ไสยศาสตร์ เป็นศาสนาของคนปัญญาอ่อน?

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

“สิ่งที่เรียกว่าไสยศาสตร์นี่มันจำเป็นสำหรับคนปัญญาอ่อน ไสยศาสตร์เป็นศาสนาของคนปัญญาอ่อน คุณอย่าปัญญาอ่อนสิ อย่าเป็นผู้ปัญญาอ่อน ไสยศาสตร์จะหมดอำนาจหมดกำลัง ถ้าคุณยังเป็นปัญญาอ่อนอยู่มันก็ยังต้องการไสยศาสตร์อย่างที่หลีกไม่ได้ ช่วยไม่ได้…”

“มันเป็นต้นตอแห่งปัญหาของโลกทั้งโลกเลย มันเป็นปัจจัยที่หล่อเลี้ยงอวิชชาไว้มากเหลือเกิน ไสยศาสตร์เป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงอวิชชาไว้ให้ยังคงมีกำลังรุนแรงอยู่ตลอดเวลา”

แสดงธรรมล้ออายุ ปี ๒๕๒๕ หัวข้อ “อยากจะร้องไห้ เพราะจะต้องรักษาไสยศาสตร์ไว้สำหรับคนปัญญาอ่อน” ของพุทธทาสภิกขุ

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมเสวนาในหัวข้อ “เชื่ออย่างมู ดูอย่างวิทย์” ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เขาจัดเป็นงานนิทรรศการใหญ่โตและกิจกรรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์มากมายหลายหลาก

ที่น่าสนใจมากๆ ในงานนี้คือตัวธีมของนิทรรศการที่เล่นเรื่อง “มู” โดยเฉพาะ ผู้จัดนำเอาความเชื่อต่างๆ เช่น โชคลางแบบไทยๆ มาอธิบายจากมุมมองวิทยาศาสตร์ เช่น ลางบอกเหตุจากสัตว์ก็อธิบายไปจากพฤติกรรมศาสตร์ และการที่สัตว์มีประสาทสัมผัสไวต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

แม้ว่าผมจะรู้สึก “เอ๊ะอ๊ะ” กับมุมมองภาพรวมของนิทรรศการในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับความเชื่อ แต่ก็อยากชื่นชมผู้จัดงานว่า ได้สร้างจุดเริ่มต้นที่ดีที่วิทยาศาสตร์กับความเชื่อจะมาสนทนาหรือพบเจอกันบ้าง ไม่ต้องด่ากันอย่างเดียว

ในวงเสวนาวันนั้นมีอาจารย์นำชัย ชีววิวรรธน์ หรืออาจารย์ชิ้น นักสื่อสารวิทยาศาสตร์มาร่วมเสวนาด้วย ผมพอคุ้นเคยกับอาจารย์ชิ้นอยู่บ้าง รวมทั้งมีนักจิตบำบัดคือคุณรัชดาภรณ์ซึ่งรู้จักกันกับภรรยาของผม ทำให้วงเสวนาวันนั้นออกรสพอสมควร

กระนั้นในช่วงท้ายของการเสวนา อาจารย์ชิ้นได้ยกคำกล่าวของท่านพุทธทาสที่ว่า “ไสยศาสตร์เป็นศาสนาของคนปัญญาอ่อน” มาปิดท้าย และก็แซวว่าใครจะเถียงก็ไปเถียงกับท่านพุทธทาสเรื่องนี้เองแล้วกัน

 

ด้วยสำนึกว่าตนเองคงเป็น “ศาสนิกของศาสนาปัญญาอ่อน” จึงได้ไปค้นและยกข้อความดังกล่าวของท่านพุทธทาสมาไว้ต้นบทความ เพื่อจะได้ชวนท่านผู้อ่านมาร่วมคิดอะไรต่อกันไปอีกนิดนึง ผมอยากจะชวนคิดว่า ไสยศาสตร์ของท่านพุทธทาสนั้นเป็นอย่างไร และเราควรเข้าใจไสยศาสตร์กันอย่างไร

ประการแรก คำว่า “ปัญญาอ่อน” ในที่นี้ ท่านพุทธทาสมิได้หมายถึงปัญญาอ่อนซึ่งเป็นปัญหาทางกายภาพหรือสุขภาพ ท่านอธิบายเองว่าหมายถึง “ปัญญาทางจิตทางวิญญาณ ไม่ใช่ปัญญาอ่อนทางวัตถุ” กระนั้นผมเห็นว่าท่านก็จงใจใช้คำเดียวกัน ซึ่งมีนัยเสียดสีอย่างปฏิเสธไม่ได้

