‘คลอง ฟูนัน-เตโช’ จุดเดือดใหม่ใน ‘อ่าวไทย’

(Photo by Suy SE / AFP)

หากกวาดตามองไปทั่วเอเชียในเวลานี้ จะพบว่ามีจุดที่เรียกกันว่า “แฟลช พอยต์” หรือจุดที่อาจเป็นชนวนให้เกิดการปะทะกันด้วยกำลังระหว่างคู่ขัดแย้งมากมาย ไล่ตั้งแต่ไต้หวัน เรื่อยมาจนถึงหลายๆ จุดที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนกันในทะเลจีนใต้

แต่ ดิเรค กรอสแมน เพิ่งเขียนบทความแสดงความคิดเห็นเอาไว้ในนิกเกอิ เอเชีย เมื่อ 2 กันยายนที่ผ่านมานี่เองว่า จีนและกัมพูชา กำลังเปลี่ยน “อ่าวไทย” ให้กลายเป็นจุดที่อาจเป็นชนวนให้เกิดการปะทะกันแห่งใหม่ล่าสุด ขึ้นมาด้วยการเริ่มต้นขุดคลองที่มีชื่อเรียกว่า คลอง ฟูนัน-เตโช

ดิเรค กรอสแมน คือใคร?

 

เบื้องต้นก็คือ เขาเป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศประจำมหาวิทยาลัยเซาเธิร์น แคลิฟอร์เนีย ที่ในอดีตเคยเป็นถึงที่ปรึกษาด้านข่าวกรองประจำกระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา

นอกจากงานทางวิชาการแล้ว กรอสแมนยังทำหน้าที่เป็นนักวิเคราะห์ด้านกลาโหม ให้กับ แรนด์ คอร์ป. องค์กรวิชาการเอกชนชื่อดังด้านความมั่นคงในสหรัฐอเมริกา

ส่วนคลอง ฟูนัน-เตโช นั้นไม่ใช่คลองโดยธรรมชาติ หากแต่เป็น “คลองขุด” ที่ว่ากันว่า ขุดขึ้นมาสำหรับเป็นเส้นทางเชื่อมโยงกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา เข้ากับพื้นที่ท้องทะเลในอ่าวไทย

นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต เพิ่งไปเป็นประธานประกอบพิธีเริ่มต้นการก่อสร้างคลองที่ว่านี้อย่างเป็นทางการไปเมื่อ 5 สิงหาคมที่ผ่านมานี่เอง

สื่อกัมพูชาให้ข้อมูลเอาไว้ว่า คลองขุดระยะทาง 180 กิโลเมตรเส้นนี้ จะทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าทางเรือที่เดิมต้องผ่านเวียดนาม อันเป็นจุดที่แม่น้ำโขงออกสู่ทะเลลง ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และสร้างรายได้ให้กัมพูชามากถึงปีละ 88 ล้านดอลลาร์

แต่สิ่งที่กรอสแมนตั้งเป็นข้อกังขาเอาไว้ก็คือ คลอง ฟูนัน-เตโช นี้ อาจไม่ได้มีขึ้นเพราะผลประโยชน์ของกัมพูชาเท่านั้น แต่ยังอาจรวมถึงผลประโยชน์มหาศาลของจีน ที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการขุดคลองนี้ทั้งหมด เป็นมูลค่าถึง 1,700 ล้านดอลลาร์

ถือเป็นการลงทุนเพื่อเปลี่ยนทางออกทะเลของแม่น้ำโขงจากเวียดนามมาเป็นอ่าวไทย ที่ต้องใช้ต้นทุนสูงเอามากๆ

ตั้งข้อสังเกตแถมพกไว้ด้วยว่า เรือที่ผ่านลงมานั้นอาจไม่ใช่เรือสินค้าอย่างเดียวกระมัง

กรอสแมนย้ำไว้ชัดเจนว่า หากทุกอย่างแล้วเสร็จเรียบร้อย ฟูนัน-เตโช จะเป็นเส้นทางที่อำนวยให้จีนสามารถบรรลุถึงท้องทะเลอ่าวไทยได้โดนตรงเป็นครั้งแรก ชนิดที่ไม่เคยทำได้มาก่อน

เขาระบุเอาไว้ว่า “มีเหตุผลดีๆ มากมาย” ที่ทำให้เชื่อได้ว่า ต่อไป ทางการจีนก็คงส่งกำลังทหารเรือมาลาดตระเวนประจำเส้นทางสายนี้แม้เริ่มแรกจะมีปัญหาโดยธรรมชาติมากมายก็ตามที

แต่กรอสแมนบอกว่า ปัญหาจะใหญ่โตขึ้นในระยะยาว เพราะเชื่อว่าในที่สุดแล้ว “กองกำลังทางน้ำ” ของจีน ไม่ว่าจะเป็นกองทัพเรือ กองเรือยามฝั่ง หรือกองกำลังในคราบประมงของจีน จะใช้เส้นทางนี้เพื่อเคลื่อนกำลังมาประจำในอ่าวไทยได้โดยตรง

โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ

 

ประการแรกสุดก็คือ การกำจัด “ช่องแคบมะละกา” ไม่ให้เป็นจุดอ่อนของจีนอีกต่อไป

ช่องแคบมะละกา เป็นปัญหาของจีนมาโดยตลอด เพราะจีนเชื่อว่า สหรัฐอเมริกาและพันธมิตร จะใช้วิธีการปิดกั้นช่องแคบแห่งนี้ เพื่อตัดขาดการเชื่อมต่อไม่ให้จีนเดินทางผ่านสู่มหาสมุทรอินเดียได้ และไม่ให้ใครใช้การเดินทางผ่านช่องทางนี้ส่งสินค้าไปยังจีนได้ ในกรณีที่เกิดการปะทะขึ้นมา เช่น การตัดสินใจโจมตีเพื่อยึดครองไต้หวัน เป็นต้น

ประการถัดมา กรอสแมนเชื่อว่า โดยการใช้เส้นทางล่องลงมาตามลำน้ำโขง ซึ่งต้นน้ำอยู่บนที่ราบสูงทิเบต สามารถช่วยย่นระยะเวลาในการเคลื่อนกำลัง ไม่จำเป็นต้องอ้อมผ่านทะเลจีนใต้ เพื่อให้สามารถเข้าถึงพื้นที่อ่าวไทยได้อีกต่อไปแล้ว

ไม่เพียงเคลื่อนกำลังได้เร็วขึ้นเท่านั้น ยังจำกัดโอกาสที่กองกำลังจะถูกโจมตีระหว่างการเคลื่อนกำลังลงมากอย่างยิ่งอีกด้วย

ประการสุดท้าย เป็นเรื่องของผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ นั่นคือ ทำให้กองกำลังของจีนสามารถมีฐานเพื่อการโจมตีเวียดนามจากทางตะวันตกได้ ในกรณีที่ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศลุกลามขึ้นเป็นสงคราม ไม่ได้จำกัดแค่เพียงการโจมตีจากฟากตะวันออกเหมือนแต่เดิมเท่านั้น

ที่สำคัญก็คือ สามารถลดคุณประโยชน์ของฐานทัพเรือที่อ่าวคัมรันห์ลงจนแทบเป็นศูนย์

 

ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการของกรอสแมน ก็คือ โครงการคลองขุด ฟูนัน-เตโช นี้ สอดคล้องเป็นอย่างดีกับโครงการก่อนหน้านี้ของจีนในกัมพูชา นั่นคือโครงการบูรณะฐานทัพเรือเรียม ของกัมพูชาริมขอบอ่าวไทย

เขาให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงที่มาของฐานทัพแห่งนี้ว่า เมื่อปี 2020 จู่ๆ ทางการกัมพูชาก็รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่สหรัฐอเมริกาเคยสร้างไว้ที่ฐานทัพแห่งนี้ทิ้ง โดยไม่มีการบอกเล่าเก้าสิบใดๆ จากนั้นก็ติดต่อให้ทางการจีนเข้ามา “บูรณะ” ฐานทัพแห่งนี้ให้ทันสมัยจนแล้วเสร็จ

ชนิดที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายคิดตรงกันว่า เรียมกลายเป็นฐานทัพที่พร้อมสำหรับการส่งกำลังเข้ามาประจำการเมื่อใดก็ได้ในอนาคต

เหล่านี้คือเรื่องราวของคลอง ฟูนัน-เตโช ในความคิดเห็นของ ดิเรค กรอสแมน ที่หยิบเอามาเล่าสูกันฟังพอสังเขป จริงเท็จประการใดก็ยังไม่รู้

เผื่อว่า ใครฟังแล้วจะรู้สึก หนาวๆ ร้อนๆ ขึ้นมาบ้างว่า ความขัดแย้งของมหาอำนาจชักใกล้ตัวเราเข้ามาทุกทีแล้ว