ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
ในตอนที่ผ่านๆ มา เราได้กล่าวถึงศิลปินไทยผู้มีชื่อเสียงและผลงานโดดเด่นในระดับสากลไปหลายต่อหลายคนแล้ว
ในตอนนี้เราขอกล่าวถึงศิลปินไทยอีกคน ที่มีชื่อเสียงและผลงานโดดเด่นในแวดวงศิลปะระดับโลกอย่างไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า
อารยา ราษฎร์จำเริญสุข (Araya Rasdjarmrearnsook)
จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและโทที่มหาวิทยาลัยศิลปากร
และได้รับทุนไปศึกษาต่ออีกสองครั้งที่มหาวิทยาลัยศิลปะ HBK (ชื่อย่อของ Hochschule f?r Bildende K?nste Braunschweig) ที่เมืองเบราชไวก์ ประเทศเยอรมนี
ในช่วงแรกของการเป็นศิลปิน อารยาสร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์ที่ได้แรงบันดาลใจจากความทรงจำวัยเยาว์และความรู้สึกนึกคิดของสตรีเพศด้วยองค์ประกอบภาพอันลึกซึ้งเปี่ยมอารมณ์ จนได้รับรางวัลจากเวทีประกวดทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
ก่อนที่จะหันเหไปทำงานประติมากรรมและศิลปะจัดวางอันเข้มข้น หนักหน่วง สะเทือนใจ
ตามมาด้วยงานศิลปะภาพเคลื่อนไหวและวิดีโอบันทึกการแสดงสด ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความทรงจำส่วนตัว ความสูญเสีย สถานภาพของผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่
และความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตและความตาย ผ่านกลวิธีที่ท้าทายจิตสำนึกและเส้นแบ่งทางศีลธรรมของผู้ชม ด้วยภาพและเรื่องราวที่ช็อกความรู้สึกและรบกวนจิตใจของผู้ชมอย่างมาก
อาทิ ในผลงาน “การท้องเก้าวันของรองศาสตราจารย์วัยกลางคนผู้เป็นโสด” (Nine-Days Pregnancy of A Single, Middle-Aged Associate Professor, 2005) ที่เธอได้ทุนจากรัฐบาลเยอรมนีอีกครั้งหนึ่ง (ซึ่งให้เธอไปค้นคว้าอะไรก็ได้หลังจากการศึกษาระยะยาวไปแล้ว)
เมื่อเดินทางกลับมา อารยาทำศิลปะการแสดงสด ด้วยการแต่งตัวเป็นผู้หญิงมีครรภ์ไปสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเวลาเก้าวัน จนสร้างความฉงนสนเท่ห์และประหลาดใจให้กับนักศึกษา คณาจารย์และคนทำงานแวดล้อมที่อยู่ในมหาวิทยาลัยกับเธอเป็นอย่างยิ่ง
หรือผลงาน “ทำไมจึงมีรสกวีแทนความรู้ทัน?” (Why is it poetry rather than awareness, 2002)” ที่อารยาไปอ่านบทกวีให้ร่างไร้ชีวิตในห้องดับจิต
หรือการสอนหนังสือและทำสัมมนากับศพคนตายในผลงาน “สนทนากับความตายบนถนนสายแรกของชีวิต” (Conversation with Death on Life”s First Street, 2005)” และ “The Class (2005)” ที่สร้างความตื่นตะลึงพร้อมกับคำถามหลายแง่มุมแก่วงการศิลปะ แม้ในระดับสากลก็ตามที
และในผลงานศิลปะอันท้าทายของอารยาอีกชิ้นอย่าง “ถ้อยความจากห้วงเวลาพิเศษ เรื่องของนักเล่าแห่งเมือง ผู้ป่วยทางจิตสตรี (Great Times Message Storytellers of the Town: the insane, 2006)” ที่อารยาทำการสัมภาษณ์ผู้ป่วยโรคจิตเพศหญิงตัวต่อตัวและทำการบันทึกเป็นวิดีโอเอาไว้
หรือในผลงาน “ในความพร่ามัวของปรารถนา (In a Blur of Desire, 2007)” ที่อารยานำกล้องวิดีโอไปถ่ายภาพวัว ควาย และหมูที่กำลังจะถูกเชือดในโรงฆ่าสัตว์ เพื่อบันทึกห้วงความรู้สึกก่อนตายของสัตว์เหล่านั้นเอาไว้และถ่ายทอดให้ผู้ชมได้รับรู้
หรือผลงานศิลปะที่เป็นเสมือนการลดความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งของศิลปะ ด้วยการหยิบเอาภาพวาดของศิลปินชั้นครูระดับตำนานและผลงานของศิลปินชื่อดังของโลก (ของจำลอง) ออกไปวางไว้ในพื้นที่ชนบท ชุมชน เรือกสวนไร่นา วัดวาอาราม ให้ชาวบ้านร้านตลาด ชาวไร่ ชาวนา พระภิกษุสงฆ์ ได้ดูชมและวิพากษ์วิจารณ์กันในผลงาน “The Two Planets (2008)” เป็นอาทิ
ผลงานของอารยามักเป็นการสำรวจปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เป็นคู่ตรงข้าม หากแต่ก็มีขอบเขตที่เหลื่อมซ้อนกัน ไม่ว่าจะเป็น ชีวิตและความตาย มนุษย์และสัตว์ เสรีภาพและกฎเกณฑ์ เธอกระตุ้นให้ผู้ชมขบคิดและหาความหมายใหม่ๆ ของขอบเขตและเส้นแบ่งของคู่ตรงข้ามเหล่านี้
ผลงานของอารยาได้แสดงในนิทรรศการทั้งเดี่ยวและกลุ่ม ทั้งในประเทศและนานาประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในการแสดงนิทรรศการเดี่ยวที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เจ้าฟ้า หลายต่อหลายครั้ง ทั้งในปี 1987, 1992, 1994, 1995 และ 2002
และร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 51 ในปี 2005 ที่เมืองเวนิส อิตาลี
หรือมหกรรมศิลปะ Documenta ครั้งที่ 13 ในปี 2012 ที่เมืองคาสเซิล ประเทศเยอรมนี
รวมถึงมีนิทรรศการแสดงเดี่ยวย้อนหลังที่ SculptureCenter ที่นิวยอร์กได้รับโหวตให้เป็นนิทรรศการเดี่ยวระดับท็อปจากสองสำนักพิมพ์ในปี 2015
และเข้าร่วมในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Singapore Biennale ในปลายปี 2016 อีกด้วย
นอกจากเป็นศิลปิน อารยายังเคยเป็น (อดีต) อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และดำรงตำแหน่งทางวิชาการในระดับศาสตราจารย์
โดยเธอเป็นคนก่อตั้งหลักสูตรศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ (MASTER OF ARTS PROGRAMME IN VISUAL ARTS) และหลักสูตรศิลปบัณฑิต สาขาวิชาสหศาสตร์ศิลป์ BACHELOR OF FINE ARTS PROGRAMME IN MULTIDISCIPLINARY ART) ซึ่งมีการเรียนการสอนที่ก้าวล้ำและแหวกขนบการศึกษาศิลปะในเมืองไทยอย่างยิ่ง
หลักสูตรการสอนศิลปะของเธอไม่เพียงไปไกลกว่าการไม่ทำงานศิลปะตามขนบอย่างที่เราคุ้นเคย เช่น การวาดรูป การปั้น การทำภาพพิมพ์
หากแต่มันสามารถเป็นสื่ออะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ เสียง งานเขียน บนฐาน time/space หรือกาลเทศะ หรือแม้แต่กิจกรรมในชีวิตประจำวัน
ว่ากันว่ามีครั้งหนึ่งเธอสอนสัมมนาศิลปะนักศึกษาปริญญาโทด้วยการร่วมกันอาบน้ำหมาในคณะกันเลยทีเดียว
หลายคนอาจไม่ทราบว่า นอกจากบทบาทศิลปินและอาจารย์สอนศิลปะแล้ว อารยายังมีอีกบทบาทในโลกวรรณกรรม ในฐานะนักเขียนอาชีพ ที่เขียนทั้งนิยาย เรื่องสั้น และมีผลงานรวมเล่มออกมาแล้วมากมาย รวมถึงเขียนบทความและเรื่องสั้นให้กับนิตยสารอีกหลายต่อหลายเล่ม
ซึ่งที่ผ่านมาเธอก็สวมบทบาททั้งการเป็นศิลปินและนักเขียนควบคู่กันไปอย่างแยกไม่ออก
สังเกตได้ง่ายๆ จากชื่องาน เนื้อหาประกอบนิทรรศการ ไปจนถึงองค์ประกอบทางภาษาในงานศิลปะของเธอ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยลีลาทางวรรณกรรมและรสแห่งความเป็นกวีควบคู่กันไปด้วย จนในช่วงสองสามปีให้หลังที่เธอค่อยๆ ร้างราจากบทบาทนี้ไป
ซึ่งผลงานทั้งหลายเหล่านี้ของเธอ นอกจากจะสร้างความช็อก ตื่นตะลึง และรบกวนความรู้สึกผู้ชมทุกชาติภาษาอย่างยิ่งแล้ว
มันยังท้าทายขนบและกรอบคิดของสังคมอนุรักษนิยมในบ้านเรา
จนทำให้เธอต้องประสบกับความยากลำบากหลายประการ
อาทิ เธอถูกผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการศิลปะและวิชาการปฏิเสธการยื่นขอตำแหน่งศาสตราจารย์ไปถึงสองครั้งสองครา (จนมาได้รับตำแหน่งในการยื่นครั้งที่สามในที่สุด)