ศาสนาผี ที่มรดกโลก ภูพระบาท (3) : ใบเสมา พัฒนามาจากหินตั้ง ในวัฒนธรรมการนับถือหิน ของศาสนาผี

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
หลักหินที่ภูพระบาท (ภาพโดย อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ)

บริเวณภูพระบาท และปริมณฑลโดยรอบ ยังมีการค้นพบ “ใบเสมา” หรือ “สีมา” ซึ่งเป็นศาสนวัตถุในพุทธศาสนา โดยถูกยกให้เป็นสิ่งสำคัญ ที่ทางรัฐไทยใช้ในการขอขึ้นทะเบียน “ภูพระบาท” เป็น “มรดกโลก” ดังที่ได้มีการจำกัดความสิ่งที่เป็น “คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “OUV” (Outstanding Universal Value) ของภูพระบาทเอาไว้ในเอกสารขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก (World Heritage Nomination Phu Phrabat Historical Park, 2023) ว่า

“การรักษาความเป็นของแท้และดั้งเดิมของแหล่งวัฒนธรรมสีมาหิน สมัยทวารวดี และเป็นประจักษ์พยานที่ยอดเยี่ยมของการสืบทอดของวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องอย่างยาวนานกว่าสี่ศตวรรษ โดยเชื่อมโยงเข้ากับประเพณีของวัดฝ่ายอรัญวาสี”

ใบเสมาหินที่ภูพระบาท มีตัวอย่างสำคัญอยู่ที่ “หอนางอุสา” อันเป็นหินใหญ่ที่มีรูปทรงแปลกตาตามธรรมชาติ แล้วมีการตกแต่งเป็นห้องหอที่บนเพิงหินโดยฝีมือมนุษย์ โดยมีแผ่นใบเสมาหินตั้งเรียงอยู่รายรอบ นัยว่าเป็นการกางกั้นอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์โดยหินใหญ่ที่เรียกกันว่า หอนางอุสา นี้เอง ไปพร้อมกับเป็นการสักการบูชาพลังอำนาจของหินใหญ่นี้ด้วย

ไม่ต้องสังเกตให้มากความก็น่าจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า อะไรที่เรียกว่า “ใบเสมา” เหล่านี้ ทำมาจาก “หิน” และพื้นที่บริเวณภูพระบาท รวมถึงปริมณฑลโดยรอบนั้นก็มีการนับถือหินใหญ่ (ซึ่งก็หมายรวมถึง หอนางอุสา เองด้วยเช่นกัน) ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งนักวิชาการหลายท่าน โดยมี นักมานุษยวิทยาชั้นบรมครูของไทยอย่าง อ.ศรีศักร วัลลิโภดม เป็นหัวหอกสำคัญ เห็นว่าเป็นสิ่งที่พัฒนาต่อไปเป็น ใบเสมาหินที่ภูพระบาทนั่นแหละครับ

 

วัฒนธรรม-ความเชื่อเกี่ยวกับหินอย่างนี้ รู้จักกันในโลกภาษาอังกฤษว่า “Megalithic culture” ซึ่งมักจะแปลจากภาษาอังกฤษตรงตัวออกมาเป็นภาษาไทยว่า “วัฒนธรรมหินใหญ่”

ในหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมหินใหญ่ ฉบับเพื่อความเข้าใจเบื้องต้นที่ชื่อ Megaliths : Stones of Memory ซึ่งเขียนขึ้นโดยอดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติ (Mus?e d’Arch?ologie nationale) ประเทศฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญเรื่องยุคก่อนประวัติศาสตร์ของยุโรป โดยเฉพาะเรื่องยุคเหล็ก และวัฒนธรรมหินใหญ่อย่าง ฌ็อง-ปิแอร์ โมห์เอน (Jean-Pierre Mohen) ได้นิยามความหมายของคำว่า “หินใหญ่” เอาไว้ในอภิธานคำศัพท์ของหนังสือเล่มดังกล่าวว่า

“หินใหญ่ หมายถึง กลุ่มของหินขนาดใหญ่ (รากศัพท์มาจากภาษากรีกโดย ‘mega’ แปลว่า ‘ใหญ่’ ส่วน ‘lithos’ หมายถึง ‘หิน’) ที่ถูกนำมาจัดวาง หรือเรียงเข้าด้วยกันจนมีลักษณะคล้ายงานสถาปัตยกรรม