เหตุใดไสยศาสตร์จึงกลายเป็นของสำหรับคนปัญญาอ่อนในทัศนะท่านพุทธทาส เพราะท่านมองว่าไสยศาสตร์นั้นมีคุณสมบัติ คือ “ความกลัวโดยไม่มีเหตุผล ความอยากโดยไม่รู้จักประมาณ ความเชื่อว่ามีสิ่งหนึ่งซึ่งเราไม่รู้ได้ ไม่เห็นหน้าได้ ไม่รู้จักได้ เป็นสิ่งที่มีอำนาจอยู่เบื้องหลัง”

 

ท่านพุทธทาสเห็นว่าแม้ไสยศาสตร์จะขัดกันกับวิทยาศาสตร์โดยพื้นฐาน กระนั้นก็สามารถครอบงำคนที่มีความรู้ในทางวิทยาศาสตร์ได้ และนี่คือพลังของไสยศาสตร์ที่หล่อเลี้ยง “อวิชชา” อันเป็นปัญหาใหญ่สุดสำหรับชาวพุทธ

ผมเห็นด้วยกับท่านพุทธทาสในแง่ที่ว่า หากไสยศาสตร์ส่งเสริมความกลัวและความอยากที่ไม่สิ้นสุด ซึ่งมาจากการที่เราไม่รู้ว่าพลังเบื้องหลังของไสยศาสตร์คืออะไร อันนี้เป็นไสยศาสตร์ที่ค่อนข้างอันตรายต่อการเติบโตทางจิตวิญญาณ

แต่ในปัจจุบันเรามีองค์ความรู้ทางไสยศาสตร์จากหลากหลายแหล่ง เช่น จากโลกตะวันตก ซึ่งเขาพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับไสยศาสตร์ในฐานะความรู้ “ทางเลือก” มานานแล้ว เราจึงสามารถเชื่อมโยงความเข้าใจไสยศาสตร์กับมุมมองทางมานุษยวิทยา จิตวิทยา ปรัชญา ศาสนา ได้

ไสยศาสตร์จึงค่อยๆ เปลี่ยนจากสิ่งครอบงำที่มืดบอดงมงายหรือตัวปัญหา ไปสู่ความเข้าใจในฐานะภูมิปัญญาหรือเครื่องมืออันหนึ่งในการคลี่คลายความทุกข์ของมนุษย์

พุทธทาสภิกขุ (ภาพจาก www.buddhadasa.org)

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็เคยอธิบายว่า ไสยศาสตร์จัดเป็น “เทคโนโลยี” โบราณ เพราะมันใช้เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะอย่าง เช่นเดียวกับเทคโนโลยีของวิทยาศาสตร์ เพียงแต่มันไม่ได้ตั้งอยู่บนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แต่มาจากความรู้โบราณหลากหลาย

อันที่จริงสิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์หรือวิชาความรู้ในสายนี้ก็ล้วนงอกเงยมาจาก “ไสยศาสตร์” ในโลกโบราณทั้งนั้น เช่น วิชาเคมีก็พัฒนามาจากการเล่นแร่แปรธาตุ วิชาการแพทย์นี่ยิ่งเกี่ยวพันกับไสยศาสตร์เข้าไปอีกเพราะสมัยโบราณความรู้ด้านสมุนไพรหรือการรักษาก็อยู่กับพวกนักบวชหรือพ่อมดหมอผี

ต่อมาวิทยาศาสตร์พัฒนากรอบความจริงและวิธีวิทยาของตัวเอง กล่าวคือ ยอมรับความจริงเชิงประจักษ์ หมายถึงความจริงทางผัสสะเท่านั้น ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่มนุษย์มากมาย วิทยาศาสตร์จึงค่อยๆ สำคัญขึ้นมา จนกลายเป็น “พี่ใหญ่” ที่ครอบครองอำนาจในการอธิบายโลกและชีวิตไปเกือบทั้งหมด

ไสยศาสตร์ถูกผลักไปสู่อีกด้าน กลายเป็นความเชื่องมงาย ทั้งๆ ที่มันยังไม่ได้ถูกศึกษาวิจัยอย่างเต็มที่

นักปรัชญาวิทยาศาสตร์บางท่านถึงกับเสนอว่า เพราะวิทยาศาสตร์ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐ มันจึงพัฒนาไปได้มากเท่านี้

แต่เรื่องนี้ขอผมไปศึกษาให้ถี่ถ้วนก่อนแล้วค่อยนำมาเสนอ

 

ผมคิดว่าสถานภาพของไสยศาสตร์ในสังคมไทยนอกจากจะถูกทำให้อยู่ตรงข้ามกับวิทยาศาสตร์แล้ว ยังถูกทำให้อยู่ตรงข้ามกับพุทธศาสนาด้วย ทั้งที่แต่เดิมสองสิ่งนี้แทบจะแยกกันไม่ออก

