ประชาชนจะสามารถเอาชนะ นายทุน ขุนศึก ศักดินา และกลุ่มทุนข้ามชาติได้อย่างไร

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

เมื่อพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง และครั้งนี้รวมเอาพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลด้วย ดังนั้น หากเทียบแล้วเท่ากับการรวมทุกกลุ่มการเมืองในการเลือกตั้งปี 2548 เข้าไว้ด้วยกัน โดยมีเพียง “พรรคประชาชน” เท่านั้นที่อยู่นอกสมการ

โดยกลุ่มรัฐบาลหากเปรียบเทียบแล้ว นอกจากพรรคเพื่อไทยที่เป็นตัวแทนกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ก็มีพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นตัวแทนอนุรักษนิยม พรรครวมไทยสร้างชาติที่เป็นตัวแทนของกลุ่มกองทัพ เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย และอื่นๆ ที่เป็นตัวแทนระบบหัวคะแนนและการเมืองบ้านใหญ่

ดังนั้น หากรวมจำนวน ส.ส.ทั้งหมดของกลุ่มพรรครัฐบาลนี้ ต่อให้ความนิยมของกลุ่มนี้จะลดลง 20-30% ก็ยังมีจำนวน ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของสภา

กล่าวคือ โอกาสที่พรรคประชาชนจะชนะต้องบอกว่าไม่ง่ายนักในทาง “คณิตศาสตร์การเมือง”

ยิ่ง ทักษิณ ชินวัตร ประกาศชัดเจนว่าการร่วมรัฐบาลต้องยึดตามพรรคการเมืองที่ได้ร่วมงานกันมาก่อนเป็นสำคัญ

แต่แน่นอนที่สุดว่าการเมืองไม่ใช่คณิตศาสตร์ และการคาดเดาทางตัวเลขก็เป็นสิ่งที่ผิดพลาดไม่สมบูรณ์อยู่เสมอ

ผู้เขียนจึงขอวิเคราะห์แนวทางสำคัญที่จะนำสู่ชัยชนะของ “ประชาชน” เหนือ “นายทุน ขุนศึก ศักดินา และกลุ่มทุนข้ามชาติ”

 

หลายปีก่อนผู้เขียนมีโอกาสชมภาพยนตร์ชุด “สามก๊ก-2010” ซึ่งนำประวัติศาสตร์จีนช่วง “สามก๊ก” มาแปลเป็นภาพยนตร์ชุดยาวหลายตอน ตั้งแต่กลียุคโจรโพกผ้าเหลือง ถึงตอนจบของยุคประวัติศาสตร์นั้น

มีฉากหนึ่งซึ่งเป็นฉากสำคัญเพื่อเปิดตัว “สุมาอี้” ซึ่งขณะนั้นยังเป็นทหารธรรมดาของกองทัพโจโฉ ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่า ไม่มีบทสนทนานี้ในวรรณกรรมหลัก แต่เสริมเพิ่มเพื่อให้ตัวละครมีความเด่นชัด

ในฉากสำคัญคือ หลังโจโฉแตกทัพเรือ กองทัพเกือบล้านพ่ายแพ้ย่อยยับ ปรึกษาเหล่าแม่ทัพอำมาตย์ ส่วนมากก็แนะนำวิธีการทางการสงครามเพื่อให้กลับมามีชัยชนะอีกครั้ง

แต่ในบทภาพยนตร์ สุมาอี้ซึ่งเป็นทหารธรรมดา สวนความคิดเห็นเหล่านั้นว่าเป็นเพียงความเห็นเพื่อเอาใจนาย ประชาชนเพิ่งบอบช้ำจากสงคราม ทำสงครามอีกคนยิ่งจะเบื่อหน่าย โกรธแค้น

สิ่งที่ควรทำคือ “หยุดสงครามใหญ่นานสิบปี ทำนุบำรุงประชาชน ขยายสวัสดิการประชาชน สนับสนุนการศึกษา ดูแลคนยากไร้ จากนั้นอาณาจักรจะมั่นคงเอง”

หรือหากจะให้ผมสรุปคือ สุมาอี้ในภาพยนตร์ แนะนำโจโฉว่า ให้เลิกปะทะกับก๊กต่างๆ ให้สร้างรัฐสวัสดิการดูแลประชาชน

จุดนี้ในการทำพรรคการเมืองก็อาจนำเป็นบทเรียนได้

ผู้เขียนมีโอกาสสังเกตการณ์ทำงานที่ใกล้ชิดของคนทำงานพรรคการเมือง ต้องบอกว่า เป็นงานที่เหนื่อย ยาก ลำบาก อุทิศตนทั้งทางกายและทางใจไม่น้อยกว่า “การทำสงครามจริงๆ”

เพราะเป็นงานที่ค่าตอบแทนต่ำ อาศัยอุดมการณ์สูง แตกต่างกับงานอื่น เมื่อเราทำงานเรายังได้ตำแหน่ง ได้เงินตอบแทนเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้

แต่งานการเมืองคืองานที่เป็นฐานให้คนที่เราไม่รู้จักมาก่อน ที่เราเอาความศรัทธาไปวางไว้ เมื่อบ่อยครั้งเกิดอุบัติเหตุในทางการเมือง เช่น ส.ส.ทรยศอุดมการณ์ ลดเพดานการต่อสู้ หรือแม้แต่การยุบพรรคการเมือง สิ่งนั้นส่งผลต่อความรู้สึกการทำงานของคนส่วนใหญ่อย่างมาก

หากผมเปรียบเทียบ แม่ทัพนายกอง หรือ ส.ส. กรรมการบริหาร อาจ “ยักไหล่แล้วไปต่อ” ได้อย่างสบาย

แต่การหันกลับมาดูอาสา พนักงานธรรมดา ที่เอาความศรัทธามาผูกไว้กับการต่อสู้ทางการเมือง การพัฒนาระบบสวัสดิการ ค่าจ้าง การดูแลอาสาเพื่อนร่วมทาง ซึ่งมีนับพันคนทั่วประเทศ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้การต่อสู้ระยะยาวเกิดขึ้นได้

 

ประการถัดมา กลไกการสร้างการมีส่วนร่วมยังเป็นเรื่องสำคัญในการคัดกรองผู้สมัคร และแกนนำเพื่อให้การบริหารจัดการยึดโยงกับประชาชนคนธรรมดา

บ่อยครั้งพรรคการเมืองเมื่อมาถึงแกนนำรุ่นที่ 3 หรือ 4 จะไม่ยึดโยงกับประชาชนและอุดมการณ์เหมือนกับแกนนำรุ่นแรก ที่เริ่มต้นจากความเป็นคนธรรมดาสามัญ

แต่การเริ่มต้นของพรรคประชาชน เริ่มต้นจากผู้คนที่เป็น ส.ส.สองสมัย ความรู้สึกถึงความสำคัญของการบริหารจัดการและการต่อรอง อาจถูกนำมาพิจารณาก่อนความเจ็บปวดของประชาชน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ผิด

แต่การคงไว้ซึ่งอารมณ์ ความรู้สึกความหมาย ความเจ็บปวดของคนธรรมดาก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามออกไปได้

อาจมีลู่ทางมากมายที่การประนีประนอมหรือเจรจาอาจรับประกันความสำเร็จระยะสั้นได้ แต่การกระทำที่สุดท้ายแล้ว เป็นการเดินหนีห่างจากความเจ็บปวดของประชาชนราวว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น

พรรคเพื่อไทยก็พิสูจน์แล้ว สุดท้ายเราก็ได้แค่นายกรัฐมนตรีเพิ่มมาอีกคนหนึ่ง และก็ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้

 

และสุดท้ายสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประชาชนชนะ รัฐบาลจะยังคงผูกขาดความกลัว และความเป็นไปได้ทุกอย่าง แต่ความหวังของประชาชนไม่ได้ถูกผูกขาดโดยใคร หากเป็นความหวังของประชาชน ก็ต้องนำเสนอสิ่งที่สามารถเปลี่ยนชีวิตของผู้คนได้

บางเรื่องอาจไม่ใช่เทคโนโลยีที่สลับซับซ้อน

ไม่ใช่เรื่องทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ล้ำลึก หรือเครื่องมือทางการศึกษาที่มีความพิสดาร

แต่ความทุกข์ร้อนของประชาชนก็มาจากเรื่องพื้นฐาน เงินเลี้ยงดูเด็ก เงินบำนาญ การประกันสังคม ประกันการว่างงาน เงินค่าเทอม ค่าเรียน ค่าบ้าน

การสื่อสารเรื่องเหล่านี้อย่างไม่ตกหล่นก็จะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับความหวังของประชาชน

การเอาชนะ นายทุน ขุนศึก ศักดินา และกลุ่มทุนข้ามชาติ อาจไม่ง่ายในคราวเดียวกัน

แต่อย่าลืมว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่ตั้งคำถามต่อสิ่งนี้

และไม่ใช่ครั้งแรกที่เราตั้งคำถาม มันเกิดขึ้นอยู่เสมอ และก็เคยสำเร็จมาแล้วในหลายที่เช่นเดียวกัน