สถาปัตยกรรมหินใหญ่นั้นเรียบง่ายด้วยการจัดวางหินตั้ง (standing stone) โดยเจตนาให้สัมพันธ์กับลักษณะทางธรรมชาติของภูมิประเทศ แม้จะจัดวางในพื้นที่เปิดโล่งแต่ก็มีความซับซ้อน โดยหินตั้งแต่ละก้อนนั้น ถูกจัดเรียงเป็นแถว หรือจัดวางเป็นวงกลม โดยมี สโตนเฮนจ์ (Stonehenge) เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดของหินใหญ่ประเภทนี้

หินใหญ่อีกประเภทเป็นแบบปิดทึบ ด้วยการจัดเรียงหินให้มีลักษณะเหมือนห้องประกอบพิธีกรรมในศาสนา…หรือห้องโถงในสุสาน…ซึ่งในกรณีหลังนี้ บ่อยครั้งที่จะมีการนำหิน, ดิน, เศษหิน (rubble) หรือไม้ มาก่อเรียงกันเป็นโครงสร้างของสถาปัตยกรรม โดยมักจะมีเนินดิน หรือเนินหินปกคลุมอยู่เหนือสุสาน” (จัดย่อหน้าใหม่ เพื่อให้อ่านง่ายขึ้นโดยผู้เขียน)

สำหรับหินใหญ่หลายก้อนที่ภูพระบาท แม้ว่าจะไม่ได้ถูกนำมาจัดวาง เช่นเดียวกับที่โมห์เอนได้นิยามความหมายของหินใหญ่เอาไว้ เพราะเป็นหินที่ตั้งอยู่เดิมตามธรรมชาติในบริเวณนั้น

แต่หินก้อนนี้ก็ได้รับการเคารพนับถือ และถูกใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อบางอย่าง ซึ่งก็ควรจะถูกเคารพบูชามาตั้งแต่ยังเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผี ก่อนที่จะถูกจับบวชเข้ามาในศาสนาพุทธแล้ว

ในขณะเดียวกันก็ยังมี “หินตั้ง” ที่ถูกนำมาจัดวางขึ้นโดยน้ำมือของมนุษย์ เช่น ที่ตั้งอยู่รายรอบหอนางอุสา ซึ่งต่อมาจะถูกเรียกว่า “ใบเสมาหิน” หลังรับศาสนาพุทธเข้ามาแล้วนั่นเอง

 

คําว่า “หินตั้ง” นั้น นักโบราณคดีไทยจำนวนมากมักจะแปลตรงตัวมาจากคำว่า “standing stone” ซึ่งก็หมายถึงหินก้อนใหญ่ที่ถูกจับตั้งขึ้นจนผิดธรรมชาติ ในวัฒนธรรมหินใหญ่ (ในโลกภาษาอังกฤษ ยังมีคำเรียกหินประเภทนี้อีกอย่างหนึ่งว่า “menhir” โดยมีรากมาจากภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “หินยาว”) จริงๆ ดังนั้น จึงมักจะเข้าใจกันว่า หินตั้งมีความหมายตามที่แปลมาจากภาษาอังกฤษคำดังกล่าวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีหลักฐานคำว่าหินตั้งใช้กันอยู่ทั่วไป ดังปรากฏเป็นชื่อบ้านนามเมืองในสถานที่ต่างๆ หลายท้องที่ ซึ่งมีการค้นพบสิ่งปลูกสร้างในวัฒนธรรมหินใหญ่หลงเหลืออยู่

คำคำนี้ยังเป็นศัพท์พื้นเมือง ไม่ได้แปลมาจากภาษาอื่นที่ไหน

ดังมีหลักฐานว่าเป็นคำเก่า มีปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณคือ พงศาวดารเหนือ ซึ่งเรียบเรียงขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ไว้ในเรื่องพระยาแกรก โดยปรากฏชื่อ “เขาหินตั้ง” รวมอยู่ในบรรดาเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในสุโขทัย ที่มหาเถรไลยลาย (ไหล่ลาย) แจกพระบรมสารีริกธาตุไปให้

นอกจากนี้ ในกลุ่มตระกูลภาษามลายู เช่น ในภาษาบาฮาซาอินโดนีเซียเรียกหินเหล่านี้ว่า “batu berdiri” ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “หินยืน” หรือ “หินตั้ง” คำว่า หินตั้ง จึงเป็นคำศัพท์เก่าแก่คำหนึ่งของอุษาคเนย์ ที่ใช้เรียกสิ่งปลูกสร้างในวัฒนธรรมหินใหญ่ ศาสนาผีพื้นเมือง

เอาเข้าจริงแล้ว “หินตั้ง” พวกนี้ ก็มีลักษณะความเชื่อเป็นไปในทำนองเดียวกับ “กุต” ในสัฒนธรรมของชาวจาม อย่างที่ผมได้เล่าให้ฟังไปในตอนที่แล้วนั่นแหละครับ ดังจะเห็นได้ว่า พวกลัวะบางกลุ่ม เรียกหินตั้งว่า “หินแมน” โดยคำว่า “แมน” นั้น หมายถึงคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมักจะปรากฏในเอกสารโบราณของล้านช้างคู่กับคนอีกกลุ่ม ที่เรียกตัวเองว่า พวกแถน

 

ปราชญ์ทางด้านประวัติศาสตร์ และนิรุกติศาสตร์อย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้ล่วงลับ ได้เคยอธิบายเกี่ยวกับ “พวกแถน” และ “พวกแมน” เอาไว้ว่า

“พวกไทยที่อยู่เหนือเมืองแถน (เดียนเบียนฟู) ขึ้นไป เคยมีคติเชื่อถือว่าตนเป็นพวกแถน เป็นชั้นสูงกว่าชนทางใต้ ซึ่งเป็นพวกผีฟ้า (แถน = เทวดาบนสวรรค์; ผีฟ้า = เทวดาที่มีนิวาสสถานบนพื้นโลก) ด้วยเหตุนี้บรรดาเจ้าเมืองต่างๆ ของไทยทางเหนือสุด, ที่ปรากฏในวรรณคดี ท้าวฮุ่ง หรือ ขุนเจือง ของล้านช้าง, จึงมีชื่อว่า แถน ทั้งสิ้น เช่น แถนลอ เมืองกาหลง, แถนคำ, แถนโกไก ฯลฯ เมืองของแถนทั้งหมดนั้น รวมเรียกว่าเมือง ‘สวาง’ (ตรงกับคำไทยว่า สวง-สรวง ที่แปลว่า สวรรค์) ส่วนพวกที่อยู่ทางใต้ลงมาจากบริเวณของพวกแถน ก็เป็นพวก แมน พวกเจ้าบ้านผ่านเมืองล้วนต้องใช้คำว่า แมน นำหน้าทั้งสิ้น, พวกแมนนี้ บางทีก็เรียกว่าพวก ผี หรือ ผีฟ้า ซึ่งต่ำลงมากว่าแถน. ร่องรอยอันนี้ เราได้พบในวรรณคดีไทยอย่างเลือนลางมาก คือใน ลิลิตพระลอ ซึ่งออกชื่อพ่อของพระลอว่า ท้าวแมนสรวง ผู้ครองเมืองสรวง นี่เป็นทำนองเดียวกันกับพวกแมนในวรรณคดีเรื่อง ขุนเจือง ของล้านช้าง เช่น แมนฟอง ครองเมืองคาเขียว ดังนี้ เป็นต้น” (ข้อความในวงเล็บ คัดลอกตามตนฉบับ)

ถ้าจะเชื่อตามที่จิตรอธิบายแล้ว คำว่า “แมน” ก็หมายถึง “ผี” คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผี และย่อมเป็น “ผีบรรพชน” โดยเฉพาะบรรพชนของพวกแมน เพราะจิตรอธิบายว่า พวกแมน บางทีก็เรียกว่า “ผีฟ้า” ซึ่งเป็นเทวดาที่มีนิวาสสถานบนพื้นโลก

 

ร่องรอยสำคัญของคำว่า “แมน” ยังมีอยู่ในโองการแช่งน้ำด้วย ดังข้อความที่ว่า “ผีดง ผีหมื่นถ้ำ ล้ำหมื่นผา มาหนน้ำหนบก ตกนอกขอกฟ้าแมน แดนฟ้าตั้งฟ้าต่อ”

ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในแดนที่ฟ้าตั้งฟ้าต่อนั้น บรรดาผีที่มาแต่หนน้ำหนบกสามารถเข้ามาสู่ขอบ (“ขอก” ยังมีความหมายตกทอดในภาษาอีสานแปลว่า “ขอบ”) ฟ้าแมน คือโลกของผีฟ้า ซึ่งอาจจะพออนุโลมเรียกด้วยศัพท์ในศาสนาจากอินเดียว่า “สวรรค์” ได้

