ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | Cool Tech |
ผู้เขียน | จิตต์สุภา ฉิน |
เผยแพร่ |
เวลาผ่านไปรวดเร็ว เผลอแป๊บเดียวอุปกรณ์แวร์เอเบิลยอดนิยมอย่าง Apple Watch ก็กำลังจะมีอายุครบ 10 ปีแล้ว
ถ้าลองหยิบ Apple Watch รุ่นแรกสุดมาเปรียบเทียบกับ Series 9 รุ่นล่าสุดที่มีขายในตอนนี้ หรือรอเปรียบเทียบกับ Series 10 ที่กำลังจะเปิดตัวอีกไม่กี่วันข้างหน้าก็จะเห็นว่า Apple Watch เดินทางมาไกลพอสมควรเลยทีเดียว
Apple Watch รุ่นแรกๆ ยังไม่ได้มีภาพชัดเจนว่าเป็นอุปกรณ์ที่เราสวมใส่ไว้เพื่ออะไร นอกเหนือไปจากความสามารถในการแสดงผลการแจ้งเตือนแบบใกล้ตัวเรายิ่งกว่า iPhone หรือความสามารถในการช่วยนับก้าวเดินแล้ว ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ก็คิดไม่ออกว่าเราจำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์ดิจิตอลอีกชิ้นไว้ติดตัวเพื่ออะไร
จนกระทั่งเวลาผ่านไป Apple ก็ค่อยๆ มองเห็นภาพว่า Apple Watch เป็นอุปกรณ์ที่เหมาะเป็นอย่างมากสำหรับใช้เพื่อช่วยดูแลสุขภาพ ความเป็นอยู่ และความปลอดภัย
เราได้เห็น Apple หยิบยกกรณีศึกษาของผู้ใช้งานที่รอดชีวิตมาได้ด้วย Apple Watch มานำเสนออยู่ในงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์อยู่บ่อยครั้ง
และ Apple เองก็เติมฟีเจอร์ช่วยดูแลสุขภาพและความปลอดภัยเพิ่มให้กับ Watch อยู่เรื่อยๆ
สําหรับ Watch Series 10 ที่กำลังจะเปิดตัวก็มีการคาดการณ์กันว่าน่าจะปรับเปลี่ยนจอแสดงผลและเพิ่มความสามารถในการเก็บข้อมูลสุขภาพให้ได้มากขึ้นและเก่งขึ้น และแน่นอนว่าในยุคที่ AI เฟื่องฟูแบบนี้ก็จะต้องมีความคาดหวังให้ Watch รุ่นใหม่มีความสามารถที่เป็น AI ด้วย
อันที่จริงถ้าพูดถึงเรื่องนี้ก็ต้องบอกว่า Apple Watch มีความสามารถของ AI แอบซ่อนอยู่ในการทำงานเบื้องหลังมาสักระยะแล้ว เพียงแค่ Apple ไม่ได้สื่อสารออกมาโต้งๆ ว่าอันไหนเรียกว่าเป็น AI บ้างเท่านั้น
ดังนั้น ถ้าใครอยากลองใช้งานสิ่งที่มี AI ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังก็สามารถลองได้ตั้งแต่ Watch รุ่นที่วางขายอยู่ตอนนี้เลย
อย่างเช่น ฟีเจอร์ Double Tap หรือการแตะ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นฟีเจอร์ใหม่ที่เปิดตัวมาพร้อม Watch Series 9 และ Ultra 2 ที่มีวางขายในปัจจุบันก็เป็นหนึ่งฟีเจอร์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI
Double Tap คือฟีเจอร์ที่เราสามารถสั่งการ Watch ของเราได้โดยที่ไม่ต้องใช้นิ้วสัมผัสลงไปบนหน้าจอโดยตรงเลย เพียงแค่เราจีบนิ้วหัวแม่โป้งกับนิ้วชี้เข้าหากันและแตะปลายนิ้วติดกัน 2 ครั้ง เราก็จะสามารถสั่งการฟังก์ชั่นต่างๆ ได้ อย่างเช่น การรับสาย วางสาย การตั้งนาฬิกาจับเวลาหรือแม้กระทั่งสั่งกดชัตเตอร์ของ iPhone เพื่อถ่ายภาพ
แม้ว่าฟีเจอร์นี้จะไม่ใช่ของที่ใหม่เอี่ยมแบบแกะกล่องทั้งหมดเพราะเคยมีคล้ายๆ กับอยู่ใน Watch รุ่นก่อนๆ แล้ว แต่ด้วยชิพ S9 และแมชชีนเลิร์นนิ่งก็ทำให้ Watch รุ่นใหม่สามารถประมวลผลได้รวดเร็วขึ้น
ถึงจะดูไม่ใช่ฟีเจอร์ที่หวือหวาอะไร แต่หลังบ้านต้องอาศัยดาต้าจำนวนมหาศาลจาก accelerometer gyroscope และเซ็นเซอร์จับอัตราการเต้นของหัวใจในการทำให้ AI สามารถตรวจจับท่าทางของการจีบและแตะ 2 ครั้งได้อย่างแม่นยำ
หรือท่าทางแบบไหนที่ไม่นับว่าเข้าข่ายการ double tap เพื่อไม่ให้การสั่งการผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ
อีกหนึ่งตัวอย่างของ AI ที่อยู่ใน Apple Watch อยู่แล้วก็คือตัวเก็บข้อมูลการนอนหลับ Apple ใช้อัลกอริธึ่มที่เป็น AI เพื่อประมวลผลการเคลื่อนไหวของร่างกายในขณะที่ผู้สวมใส่นอนหลับโดยใช้ควบคู่กับเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่ติดตั้งมาพร้อมตัวนาฬิกา ทำให้นาฬิกาสามารถให้ข้อมูลได้ว่าผู้ใช้งานมีรูปแบบการนอนแบบไหน
รวมถึงการตรวจจับการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก Apple Watch สามารถตรวจสอบและแจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานรู้ตัวได้เมื่อไหร่ก็ตามที่ตรวจพบอัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ โดยเบื้องหลังการประมวลผลว่าอัตราการเต้นของหัวใจแบบไหนที่ผิดปกติหรือไม่ผิดปกติก็คือเทคโนโลยี AI นั่นเอง
เมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งจะมีข่าวว่ามีผู้ใช้งาน Apple Watch คนหนึ่งที่รอดชีวิตมาได้ด้วยคำเตือนบนหน้าจอนาฬิกาว่าพบอัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ บ่อยครั้งอาการเหล่านี้ไม่ได้แสดงออกมาให้รู้สึกได้อย่างชัดเจนจึงทำให้หลายคนพลาดไป
สำหรับกรณีนี้เมื่อนาฬิกาแจ้งเตือนขึ้นมาในช่วงเวลากลางคืน เธอตัดสินใจว่าจะรอให้ถึงตอนเช้าก่อนแล้วค่อยไปหาหมอ
แต่เมื่อนาฬิกาขึ้นเตือนอีกครั้งว่ามีภาวะ AFib หรือภาวะหัวใจเต้นพลิ้วและแนะนำให้พบแพทย์ทันที เธอจึงตัดสินใจไปโรงพยาบาลตอนนั้นและรอดชีวิตมาได้ก่อนที่อาการจะหนักเกินไป
อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ก็เข้าข่าย AI ช่วยชีวิตเช่นกันก็คือ Fall Detection หรือฟีเจอร์ตรวจจับการล้ม
นาฬิกา Apple Watch ที่มาพร้อมฟีเจอร์นี้จะสามารถตรวจจับได้ว่าผู้สวมใส่ล้มและจะขึ้นมาถามบนหน้าจอเพื่อให้กดติดต่อหน่วยงานฉุกเฉินเพื่อขอความช่วยเหลือ หากผู้ใช้งานกดไม่ได้ นาฬิกาก็จะแจ้งเตือนไปยังบุคคลที่อยู่ในรายชื่อติดต่อโดยอัตโนมัติ
AI ใน Apple Watch สามารถตรวจจับได้ว่าแรงกระแทรกแบบไหนคือการล้มโดยใช้ข้อมูลอย่างแรงกระแทรกหรือการเคลื่อนไหวของข้อมือเข้ามาช่วยในการประมวลผล นอกจากนี้ ก็ยังใช้ข้อมูลจาก accelerometer และ gyroscope มาคำนวณร่วมด้วย โดย AI จะเป็นตัวตัดสินใจว่าแบบไหนเป็นการหกล้มจริงๆ หรือแบบไหนไม่เข้าข่าย เพื่อให้การเตือนเป็นไปอย่างแม่นยำและไม่พร่ำเพรื่อ
เช่นเดียวกับอีกฟีเจอร์ที่คล้ายกันคือ Crash Detection ตรวจจับว่าผู้สวมใส่อยู่ในอุบัติเหตุรถชนหรือไม่และขอความช่วยเหลือให้โดยอัตโนมัติ
แม้ว่า Apple จะได้ไม่เน้นการสื่อสารว่าอะไรบ้างที่เป็น AI และเน้นไปที่ประโยชน์ใช้สอยเป็นหลักแต่ในตอนนี้เราก็ได้เห็นแล้วว่าเบื้องหลังฟีเจอร์สำคัญๆ ในอุปกรณ์ที่เราสวมใส่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI แค่ไหน ดังนั้น จึงมีความคาดหวังสูงว่า Apple Watch ที่จะเปิดตัวใหม่ก็น่าจะมี AI เก่งๆ ที่มาช่วยดูแลเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของเราเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ก็น่าจะยังมี Gen AI ที่ Apple อาจจะใส่เพิ่มเข้ามาให้ในนาฬิการุ่นใหม่ด้วย อย่างเช่นการใช้ Gen AI มาช่วยเก็บรวบรวมและประมวลผลข้อมูลเพื่อให้แนะนำผู้ใช้งานรายคนว่าจะต้องดูแลสุขภาพอย่างไรให้เหมาะกับตัวเราเองมากที่สุด หรือใช้ Gen AI มาเป็นผู้ช่วยที่ติดตามตัวเราได้หนึบยิ่งกว่า iPhone
จะมี AI แบบไหนมาเพิ่มเติม รออีกไม่นานก็จะได้เห็นกันแล้วค่ะ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022