ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กันยายน 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
คิดให้พ้น ‘ชุมชนจินตกรรม’
: การปลดปล่อยทั้งชาตินิยมและสากลนิยม
บทความอาทิตย์ที่แล้วผมพูดเรื่องวิธีวิทยาของอาจารย์เบ็น แอนเดอร์สัน ในงานที่โด่งดังระดับโลก “ชุมชนจินตกรรม : การกำเนิดและแพร่กระจายของชาตินิยม” ว่าไม่ใช่ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ก้าวหน้าอย่างลัทธิมาร์กซ์หรือโพสต์โมเดิร์นอะไรทั้งสิ้น หากแต่มีพื้นฐานมาจากความเข้าใจในมโนทัศน์ธรรมชาติมนุษย์คืออารมณ์ความรู้สึกของความทุกข์นานัปการ
จากนั้นนำไปสู่การสังเคราะห์ผ่านปัจจัยความเชื่อศรัทธาทางศาสนาและลัทธิผีบรรพบุรุษทั้งหลาย กับความเชื่อและกลัวอำนาจของรัฐราชวงศ์ที่มีกษัตริย์หรือจักรพรรดิเป็นผู้ปกครอง
ทั้งหมดนี้อยู่ในประวัติศาสตร์ของทุกชาติและประเทศในโลก เพียงแต่เราศึกษาและเข้าใจในผลสรุปว่ามันได้สร้างความเป็นชาติและประเทศให้แก่พวกเราอย่างเรียบร้อย ไม่มีปัญหาอะไรต้องไปค้นหาที่มาและปมเงื่อนการเกิดและเปลี่ยนแปลงไปของมัน
เบ็นเป็นนักคลาสสิคคือเชี่ยวชาญในภาษาและวรรณคดีกรีกโรมันโบราณก่อนเป็นนักรัฐศาสตร์ประวัติศาสตร์ที่เชี่ยวชาญในอุษาคเนย์
ทว่า เหนือความรู้คือความเป็นสามัญชนคนธรรมดาที่ให้ความสำคัญแก่ความรู้สึกทั้งบวกและลบ
เขาจึงเป็นอาจารย์นักวิชาการที่คนรู้จักทั่วโลกที่ไม่เคยยินดียินร้ายมากนักกับเสียงเล่าลือเสียงอวยอ้างเหล่านั้น
เขายังทำงานและทำตัวอย่างคนธรรมดา พูดกับนักศึกษาและชาวบ้านอย่างให้ความสำคัญ ไม่แคร์และไม่อยากพบปะพูดคุยกับผู้นำและผู้มีอำนาจใดๆ ในโลก เพราะเชื่อว่าอำนาจทำให้เสื่อม จึงไม่ต้องเสียเวลาไปอธิบายให้พวกนั้นฟัง
ประสบการณ์ในชีวิตของคนสามัญต่างหากที่ทำให้เขาเรียนรู้ความหมายและความสำคัญของความเปลี่ยนแปลงที่ได้เกิดขึ้นว่ามันไปเปลี่ยนหรือสร้างชีวิตใหม่อะไรให้แก่คนสามัญเหล่านั้น
นั่นเองเมื่อเขาต้องตอบโจทย์ว่าทำไมประเทศสังคมนิยม (อย่างจีนและเวียดนาม) ถึงลงมือประกาศสงครามระหว่างสองชาติที่เป็นสังคมนิยมที่เป็นอุดมการณ์การเมืองที่ก้าวล้ำหน้าที่สุดในปี 1979 นี่เป็นความขัดแย้งอันฉกรรจ์ที่ทำลายเกียรติภูมิและฐานะอันสูงส่งของชาติสังคมนิยมมาร์กซิสต์ที่ไม่อาจรับได้
ผมจำได้ว่าเราคุยกันในประเด็นนี้ว่าทำไมอุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ถึงพัฒนาตกต่ำหลังจากที่พรรคยึดอำนาจรัฐได้ แทนที่จะพัฒนาไปสู่การทำลายรัฐและอำนาจรัฐที่กดขี่ขูดรีดทางชนชั้นที่พรรคคอมมิวนิสต์ทั้งหลายท่องบ่นและเทศนาทุกเมื่อเชื่อวัน
คำสรุปของอาจารย์เบ็นตอนนั้นคืออุดมการณ์ที่อิงอยู่กับรัฐก็เสื่อมเหมือนๆ กันทุกอย่างไม่เว้นแม้แต่อุดมการณ์ที่ก้าวหน้าที่สุดในตอนนั้น แสดงว่ารัฐต้องมีอะไรที่สามารถกำกับควบคุมให้อุดมการณ์แม้เป็นของและมาจากประชาชนข้างล่างที่สุดยังต้องสยบยอมหมอบกราบไปเทศนาไป
ความจริงทัศนะต่อรัฐเชิงลบนี้เบ็นมีมาก่อนหลายปีแล้วอย่างน้อยหลังจากเขาถูกประกาศขึ้นทะเบียนดำห้ามเข้าประเทศอินโดนีเซียหลังจากเขียนบทความวิเคราะห์การรัฐประหารปี 1965 และการป้ายสีพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียว่าอยู่เบื้องหลังการฆ่านายพลทหารอินโดนีเซีย นำไปสู่กระแสโต้กลับที่สังหารสมาชิกพรรคและคนอินโดนีเซียที่ถูกกล่าวหาไปนับแสน
เหตุการณ์รัฐประหารเลือดนั้นเบ็นและคณะวิจัยเสนอจากหลักฐานที่ได้มาว่าเป็นการวางแผนและร่วมมือกันของกองทัพภายใต้นายพลซูฮาร์โตและคณะ ด้วยการเห็นชอบอย่างเงียบๆ ของซีไอเอและฝ่ายทหารอเมริกา
เขาจึงเป็นผู้ต่อต้านรัฐทั้งในสหรัฐและอินโดนีเซีย โดยที่ก่อนหน้านั้นตอนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในอังกฤษ เขาเข้าไปช่วยนักศึกษาอินเดียที่ประท้วงการกระทำของรัฐบาลอังกฤษ
ทันใดก็มีนักศึกษาที่เป็นนักกีฬามหาวิทยาลัยกลุ้มรุมเข้าทำร้ายนักศึกษาอินเดียซึ่งตัวเล็กกว่ามาก แถมยังมีการร้องเพลงชาติ “ก๊อดเซฟเดอะควีน” อีกด้วยระหว่างใช้กำลังป่าเถื่อน
การปะทะกันครั้งนั้นทำให้เบ็นมีความคิดต่อต้านรัฐบาลจักรวรรดินิยมและลัทธิชาตินิยมอังกฤษอย่างฝังใจ
เหตุการณ์นั้นต่อมาทำให้เขาบรรยายอย่างถึงลูกถึงคนด้วยการเยาะเย้ยเสียดสีชาตินิยมอังกฤษเมื่อเขียน “ชุมชนจินตกรรม” และแสดงให้เห็นว่าลัทธิชาตินิยมนั้นแท้จริงแล้วกำเนิดในละตินอเมริกาก่อน ไม่ใช่ในยุโรปอย่างที่นักวิชาการตะวันตกพากันป่าวร้อง
ทั้งหมดที่เล่ามานี้ไม่ได้ต้องการนำไปสู่ข้อสรุปว่าเบ็น แอนเดอร์สัน ไม่มีทฤษฎีในการศึกษาวิจัยและเขียนงานวิชาการ
จริงๆ แล้วผมคิดว่าเบ็นเอนเอียงไปทางทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ไม่มากก็น้อย เขามีน้องชายที่สนิทกันมากและเป็นคนอ่านร่างบทความและหนังสือทุกเรื่องทุกเล่มของเขาก่อนไปตีพิมพ์ เขาคือ เพอร์รี่ แอนเดอร์สัน บรรณาธิการและหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งวารสารซ้ายใหม่ที่ทรงอิทธิพลมายาวนาน “New Left Review”
เพอร์รี่เป็นนักลัทธิมาร์กซ์ที่ไม่มีใครสงสัยและท้าทาย ผมจึงเชื่อว่าเบ็นเรียนรู้ลัทธิมาร์กซ์จากน้องชายเขามากกว่าไปอ่านและทำความเข้าใจจากนักลัทธิมาร์กซ์มือสองทั่วไป
นั่นเองที่เขาใช้การเกิดระบบทุนนิยมในยุโรปมาอธิบายบทบาทและความเปลี่ยนแปลงที่ระบการพิมพ์หนังสือแบบใหม่เกื้อกูลต่อการเกิดความคิดเรื่องชาติในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก
แต่เบ็นก็เลือกใช้ระบบทุนนิยมเฉพาะด้านที่อธิบายสมมุติฐานเรื่องชุมชนจินตกรรมของเขานั่นคือการเกิดสิ่งที่เขาเรียกเป็นคนแรกว่า “ระบบการพิมพ์แบบทุนนิยม” (print-capitalism) อันเป็นเรื่องที่นักเศรษฐศาสตร์การเมืองไม่รู้จักและไม่อาจอธิบายได้
ผมเล่ามาเสียยืดยาวเพื่อต้องการให้นักศึกษาและนักวิจัยรุ่นใหม่มองเห็นกระบวนการวิจัยและศึกษาว่าทำกันอย่างไร
ผมสังเกตจากงานวิจัยรุ่นใหม่ ที่มักนำเอาทฤษฎีมาจับแล้วเราแค่ลงไปหาข้อมูลในพื้นที่จำนวนหนึ่งเพื่อมาพิสูจน์หรือหักล้างตัวบททฤษฎีเท่านั้นเอง
วิธีการวิจัยของเบ็นที่ผมนำเสนอพยายามแสดงให้เห็นว่า ก่อนใช้ทฤษฎีหรือมโนทัศน์ นักวิจัยต้องทำความคุ้นเคยและรู้จักปัญหาหรือโจทย์วิจัยของตนเองเสียก่อน ว่ามันก่อรูปและดำเนินมาอย่างไร สร้างปัญหาและคำถามอะไร พยายามถามให้ลึกซึ้งกว่าทำไมและกี่คน
โจทย์วิจัยที่ไม่น่าถามและไม่ควรทำอย่างยิ่งคือจะเพิ่มมูลค่าได้เท่าไร งานวิจัยที่เป็นงานวิชาการนั้นจุดหมายระยะยาวคือการสร้างและขยายความรู้ในเรื่องนั้นและเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่การผลิตสินค้าสำเร็จรูปสำหรับนำไปขายในตลาดแล้วทำกำไรมากน้อยว่ากันไป
นโยบายรัฐบาลและองค์กรแจกจ่ายทุนวิจัยในไทยได้ทำให้การวิจัยเป็นการทำสินค้าสำเร็จรูป
ผลคือไม่มีงานวิจัยที่ออกมาแล้วทำให้คนเกิดความรู้สึกผูกพันและเข้าใจในปัญหาเหล่านั้น
ยิ่งกระทำไปในลักษณะนี้ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกต่องานวิจัย
ในที่สุดก็เหลือนักวิจัยที่ทำเหมือนผลิตสินค้าคือไม่มีวิญญาณและความรู้สึกในงานที่ทำ รับจ้างวิจัยเหมือนกับการรับจ้างบริษัทผลิตสินค้าออกมาเท่านั้น แล้วก็หาทางทำให้ดัชนีชี้วัดงานวิจัยของตนมีดัชนีสูงขึ้นด้วยการตีพิมพ์ในวารสารที่รับจ้างพิมพ์อ้างว่ามี scopus index สูง เป็นต้น
นี่เป็นการตกหลุมพรางของระบบทุนนิยมการวิจัย (research-capitalism) อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เมื่อเบ็นลงมือเขียน “ชุมชนจินตกรรม” เขารวมศูนย์การวิเคราะห์และถอดโจทย์เรื่องความเสื่อมสลายของความเชื่อในอุดมการณ์ไปที่ความเป็นมาในอดีตของสองปัจจัยทางวัฒนธรรมที่เขาคิดว่ามีอิทธิพลและเป็นตัวกำกับและเผยแพร่รวมถึงตีความเนื้อหาและความเชื่อนั้นให้แก่ประชาชนทั้งหลาย
ประเด็นสำคัญคือเขามองความเชื่อในสังคมอย่างมีชีวิต มันมีเกิดแล้วก็ดับไปตามสภาวการณ์ แทนที่จะสรุปอย่างรวดเร็วว่าความคิดชาตินิยมเกิดเพราะมีรัฐชาติแบบใหม่และคนแบบใหม่ขึ้นมาดังที่นักวิชาการอื่นๆ เสนอ
