ปิยบุตร แสงกนกกุล : ศาลรัฐธรรมนูญ (2)

แนวคิดเรื่องการให้ศาลเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายซึ่งปรากฏขึ้นผ่านงานเขียนของเหล่าบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกา (Founding Fathers) มาปรากฏขึ้นจริงในปี 1803 ในคดี Marbury v. Madison

ข้อเท็จจริงในคดีนี้มีอยู่ว่า Thomas Jefferson ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1801 แต่ในช่วงรอยต่อก่อนที่ Jefferson จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี John Adam ซึ่งเป็นประธานาธิบดีอยู่ในเวลานั้นได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งผู้พิพากษาหลายคนอย่างรีบด่วนก่อนที่ตนจะพ้นจากตำแหน่งชั่วข้ามคืน

ทั้งนี้ก็เพื่อปิดโอกาสไม่ให้ Jefferson ประธานาธิบดีคนต่อไปซึ่งมาจากอีกพรรคการเมืองหนึ่งได้แต่งตั้งผู้พิพากษา

ในการแต่งตั้งครั้งนี้ John Marshall รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของประธานาธิบดี John Adam ก็ได้ลงนามรับรองคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวด้วย

การแต่งตั้งผู้พิพากษาจะมีผลสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีการส่งเอกสารตราตั้งให้แก่ผู้พิพากษา

ปรากฏว่ารัฐบาลของประธานาธิบดี John Adam ไม่สามารถส่งมอบเอกสารตราตั้งให้แก่ William Marbury ได้ทันก่อนที่ Jefferson จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ เขาจึงยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษา

เมื่อ Jefferson รับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ Marbury ได้เรียกร้องให้ James Madison รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลของประธานาธิบดี Jefferson ส่งมอบเอกสารตราตั้งดังกล่าวให้แก่ตนเอง แต่ถูกปฏิเสธ

เขาจึงยื่นฟ้องต่อศาลสูงสุดเพื่อขอให้ศาลออกหมาย writ of mandamus สั่งให้ Madison ส่งมอบเอกสารตราตั้งให้

ในคดีนี้ ศาลสูงสุดได้ตัดสินโดยวางประเด็นในคดีนี้เอาไว้ 3 ประเด็น ได้แก่

1. Marbury มีสิทธิตามเอกสารตราตั้งหรือไม่

2. หาก Marbury มีสิทธิตามเอกสารตราตั้งแล้ว Marbury เสียหายหรือไม่ และต้องได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่

3. การเยียวยาให้แก่ Marbury ต้องทำอย่างไร ศาลมีอำนาจในการออกหมาย writ of mandamus เพื่อสั่งให้ Marbury เป็นผู้พิพากษาได้หรือไม่

ศาลสูงสุดในคดีนี้ (มีข้อสังเกตว่า John Marshall อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสมัยประธานาธิบดี John Adam ที่ร่วมลงนามในเอกสารแต่งตั้งผู้พิพากษา เป็นประธานศาลสูงสุด ได้ร่วมเป็นองค์คณะ และมีบทบาทสำคัญในการให้เหตุผลประกอบคำพิพากษา) ได้วินิจฉัยว่า

1. Marbury มีสิทธิตามเอกสารตราตั้ง เพราะประธานาธิบดีได้ลงนามและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศได้ลงนามกำกับเรียบร้อยแล้ว

2. การที่ James Madison รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ไม่ส่งเอกสารตราตั้งให้ Marbury ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่กระทบสิทธิของ Marbury ดังนั้น จึงต้องมีการเยียวยาความเสียหายให้แก่ Marbury

3. การเยียวยาความเสียหายต้องกระทำโดยตั้งให้ Marbury เป็นผู้พิพากษา แต่ศาลไม่อาจออกหมาย writ of mandamus สั่งให้มีการแต่งตั้งมาร์เบอรี่เป็นผู้พิพากษาได้ แม้กฎหมาย Judiciary Act 1789 ได้ให้อำนาจแก่ศาลสูงสุดในการออกหมาย writ of mandamus แต่กฎหมายฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ศาลสูงสุดให้เหตุผลว่า ในรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ข้อ 2 วรรคสอง กำหนดให้ศาลสูงสุดมีอำนาจอยู่เพียงแค่ 2 ประการ ได้แก่ อำนาจในฐานะศาลสูงสุด คือ เป็นทั้งศาลแรกและศาลสุดท้ายในคดีพิพาทระหว่างมลรัฐกับมลรัฐหรือคดีพิพาทเกี่ยวกับทูตและกงสุล และอำนาจในฐานะศาลอุทธรณ์ซึ่งรับคดีที่ต้องผ่านการพิพากษาของศาลล่างและมีการโต้แย้งขึ้นมาที่ศาลสูงสุด แต่กฎหมาย Judiciary Act 1789 กลับบัญญัติให้อำนาจแก่ศาลสูงสุดในการออกหมาย writ of mandamus ได้ และบุคคลมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลสูงสุดโดยตรงเพื่อขอให้ศาลออกหมาย writ of mandamus ได้ ดังนั้น กฎหมาย Judiciary Act 1789 จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ

จากเหตุผลดังกล่าว ศาลสูงสุดจึงพิพากษายกฟ้อง

ความสำคัญของคดี Marbury v. Madison คือ ศาลสูงสุดได้ยืนยันว่าตนมีอำนาจในการวินิจฉัยว่ากฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดย John Marshall ประธานศาลสูงสุดได้ให้เหตุผลว่าเมื่อเรายอมรับว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดแล้ว หากกฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมายนั้นก็ต้องเป็นโมฆะ ศาลมีหน้าที่นำกฎหมายมาใช้ในการตัดสินคดี ดังนั้น ศาลจึงต้องมีอำนาจในการวินิจฉัยว่าอะไรเป็นกฎหมายที่ศาลสามารถนำมาใช้ตัดสินคดีได้

โดยในกรณีที่มีกฎหมาย 2 ฉบับขัดหรือแย้งกัน ศาลก็ต้องชี้ว่าจะนำกฎหมายฉบับใดมาใช้บังคับก่อน ทำนองเดียวกันกับกรณีที่กฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นขัดต่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ศาลก็ต้องชี้ได้ว่ากฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นนั้นย่อมสิ้นผลบังคับไปและนำมาใช้บังคับไม่ได้

เมื่อกฎหมาย Judiciary Act 1789 ขัดต่อรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ศาลจึงไม่อาจนำมาใช้ในการวินิจฉัยคดีได้นั่นเอง

แม้คดี Marbury v. Madison จะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่ยืนยันว่า ศาลมีอำนาจในการตรวจสอบว่ากฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว คดีนี้กลับมีประเด็นปัญหาทางการเมืองขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายสนับสนุน Federalist (ฝ่ายประธานาธิบดี John Adam) และฝ่ายไม่สนับสนุน Federalist (ฝ่ายประธานาธิบดี Jefferson) อยู่เบื้องหลัง

ทั้งสองฝ่ายต่างช่วงชิงการแต่งตั้งผู้พิพากษา เมื่อ John Adam แพ้การเลือกตั้งและต้องพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดี เขาก็รีบชิงแต่งตั้งผู้พิพากษาทันทีในวันสุดท้าย เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายไม่สนับสนุน Federalist ได้แต่งตั้งผู้พิพากษา

เช่นเดียวกัน เมื่อ Jefferson เข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี เขาก็ไม่ดำเนินการแต่งตั้งผู้พิพากษาที่ John Adam ตั้งเอาไว้ แต่กระบวนการยังไม่สมบูรณ์และตกค้างอยู่

John Marshall ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการตัดสินคดี Marbury v. Madison ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยประธานาธิบดี John Adam และต่อมา John Adam ก็แต่งตั้งเขาเป็นประธานศาลสูงสุด นั่นหมายความว่า โดยสภาพแล้ว John Marshall ไม่มีความเป็นกลางและมีส่วนได้เสียในการตัดสินคดีนี้

John Marshall ตกอยู่ในสถานการณ์อันยากลำบากในการตัดสินใจ หากเขาตัดสินให้ Marbury ได้เป็นผู้พิพากษา ก็กลายเป็นว่าศาลเข้าข้างฝ่าย Federalist และสาธารณชนอาจมองว่าเขาไม่มีความเป็นกลาง เพราะเคยเป็นรัฐมนตรีและได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานศาลสูงในสมัย John Adam

ในทางกลับกัน หากเขาตัดสินว่า James Madison มีอำนาจในการไม่ส่งเอกสารตราตั้งให้ Marbury ได้เป็นผู้พิพากษา ก็กลายเป็นว่าศาลเข้าข้างฝ่ายต่อต้าน Federalist

ในท้ายที่สุด John Marshall ก็สามารถหาช่องทางออกได้แบบ “บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น” โดยหนีไปใช้ช่องทางวินิจฉัยว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญแทน

กรณีนี้แสดงให้เห็นว่า นอกจาก John Marshall ไม่ตัดสินให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์อย่างชัดเจนแล้ว เขายังเพิ่มอำนาจให้แก่ศาลในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายได้อีกด้วย

ภายหลังจากศาลสูงสุดมีคำพิพากษาในคดี Marbury v. Madison เช่นนี้ Thomas Jefferson ได้ประกาศแสดงความไม่เห็นด้วยกับกรณีที่ศาลเข้ามาตรวจสอบว่ากฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นนั้นขัดรัฐธรรมนูญ

เขาวิจารณ์ตอบโต้อย่างรุนแรงว่า อำนาจของศาลเช่นนี้ ทำให้ผู้พิพากษามีอำนาจในการพิจารณาทุกประเด็นปัญหาทางรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

เราจะอยู่ภายใต้การปกครองแบบกดขี่โดยคณะบุคคลเพียงไม่กี่คนเหล่านี้ ผู้พิพากษาของเราต่างก็ซื่อสัตย์พอๆ กันกับคนอื่นๆ ไม่มีมากไปกว่า พวกเขาต่างก็เหมือนคนทั่วไป ที่มีแรงปรารถนาชื่นชอบในพรรคการเมือง ในอำนาจ ในอภิสิทธิ์ขององค์กรของเขา

อำนาจอันตรายนี้ถูกมอบให้แก่บุคคลที่ดำรงตำแหน่งได้ตลอดชีวิตและไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ต่อองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน