ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เมนูข้อมูล |
เผยแพร่ |
เมนูข้อมูล | นายดาต้า
‘ทักษิณ’ ลุย – ‘อุ๊งอิ๊ง’ รับ
ระหว่าง “ความฝัน ความเชื่อ” ที่เป็นภาพ “จินตนาการ” กับ “ความเป็นจริง” ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น ใช่ว่าจะดำเนินสอดคล้องกันเสมอ
เมื่อผ่านประสบการณ์มาระดับหนึ่งทุกคนต้องต่างรับรู้ว่ามีมากมายที่เรื่องไม่ได้เป็นอย่างที่ฝันที่เชื่อว่าจะเป็น
มีไม่น้อยที่ “ภาพจินตนาการงดงาม” กลับทำลายสิ่งที่พยายามสร้างตามความคิดให้เป็นจริง
คนจำนวนมาก โดยเฉพาะที่รู้สึกสิ้นหวังกับความเป็นไปของชาติใน “ยุทธการแช่งแข็งประเทศ” ซึ่งเริ่มต้นการรัฐประหารเมื่อปี 2549 และอีกครั้งเมื่อปี 2557 มีปฏิบัติการต่อเนื่องมาอีก 10 ปี หลังได้ฟังปาฐกถาแสดง “วิชั่น” เมื่อเร็วๆ นี้ของ “ทักษิณ ชินวัตร” ว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ “แพทองธาร ชินวัตร” ทายาทของครอบครัวจะทำพาประเทศไปทางไหน ด้วยวิธีการใด ย่อมเกิดความรู้สึกว่า “ความหวังที่สลายหายไป” นั้นเริ่มมีวี่แววที่จะฟื้นคืนแล้ว
เพราะแต่ละโครงการที่อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่าเป็นผู้นำที่สร้างผลงานพัฒนาสู่ความรุ่งเรืองได้ชัดเจนผู้นี้แสดงไว้ในวิชั่น สามารถนำพาประเทศให้พ้นจากวิกฤตที่สะสมมาเกือบ 20 ปีได้
แต่อย่างที่บอก นั่นเป็น “ความเชื่อ ความหวัง” ที่ยังเป็นไปได้ว่านำมาลงมือปฏิบัติการให้เป็นจริงแล้ว จะเกิดอุปสรรคขัดขวางมากมาย จนอาจจะไม่สำเร็จ
หรือบางโครงอาจจะถึงขั้นเริ่มต้นปฏิบัติไม่ได้
“นิด้าโพล” ล่าสุด สำรวจเรื่อง “ทักษิณคิด นายกฯ อุ๊งอิ๊งทำ…ดีไหม?” โดยนำเอาบางโครงการที่ “ทักษิณ” เสนอในการแสดงวิสัยทัศน์มาให้ถามความเห็นประชาชน ผลออกมาว่า
“การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเงินสดให้แก่กลุ่มคนเปราะบางและกลุ่มคนพิการ ในเดือนกันยายนนี้” ร้อยละ 53.74 เห็นด้วยมาก, ร้อยละ 21.14 ค่อนข้างเห็นด้วย, ร้อยละ 17.56 ไม่เห็นด้วยเลย, และร้อยละ 7.56 ไม่ค่อยเห็นด้วย
“การเวนคืนรถไฟฟ้าบางสายจากภาคเอกชนมาให้รัฐบาลบริหาร เพื่อให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง” ร้อยละ 43.82 เห็นด้วยมาก, ร้อยละ 25.88 ค่อนข้างเห็นด้วย, ร้อยละ18.09 ไม่เห็นด้วยเลย, ร้อยละ 8.93 ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 3.28 ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
“การให้สิทธิชาวต่างชาติซื้อที่อยู่อาศัยในรูปแบบการเช่าที่ดิน 99 ปี หลังจากนั้นจึงจะโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของรัฐ” ร้อยละ 70.92 ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 14.11 ไม่ค่อยเห็นด้วย, ร้อยละ 7.79 ค่อนข้างเห็นด้วย, ร้อยละ 6.26 เห็นด้วยมาก และร้อยละ 0.92 ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
“การออกใบอนุญาตการลงทุนเอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ที่มีทั้งกาสิโน สวนสนุก และโรงแรม” ร้อยละ 44.81 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย, ร้อยละ 19.39 ระบุว่า เห็นด้วยมาก, ร้อยละ 17.79 ค่อนข้างเห็นด้วย, ร้อยละ 16.72 ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 1. ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