กระแสความต้องการพุทธศาสนาบริสุทธิ์ ทำให้ต้องนำสิ่งซึ่งถูกมองว่าปลอมปนออกไป ดังที่ท่านพุทธทาสหรือปัญญาชนชาวพุทธได้ทำมาโดยตลอด หรือการไล่รื้อหอผีของชาวบ้านโดยพระป่าในภาคอีสาน

แต่จะโทษท่านเหล่านั้นก็คงไม่ได้ทั้งหมด มันเป็นกระแสความคิดของยุคสมัยด้วยส่วนหนึ่ง และเพราะฝั่งไสยศาสตร์เองก็ค่อยๆ กลายเป็นสินค้าที่เชื้อชวนให้ผู้คนเชื่อ (และซื้อ) โดยไม่ตั้งคำถาม และไม่ได้พัฒนาองค์ความรู้ของตนเองให้สามารถอธิบายอย่างลุ่มลึกเป็นที่ยอมรับได้

นอกจากนี้ ผมคิดว่าที่จริงมีมิติทางการเมืองแฝงอยู่ด้วย หากลองดูดีๆ จะเห็นว่าการวิจารณ์ไสยศาสตร์นั้นมักมุ่งเป้าไปยังชาวบ้าน แต่เรากลับไม่ค่อยพบการวิจารณ์ความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่ปฏิบัติกันในหมู่ชนชั้นสูงไม่ว่าจากพระหรือปัญญาชน

มีคนเคยนำเสนอภาพในเพจอันหนึ่ง เขาเอาสองรูปมาเทียบกัน ภาพแรกเป็นรูปชาวบ้านกราบไหว้ท่อนไม้ขอหวย และถูกบอกว่า “งมงาย” อีกภาพติดกันเป็นรูปการบวงสรวงเสาหลักเมืองและถูกเรียกว่า “โบราณประเพณีอันดีงาม” อันนี้คงสะท้อนสังคมไทยได้ดี

ที่จริงก็เข้าใจได้ว่าเหตุใดคนจึงวิจารณ์ไสยศาสตร์ได้แรงขนาดนั้น เพราะเราขาดตัวอย่างไสยศาสตร์อีกด้าน ที่ไม่เพียงแต่ไม่ทำให้เรากลัวหรือกระตุ้นความอยาก แต่กลับส่งความความเชื่อมั่นในความดีงามของตนเอง และเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เราทำประโยชน์แก่ผู้อื่น

 

สําหรับผมแล้ว พุทธศาสนาแบบทิเบตยังคงเป็นตัวอย่างที่ดีของการแปรเปลี่ยนไสยศาสตร์ให้กลายเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยเหลือสรรพสัตว์ พระทิเบตไม่ว่าตำแหน่งใหญ่หรือเล็กยังคงใช้วิชาโหราศาสตร์ สมุนไพร เครื่องรางของขลัง และคาถาอาคมในการปัดเป่าความทุกข์ของผู้อื่นอยู่เสมอ

มโนทัศน์ที่กว้างใหญ่ของพุทธศาสนามองว่า ด้วยปัญญาที่ฝึกฝนดีแล้ว เราก็อาจแปรเปลี่ยนทุกสิ่งให้เป็น “อุปายะ” สำหรับช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ได้ จึงไม่ควรรีบตัดทิ้งสิ่งใดไปก่อนโดยไม่พิจารณาอย่างแยบคาย

โดยส่วนตัว ผมคิดว่าหากไสยศาสตร์สามารถทำหน้าที่ “หนุนเสริม” ความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนและผู้อื่น มากกว่าทำให้กลัวจนไม่เหลือความเชื่อมั่นในตัวเอง และยิ่งหากมันมาพร้อมเจตจำนงที่ดีงาม มันก็น่าจะใช้การได้ แต่หากไม่เป็นเช่นนั้นสมควรโดนด่านั่นแหละครับ

สุดท้าย เราอาจต้องมาพิจารณากันให้ดีๆใหม่ว่า อะไรกันแน่ที่เป็น “ไสยศาสตร์” ซึ่งมีพลังครอบงำสังคมไทยมายาวนาน โดยที่มันอันตรายยิ่งกว่าไสยศาสตร์ชาวบ้านมากนัก เพราะมันทำให้คนเป็นบ้าเป็นบอกันได้จริงๆ อะไรที่ทำให้เรา “กลัวโดยไม่มีเหตุผล” “อยากโดยไม่รู้จักประมาณ” และ “มีสิ่งหนึ่งซึ่งเราไม่รู้ได้ไม่เห็นหน้าได้ไม่รู้จักได้ เป็นสิ่งที่มีอำนาจอยู่เบื้องหลัง”

ลองพิจารณากันดูครับ •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง