเล็กซ์ว่า “ลูกของคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน” และมองว่าครอบครัวของเขาควรต้องจ่าย

แต่ถ้ามองในอีกมุม คนเรามันก็พลาดกันได้ ไม่มีใครหรอกที่อยากจะทำลายโบราณวัตถุล้ำค่าของประเทศและเสี่ยงต้องหาเงินมาจ่ายค่าเสียหายจนอานอ่วม

และที่น่าสนใจคือการที่พิพิธภัณฑ์ไม่เพียงแค่ปล่อยครอบครัวอเล็กซ์ไป แต่ยังแสดงความใส่ใจเชิญเขากลับมาเยี่ยมชมอีกครั้ง ในตอนที่ไหซ่อมเสร็จ จริงๆ แล้ว พิพิธภัณฑ์ไม่ได้เสียอะไร (เพราะมีประกัน และไหก็แตกไปแล้ว ไล่บี้ หรือปล่อยไป ยังไงก็ต้องซ่อมอยู่ดี) แต่สิ่งที่พิพิธภัณฑ์ได้เต็มๆ คือพื้นที่สื่อมากมายที่พูดเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับพวกเขา

หนึ่งสัปดาห์ก่อน ถ้าถามผมว่าพิพิธภัณฑ์เฮชต์อยู่ที่ไหน…ผมคงไม่สามารถจะบอกได้ แต่ใครจะรู้ อุบัติเหตุที่ทำให้การเสียไหโบราณหนึ่งใบ (ที่ซ่อมได้)…จะทำให้ชื่อของพิพิธภัณฑ์ของพวกเขาโด่งดังไปทั่วโลกได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าโฆษณา…

เรียกว่าใช้แนวคิดทะลุกรอบพลิกวิกฤตเป็นโอกาสขนานแท้เลย…