“การแก้ไขปัญหาธุรกิจที่ผิดกฎหมายให้ถูกต้อง เพื่อนำภาษีที่จัดเก็บได้มาพัฒนาด้านการศึกษา” ร้อยละ 34.81 เห็นด้วยมาก, ร้อยละ 34.20 ไม่เห็นด้วยเลย, ร้อยละ 21.60 ค่อนข้างเห็นด้วย, ร้อยละ 8.63 ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.76 ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
จากความเห็นของประชาชนที่ออกมาเช่นนี้ ย่อมสะท้อนว่าความรู้สึกนึกคิดของคนไทยส่วนใหญ่ ยังมีจุดจุดแบ่งระหว่างประโยชน์ที่ตัวเองได้รับการบางสิ่งบางอย่างที่ขัดแย้งกับสิ่งที่ยึดถือเป็นคุณค่าของส่วนรวมในใจ
ชัดเจนว่ามีความเห็นดีเห็นงามเต็มที่กับประโยขน์ที่ได้รับ ไม่ว่าจะเงินที่ได้รับแจกจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต การได้รับค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ถูกลง และการได้รับการศึกษาที่ดีกว่า
แต่ในโครงการที่คิดทำ เพราะจำเป็นต้องหาเงินมาเป็นงบประมาณเพื่อจ่าย ซึ่งต้องเสี่ยงกับเส้นที่ยึดถือว่าเป็นศีลธรรมที่เชื่อว่าเป็นอันดี หรือเป็นค่านิยมที่คุ้นชินของสังคมไทย จะแสดงออกถึงการไม่ยอมที่จะสูญเสียเพื่อแลก แม้จะเป็นรายได้ที่จำเป็นต้องแสวงหามาจัดทำโครงการที่ทำให้ชีวิตคนส่วนใหญ่ดีขึ้น อย่างเช่น การไม่เห็นด้วยกับ “โครงการให้เช่าที่ดิน 99 ปี” หรือ “โครงการสร้างบ่อนกาสิโนถูกกฎหมาย”
กรอบความคิดเช่นนี้ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าย้อนแย้งอย่างยิ่ง และเป็นไปได้ที่จะก่อปัญหาให้กับรัฐบาลที่มีหน้าที่จัดการนำพาประเทศสู่ความเจริญรุ่งเรื่อง
เนื่องจากความคิดของผู้บริหารเห็นความจำเป็นกู้วิกฤตและดูแลชีวิตของประชาชนโดยต้องสร้างช่องทางหารายได้มาเพื่อจ่าย
แต่ประชาชนส่วนใหญ่แม้พร้อมจะรับในประโยชน์ที่รัฐบาลเสนอให้ แต่กลับไม่พร้อมที่จะยอมรับการสูญเสียค่านิยมบางอย่างที่เคยชินไป
ท่ามกลางการเมืองที่ยังระอุอยู่กับเกมช่วงชิงอำนาจ แม้จะมีสัญญาณว่า “ทักษิณ ชินวัตร” มีแนวโน้มจะกุมอำนาจได้อย่างมีเสถียรภาพระดับหนึ่ง
แต่เพราะถึงที่สุดแล้วผู้ที่จะต้องเผชิญหน้ากับแรงต้าน อันหมายถึงต้องรับความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีทำลายเป็น “แพทองธาร” ซึ่งรับรู้กันอยู่ว่าเป็น “ไข่ในหิน” ที่ “ครอบครัวชินวัตร” จะยอมให้ต้องรับชะตากรรมเหมือน “ทักษิณ ผู้พ่อ” และ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เป็นอา” ไม่ได้
ทำให้โครงการที่อ่อนไหวต่อการต่อต้าน จะต้องถูกทำมาทบทวนอย่างหนัก ว่าคุ้มค่า หรือจะฝ่าต้านการต่อต้านไปโดยไม่มีอันตรายหรือไม่
ซึ่งหากที่สุดเห็นว่าเสี่ยงเกินไป ย่อมมีโอกาสที่จะชะลอ ล้มเลิกไป
ซี่งหากเป็นเช่นนั้น ย่อมหมายความว่าโครงการที่จะหาเงินมาเพื่อใช้จ่ายต้องหยุดไป ซึ่งทำให้กระทบต่อการดำเนินโครงการในฝั่งที่ต้องใช้เงิน ที่อาจจะต้องชะงักไปโดยปริยาย
“ความฝัน ความเชื่อ” อาจจะเป็น “จินตนาการในภาพที่เป็นความหวัง” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะเกิดขึ้น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022