คณะรัฐมนตรี “อุ๊งอิ๊ง 1” | ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน
(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2567 การฟอร์มรัฐบาลแม้จะมีเสียงสนับสนุนท่วมท้นล้มหลามถึง 319 เสียง พรรคร่วมหน้าเก่า แบ่งเค้กกันลงตัว กระทรวงเดิม แต่เหตุที่อืดเป็นเรือเกลือ เพราะติดติ่ง “มาตรฐานจริยธรรม” ต้องเอ็กซเรย์ ตรวจเช็กแบ๊กกราวด์กันอุตลุด หลายชั้น กันเหนียว

กับกรณี “พรรคประชารัฐ” ของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” เกิดเรื่องร้าวลึก เหยียบตาปลากันระหว่าง “พลเอก” กับ “ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า” แตกออกเป็นสองเสี่ยง 22 ต่อ 18 แต่ไม่มีปัญหา มีอะไหล่เซียงกง ดึงประชาธิปัตย์ 21 เสียงเข้ามาเสียบ ได้ “พอดีคำ”

ล่าสุด คณะรัฐมนตรี “อุ๊งอิ๊ง 1” ผ่านขั้นตอนเช็กสเป๊กจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ-ป.ป.ช. และที่สำคัญสุดคือ “คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะใหญ่” ที่มีระดับ “พระอาจารย์” ทั้ง “มีชัย ฤชุพันธุ์-วิษณุ เครืองาม” ร่วมอยู่ด้วยช่วยพิจารณาแล้ว และคอนเฟิร์มคุณสมบัติมาเรียบร้อย ตามไทม์ไลน์วันสองวัน “น.ส.แพทองธาร” สามารถนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อโปรดเกล้าฯ ขั้นตอนต่อไป นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์

วันที่ 5 กันยายน นายกฯ คนที่ 31 นัดประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ วันที่ 11 กันยายน นำคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และวันทึ่ 17 กันยายน ฤกษ์ประชุมคณะรัฐมนตรี

สำหรับสัดส่วนคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย “พรรคเพื่อไทย” 17 คน แบ่งเป็น ระนาบรัฐมนตรีว่าการ 9 ที่นั่ง รัฐมนตรีช่วย 8 ที่นั่ง “ภูมิใจไทย” 8 ที่นั่ง รัฐมนตรีว่าการ 4 ที่นั่ง รัฐมนตรีช่วย 4 ที่นั่ง “รวมไทยสร้างชาติ” 4 คน 2 รัฐมนตรีว่าการ และ 2 รัฐมนตรีช่วย “ชาติไทยพัฒนา” 1 ที่นั่ง รัฐมนตรีว่าการ “ประชาชาติ” 1 ที่นั่ง รัฐมนตรีว่าการ

“กลุ่มผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า” 2 ที่นั่ง 1 รัฐมนตรีว่าการ และ 1 รัฐมนตรีช่วย โดยเลี่ยงบาลีเป็นโควต้าคนกลาง และพรรคประชาธิปัตย์ แนวร่วมหน้าใหม่ 2 ที่นั่ง เป็นรัฐมนตรีว่าการ กับ 1 รัฐมนตรีช่วย

 

สําหรับรายนามรัฐบาล “อุ๊งอิ๊ง 1” ซึ่งมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 มีดังต่อไปนี้ (เพื่อไทย) 1. “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี 2. “นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 3. “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 4. “นายพิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 5. “นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รัฐมนตรีช่วยคลัง 6. “นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล” รมช.คลัง 7. “นายสมศักดิ์ เทพสุทิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 8. “นายพิชัย นริพทะพันธุ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 9. “นายประเสริฐ จันทรรวงทอง” เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

10. “นายสรวงศ์ เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 11. “นายชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 12. “น.ส.จิราพร สินธุไพร” รมต.ประจำสำนักนายกฯ 13. “น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์” รมช.มหาดไทย 14. “นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ” รมช.คมนาคม 15. “นางมนพร เจริญศรี” รมช.คมนาคม 16. “น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม 17. “นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์” รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ

“ภูมิใจไทย” 18. “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 19. “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 20. “นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 21. “นางศุภมาส อิศรภักดี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 22. “นายนภินทร ศรีสรรพางค์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ 23. “นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 24. “นายทรงศักดิ์ ทองศรี” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 25. “น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

“กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” 26. “นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 27. “นายอิทธิ ศิริลัทธยากร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 28. “นายอัครา พรหมเผ่า” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

“พรรคประชาธิปัตย์” 29. “นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 30. “นายเดชอิศม์ ขาวทอง” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

“พรรคชาติไทยพัฒนา” 31. “นายวราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

“พรรคประชาชาติ” 32. “พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

“พรรครวมไทยสร้างชาติ” 33. “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 34. “นายสุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ 35. “นายเอกณัฏ พร้อมพันธุ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 36. “พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

สำหรับเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมนี้ ตอนแรกมีข่าวว่า “พล.อ.นิมิตต์ สุวรรณรัฐ” หรือ เสธ.มิตต์ อดีตนายทหารคนสนิท มือขวาของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อดีตนายกรัฐมนตรี เบียดแทรกโค้งสุดท้ายเฉือนจมูก “พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์” หรือ “บิ๊กเล็ก” เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าป้ายในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะโควต้า “กลาง”

ดังที่ทราบกันว่า เสธ.มิตต์ เป็นมือขวาของ “พล.อ.ประยุทธ์” มายาวนาน มีชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่ “ตู่ 1” และก่อนที่ “นาย” ประกาศเล่นการเมืองอย่างเต็มตัว เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งปี 2562 หิ้วกระเตงกันมาถึงบัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ กับศึกเลือกตั้งปี 2566 มีความชัดเจนมากยิ่งขี้นว่าเจ้าตัวมีความใกล้ชิดกับแกนนำ รทสช.ทุกคน แม้ “พล.อ.ประยุทธ์” จะโบกมือลาการเมืองไปเป็นองคมนตรีแล้ว แต่ “เสธ.มิตต์” ก็ยังมีบทบาทเชิงลึกอยู่กับพรรค แต่ที่สุดดูเหมือน เสธ.มิตต์ จะไม่พร้อม ส้มจึงหล่นที่ พล.อ.ณัฐพล

สรุปคณะรัฐมนตรี “แพทองธาร 1” แต่งตั้งเต็มพิกัด 35 ที่นั่ง แต่ท้ายสุดมีข่าวว่า กฤษฎีกาส่งเสียงร้องทัก “เอ๊ะ” เกี่ยวกับคุณสมบัติของรัฐมนตรีบางคนที่ส่งไปให้เอ็กซเรย์ ทำท่าจะมีปัญหา ชนปังตอ อาจจะต้องเปลี่ยนโผใหม่ โควต้าเดิม จึงมีการสลับร่างใหม่ ให้ น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ มาแทนพ่อ ชาดา ไทยเศรษฐ์

เรียกว่ากว่า “อุ๊งอิ๊ง 1” จะสะเด็ดน้ำ ต้องแก้โผในบางตำแหน่งในนาทีสุดท้าย