ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เปลี่ยนผ่าน |
เผยแพร่ |
หมายเหตุ “น.ต.ศิธา ทิวารี” อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย และ “เทพไท เสนพงศ์” อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความคิดเห็นผ่านรายการ “มีเรื่องมาเคลียร์ by ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี ในประเด็นว่าด้วยการจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์
ศิโรตม์ : เพื่อไทยไปจับมือกับประชาธิปัตย์เป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์ไหม? รู้สึกอย่างไรกับภาพที่เกิดขึ้น?
ศิธา : เป็นภาพที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้น และไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะว่าของเดิมสู้กันมา ทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทย ถ้ามองในระบอบรัฐสภา ก็คือการตรวจสอบถ่วงดุลกัน แล้วทำอย่างเข้มข้น ไม่มีลูบหน้าปะจมูก
มาถึงทุกวันนี้ พอไปรวมกันมันกลายเป็นเกิดคำถามกับประชาชนว่า แล้ว 20 กว่าปีที่บ้านเมืองวุ่นวาย 20 กว่าปีที่ทะเลาะกัน ตัวจุดกำเนิดมันก็มาจากสองพรรคนี้แหละ ไม่ว่าจะแตกออกมาเป็นลุงกำนัน เป็นนู่นเป็นนี่ ม็อบสีแดงก็เกิดจากอะไร ม็อบสีเหลืองกำเนิดจากอะไร มันก็จะแตกกันออกมา แล้วกลายเป็นว่าไปจับกันอย่างนี้ ใช้คำว่า “ก้าวข้ามความขัดแย้ง”
ถ้าเกิดก้าวข้ามความขัดแย้ง โดยที่ไปกันทั้งประเทศ ทั้งประชาชน ทั้งคนยากคนจน อย่างนี้มันไปได้ แต่ทุกวันนี้ กลายเป็นว่าไปจับขั้วกันระหว่างสองพรรคการเมือง แล้วก็บางส่วน (ของพรรค) ด้วย
ส่วนที่ผมเรียกว่าเป็น “เนื้อแท้” ได้ไหม ที่เขาไม่ยอมมา ที่เขาอยู่กับพรรคมาตั้งนานและบอกว่าอุดมการณ์ประชาธิปัตย์มันไม่ใช่แบบนี้ เหลืออยู่ไม่กี่คน ส่วนที่เหลือก็ไปรวมกันหมด
ไม่ได้รวมกันแค่นี้ ทหารเก่าที่ไม่ยอมวางอำนาจก็ยังพยายามเข้ามาที่จะสั่งนู่นสั่งนี่ รวมถึงนายทุนอีก แล้วนายทุนหรือเศรษฐีบ้านเราไม่ได้เหมือนเศรษฐีประเทศอื่น มันไม่ได้โตขึ้นมาจากเด็กเทค เด็กวิทยาการสมัยใหม่ เอาวิชาความรู้ใหม่ๆ มาทำมาหากิน จนกระทั่งรวยแซงคนเก่า
ของเรานี่คนเดิมๆ ตระกูลเดิมๆ ผูกขาดล้วนๆ เพราะฉะนั้น เศรษฐีอันดับท็อปๆ ของเมืองไทยมาจากธุรกิจผูกขาด ธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองของประเทศทั้งสิ้น
ที่มีการไปพูดวิสัยทัศน์ ก็กลายเป็นว่ารวมกันระหว่างการเมืองกับนายทุน ผสมผสานกลมกลืนกันเลย ทีนี้ของเดิมที่เราบัญญัติคำว่า “รากหญ้า” ว่ามาจากไทยรักไทยเดิม ช่วยเหลือคนยากคนจน ตอนนั้น พอพูดถึงประชาธิปัตย์ คนก็บอกว่านิยามเลย “อุ้มคนรวย ไม่ช่วยคนจน” แต่กลายเป็นว่าตอนนี้มันไปทิศทางเดียวกันหมด
‘เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์’ ข้ามขั้วฮั้วอำนาจ ไม่สนใจความรู้สึกประชาชน #MatichonTV #มีเรื่องมาเคลียร์byศิโรตม์ #ศิธาทิวารี #เทพไทเสนพงศ์ #เพื่อไทย #ประชาธิปัตย์ #พรรคร่วมรัฐบาล pic.twitter.com/O6qKbOFliI
— Matichon TV (@MatichonTV) September 2, 2024
ศิโรตม์ : คุณเทพไทมองอย่างไรกับเหตุการณ์จับมือข้ามขั้วนี้?
