ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ขอแสดงความนับถือ |
เผยแพร่ |
ระหว่าง 31 สิงหาคม-1 กันยายน 2567 ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี
มีพิธีรำลึก 34 ปี การจากไปของ สืบ นาคะเสถียร
เป็น 34 ปี ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้ข้อมูลว่า จากผลงานวิจัยป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ในรอบ 34 ปี
พบว่า มีประชากรเสือโคร่งมากขึ้น
ทำให้เห็นว่าการทุ่มเทรักษาป่าที่ผ่านมาได้ผล
เพราะเสือมากขึ้น หมายถึงเหยื่อของเสือ และพืชพรรณต่างๆ สมบูรณ์
ตอนนี้ป่าที่สืบ นาคะเสถียร เสียสละชีวิตปกป้อง กลายเป็นความหวัง และตัวอย่างของการอนุรักษ์เสือโคร่งของโลกไปแล้ว
สืบ นาคะเสถียร สู้ให้มีผืนป่าอนุรักษ์ของประเทศไทยที่ 20 เปอร์เซ็นต์
น่ายินดีที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร บอกว่า ตอนนี้พื้นที่ป่าอนุรักษ์เกินกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ไปแล้ว
เป็นผลสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจในการผนวกรวมพื้นที่ป่าเป็นป่าอนุรักษ์ และในทุกๆ ปี
อย่างไรก็ตาม แม้ผืนป่าอนุรักษ์เพิ่มขึ้น
แต่ภาพรวมสถานการณ์ป่าไม้ของประเทศยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่ที่ 101,818,155.76 ไร่ หรือ 31.47 เปอร์เซ็นต์
ไทยควรมีความพยายามที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของประเทศ
จึงต้องการความร่วมมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่าเพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อสู้สภาวะ “วิกฤตโลก” ที่กำลังคุกคามความมั่นคงของการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ
อย่างที่เราเผชิญปัญหา “อุทกภัย” หนักตอนนี้
คอลัมน์ “สิ่งแวดล้อม” ของ “ทวีศักดิ์ บุตรตัน” ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้
ขับเน้นปัญหาน้ำท่วมที่หนักหน่วงในภาคเหนือและภาคใต้
เหยื่อผู้ประสบภัยแทบไม่มีเวลาตั้งตัวรับมือกับมวลน้ำที่ทะลักล้น
ทั้งๆ ที่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมามีการใช้งบประมาณสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมไปแล้วเป็นพันๆ ล้านบาท
แต่ก็เอาไม่อยู่
เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าแผนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาน้ำท่วมของชาติ
ล้มเหลวไม่เป็นท่า
หลังรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางยุทธศาสตร์ 20 ปี ในแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระหว่าง พ.ศ.2561-2580
หนึ่งในนั้น คือการแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำยม
รายงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
พบว่า ลุ่มน้ำยม ที่เจอวิกฤตอุทกภัยอย่างหนักขณะนี้
มีแผนพัฒนาแหล่งน้ำในช่วงปี 2562-2566 จำนวนมากถึง 22 โครงการ
ใช้งบประมาณรวมกันเกือบๆ หมื่นล้าน
และในอนาคต อาจมีการรื้อฟื้นการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ขึ้นมาอีก
คงเป็นประเด็นขัดแย้งกันอีกระหว่างฝ่ายหนุนและต้าน
ว่าที่จริงถ้าดูตามยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้ยาวถึง 20 ปี และใช้งบประมาณต่อเนื่องมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
“ทวีศักดิ์ บุตรตัน” บอกว่าน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ภาคเหนือได้บ้างแล้ว
แต่ผลปรากฏตรงกันข้าม ปีนี้น้ำท่วมหนักขึ้น รุนแรงขึ้น
ที่น่าประหลาดใจไปกว่านั้น
เมื่อดูรายงานการวิจัยเปรียบเทียบองค์กรการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้โครงการขับเคลื่อน แผนงานวิจัยด้านการจัดการน้ำ
พบว่าหน่วยงานการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยมีมากถึง 38 หน่วยงาน
ตั้งกระจัดกระจายใน 1 สังกัด 9 กระทรวง
ทวีศักดิ์ บุตรตัน จึงตั้งคำถามว่าน้ำท่วมหนักๆ แล้งจัดๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี
เป็นเพราะประเทศไทยมีหน่วยงานแก้ปัญหาเยอะเกินไป
ต่างฝ่ายต่างทำ
ไม่ได้คิดแผนเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นระบบ
เลยต้องเผชิญปัญหาน้ำซ้ำซากเช่นนี้
และในอนาคตอันใกล้ ต้องมาทะเลาะถกเถียงกันอีกว่าจะสร้างหรือไม่สร้างเขื่อนหรือไม่ •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022