ปิยบุตร แสงกนกกุล : ศาลรัฐธรรมนูญ (4)

ระบบกระจายอำนาจการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปให้ศาลทุกศาล หรือ รูปแบบอเมริกา (American Model) มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง

ในด้านจุดอ่อนนั้น อาจแบ่งแยกได้เป็นสองประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่

ประเด็นการแทรกแซงทางการเมือง และประเด็นความแน่นอนชัดเจนในระบบกฎหมาย

ในส่วนของจุดแข็งนั้น อาจแบ่งแยกได้เป็นประเด็นเรื่องความเป็นกลางและอิสระ

และประเด็นเรื่องความง่ายและไม่สลับซับซ้อน

จุดอ่อนประเด็นแรกนั้น สืบเนื่องมาจากลักษณะของระบบกระจายอำนาจการตรวจสอบที่เปิดโอกาสให้ศาลทุกศาลสามารถตรวจสอบได้ว่ากฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในขณะที่ประเด็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น โดยส่วนใหญ่แล้ว มักหนีไม่พ้นการคาบเกี่ยวกันระหว่างประเด็นทางการเมืองหรือนโยบายกับประเด็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย เมื่อศาลทั้งหมดสามารถวินิจฉัยเรื่องเหล่านี้ได้ ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดกรณีที่ศาลเข้ามาพัวพันเกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง

จุดอ่อนประเด็นถัดมาเกี่ยวข้องกับความมั่นคงแน่นอนในระบบกฎหมาย เมื่อศาลทุกศาลมีอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายแล้ว ย่อมเป็นไปได้ว่าศาลแต่ละศาลอาจวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นดังกล่าวแตกต่างกันไป

กรณีเช่นนี้ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความไม่มั่นคงชัดเจนในระบบกฎหมาย องค์กรของรัฐและปัจเจกบุคคลไม่อาจทราบได้ว่า ถึงที่สุดแล้วกฎหมายฉบับหนึ่งขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด

ในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุดนั้น องค์กรของรัฐย่อมไม่แน่ใจว่าจะใช้บังคับกฎหมายนั้นดีหรือไม่ ส่วนปัจเจกบุคคลก็ไม่แน่ใจว่าจะถือปฏิบัติตามกฎหมายนั้นหรือไม่ ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินสะดุดและปัจเจกบุคลไม่อาจตัดสินใจดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นใจ

นอกจากนี้ ศาลทุกศาลในระบบนี้ยังไม่มีอำนาจในการประกาศให้กฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญสิ้นผลไป ศาลทำได้เพียงวินิจฉัยว่ากฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับแก่คดีนั้นขัดรัฐธรรมนูญ และไม่นำกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี

ส่วนกฎหมายจะสิ้นผลใช้บังคับหรือไม่ ย่อมขึ้นกับว่ารัฐสภาจะตรากฎหมายยกเลิกหรือไม่ แม้โดยทั่วไปแล้ว รัฐสภาอาจตรากฎหมายมายกเลิกกฎหมายที่ศาลชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรของรัฐต่างๆ อาจไม่นำกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับก็ตาม

ระบบกระจายอำนาจการตรวจสอบให้ศาลทุกศาลก็มีจุดแข็งด้วยเช่นกัน เมื่อศาลทุกศาลมีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย นั่นหมายความว่า คนที่ทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นดังกล่าว คือ บรรดาผู้พิพากษาอาชีพทั้งหมดที่ถูกฝึกฝนมาอย่างมืออาชีพ มีหลักประกันความเป็นกลางและอิสระ โอกาสที่การเมืองจะเข้าแทรกแซงเป็นไปได้ยาก

นอกจากนี้ เมื่ออำนาจการตรวจสอบกระจายไปยังทุกศาล ทำให้ “การยึดและครอบงำศาล” ทำได้ยาก หากพลังทางการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งปรารถนาจะยึดศาลทั้งระบบย่อมเป็นไปได้ยากกว่าการยึดศาลเฉพาะเพียงศาลเดียว

