ช่องว่างกระแสคลื่น

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เกี่ยวกับโอกาสทางธุรกิจ มาจากการขยับ ปรับตัวอยู่บ้าง ในโมเดลสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยที่ใช้มานาน

มีภาพหนึ่งซึ่งคู่ขนานกับแนวคิดสำคัญของประธานคนใหม่ (ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ดำรงตำแหน่ง มิถุนายน 2567) ได้ว่าไว้อย่างน่ารับฟัง ให้เปลี่ยนแนวทางเศรษฐกิจที่เคยใช้ ที่ผ่านมานานหลายทศวรรษ โดยเฉพาะที่ว่าด้วย “Detroit of Asia” ที่มีปัจจัยเร่งเป็นที่น่าวิตก กับปรากฏการณ์ “สินค้าจีนถล่มโลก”

ภาพคู่ขนานนั้น สัมพันธ์และต่อเนื่อง มาจากดัชนีหนึ่ง ที่เป็นไปพอจะอ้างเป็นรูปธรรมได้บ้าง ในโมเดลระบบเศรษฐกิจเดิม เป็นปรากฏการณ์การเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ในภูมิภาค ขยายอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

นั่นคือ การก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม เปิดฉากนำร่องด้วยภาครัฐ จากนั้นตามมาเป็นขบวนโดยเอกชน ในนั้นภาพเชิงขยาย สู่เครือข่ายธุรกิจญี่ปุ่น ในฐานะเป็น “ผู้เล่น” หลัก อย่างที่เห็นสู่วงกว้างในปลายปี 2554 เมื่อนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ณ ที่ราบลุ่มเจ้าพระยา เผชิญน้ำท่วมครั้งใหญ่ ภาพหนึ่งซึ่งสะเทือนใจ-รถยนต์ญี่ปุ่นนับพันคันจมน้ำ นำไปสู่เรื่องราวซึ่งรับรู้ ยังมีโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของธุรกิจญี่ปุ่นอยู่ในนั้นด้วย อีกมากกว่า 300 แห่ง

ขบวนการลงทุนจากญี่ปุ่นในไทย คงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เจโทร (JETRO) เพิ่งรายงานไว้เมื่อไม่นานมานี้ ว่า มีมากถึงราว 6,000 บริษัท เกือบๆ ครึ่งหนึ่งเป็นอุตสาหกรรมการผลิต

เรื่องของเรื่องข้างต้นกับช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านอย่างช้าๆ เกี่ยวข้องบางระดับ กับบริษัท กับธุรกิจหนึ่งที่จะอ้างถึงด้วย

 

WHA Group กับผู้นำโดดเด่น-จรีพร จารุกรสกุล อยู่ในความสนใจมาพักใหญ่ เกี่ยวเนื่องกับเครือข่ายบริษัทเก่าแก่อันเป็นตำนานของไทย ทั้ง เอสซีบีเอกซ์ เพิ่งแปลงร่างมาจากธนาคารเก่าแก่ที่สุดของไทยที่คงอยู่ กับ เอสซีจี เครือข่ายอุตสาหกรรมการผลิตมีรากฐานมากว่าศตวรรษเช่นกัน

เกี่ยวกับรายนามกรรมการใหม่ในเครือข่ายธุรกิจสำคัญของเอสซีจี โดยเฉพาะผู้ที่มาจากเครือข่ายธุรกิจใหญ่ ทั้ง ฐาปน สิริวัฒนภักดี แห่งกลุ่ม ทีซีซี ศุภชัย เจียรวนนท์ แห่งเครือ ซีพี และ ทศ จิราธิวัฒน์ แห่งกลุ่ม เซ็นทรัล

