เป้าหมาย 200 ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย ยากยิ่ง เป้าหมาย 251 ส.ส. ของพรรคประชาชน ยิ่งยาก

มุกดา สุวรรณชาติ
(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

ตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญหลังจากการเลือกตั้งปี 2566 คือ คะแนนเสียงของประชาชนที่เลือกพรรคต่างๆ บอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับอนาคตของพรรคการเมืองทั้งหลาย

หลังจากมีการตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว มีการยุบพรรคก้าวไกล และการปลดนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย เปลี่ยนเป็นนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร แม้ทีมวิเคราะห์เคยเขียนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ แต่นี่ก็ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทันใด คนทั่วไปจึงอาจรู้สึกว่าไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนมากเลย

ในทางปฏิบัติแล้วจะมีการต่อสู้ผ่านพรรคการเมืองต่างๆ ไปอีกระยะหนึ่งโดยมีผู้นำที่ปรากฏตัวให้เห็นในปัจจุบันนี้เป็นตัวชูโรง ซึ่งเราจะเห็นคุณสมบัติความสามารถส่วนตัว ความสามารถของแกนนำ ทีมงาน และศักยภาพที่สะสมไว้ของพรรคต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะไปแสดงผลในทางการเมืองในการเลือกตั้งปี 2570

ซึ่งพอจะวิจารณ์ถึงอนาคตข้างหน้าได้ดังนี้

 

แพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรี
อาจประคองไปจนครบวาระ
ถ้าไม่โดนตุลาการภิวัฒน์ จัดการ

1. เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ตั้งแต่ครั้งที่ก้าวขึ้นตำแหน่งหัวหน้าพรรคของแพทองธาร ชินวัตร ว่าจะเป็นตัวกำหนดยุทธศาสตร์การเมืองของทุกพรรค และเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองที่ต้องเปลี่ยนตัวนายกฯ และการยุบพรรคก้าวไกล การเปลี่ยนตัวผู้นำทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจึงเกิดขึ้นพร้อมกัน แต่ทั้งหมดนั้นก็ยังอยู่ภายใต้แรงกดดันของอำนาจนอกระบบ เหนือระบบ

หลังจากนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับมาประเทศไทยพร้อมกับการตั้งรัฐบาลผสมที่เพื่อไทยเป็นแกนนำ เพียงช่วงเวลาไม่นานก็ได้เห็นกระแสคลื่นลมทางการเมืองแรงมากที่กระหน่ำเข้าใส่นายกฯ ทักษิณ ที่ชัดเจนคือการใช้ข้อหา 112

และในที่สุดพายุการเมืองก็ฟาดเอานายกฯ เศรษฐาให้หลุดจากตำแหน่ง ซึ่งอยู่นอกเหนือความคาดหมายของแกนนำพรรคเพื่อไทย จะเห็นว่าคนสำคัญของพรรคทั้งแพทองธารและภูมิธรรม เวชยชัย รับรู้ข่าวสารในขณะที่ตนเองยังอยู่ต่างประเทศ

2. การขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของแพทองธาร ชินวัตร แม้จะไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่กำหนด แต่ก็ถือว่าได้มีการเตรียมการกันมาแล้ว ต่างกับสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ไม่ได้เตรียมการล่วงหน้า

เพราะแพทองธารเปิดตัวว่าจะลงการเมืองมาตั้งแต่ปี 2565 แล้ว และเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในเดือนเมษายน 2566 แต่พอผ่านการหาเสียงมาได้ระยะหนึ่ง หลายคนก็พอรู้ว่า ผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็คือ เศรษฐา ทวีสิน ไม่ใช่แพทองธาร นี่คือจังหวะก้าวที่กำหนดไว้ในแผน แม้ครั้งนั้นจะให้แพทองธารเป็นตัวจริงก็ทำได้ และก็คงได้รับคะแนนโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกับนายกฯ เศรษฐา

เพราะในครอบครัวยังมีความเห็นขัดแย้งกัน แน่นอนว่าผู้เป็นมารดาย่อมไม่อยากเห็นลูกสาว…ใส่ชุดเกราะ ขี่ม้า ถือหอก ออกสู้ศึก…แต่ดูเหมือนสถานการณ์ล่าสุดจะบีบบังคับ

