จงให้ ‘โอกาส’ กับนักการเมือง ในระบอบประชาธิปไตย

(Photo by MANAN VATSYAYANA / AFP)

ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475 หรือตรงกับ ค.ศ.1932 หลังการปลดแอกของอเมริกา 156 ปี (ค.ศ.1776 หรือปี พ.ศ.2319 ตรงกับไทยสมัยพระเจ้าตากสิน) และหลังปฏิวัติฝรั่งเศส 143 ปี (ค.ศ.1789 หรือ พ.ศ.2332 ตรงกับไทยสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก)

กว่าจะมาถึงวันนี้ “สหรัฐอเมริกา” ก็หาได้ราบรื่นดำเนินสะดวกไม่ เกิดสงครามกลางเมือง ฝ่ายเหนือฝ่ายใต้สู้รบกันล้มตายเป็นแสนคน ประธานาธิบดีกับว่าที่ถูกลอบสังหารถึง 13 คน

ส่วน “ฝรั่งเศส” หลังปฏิวัติปี 1789 ก็วุ่นวายหัวหกก้นขวิดจนสามัญชน “นโปเลียน” ยึดอำนาจสถาปนาเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ฉวยโอกาสฟื้นระบบกษัตริย์กลับมาอีกครั้ง กว่า “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” จะหยั่งรากและตั้งมั่นก็นานนัก

ปฏิวัติของไทยปี 2475 (ค.ศ.1932) ผ่านมาแล้ว 92 ปี

ถ้าจะว่าไปแล้วเป็นช่วงเวลา 92 ปีที่ “อำนาจอธิปไตย” ของปวงชนชาวไทยอยู่ในสภาพง่อนแง่นตลอดมา

กล่าวสำหรับอำนาจของ “คณะราษฎร” ผู้ก่อการปฏิวัติ 2475 นั้นได้สิ้นสุดลงทันทีที่ “ผิน ชุณหะวัณ” ทำรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490

นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา มีประจักษ์หลักฐานใดที่ยืนยันได้ว่า ผู้เป็น “เจ้าของ” อำนาจอธิปไตยแท้จริง คือปวงชนชาวไทย

 

หากทบทวนกันให้ถ้วนถี่จะพบว่า “นักการเมืองพลเรือน” ที่เป็นผลิตผลของระบอบการปกครองประชาธิปไตยซึ่งมาจาก “การเลือกตั้ง” ของประชาชน มีโอกาสได้ “ทำหน้าที่” แค่ 5 ช่วงสั้นๆ คือ

ช่วงที่ 1 สมัยที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี รวมกันราว 3 ปี

ช่วงที่ 2 สมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ราว 2 ปีกว่า

ช่วงที่ 3 สมัยชวน หลีกภัย บรรหาร ศิลปอาชา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เวลารวมกัน 14 ปี

ช่วงที่ 4 สมัยสมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี รวมกันราว 6 ปี และ

ช่วงที่ 5 สมัยเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ยืนได้ไม่ครบปี

รวมกันแล้ว “เวลา” ที่นักการเมืองซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้บริหารประเทศเพียง 26 ปี

ถ้านับจาก “8 พฤศจิกายน 2490” มาถึงวันนี้เป็นเวลา 77 ปี

โอกาสทองเป็นของ “ทหาร” ที่เป็นหัวหน้าและคณะรัฐประหาร

“คณะรัฐประหาร” รวมทั้งคณะที่ “สืบทอดอำนาจ” มีโอกาสได้บริหารประเทศรวมกัน 51 ปี

นั่นคือ ครึ่งศตวรรษที่ “อำนาจอธิปไตย” ไม่ได้เป็นของปวงชนชาวไทย!

 

จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของการเมืองไทยคือ รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ลากยาว อยู่นานจนถึง “รัฐประหาร 16 กันยายน 2500”

อำนาจเปลี่ยนมือสู่ “สฤษดิ์ ธนะรัชต์” จนถึงแก่อสัญกรรมในปี 2506 หลังจากนั้น “ถนอม กิตติขจร” กับบริวารในกองทัพก็สืบอำนาจต่อมาอีก 10 ปี กระทั่งเกิดเหตุ “14 ตุลาคม 2516”

เมื่อการขับไล่ทรราชยุติลง “นักการเมืองพลเรือน” ก็ได้บริหารประเทศต่อในระยะสั้นๆ แค่ 3 ปีก็มีผู้จุดชนวนโกลาหลก่อเหตุปิดล้อมสังหารหมู่ “6 ตุลาคม 2519” สุดสะพรึงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

หลัง 6 ตุลาคม 2519 ฝ่ายอนุรักษนิยม “จัดระเบียบ” การเมืองตั้งแต่ยุค พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สืบทอดต่อเนื่องถึงยุค “เปรม ติณสูลานนท์” ที่เริ่มผ่อนคลายให้กับนักการเมืองเฉพาะกลุ่มซึ่งถูกเรียกว่า “ลูกๆ” ผู้สวามิภักดิ์

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรียาวนาน 8 ปีก่อนที่จะ “ปล่อยผี” จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2531 ด้วยความหวังว่าลูกๆ ป๋าจะได้กลับมา

แต่ “ชาติชาย ชุณหะวัณ” ชนะเลือกตั้ง

รัฐบาลชาติชายมีโอกาสใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทยได้แค่ 2 ปีกับ 200 วัน “ทหาร” ก็จับตัว

“รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534” ขมวดปมประเทศจนนำไปสู่วิกฤต เกิดจลาจล “พฤษภาทมิฬ’35” ทหารแพ้การชุมนุมในเมืองจนต้องถอยกลับเข้ากรมกอง

ยอมให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2535 ต่อจากนั้น “นักการเมืองพลเรือน” ได้บริหารประเทศยาวที่สุด 14 ปี

แต่ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ทหารก็ทำรัฐประหารอีก!

เขียนกติกาจัดระเบียบ พร้อมกับวางแผนสืบทอดอำนาจกันเนียนๆ ด้วยการจัดตั้งพรรคการเมืองทหาร พร้อมจับมือเป็นพันธมิตรกับพรรคอะไหล่แนวอนุรักษนิยม

แต่ลงเลือกตั้งทุกครั้งก็แพ้ทุกครั้ง ถึงจะบั่นทอนทำลายพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยทุกทางก็ยังแพ้

“22 พฤษภาคม 2557” รัฐประหารอีก

คราวนี้ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็น “ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” ระหว่างปี 2557-2558 ออกมาบอกเองว่า “เขาอยากอยู่ยาว”!

จึงเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย 2560

 

ถ้าไม่ใช่ “นักการเมืองพลเรือน” ผู้ไร้ยศ ทุกอย่างจะราบรื่น ง่ายดายไปหมด

อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารนั่งบริหารประเทศยาวนานเกือบ 9 ปี ถึงปัญหาจะล้นและหมักหมมก็ไม่มี “นักร้อง” ออกมาก่อความรำคาญใจ

เทียบกับ “เศรษฐา ทวีสิน” นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากการทำมาค้าขาย เป็น “นักการเมืองพลเรือน” มาจากกระบวนการประชาธิปไตย มีเสียงข้างมากสนับสนุน มาแล้วก็จะไปตามวาระ

แต่คนเช่นนี้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่ทันครบปีก็มี “เหตุ” ให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยสั่งให้ “พ้นจากตำแหน่ง”

ในประเทศที่มีรัฐประหารชุกชุม นักการเมืองจากระบอบประชาธิปไตยมีโอกาสได้บริหารประเทศน้อย

ถ้าหากมีใครว่า “การเมืองเลว” สังคมพิกลพิการ หรือระบบต่างๆ ไม่สมประกอบ ทุจริต บิดเบี้ยว คดงอ ไม่ซื่อตรง ธุรกิจถูกผูกขาดตัดตอน มีความเหลื่อมล้ำทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข หรืออื่นใด ทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็ล้วนแต่เป็น “ผลพวง” มาจากวันก่อนๆ ที่ประเทศไม่มีความเป็น “นิติรัฐ”

ทุกครั้งที่นั่งด่านักการเมือง อย่าลืมว่า 77 ปีที่ผ่านมานี้ประเทศไทยมี “พลเรือน” ที่มาจากการเลือกตั้งบริหารประเทศแค่ 26 ปี

อีก 51 ปีหรือครึ่งศตวรรษเป็น “นายทหาร” จำนวนหยิบมือเดียว ที่มาจากการรัฐประหารทั้งสิ้น!?!!!