เทพไท : ผมว่าเป็นการฮั้วอำนาจของแกนนำ ของชนชั้นนำของแต่ละฝ่าย โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน ผมเชื่อว่ามวลชนของทั้งสองฝ่ายเจ็บปวดไม่แพ้กัน คือต่างฝ่ายต่างก็มีอุดมการณ์ มีจุดยืน มีความเชื่อของตัวเองอยู่แล้ว
แต่การที่คุณอุ๊งอิ๊ง (แพทองธาร ชินวัตร) หรือระบอบทักษิณก็แล้วกัน เอาง่ายๆ ระบอบทักษิณกับประชาธิปัตย์มาจับมือกัน มันพูดได้เป็นคำที่สวยหรู “ก้าวข้ามความขัดแย้ง เพื่อประเทศชาติ ปรองดอง” อะไรอย่างนี้ คือพูดเป็นเหตุผลเพื่อที่จะให้มันดูดีในการไปฮั้วอำนาจกัน
ในวันนี้ ผมฟังอารมณ์ทั้งสองฝ่าย ผมเข้าใจมวลชนคนเสื้อแดง โดยเฉพาะแกนนำส่วนหนึ่ง ที่ออกมาบอกว่าคุณทักษิณข้ามคนเสื้อแดงขึ้นไปสู่อำนาจ แล้วก็มีมวลชนที่ไปอยู่ต่างจังหวัดเยอะแยะ ที่เขาไม่มีช่องทางที่จะแสดงออก อันนั้นก็อีกเยอะ
แต่มันก็มีคนกลุ่มหนึ่งสัก 3-4 คน ที่ผมเห็นเรียงหน้ามา ก็บอกว่าประชาธิปัตย์ผลัดใบไปแล้ว จับมือกันได้ นี่คนรุ่นใหม่ ก้าวข้ามความขัดแย้ง คนที่พูดแบบนี้คือคนที่ได้ประโยชน์จากรัฐบาลนี้ เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษารองนายกฯ แล้วก็ใกล้ชิดกับคุณทักษิณ (ชินวัตร)
ในอีกปีกหนึ่งที่เขามีความเชื่อว่าระบอบทักษิณมันเลวร้าย คือตัวปัญหาของประเทศชาติ แล้วเขาก็เป็นลมใต้ปีกให้กับพรรคประชาธิปัตย์ นั่นก็คือมวลชนคนเสื้อเหลือง พันธมิตรฯ กปปส. นกหวีด อะไรก็แล้วแต่ ซึ่งร่วมเป็นร่วมตาย ยอมนอนกลางเดินกินกลางทราย เคลื่อนไหวมา
แล้วพออยู่ๆ วันนี้ ประชาธิปัตย์ก็บอกว่า เฮ้ย ที่ผ่านมามันอีกเรื่องหนึ่ง อันนี้ของคนรุ่นใหม่ โน่นคนรุ่นเก่า คนรุ่นเก่าทะเลาะกัน จะให้คนรุ่นใหม่ทะเลาะกัน (ด้วย) ได้ยังไง
แต่ว่าที่สุด คือเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะหน้าทั้งสิ้น และผมก็เชื่อว่าการตั้งรัฐบาลชุดนี้ เป็นรัฐบาลตระบัดสัตย์ ทุกพรรคที่เข้ามาร่วมไม่มีสัจจะทั้งสิ้น
พรรคเพื่อไทยตอนหาเสียงก็ประกาศว่า ไม่จับมือกับ 3 ป. ปิดสวิตช์ ส.ว. อ้าว หลังเลือกตั้ง ก็กระโดดมาจับมือกับ 3 ป. กับลุง แล้วก็ไม่ได้ปิดสวิตช์ ส.ว. ยืมมือ ส.ว.มาโหวตให้ด้วย
พรรคประชาธิปัตย์ที่เข้าร่วม (รัฐบาล) ใหม่ๆ ล่าสุด อันนี้หัวหน้าพรรคประกาศชัดอยู่แล้วบนเวที (หาเสียง) ว่า ถ้าได้ (ส.ส.) ต่ำกว่า 52 (เสียง) จะเลิกเล่นการเมือง แต่สุดท้ายก็มา
ตั้งแต่ผมเล่นการเมืองมา การจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้แปลกที่สุด คือว่าที่ผ่านมาเวลาจัดตั้งรัฐบาล เราจะดูว่าพรรคไหนได้ที่หนึ่ง แล้วพรรคที่หนึ่งก็จะหาแนวร่วม พรรคที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน แนวทางเดียวกัน มาร่วมรัฐบาล
แต่รัฐบาลชุดนี้ “ไม่” (เป็นแบบนั้น) คนละขั้ว คนละความคิด คู่ต่อสู้กันมา 20-30 ปี รวมมาจัดตั้งรัฐบาล พอจัดตั้งรัฐบาลเสร็จ ก็ไม่ได้คิดอีกว่าอุดมการณ์และนโยบายมันใกล้เคียงกันไหม คุณมีนโยบายอะไรที่จะมาเสริมเติมเต็มเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ไม่มี
คิดแต่ว่าพรรคคุณได้มาเต็มไหม ได้มาค่อนไหม ได้มาครึ่งไหม คุณได้จำนวนเท่านี้ ได้โควต้ารัฐมนตรีกี่คน พอเสนอชื่อ (รัฐมนตรี) มา ก็มาตรวจสอบจริยธรรม ถ้าลูกไม่ผ่านเอาพ่อมาเป็นได้ไหม พ่อไม่ผ่านเอาลูก พี่ไม่ผ่านเอาน้อง น้องไม่ผ่านเอาเพื่อน คือมันเหมือนกับสมบัติในครอบครัวในตระกูล แล้วประชาชนไม่ได้อยู่ในสมการการจัดตั้งรัฐบาลเลย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022