ที่สุดแล้วการตัดสินใจเป็นนายกฯ เกิดขึ้นได้เพราะความชอบการเมืองของแพทองธารเอง เสียง ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยจำนวนมากก็เห็นควรให้เธอขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ จนถึงตอนเช้าวันที่ 15 สิงหาคม การตัดสินใจของครอบครัวก็สิ้นสุดลงและผ่านเข้าไปเป็นมติของพรรค

เหตุผลของ ส.ส.จำนวนหนึ่งก็คือ ไม่เพียงแค่งานบริหารประเทศ แต่ยังจำเป็นจะต้องสู้ศึกในการเลือกตั้งครั้งหน้าซึ่งแพทองธารน่าจะเป็นแม่ทัพวัยหนุ่มสาวที่เหมาะที่สุดกับการต่อสู้ขณะนี้และอนาคต

แต่สถานการณ์ทั้งเศรษฐกิจ และการเมือง ยากเหมือนแบกคนป่วยขึ้นเขา

 

ครอบครัวชินวัตร
ยังจะอยู่ในการเมืองไทย
ไปอีกหลายปี

เวลานี้เงาของนายกฯ ทักษิณยังคงทาบอยู่ในพรรคเพื่อไทย แพทองธารก็ถูกมองว่าอยู่ใต้เงานี้ด้วย

นี่เป็นการแสดงว่าครอบครัวชินวัตรยังจะอยู่ในการเมืองไทยไปอีกหลายปี นายกฯ ทักษิณ อายุประมาณ 75 ปี แพทองธาร อายุ 38 ปี เล่นการเมืองได้พอดีไม่มีปัญหา

นี่เป็นจังหวะที่ดีเพราะขณะนี้การเมืองไทยกำลังมีการเปลี่ยนถ่ายบุคลากรทางการเมือง ซึ่งคนรุ่นเก่าอายุมากแล้วจะต้องออกไปเป็นกองเชียร์ ให้คนรุ่นใหม่ที่อายุ 30-40 เข้ามาเพื่อสานต่อ

มีบางคนบอกว่าถ้าจะเป็นผู้นำต้องโตมาได้ด้วยตัวเองไม่ต้องมีพี่เลี้ยง

แต่ในความเป็นจริงการต่อสู้ทางการเมืองและการบริหารประเทศในภาวะที่ยากลำบากแบบนี้ ไม่ว่าใคร แน่มาจากไหน ล้วนแต่ต้องใช้พี่เลี้ยง ใช้ที่ปรึกษาและต้องทำงานอย่างรอบคอบ รู้ทันเล่ห์เหลี่ยมทั้งคนภายในพรรค ภายนอกพรรค และประเมินการเมืองระหว่างประเทศให้แม่นยำ

สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในปัจจุบันจึงต้องการผู้นำและทีมงานที่เก่งมากๆ เพื่อจะสามารถนำพาประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้เติบโตขึ้นมาได้ มิฉะนั้นประชาชนจะยากลำบากไปอีกนาน

ในสถานการณ์แบบนี้ ทุกพรรคการเมืองต่างก็ต้องการประคองรัฐบาลให้อยู่นานที่สุด เพื่อทำงานตามเป้าหมายของแต่ละกระทรวงที่บริหารอยู่ และในการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าได้เป็นรัฐบาลผสมแบบนี้ก็ยอมรับได้

นักการเมืองจำนวนมากในตอนนี้ จึงมิได้ต้องการก้าวข้ามทักษิณ

 

พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล
ยากยิ่งที่จะบรรลุเป้าหมาย
เพราะปี 2566 ชนะ ส.ส.เขต แค่ 112 เขตเท่ากัน

การแข่งขันทางการเมืองในครั้งหน้า พรรคการเมืองใหญ่ที่จะแข่งกันก็คือ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชน (ก้าวไกล) และพรรคภูมิใจไทย นอกนั้นจะเป็นพรรคเล็ก

ในครั้งต่อไป ส.ว.มาลงคะแนนเลือกนายกฯ ไม่ได้แล้ว ใครรวมเสียงให้ได้เกินครึ่งสภาจะได้จัดตั้งรัฐบาล

ในการเลือกตั้ง 2566 พรรคก้าวไกลได้ ส.ส. 151 คนมาจากการชนะ ส.ส.เขต 112 เขต และปาร์ตี้ลิสต์ 39 คน แม้เป็นพรรคประชาชนแล้วเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้น

แต่จะเพิ่มขึ้นมากพอจนชนะ ส.ส.ได้ถึง 200 เขตหรือไม่?