อีกทั้งบรรดาผู้พิพากษาที่กระจัดกระจายไปทั่วประเทศ ต่างก็มีความคิดที่แตกต่างหลากหลาย ในขณะที่หากมีศาลเฉพาะเพียงศาลเดียวทำหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น ระบบการคัดเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งย่อมพัวพันกับกลุ่มหรือพรรคการเมืองต่างๆ ไม่มากก็น้อย

ข้อดีอีกประการหนึ่ง คือ วิธีพิจารณาคดีไม่สลับซับซ้อน และการพิจารณาคดีดำเนินไปได้อย่างไม่ล่าช้า เพราะศาลจะวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ต่อเมื่อมีประเด็นว่ากฎหมายที่จะนำมาใช้แก่คดีนั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อเกิดประเด็นดังกล่าวขึ้น ศาลแห่งคดีนั้นก็มีอำนาจวินิจฉัยประเด็นได้เอง โดยไม่ต้องเสนอเรื่องไปให้ศาลอื่นวินิจฉัยให้ยุ่งยากและเสียเวลา

จากประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ที่นำระบบกระจายอำนาจการตรวจสอบไปยังศาลทุกศาลไปใช้นั้น พบว่ามีทั้งกรณีที่ศาลได้สร้างผลงานก้าวหน้าและช่วยพิทักษ์รักษาสิทธิของประชาชน และก็มีทั้งกรณีที่คำพิพากษาของศาลเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งกับองค์กรตุลาการ จนบานปลายกลายเป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญ

ในที่นี้ จะขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจซึ่งเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและอินเดีย

กรณีของสหรัฐอเมริกา ศาลสหรัฐอเมริกาได้เปลี่ยนแนวคำพิพากษาบรรทัดฐานไปในทิศทางที่ก้าวหน้ามากขึ้นและคุ้มครองความเสมอภาคและสิทธิของบุคคลมากขึ้น

เช่น ในคดี Plessy v. Ferguson ปี 1896 ศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาได้ตีความบทบัญญัติที่ว่า “การคุ้มครองความเสมอภาคตามกฎหมาย” เพื่อรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแบ่งแยกที่นั่งบนรถไฟระหว่างคนขาวกับคนดำ ในกรณีที่แบ่งแยกแล้วคนดำได้ประโยชน์แต่คนขาวเสียประโยชน์ เพราะศาลถือว่าเป็นการ “แบ่งแยกแต่เสมอภาค”

เกือบ 60 ปีต่อมา ศาลสูงสุดได้กลับแนวใหม่ในคดี Brown v. Board of Education (1954) โดยมีข้อเท็จจริงว่า ลินดา บราวน์ สมัครเข้าเรียนโรงเรียนประถมของคนผิวขาวที่ตั้งอยู่ข้างบ้าน แต่โรงเรียนไม่รับสมัคร เธอจึงมาฟ้องต่อศาล

ในคดีนี้ ศาลสูงได้กลับหลักจากคดี Plessy v. Ferguson โดยให้เหตุผลว่า “เราไม่อาจหมุนนาฬิกาย้อนกลับไปปี 1868 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องความเสมอภาค เช่นกัน เราไม่อาจย้อนไปปี 1896 ปีที่ตัดสินคดี Plessy v. Ferguson เราต้องพิจารณาการศึกษาสาธารณะในฐานะเป็นดังแสงสว่างของการพัฒนา และอยู่ในชีวิตของคนอเมริกันทั่วทั้งชาติ เพียงเท่านี้เราก็จะพิจารณาได้ว่าการแบ่งแยกสีผิวในโรงเรียนของรัฐละเมิดหลักการคุ้มครองความเสมอภาคตามกฎหมายหรือไม่” และวินิจฉัยว่าการแบ่งแยกสีผิวขัดรัฐธรรมนูญ