“มองในภาพใหญ่…สะท้อนความเป็นไปอย่างเป็นจริงสังคมธุรกิจไทยปัจจุบัน…สำหรับเอสซีชี ถือเป็นความสัมพันธ์ใหม่ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมธุรกิจไทยด้วยกัน อยู่ในระนาบเดียวกัน เสมอกัน…ยอมรับกัน ผ่านกระบวนการ แลกเปลี่ยน ประสบการณ์ ความรู้และบทเรียน ซึ่งกันและกัน รวมทั้งข้อมูล มุมมอง และบทวิเคราะห์ ไม่ว่าความเคลื่อนไหว วงใน จนถึงสถานการณ์ในภาพกว้าง” ผมเคยนำเสนอไว้ (บางตอนของเรื่อง “สายสัมพันธ์ใหม่ เอสซีจี” ธันวาคม 2565)

กรรมการใหม่อีกคนหนึ่ง มาในช่วงเดียวกันในนั้นซึ่งละไว้ คือ จรีพร จารุกรสกุล เข้ามาเป็นกรรมการเอสซีจี ตั้งแต่ปี 2565 ช่วงคาบเกี่ยวกัน และในฐานะผู้บริหารรุ่นใหม่ในสังคมธุรกิจไทย เช่นเดียวกันกับ ฐาปน สิริวัฒนภักดี และ ศุภชัย เจียรวนนท์ นอกจากนี้ จรีพร จารุกรสกุล ยังเป็นกรรมการเอสซีบีเอกซ์ด้วย มาก่อนหน้าจากธนาคารไทยพาณิชย์ (2562-ปัจจุบัน)

เมื่อกล่าวถึง ฐาปน สิริวัฒนภักดี และ ศุภชัย เจียรวนนท์ ย่อมไม่เป็นที่สงสัยว่า เกี่ยวกับเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทยอันทรงอิทธิพล มีรากฐานมาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม และมีบทบาทโดดเด่นในระดับภูมิภาค

ถือว่าเทียบไม่ได้กับ จรีพร จารุกรสกุล และ WHA Group ซึ่งเพิ่งลงหลักปักฐานทางธุรกิจไม่กี่ปีมานี้

ณ ที่นี้ ไม่ได้ตั้งใจแสวงหาข้อมูลเชิงสายสัมพันธ์ส่วนบุคคล หากมุ่งที่แนวความคิดทางธุรกิจซึ่งเชื่อมโยงกัน เชื่อว่า จรีพร จารุกรสกุล และ WHA คงมีความหมายต่อทั้งเอสซีบีเอกซ์ และเอสซีจีพอสมควร

“มีประสบการณ์อย่างกว้างขวางในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริษัทด้านคลังสินค้าและโลจิสติกส์ ซึ่งมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรม รวมถึงสาธารณูปโภคและพลังงาน” สาระสำคัญว่าด้วยเชี่ยวชาญ จรีพร จารุกรสกุล ในฐานะกรรมการเอสซีบีเอกซ์ (อ้างจากข้อมูลอย่างเป็นทางการของเอสซีบีเอกซ์)

ขณะข้อมูลทางการในฐานะกรรมการเอสซีจี ขยายมุมมองกว้างและสำคัญขึ้นอีก “มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมหลักของเอสซีจี ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่อื่นๆ การบริหารจัดการองค์กรระดับภูมิภาคและระดับโลก เศรษฐกิจและการลงทุน การกำหนดนโยบาย การวางแผนกลยุทธ์ การมีวิสัยทัศน์ระดับโลก (Global Vision) การต่างประเทศ การบริหารความเสี่ยง การบริหารจัดการในภาวะวิกฤต (Crisis Management) ธุรกิจการขนส่ง (Logistic) ด้านการตลาดในประเทศ และ/หรือต่างประเทศ (Market Insight)”

เกี่ยวกับ WHA Group ข้อมูลอย่างเป็นทางการระบุไว้ให้เห็นภาพว่า เป็นกิจการก่อตั้งขึ้นในปี 2546 ถือว่าอยู่หลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญของไทย

“ในปี 2557 ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สามปีถัดมา ได้รวมกิจการกับบริษัท เหมราช พัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) นักพัฒนาที่ดินที่ใหญ่ที่สุดและประสบความสำเร็จมากที่สุดในประเทศไทยด้านนิคมอุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภคและพลังงาน และทางเลือกด้านที่ดิน” อีกตอนซึ่งอรรถาธิบายช่วงเปลี่ยนสำคัญ ให้ WHA Group เป็นผู้นำทางธุรกิจ ภาพเคลื่อนไหวจากนั้นมา จึงถือเป็น “ชิ้นส่วน” สำคัญในภาพรวม

 

สําหรับข้อมูลทางการเงิน ของบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA พิจารณาเฉพาะรายได้ ถือว่าเป็นกิจการไม่ใหญ่นัก ขยับจากราวๆ 5,000 ล้านบาทในปี 2557 ขึ้นสู่ระดับหนึ่งหมื่นล้านบาท ต้องใช้เวลาถึง 7 ปี (2564) จากนั้นสามารถเติบโตอย่างรวดเร็ว มาอยูในระดับ 15,000 ล้านบาท ในช่วง 2-3 ปีมานี้

เท่าที่พิจารณาข้อมูลนำเสนอล่าสุด (2Q2024Opportunity Day “WHA Corporation PCL.” August 2024) พอจะเห็นพัฒนาการบางมิติที่น่าสนใจ

มิติแรก – “…การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม…ก้าวมามีบทบาทสำคัญด้านโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภคและพลังงาน และบริการด้านดิจิทัล ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ดังภาพที่ตั้งใจระบุไว้ในหัวข้อแนะนำบริษัท ถือเป็นโมเดลธุรกิจ ซึ่งมีการปรับตัวมาจากโมเดลเดิมของนิคมอุตสาหกรรม สัมพันธ์กับคู่ค้าใหม่ ในบริบทใหม่ได้อย่างกระฉับกระเฉง

ข้อมูลสำคัญปรากฏแสดงรายละเอียดที่มาของรายได้ จากฐานโมเดลธุรกิจเดิม (Industrial Estate) คงมีสัดส่วนมากที่สุด (45%) สู่ธุรกิจบริการเชื่อมโยงที่สำคัญ ที่เรียกว่า Logistics (28%) และ Utilities and Power (27%)

 

เชื่อว่า นี่คือปัจจัยหนึ่ง ซึ่งมองเห็นเป็นบทเรียนและประสบการณ์ที่สำคัญของ จรีพร จารุกรสกุล และ WHA ว่าด้วยสายสัมพันธ์ใหม่ทางธุรกิจ ซึ่งเชื่อมโยงกับเครือข่ายธุรกิจระดับโลกรายใหม่ ให้เป็นภาพเชิงความคิด (perspective) เกี่ยวกับทิศทางและแนวโน้มที่ควรติดตามและวิเคราะห์

จึงเชื่อมกับอีกมิติ ว่าด้วยทิศทาง ข้อมูลจากการนำเสนอ (อ้างไว้แล้ว) ระบุไว้อย่างชัดเจนถึงโปรไฟล์คู่ค้าในธุรกิจพื้นฐาน (Industrial Development) เชื่อว่าเป็นฐานในการใช้บริการเชื่อมโยงด้วย ปรากฏเป็นภาพที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

จากภาพใหญ่ ธุรกิจญี่ปุ่นยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด (27%) สะท้อนความเป็นไปที่เป็นมา ขณะที่ธุรกิจจีน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไล่ตามมาไม่ห่าง (21%)

ครั้นเมื่อพิจารณาเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ช่วงในระยะใกล้ (ช่วงปี 2563 เป็นต้นมา) กลุ่มธุรกิจจีนถือว่ามาแรงมาเร็วได้แซงหน้าธุรกิจญี่ปุ่นไปไกลทีเดียว (สัดส่วน 65% ต่อ 6%)

ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใหม่ๆ แม้ในภาพใหญ่หลายด้าน ทว่า ในภาพย่อย มีบางชิ้นส่วนเล็กๆ เป็นด้านดี •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com