เพราะเมื่อครั้งที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง 2554 ในท่ามกลางแรงแค้นจากการถูกล้อมปราบปี 2553 ผลักดันให้กระแสสูงจนได้ ส.ส. 265 คน นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทยต้องชนะ ส.ส.เขตถึง 204 เขตจากเขตเลือกตั้งทั้งหมด 375 เขตและได้ปาร์ตี้ลิสต์อีก 61 คน จาก 125 คน แบบนั้นจึงจะมีสิทธิ์ตั้งรัฐบาลพรรคเดียว เพราะได้เสียงเกินครึ่ง

คำว่า แลนด์สไลด์ ได้คะแนนเกินครึ่งของสภาในยุคนี้จึงเป็นเรื่องยาก เพราะวันนี้ได้มีพรรคภูมิใจไทยเข้ามาแบ่งคะแนนเขตไปเป็นจำนวนมาก ปี 2566 ได้ถึง 68 เขตและมีแนวโน้มว่าจะได้มากขึ้นในครั้งหน้า อาจถึง 90 เขต และยังมีพรรคเล็กที่มีโอกาสชนะอีกประมาณ 90-100 เขต

ครั้งหน้าจะไม่มีพรรคใดชนะได้ ส.ส.ถึง 200 เขต

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมการได้ ส.ส.เกินครึ่งสภาหรือ 251 คนซึ่งเป็นเป้าหมายของพรรคประชาชนจึงเป็นเรื่องที่ยิ่งยาก

…อยากเป็นรัฐบาลต้องปรับยุทธศาสตร์

 

เป้าหมาย 200 ของพรรคเพื่อไทย
ก็เป็นเรื่องที่ยากยิ่ง

ปี 2566 พรรคเพื่อไทยชนะ ส.ส.เขตมาเพียงแค่ 112 เขตเช่นเดียวกัน และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ได้ 29 คน

หลังจากตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว กระแสของพรรคเพื่อไทยก็ตกลง

มีโอกาสเดียว คือเป็นรัฐบาลครั้งนี้ ต้องมีผลงานทางเศรษฐกิจเข้าตาประชาชนจึงพอจะดึงกระแสกลับได้

แต่ถ้าทำได้เพียงเล็กน้อยก็คงจะต้องวางยุทธศาสตร์ และหาลายแทงบุกเข้าพื้นที่ ซึ่งครั้งนี้พรรคประชาชนก็ขยายกำลังบุกเข้ามาเช่นกัน และยังจะต้องพบกับคู่แข่งสำคัญคือภูมิใจไทย ซึ่งเตรียมดูด ส.ส.เก่ามานานแล้ว และดูดจากทุกพรรค ดังนั้น ทั้งประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐคงจะถูกดูดจนแทบไม่เหลือ ที่สำคัญจะดูดจากเพื่อไทยด้วย

สภาพการเมืองในครั้งหน้าถ้าเพื่อไทยขยายชัยชนะของเขตได้มากกว่าเดิมสัก 10-20 เขตก็ถือว่าเก่งแล้ว แต่ถ้า ส.ส.เขตลดลง จำนวน ส.ส.รวมจะลดลงด้วยซึ่งจะเป็นอันตรายต่อการนำ เพราะถ้าภูมิใจไทยได้ ส.ส.เพิ่มขึ้น อาจมีความคิดจะแย่งตำแหน่งนายกฯ

ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลนี้ยังร่วมกันดี มีผลงานบ้าง คงมีโอกาสต่ออายุ แม้จะมีพรรคที่สลายไป เช่น พลังประชารัฐ (แต่ ส.ส.ก็คงจะถูกดูดไปอยู่ในพรรคร่วมนั่นแหละ)

วันนี้พรรคร่วมรัฐบาลมองเห็นแล้วว่า เพื่อไทยมีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในครั้งหน้า และจะดีใจถ้าเพื่อไทยจะได้ ส.ส.ประมาณ 150 คน ไม่ใช่ 200 คน เพราะพวกเขาจะมีโอกาสต่อรองร่วมรัฐบาลง่ายขึ้น