เขาใช้เวลากลับไปครุ่นคิดและค้นหาปมเงื่อนของการเปลี่ยนแปลงในความคิดของคน ซึ่งเขาบอกว่าตอนนี้เป็นยุคใหม่ที่คนคิดอะไรกว้างๆ และเป็นนามธรรมอย่างสังคมได้แล้ว นั่นคือที่มาของการเสนอว่า ความรับรู้โลกอย่างใหม่เกิดขึ้นด้วยอานิสงส์ของการคิดถึงเวลาในปริมณฑลอันว่างเปล่าที่ปราศจากการขีดคั่นด้วยเวลาที่เป็นของอดีตหรืออนาคต “สุญกาลสหมิติ” (homogeneous empty time) เวลาที่มีความหมายต่อคนธรรมดาไม่จำเป็นต้องเป็นเวลาทางศาสนาอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เวลาในสองวัฒนธรรมศาสนาและราชวงศ์ต้องเสื่อมสลายก่อน ถึงจะสร้างเงื่อนไขและพื้นที่ให้แก่คนใหม่เข้ามาแสดงบทบาทผ่านความคิดว่าด้วยชาติได้
ในที่สุดทำให้เขาสรุปออกมาเป็นทฤษฎีหรือกรอบการวิจัยต่อมาได้ว่า ความคิดที่นำไปสู่การสร้างจินตนาการเรื่องชาติที่เป็นชุมชนนั้นกำเนิดมาภายหลังความเสื่อมสลายลงของปัจจัยวัฒนธรรมครอบงำทั้งสองอาณาจักรคือศาสนาโบราณและรัฐราชวงศ์แบบจารีต
เป็นการมองการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการ ไม่ใช่ในหัวของผู้นำหรือปัจเจกบุคคลคนใดเท่านั้น เหมือนกับที่มาร์กซ์ก็ใช้วิธีวิทยาดังกล่าวนี้เหมือนกันในการศึกษาวิเคราะห์สินค้า ที่ดำเนินไปภายในกระบวนการผลิตและกระบวนการแลกเปลี่ยน แต่คนมักจำได้เพียงแค่กรรมกรและนายทุนเท่านั้น เหมือนดูหนังเราก็มักสนใจแค่พระเอกนางเอกกับผู้ร้าย
เบ็นกล่าวในหนังสือเล่มสุดท้ายว่า “นักวิชาการโดยเฉพาะที่เป็นรุ่นเยาว์ จำเป็นจะต้องรู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางวิชาการที่กำลังเปลี่ยนไปของพวกเขา ซึ่งให้อภิสิทธิ์แก่พวกเขามากมาย แต่ขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มที่จะตีกรอบพวกเขาไว้ หรือไม่ก็ทำให้พวกเขาจมปลักอยู่อย่างนั้น” “นักวิชาการรุ่นใหม่จะต้องขบคิดอย่างจริงจังถึงผลพวงของกระบวนการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างชาตินิยมกับโลกาภิวัตน์ ซึ่งทั้งสองสิ่งนั้นต่างก็มีหนทางที่จะมาจำกัดขอบเขตของความรับรู้เข้าใจและลดทอนความซับซ้อนของปัญหา”
เขาจึงเสนอว่าทำไมถึงจำเป็นมากขึ้นทุกทีที่ต้องผสานการปลดปล่อยทั้งชาตินิยมและสากลนิยมเข้าด้วยกัน (แอนเดอร์สัน 2562)
เขาปิดท้ายหนังสือ “ไกลกะลา” ด้วยวาทะจากสปิริตของคาร์ล มาร์กซ์ ดังนี้
ในศึกเพื่อการปลดปล่อยครั้งนี้ เหล่ากบจะปราชัยก็แต่ด้วยมัวหมอบคู้อยู่ใต้กะลาทึบทึมของตัวเองเท่านั้น ผองกบทั้งโลกจงสามัคคีกัน!
อ้างอิง
เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน 2562. ไอดา อรุณวงศ์แปล ไกลกะลา (A Life Beyond Boundaries). สำนักพิมพ์อ่าน.
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022