ดังนั้น “หินแมน” จึงอาจจะแปลความได้ว่า “หินบรรพชน” เช่นเดียวกับ “กุต” ของพวกจาม และก็ย่อมหมายถึง หินที่ผู้นำของชุมชน หรือกษัตริย์ไปรวมเข้ากับพลังงานของบรรพชน โดยคงจะมีความเชื่อในทำนองใกล้เคียงกันไปหมดทั้งอุษาคเนย์ รวมถึงที่ภูพระบาท ก่อนการเข้ามาของศาสนาพุทธ

คติการนับถือหิน ในวัฒนธรรมหินใหญ่ ที่มีหินตั้งประเภทต่างๆ จึงเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” โดยมี “หินตั้ง” ประเภทต่างๆ เป็นเสมือนวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ หรือร่างเสมือน () ที่ผู้นำของชุมชน หรือกษัตริย์ เมื่อเสียชีวิตลงแล้วจะเข้าไปรวมกับพลังของบรรพชน หรือพลังแห่งชีวิต เพื่อบันดาลชุมชนให้มั่นคงและอุดมสมบูรณ์

เอาเข้าจริงแล้ว การแปลคำว่า “Megalithic culture” ว่า วัฒนธรรมหินใหญ่ แบบตรงตัวทื่อมะลื่อนั้น จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะหินเหล่านี้มีทั้งที่ใหญ่ และไม่ใหญ่ ตั้งและวางนอน เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว วัฒนธรรมดังกล่าวเป็นวัฒนธรรม เคารพบูชา หรือการนับถือหินเหล่านี้ว่า มีพลังอำนาจ หรือพลังชีวิตบางอย่างสถิตอยู่ต่างหาก

 

เมื่อพุทธศาสนาย่างกรายเข้ามาถึงพื้นที่บริเวณภูพระบาท เฉพาะ “หินตั้ง” ในศาสนาผี ก็ถูกแต่งองค์ทรงเครื่อง สวมใส่จีวรให้เป็นพุทธ ไม่ต่างอะไรกับกับการจับ “หินใหญ่” บวช ด้วยการแกะสลักพระพุทธรูปทาบทับลงไปบนเนื้อหิน

ข้อความในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 ส่วนหนึ่งในพระไตรปิฎกของพระพุทะศาสนา ได้กล่าวถึง “สีมานุชานนา ว่าด้วยทรงอนุญาตสีมา สมมติสีมา และนิมิตแห่งสีมา” โดยมีข้อความระบุเอาไว้ว่า เฉพาะ “นิมิต 8 ประการ” อันได้แก่ ภูเขา, แผ่นหิน, ป่า, ต้นไม้, หนทาง, จอมปลวก, แม่น้ำ และน้ำ เท่านั้นที่จะถือเป็น สมมุติสีมา กางกั้นเขตของอุโบสถได้

“หินตั้ง” ซึ่งเป็นวัตถุตามความเชื่อในศาสนาผีเดิม จึงถูกทำให้เป็นพุทธ ด้วยการปรับเปลี่ยนให้เป็น “ใบเสมาหิน” แทน “แผ่นหิน” ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ใช้เป็น “นิมิต” (และโปรดอย่าลืมลูกนิมิต ที่ถูกฝังของในดิน เพราะหลายครั้งที่มีหลักฐานว่า หินตั้ง ในศาสนาผีเหล่านี้จะมีอะไรที่ถูกฝังอยู่ใต้หินเหล่านี้ด้วย โดยมีหินตั้ง ที่แหล่งโบราณคดีสวนหินตั้ง ประเทศลาว เป็นตัวอย่างสำคัญ)

น่าเสียดายที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก ของประเทศไทย ไม่พูดถึงร่องรอยของความเชื่อในศาสนาผีที่ภูพระบาท จนเหมือนถูกบังคับให้สูญหาย จนทำให้ภูพระบาทมีมิติทางวัฒนธรรมความเชื่อ และประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอยู่กับพุทธศาสนาเพียงถ่ายเดียวเท่านั้น ทั้งๆ ที่บริเวณพื้นที่ภูพระบาทมีมิติทางวัฒนธรรมความเชื่อ และประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่านั้นมากเลยทีเดียว •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศาสนาผี ที่มรดกโลก ภูพระบาท (1) : ภาพเขียนสีบนเพิงผาหิน กับพลังชีวิตของผีบรรพชน

ศาสนาผี ที่มรดกโลก ภูพระบาท (2) : หินใหญ่ ที่สิงสถิตของพลังชีวิตผีบรรพชน