บทบาทของศาลสหรัฐในการตรวจสอบว่ากฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นขัดรัฐธรรมนูญ ได้นำมาซึ่งความขัดแย้งกับฝ่ายการเมืองอยู่เหมือนกัน

เช่น ในสมัยของประธานาธิบดีรูสเวล9N มีนโยบาย New Deal เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมในสังคม โดยเพิ่มบทบาทของรัฐในการแทรกแซงทางเศรษฐกิจ

รัฐสภาได้ตรากฎหมายจำนวนมากเพื่อใช้เป็นเครื่องมือของนโยบาย New Deal

อย่างไรก็ตาม ศาลสูงสหรัฐอเมริกาได้ “ล้ม-ขัดขวาง” กฎหมายที่กำหนดโครงการต่างๆ ตามนโยบาย New Deal ด้วยการวินิจฉัยว่ากฎหมายเหล่านั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ เช่น กฎหมายกู้วิกฤตเหมืองแร่ กฎหมายกำหนดค่าแรงขั้นต่ำของสตรี เป็นต้น

เมื่อนโยบาย New Deal ต้องสะดุดบ่อยครั้ง เพราะศาลวินิจฉัยว่ากฎหมายที่เป็นเครื่องมือการดำเนินตามนโยบายนี้ขัดรัฐธรรมนูญ

ประธานาธิบดีรูสเวลต์จึงทนไม่ได้ ต้องประกาศขู่ว่าจะผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปศาลสูงตามนโยบาย Court Packing

เช่น ให้ประธานาธิบดีมีอำนาจแต่งตั้งผู้พิพากษาเพิ่มมากขึ้น

จากนั้น ศาลสูงสุดก็มีท่าทีอ่อนลงอย่างเห็นได้ชัด

ประกอบกับผู้พิพากษาศาลสูงที่ต่อต้านลัทธิแทรกแซงทางเศรษฐกิจโดยรัฐได้พ้นจากตำแหน่งไปหลายคน ทำให้ประธานาธิบดีรูสเวลต์มีโอกาสแต่งตั้งผู้พิพากษาใหม่ๆ เข้าไปแทน

เมื่อรัฐสภาตรากฎหมายออกมาใหม่ (ซึ่งก็มีเนื้อความทำนองเดียวกันกับกฎหมายที่ศาลสูงสุดเคยวินิจฉัยไปแล้วว่าขัดรัฐธรรมนูญ)

ศาลสูงสุดก็วินิจฉัยว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ก่อนหน้านั้น ในคดี Pollock v. Farmers” Loan Trust Co. ศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาได้วินิจฉัยว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจตรากฎหมายเก็บภาษีเงินได้ทั่วประเทศ ภายหลังคำพิพากษานี้ รัฐสภาเห็นว่าศาลสูงสุดล้ำแดนในทางนโยบายและทางการเมืองของฝ่ายการเมืองมากจนเกินไป จึงหาทางตอบโต้คำพิพากษาดังกล่าว ด้วยการใช้ “อาวุธ” สุดท้ายที่รัฐสภามี คือ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

รัฐสภาได้ตรากฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 16 ปี 1913 เพื่อ “ลบ” หลักการจากคำพิพากษาดังกล่าว ด้วยการกำหนดในรัฐธรรมนูญชัดเจนเลยว่า รัฐสภามีอำนาจตรากฎหมายเก็บภาษีทางตรงประเภทภาษีเงินได้ได้ เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้แล้ว ก็เป็นอันว่า ไม่มีทางที่อำนาจของรัฐสภาในการตรากฎหมายเก็บภาษีทางตรงประเภทภาษีเงินได้ จะขัดรัฐธรรมนูญอีกต่อไป

ในตอนหน้า จะกล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐสภาอินเดียกับศาลสูงสุดอินเดียที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ราวกับมหากาพย์รามเกียรติ์